ยินดีต้อนรับ ท่านผู้ว่าฯ ชุมพรคนที่ 3 ในรอบปี 2550


อาวุธ (ไม่ลับ) ที่ท่านใช้คือ ความคิดในเชิงบวก การสื่อสารประชาสัมพันธ์ เรื่องดี ๆ ให้แผ่ขยายเข้าไปทดแทนเรื่องแย่ ๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าวิธีการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท่านมีประสบการณ์ นำมาใช้อย่างช่ำชอง จนกลายเป็น วิถีปฏิบัติ ที่สะท้อนออกมาผ่านท่าทาง กระบวนทัศน์ บุคลิก และนิสัยใจคอ ให้เราได้ “อ่าน” ท่านในวันนั้น

ปี 2550 ชุมพรบ้านของเราผ่านเรื่องราวและเหตุการณ์ที่ทุลักทุเลมาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาผลไม้ตกต่ำ ภาครัฐต้องใช้เงิน 20 ล้านบาท (เกือบ หรือ กว่า ... ยังไม่ชัดเจน) ในการแทรกแซงราคาแต่ก็ไม่ได้ผลเต็มที่ราคาขายในท้องตลาดจึงตกต่ำอย่างที่เห็นกันมา ชาวสวนจำนวนมากปล่อยให้ผลไม้สุกคาต้น หล่นร่วงโดยไม่เก็บ เพราะคิดแล้วทั้งค่าแรง ค่าเสียเวลา ค่าขนส่ง ฯลฯ ยังไงก็ได้ไม่คุ้มเสีย

ทุกวันนี้เราต้องเจอกับวิกฤติราคาน้ำมันขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ โชคดีอยู่บ้างสำหรับชาวบ้านที่ราคาสินค้ายังไม่ขยับตัวสูงขึ้นไปมากนัก เพราะที่เป็นอยู่พ่อค้าแม่ค้ารู้ดีว่า ยังขายไม่ค่อยจะได้ ขืนขึ้นราคาตอนนี้ลูกค้าหายหมด ... เจ๊งแน่ ๆ วันนี้จึงต้องรัดเข็มขัดโดยลดค่าใช้จ่าย และกินทุนเก่าไปเรื่อย ๆ รอความหวังหลังเลือกตั้งปลายปี 2550 ว่า อะไรต่ออะไรมันจะดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่ยังมีคำถามคาใจว่า ... แล้วมันจะดีขึ้นจริงหรือเปล่า ? หรือจะยังยุ่งวุ่นวายมากกว่าเดิม ?

เหลียวมองไปรอบตัว ก็ต้องหนักใจกับปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นทบทวี ซับซ้อน หนักขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพทางการศึกษา เสียงสะท้อนออกมาว่า เด็กจบ ป.6 แล้ว ยังอ่านหนังสือภาษไทยไม่ค่อยจะถูก เรื่องของการเขียนภาษาไทย ไปจนถึงอ่าน-เขียนภาษาอังกฤษจึงหวังได้ยาก พฤติกรรมของเด็กที่เบี่ยงเบน (ภาษาวิชาการสวย ๆ ที่เราใช้ เมื่อเด็กกระทำความผิด เพราะเราถือกันว่าเด็กทำผิดก็นำมา อบ-รม-บ่ม-เพาะ แก้ไขกันได้ เป็นเรื่องที่เราต้องให้โอกาส) ไม่ว่าจะเป็น ติดเกมส์ ก้าวร้าว ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นอนดึก ตื่นสาย ดูดายไม่ช่วยงานบ้าน ไม่สนใจเรียนหนังสือ เที่ยวเตร่กลางคืน จนนำไปสู่เรื่องแย่ ๆ หนัก ๆ คือ ขายตัว มั่วสุมทางเพศ ติดยาเสพติด ลักขโมย ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ชาวบ้านร้านตลาดพูดกันทุกวัน แต่ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจหน้าที่จะไม่ค่อยได้ยิน เพราะไม่เห็นจะออกมาทำอะไรให้ชัดเจนในการแก้ปัญหาและพัฒนาเด็ก ๆ ซึ่งเป็นอนาคตของเรา

การทำงานของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาสำคัญเหล่านี้ บอกตรง ๆ ว่า ยังไม่เข้าตากรรมการ ความหมายก็คือ ยังไม่ได้สร้างความชื่นใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนท่าที่ควรจะเป็น ตัวผมเองเดินเข้าออกศาลากลางบ่อย ๆ ก็เห็นว่าท่านทำงานขยันขันแข็ง มีโอกาสพูดคุยกับข้าราชการก็ได้รับทราบภารกิจยิ่งใหญ่ในหน้าที่ของท่านที่กำลังผลักดันกันอยู่ แต่ทำไมผลงานที่ออกมาจึงพูดว่า ไม่ชื่นใจ

ผมคิดเอาเองว่า คงจะเป็นเพราะท่านให้ความสำคัญกับพิธีการ ขั้นตอน หรือที่ท่านเรียกว่า ระเบียบปฏิบัติ มากเกินไป ท่านที่อยู่ในฐานะผู้บริหารจึงติดอยู่กับข้อจำกัด แทนที่จะบริหารเพื่อประสิทธิผลความสำเร็จ ดู ๆ ไปน่าจะเรียกว่า นักบริหารระเบียบราชการ มากกว่า เข้าทำนอง More for Less หรือทำงานมากมายได้ผลนิดเดียว

มองให้ลึกลงไปในระดับพื้นที่เพื่อค้นหาความคิดสร้างสรรค์ของหน่วยปฏิบัติ ทั้งในหน่วยราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณพิเศษ เช่น ยุทธศาสตร์อยู่ดี-มีสุข ตลอดจน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับต่าง ๆ ผมประเมินว่า ท่านยังติดอยู่กับการใช้งบประมาณแบบ ก่อสร้างนิยม โดยรวบรัดการจัดทำแผนงานโครงการ มุ่งดึงงบประมาณลงสู่พื้นที่ให้ได้เสียก่อน ง่ายที่สุดก็คือ เอาโครงการประเภท ก่อสร้างนิยม ไปแลก โดยมุ่งหวังว่า สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ เป็น สินทรัพย์ทางสังคม เกิดขึ้นในชุมชนของท่าน แต่สุดท้ายเมื่อตรวจรับส่งมอบเรียบร้อยแล้ว ท่านก็เจอปัญหาการจัดการที่ไม่ได้ตั้งหลักเตรียมการไว้ก่อน คำตอบสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ไม่มีวัตถุดิบ ไม่มีคนทำงาน ไม่มีเงินทุนหมุนเวียน เราไม่เก่งเรื่องการตลาด ฯลฯ ซึ่งก็คือ การ แก้ตัว ไม่ใช่ แก้ปัญหา สินทรัพย์ทางสังคม ที่ท่านวาดฝันเอาไว้ก็ค่อย ๆ ผุพัง ทรุดโทรม กลายเป็น หนี้สินทางสังคม เป็นซากสิ่งก่อสร้างที่ทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ปรากฏแก่สายตาของเราทุกคน

เรื่องราวเหล่านี้เป็นบางส่วนที่ผมตั้งใจสะท้อนออกมา เพื่อต้อนรับการมาถึงของผู้ว่าราชการจังหวัดคนที่ 3 ในรอบปี 2550 นายมานิต วัฒนเสน


ผมได้มีโอกาสเข้ารับฟังแนวทางการปฏิบัติราชการของท่าน เมื่อวันอังคารที่ 9 ตุลาคม 2550 ณ ศาลากลางจังหวัด ได้อ่านท่าทาง อ่านกระบวนทัศน์ บุคลิก และนิสัยใจคอ ในช่วงเวลาสั้น ๆ พอจะประเมินได้ว่า ท่านเป็นบุคคลที่มีความสุขในการทำงาน และที่สำคัญคือ มีศักยภาพเพียงพอที่จะถ่ายทอด ความสุขในการทำงาน ไปยังบุคคล องค์กร และชุมชน ในระบบจังหวัดชุมพรได้

อาวุธ (ไม่ลับ) ที่ท่านใช้คือ ความคิดในเชิงบวก การสื่อสารประชาสัมพันธ์ เรื่องดี ๆ ให้แผ่ขยายเข้าไปทดแทนเรื่องแย่ ๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าวิธีการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท่านมีประสบการณ์ นำมาใช้อย่างช่ำชอง จนกลายเป็น วิถีปฏิบัติ ที่สะท้อนออกมาผ่านท่าทาง กระบวนทัศน์ บุคลิก และนิสัยใจคอ ให้เราได้ อ่าน ท่านในวันนั้น

เราต้องช่วยกันทำหน้าที่ ช่วยเหลือท่านทำงานให้จังหวัดชุมพรบ้านของเรา เพราะด้วยวิถีเช่นนี้ ความสุขที่เรามุ่งหวังร่วมกันจะเกิดขึ้นได้...แน่นอน.

หมายเหตุ :
 ติดตามอ่าน Slide ที่ท่านผู้ว่าฯ นายมานิต วัฒนเสน
ใช้บรรยายได้ที่ เว็บไซต์หอการค้าจังหวัดชุมพร
www.cpnchamber.org
คำสำคัญ (Tags): #มานิต วัฒนเสน
หมายเลขบันทึก: 136942เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2007 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณพี่ไอศูรย์มากที่นำเสนอนโยบายของท่าน ผวจ.  ออยกำลังประชุมอยู่ที่ กทม. เรื่องระบบการบริหารยุทศาสตร์ขององค์การภาครัฐ(GSMS) จึงไม่ได้เข้าร่วมรับนโยบาย แต่ยังสามารถติดตามข่าวสารได้จากพี่ ออยประชุมอยู่สถาบันวิชาการ ที โอ ที ถนนงามวงศ์วาน ทุกโต๊ะประชุมจะมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เพราะหลักสูตรที่เข้าอบรมจำเป็นต้องใช้เครื่องเพื่อฝึกการนำผลของการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์เข้าสู่ระบบการรายงานผล ซึ่งต่อไปสำนักงาน ก.พ.ร. จะไปติดตั้งเครื่อง Terminal ให้กับทุกจังหวัด เช่นเดียวกับระบบ GFMIS
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท