ฆราวาสคลอนแคลน


คิดในทางดีก็ต้องหันกลับมาหา "ฆราวาสธรรม" ครับ รับรองได้ว่า สังคมไทยจะเป็นสังคมสันติสุขอย่างแน่นอน ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ

 

ฆราวาสคลอนแคลน

                  ฆราวาส    คือ ผู้ครองเรือน  พูดให้เข้าใจง่าย  ก็คือ ชาวบ้านเรานี่เอง    แล้วทำไมต้อง คลอนแคลน ?

                 คลอนแคลน  ก็คือ  ง่อนแง่น  ไม่มั่นคง  มันเซซัง โงนเงน จะล้มไม่ล้มอยู่รอมร่อ

                 เพราะฉะนั้น   ฆราวาสคลอนแคลน  ก็หมายถึง     ผู้ครองเรื่อนที่ใกล้จะล้มนั่นเอง 

                 ที่ต้องเอาเรื่องนี้มาพูดก็เพราะว่า  ดัชนีความสุขของคนไทยที่เป็นชาวบ้านๆ อย่างเรา ดูจะลดน้อยถอยลงจนแทบจะเรียกได้ว่า  ไม่ค่อยจะเป็นสุข  อยู่สุข กันสักเท่าไหร่    ท่านถามตัวเองก็ได้ว่า  สุขแค่ไหน 

               ดัชนีความสุข ในที่นี้ ต้องอิงไปในทางธรรม  เพราะทางโลกเขาวัดกันที่ "เงินรายได้"  เป็นหลัก  ซึ่งไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงนักสำหรับชาวบ้าน  พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึงความสุขของ ชาวบ้านว่ามี 4 ประการ คือ

              1. สุขเพราะมีทรัพย์  (อัตถิสุข)    ทรัพย์ที่มีต้องหาด้วยความชอบธรรม ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรานะครับ  ไปปล้นจี้เขามาไม่เกี่ยวครับ  ทีนี้มีมากหรือน้อยไม่ได้วัดที่จำนวนเงินครับ  แต่วัดด้วยใจ

              2.  สุขเพราะการใช้จ่ายทรัพย์ (โภคสุข)   ก็หมายความว่าทรัพย์ที่หามาได้โดยชอบนั้น เราภูมิใจ ที่ได้นำมาเลี้ยงตน แล้ยงครอบครัว และนำไปใช้บำเพ็ญประโยชน์แก่คนอื่นด้วย   ไม่ได้หมายความใช้จ่ายไปในเรื่องเมามัว เที่ยวเตร่ เล่นการพนัน หรือช็อปปิ้งอย่างฟุ่มเฟือย คนองมือ แล้วนำมาทิ้งขว้างไม่ใช้ประโยชน์อันใด  อย่างพวกเศรษฐี ไฮโซ ชอบทำกัน  เช่น ซื้อกระเป๋าถือใบละแสน แต่แขวนไว้ดูที่บ้าน ซื้อรถคันละ 10 ล้าน แต่วิ่งไม่กี่กิโลเมตร ทำนองนี้  

             3. สุขเพราะไม่เป็นหนี้ (อนณสุข)  เห็นทีข้อนี้ผมน่าจะไม่มี เพราะเป็นหนี้ต้องหาเงินมาใช้เขาวุ่นวายอยู่ทุกเดือน (เฮ้อ!  ถอนหายใจสักนิดครับ)  ยิ่งถ้าเราไปดูชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ดูจะเป็นหนี้กันถ้วนหน้า หนี้หวย หนี้เงินกู้ หนี้บัตรเครดิต หนี้พนัน หนี้ธนาคาร หนี้..........อย่างนี้จิตใจไม่อิ่มเอิบแน่   ยิ่งพวกหลงผิดคิดว่าเป็นหนี้หมายถึงเครดิตดี เห็นทีตายไป   หนี้คงตามติดไปถึงแดน"ทุกขาวดี"  เป็นแน่ 

             4. สุขจากความประพฤติไม่มีโทษ (อนวัชชสุข)  ก็คือประพฤติในทางดี ทั้งทางกาย  วาจา  และ ใจ  ไม่มีใครติเตียนเราได้   ซึ่งพระพุทธองค์สรรเสริญข้อนี้มากที่สุด  

                ถ้าเราวัดจากดัชนีทั้ง 4 ข้อนี้แล้วปรากฏว่า  ไม่ค่อยจะสุขสักเท่าไหร่ ก็เห็นทีจะเป็น  "ฆราวาสคลอนแคลน"  ง่อนแง่นเต็มที  แล้วเราจะอยู่ไปได้อย่างไร ?

               ความจริงเรา "มีคำตอบ"  อยู่แล้ว   พระพุทธองค์ทรงมอบธรรมอันวิเศษไว้เป็นทางแก้ไขแล้ว  นั่นคือ

                                    "ฆราวาสธรรม  4" 

              นั่นคือ  ธรรม สำหรับการครองเรือน 4 ประการ ที่จะใช้กำกับชีวิต  ปฏิบัติแล้ว  ความสุข 4 อย่าง ก็จะเกิดขึ้นด้วย

             1. ยึดถือความจริง  (สัจจะ)   คือ มีความซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ  พูดจริง ทำจริง   ให้คนเขาไว้ใจ เชื่อถือ  เพราะฉะนั้น จะประกอบการงานอาชีพใด  ถือสัจจะไว้ให้มั่นคง เราก็จะดำรงอยู่ได้  เงินทองก็จะไหลดุจพลิกฝ่ามือ 

             2. รู้จักฝึกตน (ทมะ)  คือ ข่มใจ บังคับใจตนไม่ให้ตกเป็นทาสความชั่ว มัวเมาในอบายมุขทั้งหลาย หรือลุ่มหลงในโลกีย์ ฟุ่มเฟือย เราต้องรู้จักปรับปรุงตนให้ดีเสมอ รู้จักแก้ไข รักความก้าวหน้า  ถ้าทำได้ เงินที่หามาก็จะไม่ถูกใช้จ่ายออกไปอย่างหลงผิด

            3. รู้จักอดทน (ขันติ)  คือ อดทน ไม่หวั่นไหวในการทำกิจการงานใดๆ มุ่งสู่จุดหมายไม่ท้อถอย  ขยันหมั่นเพียร ไม่เป็นหนี้ใคร ต้องรู้จักอดทนอดออมเงินไว้ มีเงินจึงซื้อหา  อย่าเอาเงินอนาคตมาใช้ เพราะเราจะต้องเสียเงินดอกเบี้ยที่ไม่ควรจะเสียออกไป  อดกลั้นความอยากได้ของตนเสียให้ได้

           4. รู้จักเสียสละ (จาคะ)   คือมีน้ำใจช่วยเหลือเผื่อแผ่ชาวบ้าน บำเพ็ญความดี ประโยชน์ เพื่อคนอื่น  ทำแล้วก็สุขใจ อิ่มใจ ที่ได้ช่วยคนอื่นๆ  ทำมากก็สุขมาก  เสียดายที่ข้อนี้จะลดน้อยถอยลงไปทุกที มีแต่จะเบียดเบียน ฆ่าฟัน  ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน  ตั้งแต่เรื่องเห็นแก่ตัวเล็กๆ น้อยๆ  จนไปถึงขั้นคอรัปชั่น โกงกิน ทำให้คนส่วนมากเดือดร้อน

          พูดมาถึงตรงนี้ ดูจะเป็นอุดมการณ์ทำได้ยากเสียเหลือเกินครับ สมัยนี้  นี่แหละครับ  ยุคกึ่งพุทธกาล เลยมาได้ 50 ปีแล้ว  มนุษย์กำลังจะเดินไปสู่ยุคมืดทมิฬในอีกไม่กี่พันปีข้างหน้า  เข้าใจว่าเราจะได้เห็นกลียุคในอีก 50 ปี  100 ปีข้างหน้าแน่นอน  ถึงตอนนั้น ลูกหลานของเราต้องเผชิญกับวิกฤตสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  หากคนไทยไม่มีเกราะคือศีล-ธรรม ป้องกันอยู่   ขออย่างเดียวอย่าได้เป็น

                                      "คนหลงโลก" 

คือ  หลงในลาภ   หลงในยศ  หลงในสรรเสริญ  หลงในความสุข

คือ หลงในการไม่พิจารณา  ความเกิด  ความแก่  ความเจ็บ  ความตาย

คือ หลงว่าจักไม่ชรา   หลงว่าจักไม่เจ็บไข้   หลงว่าจักไม่ตาย  หลงว่าจักไม่พลัดพรากจากคนที่เรารัก  และหลงว่าเราไม่กรรมที่จะต้องชดใช้ในกาลต่อๆ ไป

             ที่พูดมาเสียยืดยาวนี้  มิใช่หลงตนว่าเป็นผู้ประเสริฐเลิศแล้วนะครับ  รู้แต่ทฤษฎี  แต่ก็กำลังฝึกปฏิบัติ  ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ไม่สมบูรณ์ไปทั้งหมดหรอกครับ  เพียงแต่เอามาเล่าเพื่อ กระตุกฉุกคิดร่วมกันว่า  บัดนี้สังคมไทยกำลังตกอยู่ในภาวะง่อนแง่น  เป็นสังคมที่มี "ฆราวาสคลอนแคลน"  เต็มบ้านเมือง   ดูอย่างแม้แต่กระทั่ง  ผู้ปกครองบ้านเมืองอย่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งออกมาตอบโต้ด้วยทิฐิมานะไม่ละเว้นกันและกัน ชาวบ้านอย่างเราก็ต้องมีอันง่อนแง่นไม่เป็นท่าอยู่อย่างนี้ จะหวังพึ่งพาใครได้ 

           หรือว่า  สังคมไทยจะไร้ความสุขเสียแล้วจริงๆ    คงไม่หรอกครับ   คิดในทางดีก็ต้องหันกลับมาหา "ฆราวาสธรรม"  ครับ  รับรองได้ว่า  สังคมไทยจะเป็นสังคมสันติสุขอย่างแน่นอน  ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ            

หมายเลขบันทึก: 136414เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2007 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
มิน่าชีวิตตัวเองถึงไม่ค่อยจะมีทุกข์ เพราะมี 4 ข้อของความสุขครบนั่นเอง ^ ^

หนูดำเนินชีวิตตามนี้มาตลอดตั้งแต่เรียนหนังสือจบ คือ ทำมาหากินสุจริต ไม่ฟุ้งเฟ้อ หรือใช้จ่ายเกินพอดี ไม่นิยมเป็นหนี้ก็เลยไม่กู้ ทุกอย่างต้องซื้อด้วยเงินสด ถ้าไม่มีก็ไม่ซื้อ ใช้บัตรเครดิตเพื่อควบคุมการใช้จ่ายตัวเอง ทำให้เรารู้ว่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่ เมื่อซื้อก็เลือกของเท่าที่จำเป็นต้องใช้ ใช้ทรัพย์ที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงเลี้ยงดูครอบครัวที่เรารัก ไม่ตระหนี่กับครอบครัวและเพื่อน (ต้องดูความเหมาะสมด้วย) ไม่เคยคิดไปเบียดเบียนเอาทรัพย์ของใคร ไม่โลภในทรัพย์ที่ไม่ใช่ของตัว

ถ้ามนุษย์ทำได้อย่างนี้ ก็จะไม่มีเรื่องบาดหมาง ครอบครัวไม่แตกแยกและมีความสุขตามอัตภาพ

ผมไม่รวย แต่ผมก็ไม่จน ผมมีความสุขในชีวิตเพราะไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ครับ

คุณP

          ผมอนุโมทนาด้วยความยินดีที่คุณซูซานมีความสุข  ในโลกแห่ง "สุจริตชน"  ความสุขนั้นหาได้ง่าย และยั่งยืน มั่นคง  กว่าพวกแสวงหาประโยชน์ตน อย่างนี้ย่อมเป็นที่สรรเสริญของมนุษย์และเทวดาครับ

สวัสดีครับคุณP

            นั่นคือความจริงและความเป็นจริง  การอยู่ได้อย่างมีความสุขแบบนี้ประเสริฐยิ่งแท้ครับ  เพราะเรามีกิเลสคอยตามกวนใจอยู่ตลอดเวลา  บางทีผมก็พบว่าตัวเองถูกกิเลสครอบงำไปแล้วโดยไม่รู้ตัว แล้วก็เกิดทุกข์  บันทึกนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อเตือนตนเองด้วยครับ 

ขอขอบพระคุณอาจารย์กรเพชร...

  • หัวข้อเรื่อง + เนื้อเรื่องโดดเด่นมากครับ
  • เรียนเสนอให้ใช้แบบอักษร > font > Tahoma ขนาด 12
  • มีการศึกษาพบว่า อักษรตัวบางอ่านง่ายกว่าตัวหนา ตำราว่าด้วยการพิมพ์ มสธ. ท่านกล่าวไว้อย่างนั้น...

จากฆราวาสคลอนแคลนน้อย...

สวัสดีครับคุณหมอP

          ขอบคุณครับ ผมจะลองเปลี่ยนตามที่เสนอแนะ เพราะเห็นด้วยว่า ตัวอักษรหนาๆ อ่านไม่ชัดเหมือนกัน

สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย ความสั่งสมบุญ นำสุขมาให้

อนณสุขํ ภเวยฺย พึงเป็นคนมีสุข จากการไม่เป็นหนี้

นาย นาถพงศ์ ปานพายัพ

  การที่เราจะหาความสุขนั้นไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์เสมอไป แต่การหาความสุขนั้นก็หาได้จากรอบๆตัวเรา คือ การไม่สร้างหนี้แก่ตนเอง ไม่สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจแก่ตนเองและผู้อื่น ดังนั้นควรปฎิบัติตามคำสอนของพุทธองค์ คือ สัจจะ มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น  ทมะ การข่มใจกับกิเลสตัณหาอื่นๆ  ขันติ คือการอนทนอดกลั้นต่อสิ่งต่างๆ    จาคะ คือการเสียสละบางสิ่งบางอย่าง. สังคมประเทศไทยในปัจจุบันควรยึดหลักธรรมนี้ไว้

 

 

คุณนาถพงศ์

          เห็นด้วยกับความคิดของคุณครับ  อย่างไรก็ตาม ถ้าฆราวาสไม่มีทรัพย์ก็อาจครองตนลำบาก และอาจเกิดทุกข์ได้มากกว่า  ผมว่าการมีทรัพย์ เป็นสิ่งจำเป็นครับ ทำให้เรามีความสุข(ทางกาย) คือดำรงชีวิตตามสมควรในโลกในฐานะฆราวาส ได้แก่ปัจจัยสี่  ซึ่งถ้าไม่มีเลยเห็นทีลำบาก เกิดทุกข์ได้ง่าย  เพียงแต่การมีทรัพย์นั้นขอให้ได้มาซึ่งสุจริต และรู้จักใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นในชีวิต 

นายนาถพงษ์ ปานพายัพ

สรุป  ฆราวาสคลอนแคลน

     ในปัจจุบันดัชนีความสุขของคนไทยลดลง  เพราะเรื่องปัญหาการงานการเงิน  หนี้สินที่ต้องรับชำระหนัก  จึงทำให้คนไทยมีความสุขน้อยลง  การหาความสุขวิธีของเราคือหันหน้าเข้าวัด  ยึดหลักธรรมของพุทธองค์  การที่จะมีความสุขต้องมีธรรมอีกข้อหนึ่งนั้นคือ  ฆราวาสธรรม 4  คือ

   สัจจะ  ยึดถือความจริง

   ทมะ  รู้จักฝึกตน

   ขันติ  รู้จักอดทน

   จาคะ  รู้จักเสียสละ

ถ้าคนไทยทำอย่างนี้ไดประเทศไทยคงมีความสุขมากทีเดียว

ข้อคิดเห็น

     อยากให้อาจารย์ทำหัวข้อของเรื่องของวัยรุ่งที่เปลี่ยนไปตามกระแสนิยมทาง  ภาษา  การแต่งกาย ในปัจจุบัน

คติที่ได้

     สอนให้รู้วิธีในการดำเนินชิวิตประจำวัน  ควรจะใช้หนทางใดไปสู่ชีวิตที่มีความสุข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท