BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๑


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๒๑

จากครั้งก่อน (เล่า... ๒๐) ในการจัดแบ่งโภคทรัพย์นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้แ่บ่งเป็น ๔ ส่วน โดยใช้จ่ายหนึ่งส่วน ประกอบอาชีพสองส่วน และเก็บไว้อีกหนึ่งส่วนเพื่อเป็นทุนสำรอง... ซึ่งในสิงคาลกสูตรมีปรากฎแต่เพียงแค่นี้... ผู้เขียนคาดหมายว่า พระพุทธเจ้าอาจดำริว่า ประเด็นนี้นายสิงคาลกะ เข้าใจดีอยู่แล้ว และมิใช่ประเด็นหลักเพื่อนำไปสู่เรื่องการนอบน้อมทิศ... ประมาณนี้

เมื่อไปตรวจสอบจากอรรถกถา ท่านก็ขยายความไว้สั้นๆ ทำนองว่า พึงประกอบการงานมีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้นด้วยโภคทรัพย์สองส่วน...และส่วนสุดท้ายที่เก็บไว้นั้น ท่านให้เหตุผลว่า เพราะบางครั้งการงานมิใช่ว่าจะเป็นไปเหมือนกับทุกวัน (เทียบปัจจุบัน บางช่วงเศรษฐกิจไม่ดี) และใช้แก้ปัญหาในคราวมีอันตราย เป็นต้น.....

อย่างไรก็ตาม ในอรรถกถาก็ได้ตั้งประเด็นปัญหาขึ้นว่า ควรจะใช้ส่วนไหนในการบำเพ็ญกุศล เช่น ถวายทานภิกษุ บริจาคคนเดินทางหรือคนกำพร้า เป็นต้น... หรือจะเอาส่วนไหนมาให้เป็นค่าจ้างช่างเย็บผ้า หรือช่างตัดผม เป็นต้น.... ประเด็นนี้ ท่านเฉลยว่า ได้แก่ส่วนแรกที่แบ่งไว้ใช้จ่ายนั่นเอง....

เมื่อมาถึงตอนนี้ บางท่านอาจสงสัยว่า สำหรับคนยากจนเข็ญใจ หรือผู้ที่มีรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำแล้ว อาจจัดแบ่งให้เป็นไปตามนี้ได้ยาก.... ซึ่งผู้เขียนก็มีความเห็นทำนองนี้เช่นเดียวกัน...

แต่เมื่อมาย้อนพิจารณาว่า นายสิงคาลกะ ลูกนายบ้าน ฐานะมั่งคั่ง มีกิจการส่วนตัว... ซึ่งผู้เขียนคิดว่าคงจะไม่มีปัญหาในประเด็นนี้่ นั่นคือ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมพอควรแก่อุปนิสัยและสภาพแวดล้อมของเขา... และจะเห็นได้ว่า พระองค์มิได้ทรงจำแนกการใช้จ่ายโภคทรัพย์ไว้อย่างละเอียด อาจเป็นเพราะว่า เขาอาจมีความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่แล้วระดับหนึ่ง พระองค์จึงตรัสเพียงเพื่อเป็นการย้ำเตือนเท่านั่น.... น่าจะเป็นไปทำนองนี้ 

อันที่จริง หลักธรรมเรื่องการก่อสร้างฐานะสำหรับผู้ยากจนเข็ญใจ และวิธีการใช้จ่ายโภคทรัพย์อย่างละเอียด เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้เหมือนกันในที่อื่นๆ... ซึ่งถ้าผู้เขียนจะนำมาเล่าก็อาจเนิ่นช้าและนอกเรื่องเกินไป จึงพักไว้เพียงแค่นี้ จะำดำเนินเรื่องราวตามสิงคาลกสูตรต่อไป  

..............

หลังจากจบคาถาประพันธ์นี้แล้ว พระองค์ก็ตรัสถึงการปกปิดทิศทั้งหก โดยพระองค์ใช้คำว่า ปกปิด แทนคำว่า นอบน้อม ซึ่งประเด็นนี้มีนัยลึกซึ้งแฝงอยุ่...

เมื่อถือเอาตามนัยอรรถกถาก็อาจอธิบายได้ว่า... ภัยหรือเป็นอันตรายทั้งหลายมาจากสภาพแวดล้อม นั่นคือ บรรดาคนทั้งหลายที่เกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับเรา จะเป็นผู้นำภัยมาให้เราในเมื่อเราดำเนินการไม่เหมาะสม... แต่เมื่อเราดำเนินการเหมาะสม ภัยเหล่านั้นก็จะไม่บังเกิด คล้ายๆ กับการปกปิด ภัยเหล่านั้นนั่นเอง....

บุคคลเกี่ยวข้องกับเรานี้ จำแนกเป็น ๖ กลุ่ม โดยเปรียบเทียบกับทิศที่รอบล้อมตัวเราอยู่ซึ่งมี ๖ ทิศ กล่าวคือ หน้า หลัง ซ้าย ขวา บน และล่าง ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าในตอนต่อไป..... 

หมายเลขบันทึก: 137250เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2007 00:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท