นายถุง พลายละหาร ศิษย์คนสำคัญของครูเคลิ้ม ปักษี


เพลงเมื่อก่อนว่ากันเป็นเรื่อง ๆ แต่เดี๋ยวนี้เอาโน่นนี่มาแปะต่อ ๆ กัน

ลูกศิษย์คนสำคัญ

ของครูเคลิ้ม ปักษี

(นักเพลงต้นตำนาน)

นายถุง พลายละหาร”  

                

         คงจะเป็นช่วงเวลาท้าย ๆ ที่ครูเคลิ้มเล่นเพลง เป็นช่วงที่น้าถุงเข้าไปฝึกหัดเพลงอีแซวและ เพลงพื้นบ้านอื่น ๆ นั้น วงการเพลงพื้นบ้านของดอนเจดีย์ดูจะทรง ๆ ไม่ฟู่ฟ่าเหมือนดังในยุค 60 ปีก่อนโน้น ที่คนเพลงต่างก็เล่นกันแบบไม่แยกว่า เป็นคนดู เป็นนักแสดง คือ แบ่งฝ่าย  ใครร้องเล่นเต้นได้ก็โดดเข้ามาร่วมวงกันได้เลยไม่มีแบ่งขั้วในระยะต่อมาเมื่อมีนักแสดงที่สร้างชื่อเสียงมากขึ้น คนดูติดตาม และจ้างวานหาไปแสดงโดยคิดค่าตัวเป็นทางการทำให้เพลงพื้นบ้านในยุคนั้นเปลี่ยน ไปจากการแสดงแบบการละเล่นกลายเป็นมหรสพมีการจัดระเบียบในการแสดง มีการแต่งตัวแบบผ้าสีและตกแต่งด้วยเครื่องประดับ ไม่ใช่ต่างคนต่างแต่งกันมาแบบเก่า จากคำบอกเล่าที่ผมได้รับฟังมา จาก น้าถุง พลายละหาร มีดังนี้                                        

          น้าถุงนั่งนิ่งคิดทบทวนความหลังเมื่อครั้งก่อน นานมากแล้ว เรื่องที่ผมอยากรู้  แล้วท่านก็เริ่มเล่าเรื่องราวของท่านให้ผมฟัง พร้อมกับบอกเรื่องราวเก่า ๆ เมื่อครั้งที่ท่านฝึกหัดเพลงกับลุงเคลิ้ม ปักษี และไปเล่นเพลงอีแซวในงานต่าง ๆ  รวมทั้งเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ได้แก่ เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงเต้นกำ ฯลฯ    

          นายถุง พลายละหาร เกิดปี พ.ศ.2478 ปัจจุบันอายุ 72 ปี (พ.ศ. 2550) อยู่บ้านดอนกลาง   หมู่ที่ 3  ตำบลดอนเจดีย์  อำเภอดอนเจดีย์  จังหวัดสุพรรณบุรี  ภรรยาชื่อ นางสำลี  พลายละหาร มีบุตร 6 คน ชาย 1 คน หญิง 5 คน บ้านเกิดที่บ้านละหาร อำเภอศรีประจันต์  มาอยู่บ้านหนองม้า (บ้านห้วย ข้างโคกหม้อ) อ.ดอนเจดีย์ เริ่มหัดเพลงเมื่ออายุ 18-19 ปี หัดครั้งแรกกับครูรุณ ครูย้อย (คนเมืองกาญจน์) แต่ยังไม่ทันได้เท่าไรก็มาเลิกเสียก่อน เพราะคนในวงทำตัวไม่เหมาะสมกับลุงยังไม่ทันได้ไปเล่นที่ไหนก็มาแตกกันหมด จึงหันมาหาลุงเคลิ้ม ปักษี ที่หัดครั้งแรกเรียกว่า เพลงวง เพลงฉ่อย เพลงฉ่านี่แหละ งานแสดงในสมัยนั้นส่วนใหญ่เล่นงานแก้บน น้าถุง เป็นนักแสดงชั้นหลัง (รุ่นหลัง) แต่ก็ได้ไปแสดงกับนักเพลงในยุคนั้นบ่อย คือ ไปแทบทุกงาน                                                              

         การฝึกหัดเพลงในสมัยนั้น ครูเขาก็ให้เราจดและจำเนื้อเพลงเอา มีหนังสือที่ครูเคลิ้มเขาเขียนเอาไว้เป็นเล่ม ๆ สมุด เวลาจะเล่นก็ต้องจดเอาไปท่อง จดกันเป็นหัว ๆ (เล่มสมุด) มีเพลงเรื่องบ้าง เพลงต่อว่าแก้กันบ้าง เพลงตับบ้าง เอาไปท่อง ครูเขาก็ร้องให้ฟังบ้าง เราก็ฝึกซ้อมเอาเองซ้อมกับครูกับพวก ๆ โดยใช้เวลาในตอนกลางคืน (กลางวันต้องทำงาน) เมื่อมีงานหาเราก็ไป ไม่มีคนหาเราก็ทำไร่ไถนาของเราไปอย่างนั้น ใช้เวลาฝึกหัดโดยว่างก็ไป เช่น เดือนหนึ่งก็ไปหาครู 2-3 ครั้ง ถ้าเป็นเพลงชาย-หญิงแก้กัน เราก็จดแต่เพลงของเรา เวลาว่าก็ต้องมาพร้อม ๆ กัน เช่นชายถาม หญิงตอบ เราก็จดแต่ของเราไปท่อง                                                                          

         ออกเล่นงานได้ตั้งแต่ก่อนบวช ในช่วงนั้นมีงานเล่นเพลงมาก เรากำลังหนุ่มด้วย ขยันฝึกซ้อมและท่องจำเพลงได้มาก เมื่อบวชพระ  พอสึกจากบวชพระก็ไปเป็นทหารเลย เมื่อกลับมาจากเป็นทหารก็มามีครอบครัว คราวนี้ก็นาน ๆไปรวมกับพวก ๆ ที่บ้านลุงแกที (ลุงเคลิ้มแกก็ว่า ไอ้ห่านี่กลัวเมีย หรือมันไม่ให้มึงไปไหนเลยหรือไง) แต่พอมีครอบครัวก็เริ่มไปมายากเสียแล้ว ในสมัยนั้นไปเล่นงานหนึ่งจะได้ค่าตัว 10-20 บาท ถ้างานไหนได้ค่าตัวถึง 30 บาทละก็ได้มากอักโขเชียว เงิน 10 บาท 20 บาท ในสมัยนั้นก็ใช้ไปนาน ซื้อของกินของใช้ได้มาก ในยุคนั้นไม่มีเวที เล่นกับพื้น ปูเสื่อบ้างหรือไม่ก็เอาฟางปูเข้า ถ้าเป็นตอนกลางคืนก็จุดตะเกียงเจ้าพายุเข้า เครื่องฟืนเครื่องไฟไม่มี (ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้) เครื่องดนตรีก็ไม่มีอะไร มีฉิ่งกับกรับ และใช้ปรบมือเอาเท่านั้น ตะโพน รำมะนาก็ไม่มี 

       

                      (ภาพครูเพลง มีป้าอ้น, น้าปาน, น้าถุง และผม เล่นเพลง ปี 2543)

        เครื่องแต่งกายในยุคนั้นก็ไม่มีอะไร นุ่งผ้านุ่งแบบกางเกงขายาว กางเกงขาก๊วย นุ่งโสร่ง  ต่อมาในยุคหลังนี่แหละที่มีการแต่งตัว แต่งหน้าทาแป้ง เขียนคิ้วกันอย่างสวยงาม (แต่ก่อนไม่มีอะไร)

         ผมขอให้น้าถุงช่วยทบทวนความหลัง เพลงอีแซวที่เคยร้อง ในสมัยก่อนให้ฟังสักเล็กน้อย น้าถุงใช้เวลาคิดครู่หนึ่ง แล้วก็เอื้อนเอ่ยคำร้องว่า     

   เกิดกันมานาน ทำแต่งานหมกมุ่น     หัวสมองมันหมุน ไม่ทันสมัย   

ฑีฆะ รัสสะ ไม่กระจะแจ่มแจ้ง           เพลงด้นว่าแดง ฉันแทบจะฟังไม่ได้

เพลงโด่งเพลงด้น  เพลงด้นเพลงด่า   ทั้งสบประมาทราคา นี่ยังไม่รู้หยาบคาย   

นี่ถ้าท่านอยากฟัง ได้โปรดนั่งลงก่อน   ฟังกระทู้สุนทร แล้วเพลงไทย 3(เอ่อ..)   

เมื่อกำลังย่อมเยา ผมเคยได้เข้าโรงเรียน ได้ขีดคัดวาดเขียน ทั้ง ก ข และ ก ไก่            

แต่เมื่อจบ ป.4 ผมไม่ได้ศึกษา          ด้วยเหตุผมเป็นชาวนา ผมจึงไม่ได้เป็นนาย

เป็นบุญกรรมวาสนา ดินฟ้าส่งมาเกิด    เป็นบุญกรรมช่างเถิด เกิดเป็นลูกคนไทย   

แพงเอิกเกริก ผมจึงได้เลิกทำนา       บุญน้อยด้อยวาสนา  ที่จะได้เป็นนาย (เอ่อ..)      

จะขอยกตนเตือน เพราะเราเป็นเพื่อนร่วมชาติ  อย่าได้หมิ่นประมาท สังขารร่างกาย   

อย่าหลงเลยว่าเรา นี่ก็ยังสาวยังหนุ่ม   อย่าหลงเพ้อแต่ภูมิ ก็ให้คิดถึงภัย 

เมื่อพระยามัจจุราช มาพิฆาตเราแล้ว   อย่านึกถึงดวงแก้ว เข้ามาป้องกันกาย   

จะร้องไห้เรียกหา แต่พระอรหัน         เพราะสติก็ไม่ตั้ง เผลอตัวถึงได้ตาย (เอ่อ..)      

ว่าอัตตะโนนาโถตนเป็นที่พึ่งแห่งตนดูแต่พระทศพล ยังหนีภัย   

จึงหวังดีหนีชั่ว จึงทำตัวของท่าน       ออกจากสงสาร โดยดุจนิสัย   

ถึงลูกเมียอยู่ได้ ก็ไม่ยินดี               อยู่ได้เพียง 80 ปี ก็ยังต้องตาย (เอ่อ..)      

ว่าพวกเราทั้งหลาย อยากจะไปเหมือนอย่างท่าน  หมั่นทำบุญทำทานอย่ามัวท้อใจ   

ไม่ต้องถากต้องถางเพียงแค่ยึดถือ     เอาไว้ให้มั่นกับมือ เป็นสิ่งที่ยึดหมาย   

เปิดตาเปิดหู จะได้รู้ได้เห็น              สิ่งที่ดีจะได้เป็น หนทางให้ไป (เอ่อ..)           

        ผมเห็นท่าว่า น้าเขาจะเหนื่อยก็เลยชวนคุยต่อ เพลงเมื่อสมัยก่อนน่าฟังจังเลยนะน้า แฝงไว้ด้วยคติสอนใจ น้าถุงพูดต่อไปว่า เพลงเมื่อก่อนว่ากันเป็นเรื่อง ๆ  แต่เดี๋ยวนี้ เอาโน่นนี่มาแปะต่อ ๆ กัน เดี๋ยวก็มีนักร้องมาปนอีกแล้ว เพลงเมื่อก่อนเขาเล่นกันสนุก  น้าถุงจะว่า เพลงสอนหญิงให้ฟัง  เป็นเพลงเตือนสาว ๆ  ดังนี้ ครับ     

         

      (น้าถุงกำลังเล่าเรื่องราวครั้งเก่าเมื่อตอนฝึกหัดเพลงกับครูเคลิ้ม ปักษี)

    แม่รูปสวยรุ่นสาวจะหาว่าพี่นี้มาสอน      น้องอย่าเพิ่มเคืองค้อน ว่าพี่แกล้งแคะไค้   

น้องเกิดมาเป็นสตรี ต้องรักศรีสงวนศักดิ์     จะระเริงความรัก จะให้ตัวเหลวไหล   

น้องจะคิดมีคู่  ให้ตรองดูให้ดี                 เอ็งจะหาสามี จะให้ผิดคาดหมาย 

ถ้าคู่ชื่นเอ็งชั่ว จะพาให้ตัวเสียชื่อ (เอย.)   มิใช่เรือนจะได้รื้อ มาปลูกใหม่

ถ้าได้ผัวคนดี  จะมีราศีกับตัว                 ถ้าหากว่าได้ผัวชั่ว  จะอัปราชัย 

ถ้าถูกชื่อเอ็งชั่ว จะทำให้ตัวเสียชื่อ          คนเขาจะเอาไปลือจนเสียบหาย

ถ้าได้ผัวทำงาน  ราชการแผ่นดิน            มันคงไม่เกิดราคิน  เข้ากะใคร            

เมื่อขึ้นเตียงเคียงหมอน จะหลับนอนกับผัว น้องจะต้องทำตัว ลงต่ำใต้   

ให้จัดน้ำล้างหน้า  เตรียมหากระโถน        นั่นแหละเป็นกิจของตน เอาใจใส่   

ให้กราบเท้าผัวตน นั่นแหละเป็นคนที่ดี     เอาไว้ให้ผ่องใส  

เอาละแม่สายสมรเอ็งจะไปนอนเรือนเขา   มันไม่เหมือนเรือนเรา มีอันตราย   

ให้ลุกขึ้นแต่เช้า ๆ หุงข้าวใส่บาตร          พระท่านมาโปรดสัตย์ อย่านอนเซาตื่นสาย   

โอ้ว่าแม่รุ่นสาว เอ็งอย่าว่าพี่นี้สอน (เอย.) เตือนไว้เป็นอุทาหรณ์ เพื่อสอนใจ (เอ่อ)    

         ในยุคก่อน ๆ นักเพลงสมัยเก่า เมื่อถึงกำหนดเวลาที่การแสดงจะจบลง นักแสดงก็จะนำเอาบทเพลงที่เป็นตอนสำคัญฝากเอาไว้ให้ผู้ชมระลึกถึง เป็นการอวยชัยให้พรท่านเจ้าภาพ (ผู้หา หรือผู้จ้างวาน) ด้วย บทร้องในตอนสุดท้ายนี้เรียกว่า บทร้องลา-อาลัย เป็นการนำเอาความประทับใจที่เกิดขึ้นระหว่างการแสดงมากล่าว บางทีท่านผู้ชมจะได้ฟังเพลงลา ที่มีการสั่งลากันในกลุ่มผู้แสดง เช่น พ่อเพลงร้องลาแม่เพลง และแม่เพลงร้องสั่งลาพ่อเพลง เป็นการแสดงความอาลัยซึ่งกันและกันอย่างประทับใจ ครับ และในช่วงสุดท้ายนี้ ผมจึงได้ขอให้น้าถุง ร้องเพลงลา แต่เนื่องจากว่าท่านไม่ได้ร้องมานาน บางตอนอาจจะถ่ายทอดคำร้องออกมาได้ไม่ชัดเจน ขออภัยด้วยแต่ทั้งหมด นั้น นายถุง พลายละหาร ได้ถ่ายทอดบทเพลงของบรมครูแห่งเพลงอีแซวตัวจริง บุคคลที่เป็นต้นกำเนิดให้กับนักเพลงชาวดอนเจดีย์และชาวสุพรรณบุรีโดยแท้จริง ท่านคือครูเคลิ้ม ปักษีครับ    

   พอเปิดหมวกเคารพ ผมลาก่อนแล้วขอรับ (เอย.) ได้ก้มหัวลงคำนับ ผมลากลับแล้วนาย   

ขอลาป้าจิบลาป้าจับขอลาป้าพับป้าพิมพ์       ป้าแย้มป้ายิ้ม ป้ายวงป้าใย   

ทั้งพี่น้องป้าน้า ที่ผมลาแน่วแน่                  ว่าปากลาตาแล ที่จริงผมยังอาลัย   

ลาแม่ครัวของคาว ลาแม่เจ้าของหวาน(เอย.)  ตลอดทั้งเจ้าของงาน ไม่รู้จะทำอย่างไร   

ที่นำเสียงนก ที่ยังอาลัยเสียงนัก                ขึ้นชื่อว่าจะจาก หัวอกแทบแตกกระจาย   

ถ้าอยู่ได้ก็จะอยู่ อยู่เป็นคู่ประคอง              จะได้ถนอมนวลน้อง ไม่ต้องไปทางไหน   

ถ้าตีนมือฉันไม่เจ็บ หากว่าเล็บไม่ถอด         หูตาฉันไม่บอด คราวหน้าจะมาอีกใหม่   

ส่วนว่าตัวฉันเอง  นั้นอยากจะอยู่ (เอย.)       เว้นแต่พวกแต่หมู่  ของผมจะไป (เอ่อ..)    

ว่าขนม 2 ห่อ ไก่ต่อนั้นอย่าเพิ่งตัก             เอาไว้รอคนรัก เถิดไม่เป็นอะไร

คราวนี้จะผูกคอตาย กันเสียที่ใต้ร้านฟัก        อกก็เต้นตึ๊กตั๊ก  กลัวว่าตัวจะตาย   

แล้วจะขึ้นตาลโจน อีต้นต่ำ ๆ (เอย..)          กระโจนปุ๊บลงเป็นทำ ทำเป็นตาย   

ให้เมินหน้าไปทางโน้น ตอนเอ๊ยชม้อย        ใจคอฉันไม่ค่อย จะสบาย 

เสียดายแต่แก้มเคยจูบ เสียดายแต่รูปเคยจับ (เอย) ของเล็กที่อยู่ลับ มันทำให้ฉันเสียดาย (เอ่อ) 

(ชำเลือง มณีวงษ์. ศิษย์คนสำคัญของครูเคลิ้ม ปักษี นายถุง พลายละหาร  25 มิถุนายน 2541)

 

หมายเลขบันทึก: 135983เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2007 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คุณตานามสกุลเดียวกันกับหนูค่ะ

พ่อหนูก็เป็นคนจังหวัดสุพรรณด้วยค่ะ

ย่าหนู ชื่อ วิง

คุฯตารู้จักมั้ยค่ะ

สวัสดีค่ะอ.ชำเลือง

ตามมาอ่านประวัติของครูเคลิ้ม ปักษี

แม้จะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องราวด้านอีแซวมากนัก แต่ก็ชื่นชมและอยากให้ครูเพลงท่านได้เผยแพร่ผลงานเพื่อเป็นมรดกของชาติค่ะ

อาจารย์สบายดีนะคะ

ระลึกถึงค่ะ(^___^)

คุณดรีม (ความเห็นที่ 1)

  • ยินดีท่คนสุพรรณฯ เข้ามาเยี่ยม
  • อาจจะเป็นเครือญาติกันก็เป็นได้ ครับ

สวัสดี ครับ คนไม่มีราก

  • ลุงเคลิ้มเป็นบรมครูของนักแสดงเพลงอีแซวรุ่นเก่าตัวจริง
  • บทร้องเพลงอีแซว ที่เล่นกันมานานเป็นของลุงเคลิ้ม ปักษี เกือบจะทั้งหมด ลุงเขียนบทเพลงเอาไว้มาก
  • แม้แต่นักเพลงในรุ่นราวคราวเดียวกันยังมาเอาเพลงลุงเคลิ้มไปร้อง แต่ไม่มีใครนึกถึงลุงกันเลย
  • ขอบคุณ ครับ ผมสบายดี

ไม่แน่ใจว่าเปนพี่ชายพ่อหนูไหมค่ะ พ่อหนู ชื่อวิชาญ พลายละหาร ค่ะ

ไม่แน่ใจว่าเปนพี่ชายพ่อหนูไหมค่ะ พ่อหนู ชื่อวิชาญ พลายละหาร ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท