ต้นอ้อ
อารีรัตน์ นิรันต์สิทธิรัชต์

จริยธรรมปีนี้ ”ให้” อะไร


            งานสอนเรื่องจริยธรรม ถือว่าเป็นไฟลต์บังคับของคุณครู อาจารย์ที่จะต้องทำหน้าที่สอน กล่อมเกลาให้ลูกศิษย์เติบโตเป็นคนดี มีจริยธรรม ทำประโยชน์ให้กับสังคม การสอนจริยธรรมเกิดขึ้นได้แทบจะทุกเวลา และหลากหลายรูปแบบ อาทิ การสอนจริยธรรมอาจจะถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรอย่างเป็นทางการหรือสอดแทรกอยู่ในกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในในโรงเรียน และอาจจะรวมถึงการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน 

           การสอนทันตแพทย์ในระดับปริญญาตรี ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวิชาหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องจริยธรรม ถือว่าเป็นวิชาบังคับและถูกบรรจุให้อยู่ในหลักสูตรอย่างเป็นทางการ นั่นหมายความว่า อาจารย์จะต้องสอนจริยธรรมอย่างเป็นรูปธรรม และนักเรียนก็จะต้องเข้าเรียนและต้องเรียนให้ผ่านเช่นกัน  วิชานี้มีชื่อย่อๆว่า  DJPM (อ่านว่า  เด้น-เจ-พี-เอ็ม) ชื่อเต็มภาษาฝรั่งคือ Dental Jurisprudent and Practice management เป็นกระบวนวิชาบรรยาย 2 หน่วยกิต  แปลว่าจะมีชั่วโมงการเรียนการสอนอยู่ทั้งหมด 30 ชั่วโมงด้วยกัน เรียนสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง (แถมยังเป็นชั่วโมงบ่าย หลังอาหารเที่ยงอีกต่างหาก)   

            วิชา DJPM นี้จะสอนให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 5 ตั้งแต่ตัวเองจำความได้ สมัยเป็นนักศึกษา จนจบมาทำงานอยู่หลายปี  ภาควิชาทันตกรรมชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดการเรียนการสอนและ ที่น่าแปลกไปกว่านั้นคือ เนื้อหาในรายวิชาดังกล่าวถูกกำหนดให้ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ จริยศาสตร์ กฎหมาย ทันตนิติเวช การจัดการสำนักงานและคลินิกทันตกกรม  อาจจะดูงงๆ ว่าทั้งเนื้อหาทั้งหมดมารวมอยู่ในวิชานี้ได้อย่างไร แต่ไม่ใช่ประเด็นสำหรับการเขียนถึงในที่นี้ เพราะคงต้องรอให้มีการปรับหลักสูตรก่อนถึงจะสามารถปรับเนื้อหากระบวนวิชานี้ได้ให้ลงตัวมากขึ้น

              ที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นในส่วนเนื้อหาจริยศาสตร์  ซึ่งจัดว่าเป็นงานหนึ่งที่ท้าทายคนสอนเอามากๆเลยทีเดียว ท้าทายตรงที่ว่าในเวลาที่เรามีอยู่(อันจำกัด)  เราอยากจะให้นักศึกษาได้เรียนรู้อะไร  อะไรที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเขาต่อไป  ในวิชานี้ รูปแบบและประเด็นการเรียนรู้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆปี  เดิมเราเองต่างคิดว่า การสอนจริยธรรมคอร์สนี้มันไม่ลงตัวซักที เราเลยต้องหารูปแบบใหม่ไปเรื่อยๆ แต่บางทีอาจจะเป็นเพราะ เราต้องการให้เนื้อหาและรูปแบบมีความเหมาะสม เหมาะเจาะกับนักศึกษาในชั้นปีนั้นๆมากกว่า   

ปีนี้ theme การเรียนรู้ว่าด้วยเรื่องของ การให้ สิ่งที่เป็นเป้าหมายคือ อยากให้นักศึกษาได้ฝึกที่จะให้อะไร กับคนอื่นๆบ้าง  และคนเหล่านั้นคือเพื่อนๆในชั้นปีเดียวกันกับพวกเขานั่นเอง การก้าวเข้ามาเรียนในรั้วทันตแพทย์กว่า 5 ปี มีบางอย่างที่ลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนลงไป การมุ่งไปสู่ความสำเร็จของของตัวเอง ทำให้นักศึกษาหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง ละเลยที่จะดูแลเพื่อนรอบข้าง ดังนั้นความตั้งใจแรกเริ่มของ theme การเรียนรู้ในปีนี้ จึงอยากให้นักศึกษาได้ฝึก ที่จะเหลียวมอง ดูแล ใส่ใจเพื่อน                  

คอร์สนี้ เริ่มต้นโดย ใช้เกมส์ที่เราคุ้นเคยกัน เป็นเครื่องมือนำพาให้นักศึกษาเลือกเพื่อนที่เขาจะต้องฝึกที่จะให้ นั่นคือการจับ บัดดี้

 Good Friday เป็นกิจกรรมแรก ถือว่าเป็นการอุ่นเครื่องเริ่มต้นคอร์ส โดยกำหนดให้นักศึกษาสร้างสรรค์วันดี ให้กับเพื่อนที่เป็นบัดดี๊ของตัวเอง วันศุกร์ถูกกำหนดให้เป็นวันดี ที่แต่ละคนจะต้องทำอะไรก็ได้ที่ทำให้บัดดี๊ของตัวเองมีความสุข ทำให้วันศุกร์เป็นวันดีสำหรับเขา เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลองทำ ลองเริ่มที่จะให้...เมื่อได้ทำแล้วเราได้ขอให้นักศึกษาเขียนเล่าเรื่องราวถึงสิ่งที่ได้ทำไป พร้อมกับสะท้อนความรู้สึกส่งอาจารย์ความยาวประมาณหนึ่งหน้ากระดาษ  

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา มี Good Friday 2 วันด้วยกัน จากการได้ตามอ่านงานของนักศึกษาอยู่บ้างทำให้มองเห็นการให้ความหมาย และความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อ ต้องให้ คนอื่น ในมุมมองของนักศึกษา โดยส่วนใหญ่นักศึกษาเลือกที่จะสร้างวันดีโดยเป็นการกระทำในเชิงรูปธรรม เช่น ซื้อของให้ ซื้อขนมให้ หรืออาจจะเป็นการให้ความช่วยเหลือ เช่นช่วยเพื่อนเก็บของ ช่วยทำแลป จากเรื่องราวที่ได้นักศึกษาเขียนมา  นักศึกษาเริ่มที่จะใส่ใจถึงสิ่งที่เขาจะให้ หรือทำให้บัดดี้ของตัวเอง   แล้วบั๊ดดี้จะมีความสุข สิ่งที่สะท้อนออกมา ในกิจกรรมนี้ คือ เราเริ่มเห็นการเฝ้ามองของเพื่อนที่มีต่อเพื่อน คอยสังเกตหรือหาว่าบั๊ดดี้ของตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรหรือเปล่า เห็นความตั้งใจว่าจะทำอะไรให้ แล้วคนที่ได้รับจะมีความสุข 

แต่อีกด้านหนึ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นคือ การให้ เป็นการให้ที่ฉาบฉวย เพราะถูกตีความว่าคือ การซื้อของให้ ทำอะไรให้ โดยตัวผู้ให้เป็นคนกำหนดเอง โดยละเลยการใส่ใจผู้รับ หลายคนรู้สึกว่าการให้เพียงแค่รอบยิ้ม คำทักทาย คำพูดให้กำลังใจไม่เพียงพอหากเปรียบกับการให้ที่เป็นสิ่งของ  

คอร์สนี้ พึ่งจะเริ่มต้น และยังคงเป็นงานที่ท้าทายตัวเองและอาจารย์ท่านอื่นๆที่ร่วมกันจัดกระบวนวิชานี้ไปอีกตลอดเทอม  

และนี่เป็นแบบฝึกหัดแรกๆ ของการเริ่มต้นการลอง ให้ คนอื่นบ้าง 

หมายเหตุ การออกแบบและวางเค้าโครงกระบวนวิชา เกิดจากความคิดของอาจารย์อีกหลายๆท่านผู้มีความตั้งใจที่ จะสร้างสรรค์วันดีให้กับนักเรียน อ.ทรงวุฒิ อ.วิชัย อ.ธิดาวรรณ อ.ภาณุพงศ์ อ.ปิยวัลย์ อ.อติศักดิ์ ภาควิชาทันตกรรมชุมชน ม.ช.

หมายเลขบันทึก: 136938เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2007 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

จะรอติดตามอ่านเรื่องราวดีๆ ตอนต่อไปนะคะพี่อ้อ

แต่ขอแลกเปลี่ยนนิดนึง แบบผู้ที่ไม่ค่อยจะเข้าใจเรื่องราวเท่าไรนักว่า "ในฐานะของผู้ให้ เราควรจะต้องสังเกตและใส่ใจว่าผู้รับเขาอยากได้รับอะไร แล้วให้ในสิ่งที่มีคุณค่าต่อเขา" แต่ในขณะเดียวกันปฏิกิริยาของผู้รับก็มีผลต่อการให้เช่นเดียวกัน เพราะคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบการรับ (แบบฉาบฉวย) คือ ชอบรับสิ่งของ และมีความสุขกับของสิ่งนั้น หรือบางครั้งที่ผู้ให้ตั้งใจที่จะมอบอะไรบางอย่างให้กับผู้รับ แต่ผู้รับกลับ "ไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ผู้ให้บรรจงมอบ" ผู้ให้ก็คงเสียความรู้สึกเช่นเดียวกันนะคะ (ไม่รู้ว่านอกเรื่องรึเปล่า เพราะในมุมหนึ่ง มักจะมีมุมที่กลับกันเสมอ)

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากจ้า น้องหนิงที่ให้ข้อคิดดีๆในอีกมุมนึง น่าจะเป็นประเด็นที่ต้องเอาไปขบคิดต่อเพื่อให้ปฏิบัติการเรียนรู้ครั้งนี้เป็นไปอย่างรอบคอบมากขึ้น พี่คิดว่าในแง่มุมที่ได้เสนอมานั้น นักศึกษาควรจะได้มองเห็นและขบคิดให้แตกว่า "การให้" มีความหมายเพียงไรต่อการดำรงชีวิตในโลกใบนี้  

สวัสดีค่ะอาจารย์อารีรัตน์

ดิฉันอ่านบันทึกนี้ของอาจารย์เมื่อวันก่อนและตั้งใจจะเข้ามาตอบ แต่ได้พลัดหลงไปเสียในดงบันทึก (คือนึกว่าจำไว้แล้ว แต่พอจะหาก็นึกไม่ออก  โชคดีที่เจอบันทึกล่าสุดของอาจารย์  เลยได้ตามกลับมา)    : )

เรื่องของ"การ(ฝึกให้รู้จัก)ให้"นี้น่ารักนักนะคะ  เด็กๆคงเรียนรู้อะไรไปได้มากมาย  และหลากหลาย เมื่อเขาได้สะท้อน(คุยกันเอง ครูคุยให้ฟัง  ได้ยินได้เห็นได้ฟัง ได้รับรู้จากการสื่อสารต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน) และย้อนคิด (ว่า การให้คืออะไร   การให้แบบหวังผลคืออะไร  การให้ด้วยใจบริสุทธิ์คืออะไร ท่าทีที่มีต่อการให้ ควรเป็นอย่างไร)  สักวันเมื่อเขามีวุฒิภาวะและเป็นผู้ใหญ่พอ  เขาคงจะตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการให้อย่างแท้จริง 

ชอบที่คุณ Ninko  บอกด้วยนะคะ "ในมุมหนึ่ง มักจะมีมุมที่กลับกันเสมอ" 

ดิฉันเคยเจ็บปวดใจนัก  เมื่อไม่รู้ว่าในความรัก ก็มีความไม่รักด้วย  ถ้าเราอยู่อย่างไม่รู้เท่าทัน  เราก็จะคาดหวังอยู่มุมเดียว 

และทุกครั้งที่เราเลือก....  สิ่งที่เราไม่ได้เลือกจะติดมาด้วยเสมอ 

(คือดิฉันพูดถึงความรักอย่างกว้างๆนะคะ)  : )

ดิฉันชอบบันทึกของอาจารย์เพราะมีคำว่าความรัก  และคำต่างๆอันเนื่องด้วยความรัก ความเอื้ออาทร ความละเอียดอ่อน และความเป็นมนุษย์  และที่ชอบที่สุดคือ หัวใจครู ของอาจารย์ทุกท่านที่อาจารย์ได้เล่ามา  การได้รับรู้เรื่องดีๆอย่างนี้ทำให้ดิฉันอยากติดตามด้วยความชื่นใจต่อไป

ขออภัยหากดิฉันพูดอะไรเพ้อเจ้อพรรณนาไปนะคะ  นานๆจะเจอบล็อกที่โยงความรู้กับความรักเข้าหากันได้เป็นใจเดียว   ชื่อบล็อกของอาจารย์จับใจดิฉันจังเลยค่ะ 

ขอบพระคุณอาจารย์มากอีกทีค่ะ : )

 ยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ ที่คุณ ดอกไม้ทะเล (ขออนุญาตเอ่ยนามแฝงนะคะ)ได้เข้ามาแวะเยี่ยมอ่านบันทึกนี้ ถือว่าเป็นกำลังใจให้กับตัวเองในการเขียนบอกเล่าเรื่องราว และการทำงานต่อไปค่ะ

ขอบคุณที่ได้ให้ข้อคิดดีๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจะได้นำไปพัฒนาการสอนให้เฉียบคม ลึกซึ้งมากขึ้น

รู้สึกมีพลัง และเกิดกำลังใจอีกเยอะเมื่อได้รู้ว่ามีใครคนนึงชอบและติดตามอ่านเรื่องราวที่เกิดจากความรักนี้ค่ะ

ชื่อบันทึกนี้น่าสนใจ เลยตามอ่านเรื่องราว

Ninko : "ในมุมหนึ่ง มักจะมีมุมที่กลับกันเสมอ" ให้ข้อคิดได้ดี

ดอกไม้ทะเล : "ดิฉันเคยเจ็บปวดใจนัก เมื่อไม่รู้ว่าในความรัก ก็มีความไม่รักด้วย ถ้าเราอยู่อย่างไม่รู้เท่าทัน เราก็จะคาดหวังอยู่มุมเดียว และทุกครั้งที่เราเลือก.... สิ่งที่เราไม่ได้เลือกจะติดมาด้วยเสมอ"

ทั้งสองท่านให้ความเห็นดีมาก ชอบติดตามอ่านเรื่องราวเหล่านี้อยู่ในหลาย ๆ บันทึก อาจจะนำมาประยุกต์ใช้กับตัวเองบ้าง (บางที)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท