อาสาตามเตียงกับการพัฒนาการ


สำหรับตัวอาสาสมัครเองสิ่งที่ได้รับนั้นเกินคุ้มจริงๆ พูดได้เลยว่าทำน้อยได้มาก

ครั้งแรกที่เราเริ่มเข้าไปทำกิจกรรมที่โรงพยาบาล เราเริ่มทำกิจกรรมร่วมกับเด็กที่สามารถลงจากเตียงได้ก่อน แต่แล้วเราก็สังเกตเห็นว่ายังมีเด็กที่นอนป่วยตามเตียง เราก็คิดนะว่า เราสามารถทำอะไรไห้เค้าได้บ้างเพื่อเป็นการแบ่งปันความสุข ลดอาการเจ็บป่วยให้พวกเค้า  จากการสังเกตเราพบว่า เด็กที่นอนป่วยอยู่บนเตียงก็ต้องการร่วมกิจกรรมเช่นกัน เพราะเด็กจะคอยชำเลืองมองขณะที่เราทำกิจกรรมร่วมกับเด็กอื่นๆอยู่ ดังนั้น เราจึงมีความคิดว่า เราควรเริ่มหากิจกรรมให้เด็กตามเตียงทำ ครั้งแรกเราเริ่มด้วยการเข้าไปพูดคุย ไถ่ถามถึงความต้องการของเด็กๆ และประเมินสถานการณ์ว่า เราสามารถนำกิจกรรมอะไรไปทำตามเตียงได้บ้าง กิจกรรมที่นำไปทำนั้น พิจารณาตามช่วงอายุ และอาการเจ็บป่วยของเด็กๆ  กิจกรรมเริ่มแรกคือ การเล่านิทาน ประกอบภาพ นิทานหุ่นมือ หุ่นนิ้ว

แรกน้องๆก็ฟังอย่างเดียว พอเราเล่าไปได้สักพักน้องก็ขอมีส่วนร่วมในกิจกรรม โดยอาสาเป็นตัวละครต่างๆในนิทาน เช่นนิทานเรื่องลูกหมู สามตัว เรานำหุ่นนิ้วไปด้วย น้องก็จะสวมหุ่นแล้วเล่นเป็นตัวละครต่างๆ เรารู้สึกว่าน้องมีพัฒนาการขึ้น เพราะในครั้งต่อไปที่เราไปทำกิจกรรมน้องๆจะมีนิทานใหม่ๆเล่าให้เราฟังอยู่เสมอๆ โดยนิทานเรื่องนั้นไม่มีอยู่ในหนังสือเล่มใดเลย  จากนั้นเราก็เริ่มนำกิจกรรมใหม่เข้าไปให้เด็กตามเตียงทำเรื่อยๆ เช่น ศิลปะต่างๆ ทั้งระบายสี วาดภาพ เพ้นท์สี เป่าสี หยดสี  เทสี เราสังเกตได้เลยว่าเด็กรู้สึกมีความสุขจริงๆ เพราะเราเห็นรอยยิ้มเสียงหัวเราะของพวกเค้า และเค้าก็จะบอกเราว่า เค้าต้องการทำกิจกรรมอะไรบ้าง เด็กบางคนก็ยังอยู่ในช่วงเรียนหนังสือ แต่ต้องพักการเรียนไว้ก่อน เนื่องจากอาการเจ็บป่วยและต้องรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง การเรียนจึงต้องหยุดชะงักลง บางคนไปเรียนได้แค่ อาทิตย์ เดียว ก็ต้องหยุด เด็กจะเกิดภาวะเครียดเนื่องจาก กลัวเรียนไม่ทันเพื่อน ต้องหยุดเรียนกลางคัน

ดังนั้นเราจึงหาแบบฝึกทักษะที่สัมพันธ์กับช่วงที่เด็กศึกษาอยู่ไปให้ทำ และเป็นพี่เลี้ยงแนะนำเกี่ยวกับแบบฝึกทักษะด้วย เมื่อมีพวกอาสาสมัครไปทำกิจกรรมร่วมด้วย ก็สามารถทำให้ความรู้สึกกังวลเหล่าน้ำลดน้อยลง สังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อนทำกิจกรรมเด็กจะมีอาการซึมเศร้า ไม่ค่อยพูดจา แต่หลังทำกิจกรรมเด็กจะร่าเริง พูดคุย หัวเราะ และได้รับคำบอกเล่าจากทั้งผู้ปกครองของเด็กป่วย และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก จากนั้นเราก็นำกิจกรรมอีกหลายอย่างเข้าไป เช่น ปั้นดินน้ำมัน เป็นการฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อมือ และจินตนาการของเด็ก บัตรคำมหาสนุกเป็นบัตรภาพ แล้วมีคำถามเป็นการฝึกทักษะการใช้ปฎิภาณไหวพริบ ของเด็กๆ  เกมโดมีโน่ เกมเศรษฐี เกมปิงโก กิจกรรมเหล่านี้ต้องเล่นเป็นกลุ่มถึงจะสนุก ดังนั้นเราจึงชวนเด็กป่วยทีสามารถลงจากเตียงมาเล่นร่วมกัน เพื่อเป็นการต่อยอดให้กับเด็กเอง คือให้เด็กได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งในยามที่เราไม่ได้ไปทำกิจกรรมเด็กก็สามารถทำกิจกรรมร่วมกันเองได้ เกมพวกนี้มีประโยชน์สำหรับเด็กมาก

ทั้งได้ฝึกสมองประลองปัญญา ฝึกทักษะการใช้สายตา ทักษะการจำ และที่สำคัญเด็กได้สร้างสัมพันธภาพร่วมกัน รู้จักการให้ การเสียสละ การอยู่ร่วมกัน การดูแลซึ่งกันและกัน เพราะเราสังเกตเห็นว่าเมื่อน้องเด็กป่วยที่นอนบนเตียงอยากได้ความช่วยเหลือน้องเด็กป่วยที่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยไปหยิบมาให้ ทำให้ กิจกรรมร้อยลูกปัด เป็นกิจกรรมที่ดึงดูดความสนใจของเด็กได้อีกกิจกรรมหนึ่ง  (โดนเฉพาะเด็กผู้หญิง) ได้ฝึกการแยกแยะสี รูปทรง ทักษะการใช้มือ และจินตนาการต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์ลูกปัดให้เป็นตามแบบต่างๆ ทั้ง สร้อยข้อมือ สร้อยคอ แหวน พวงกุญแจ ที่ห้อยโทรศัพท์ เด็กป่วยบางคนร้อยสร้อยข้อมือ ที่ห้อยโทรศัพท์ไว้เพื่อมอบเป็นของขวัญให้ พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง เจ้าหน้าที่ของทางโรงพยาบาล รวมถึงอาสาสมัครด้วย แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจของน้องๆ น้องอยากตอบแทนความสุขที่เรามอบให้แต่ไม่รู้จะตอบแทนเรายังไง เลยร้อยลูกปัดให้ นี่ก็แสดงได้ถึงพัฒนาการด้านอารมณ์ ความคิดของเด็ก มีการพัฒนา เพราะเด็กรู้จักการให้ การแบ่งปัน กิจกรรมนี้ มีผลทำให้เด็กบางคนมีรายได้ขณะพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีกด้วย อาจจะเป็นรายได้ไม่มาก แต่ก็พอที่จะเป็นค่าขนมของเด็กได้ เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักคุณค่าของสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัว และรู้จักคุณค่าของการใช้จ่ายเงินด้วย                 ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ไม่ได้พูดถึงในที่นี้ แต่กิจกรรมทุกอย่างที่ทำ ก็สามารถสร้างความสุข ให้เด็กได้  เราสังเกตได้จากการพัฒนาด้านอารมณ์ ความคิดของพวกเด็กๆ (เด็กที่พักรักษาตัวนานๆจะสังเกตได้ชัดมาก)จากที่เคยซึมเศร้า ร้องไห้งอแง ก้าวร้าว เอาแต่ใจ ไม่รู้จักแบ่งปัน ก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ดวงตาแจ่มใส หัวเราะ รู้จักแบ่งปัน มีเหตุผลมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งคือเมื่อเราก้าวพ้นประตูเข้าไปสิ่งแรกที่เราเห็นคือ รอยยิ้ม เสียงเรียกชื่อของเราจากเด็ก พร้อมมือที่กวักเรียกเราให้เข้าไปหา และสัมผัสจากเด็กไม่ว่าจะเป็นการจับมือ กอด หอมแก้ม เราสามารถรู้สึกได้ถึงความตื่นเต้น ดีใจของเด็ก ที่ได้พบเราและได้ทำกิจกรรมกับเรา

                สำหรับตัวอาสาสมัครเองสิ่งที่ได้รับนั้นเกินคุ้มจริงๆ พูดได้เลยว่าทำน้อยได้มาก สิ่งที่อาสาสมัครไปทำนั้นมองดูแล้วเป็นแค่สิ่งเล็กๆน้อย บางคนที่ไม่เคยสัมผัสอาจคิดว่า ก็แค่ไปทำกิจกรรมกับเด็ก ใครๆก็ทำได้ ไม่เห็นยาก แต่ถ้ามองอีกมุมจะเห็นว่า เด็กที่เราเข้าไปทำกิจกรรมด้วยไม่ใช่เด็กปกติทั่วไป ภาวะด้านร่างกายและอารมณ์ของเค้าไม่ปกติ เด็กป่วยมีภาวะกดดันมากกว่าเด็กปกติ อารมณ์ค่อนข้างแปรปรวนง่าย และภาวะที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมนานๆ ทำให้เด็กเป็นอย่างนั้น เมื่อเราได้เข้าไปทำกิจกรรม และได้สังเกตภาวะทางอารมณ์ของเด็กป่วย รวมถึงญาติ เราสามารถสัมผัสได้ว่า เค้า มีสุขภาพจิตดีขึ้น ยิ้ม หัวเราะ ซึมเศร้าน้อยลง รู้จักการให้และการแบ่งปัน จะเห็นได้ว่าแค่กิจกรรมเล็กๆน้อย ที่ทำร่วมกัน สามารถทำให้เด็กป่วย และ ญาติ รู้สึกดี และมีความสุขมากขึ้น เมื่อต้องมาทำการรักษาที่โรงพยาบาล

              ดังนั้น การทำน้อยได้มาก จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกินความจริงเลยและที่สำคัญ การทำกิจกรรมร่วมกับเด็กป่วยทำให้มีความอดทนมากขึ้น เข้าใจ ผู้อื่น มองข้ามความเป็นตัวตน รู้จักเสียสละ  รู้จักแบ่งปัน และก่อเกิดความสุข ความอิ่มเอิบใจ เมื่อได้ทำ ดังที่อาสาสมัครหลายๆคนได้เล่าให้ฟัง รวมถึงตัวเองก็รู้สึกอย่างนั้นเช่นกัน
หมายเลขบันทึก: 137395เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2007 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท