รวมพลังสร้างสรรค์ : ยุทธศาสตร์จังหวัดชุมพรในมุมมองของภาคเอกชน


ผมทราบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ทุกคนต้องมีความตั้งใจจริง ต้องช่วยกันและทุ่มเททั้งเวลา กำลังกาย กำลังสมอง จึงจะสำเร็จ...จังหวัดชุมพรจึงต้องรอต่อไปอีกระยะหนึ่ง

เหตุอันเนื่องมาจากจังหวัดชุมพรบ้านของเราเปลี่ยนตัวผู้ว่าราชการจังหวัดกันเป็นว่าเล่น ปีนี้เพียงปีเดียวเมื่อถึงเดือนตุลาคม 2550 เราได้ต้อนรับผู้ว่าฯ คนที่ 3 แน่นอนว่าแนวทางการทำงานและนโยบายบางประการจะต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเรียกว่า ภาวะผู้นำ ทั้งนี้เพราะธรรมเนียมปฏิบัติของราชการไทย เรามักจะให้ความสำคัญกับผู้นำค่อนข้างมาก การประชุมระดับจังหวัดส่วนใหญ่จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นที่โน้มเอียงไปในทางตอบสนองความต้องการของ คนที่นั่งหัวโต๊ะ เมื่อตำแหน่งดังกล่าวอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านหรือรอจังหวะซึ่งต้องใช้เวลา ในอีกด้านหนึ่งจึงเป็นเรื่องเสียโอกาส ขาดความชัดเจน ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร ฯลฯ เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อสังคมชุมพรโดยตรง

นายสุวัฒน์ ตันประวัติ อดีตผู้ว่าฯ คนล่าสุด ท่านได้เขียนแสดงความคิดเห็นในหนังสือที่ท่านแจกก่อนเดินทางไปรับราชการ ณ ตำแหน่งใหม่ ไว้อย่างน่าสนใจว่า

ในเดือนพฤษภาคม 2550 ผมได้ตรวจสอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดชุมพร พบว่าสิ้นสุดระยะของแผน 5 ปีแล้ว เจ้าหน้าที่มาชี้แจงว่ายังไม่ได้ดำเนินการร่างฉบับใหม่ ซึ่งควรจะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ พ.ศ.2551 ระหว่างนี้ก็มีความจำเป็นต้องทำโครงการต่าง ๆ โดยไม่มีทิศทางที่ชัดเจน จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่กำหนดประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อวางแนวทางของแผนฯฉบับใหม่

จนถึงเดือนกันยายน 2550 ผมยังไม่ได้เห็นแผนยุทธศาสตร์ ทราบว่าติดขัดจากการที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตไปว่า การกำหนด วิสัยทัศน์ (Vision) เป้าประสงค์ (Goals) และการการกำหนด ประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Issues) ควรเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สภาพของจังหวัด หรือที่เรียกว่า SWOT อย่างที่ได้รับการอบรมมา เพราะสภาพต่างๆ ของจังหวัดชุมพรเมื่อคราวที่เริ่มทำแผนยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปี 2546 เวลานี้น่าจะเปลี่ยนไปมากแล้ว หากยังเอาสภาพที่เป็นอยู่ครั้งนั้นมากำหนดวิสัยทัศน์ ก็น่าจะคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง แล้วแผนของเราก็จะไม่สามารถใช้แก้ปัญหาได้

ผมทราบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก ทุกคนต้องมีความตั้งใจจริง ต้องช่วยกันและทุ่มเททั้งเวลา กำลังกาย กำลังสมอง จึงจะสำเร็จ

จังหวัดชุมพรจึงต้องรอต่อไปอีกระยะหนึ่ง

เป็นอย่างไรครับ รู้สึก วังเวง บ้างไหมครับ...เรื่องเหล่านี้ทำให้องค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วย หอการค้า, สภาอุตสาหกรรม, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว และชมรมธนาคารจังหวัดชุมพร ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาจังหวัดในด้านต่าง ๆ ให้ออกมาเป็น ยุทธศาสตร์จังหวัดในมุมมองของภาคเอกชน เป็นการระดมความคิดให้ตกผลึกออกมาเป็นแนวทางเดียวกันที่ชัดเจนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อมีการประสานงานกับภาครัฐเราจะได้พูดเป็นเสียงเดียวกัน มีเอกภาพ และมีพลังขับเคลื่อนบนแนวทางที่สร้างสรรค์

ดังนั้น เมื่อวันอังคารที่ 2 ตุลาคม 2550 เวลา 10.00 - 13.30 น. ประธานและคณะกรรมการหอการค้า, นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว, ประธานชมรมธนาคาร และผู้แทนของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร รวมทั้งสิ้นจำนวน 24 คน จึงได้เริ่มต้นพูดคุยกันที่ห้องประชุมหอการค้าจังหวัดชุมพร ผมได้เชิญหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ สำนักงานจังหวัดชุมพรและคณะ มาอธิบายภาพรวมของการจัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์จังหวัดชุมพร พ.ศ.2551 - 2554 ซึ่งกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ไว้ 5 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 : การพัฒนาสินค้าเกษตรครบวงจร
ประเด็นที่ 2 : การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างพอเพียง
ประเด็นที่ 3 : การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
ประเด็นที่ 4 : การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
ประเด็นที่ 5 : การบริหารกพัฒนาเพื่อบริการประชาชน

ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง และลงลึกในรายละเอียดของประเด็นต่าง ๆ ซึ่งผมจะต้องนำมาประมวลและสรุปผลในการประชุมเฉพาะประเด็นยุทธศาสตร์ในขั้นตอนต่อไป

และเพื่อเปิดกว้างในการรับทราบข้อคิดเห็น ผมจึงได้เปิด กระดานสนทนา หรือ Webboard ลงในเว็บไซท์หอการค้าจังหวัดชุมพร www.cpnchamber.org โดยแยกหมวดหมู่ออกเป็นแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันได้เต็มที่

นี่ก็เป็นเรื่อง สร้างสังคมฐานความรู้ด้วย IT อีกแนวทางหนึ่งครับ.

หมายเลขบันทึก: 135749เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2007 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท