ธปท.เปิดจุดเสี่ยงอนาคตการคลัง "ประชานิยม" ยังฝังรากลึก


ธปท.เปิดจุดเสี่ยงอนาคตการคลัง "ประชานิยม" ยังฝังรากลึก
ผลงานวิจัยแบงก์ชาติ ระบุ ปัญหาบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลที่มีมากกว่ารายได้ยังไม่ลดลง จาก "นโยบายประชานิยม" ที่คนไทยระดับฐานรากยังมีความต้องการพื้นฐานนี้อยู่ แนะหนทางแก้ไขด้วยการ "ปฏิรูประบบภาษี" ที่เป็นรูปธรรม ให้เพิ่มรายได้โดยผ่านบทบาทภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ขยายฐานภาษีเพิ่ม และกำหนดตารางลดหย่อนที่เหมาะสมและเป็นธรรม และเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดวินัยทางการคลังในอนาคตนักเศรษฐศาสตร์แบงก์ชาติชี้แนวโน้มรายจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายด้านสังคมที่มีช่องทางขยายตัวเพิ่มตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ขณะที่รายได้รัฐมีข้อจำกัดมากขึ้นโดยเฉพาะด้านภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม  แนะรัฐปรับปรุงระบบภาษีให้มีประสิทธิภาพ และระมัดระวังรายจ่ายนอกงบประมาณ พร้อมชี้เงินกองทุนประกันสังคมจะเริ่มลดลงหลังในอีก 35 ปีข้างหน้า แนะต้องปฏิรูประบบโดยการเพิ่มอายุเกษียณ และเก็บเงินเข้ากองทุนมากขึ้นเพื่อให้มีความยั่งยืนในระยะยาว ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้บริหารส่วน ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการนำเสนองานวิจัยเรื่อง "การประเมินความเปราะบางทางการคลังของไทย : ความเสี่ยงและนัยต่อการดำเนินนโยบายในอนาคต" วานนี้ (4 ต.ค.) ว่ารายจ่ายภาครัฐของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรายจ่ายด้านสังคม ขณะที่รายได้ภาครัฐจากการจัดเก็บภาษีกลับมีข้อจำกัดในการจัดเก็บมากขึ้น  รายจ่ายของภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น เห็นได้จากการที่ปัจจุบันสัดส่วนรายจ่ายต่อจีดีพีของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 18.2% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่มีสัดส่วน 26.3% และต่ำกว่าประเทศ      ที่พัฒนาที่มีสัดส่วน 36.3% เกือบ 2 เท่า เนื่องจากประเทศที่มีการพัฒนามากขึ้น จะมีรายจ่ายเพื่อสวัสดิการประชาชนมากขึ้น ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะมีรายจ่ายภาคสังคมมากขึ้น เช่น รายจ่ายด้านเงินเดือนค่าจ้างและเงินอุดหนุนต่าง ๆ ดร.ทรงธรรม กล่าวอีกว่า ในด้านกฎหมายที่เปิดให้มีการใช้เงินคงคลังใช้จ่ายในกรณีที่รายจ่ายที่ตั้งงบประมาณไว้ไม่เพียงพอได้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้รายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น โดยเห็นได้จากรายจ่ายเงินคงคลังที่ถูกใช้ไปเพื่อสิทธิบุคคล เช่น ค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญหรือเงินเดือนเพิ่มอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลพยายามที่จะจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2548 ทำให้งบประมาณถูกจำกัดจนต้องมีการตั้งงบประมาณบางรายการไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง ความเสี่ยงด้านการคลังอย่างสุดท้ายคือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งเพิ่มการให้สวัสดิการกับสังคมมากขึ้น เช่น การสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสให้ทัดเทียมผู้อื่น การคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากความรุนแรงและความไม่เป็นธรรม รวมไปถึงการมีกองกำลังทหาร อาวุธและเทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกทั้งความเสี่ยงด้านกฎหมายที่เคยมีอยู่ก็ยังไม่ลดลง และทิศทางการมีนโยบายประชานิยมก็ยังคงมีอยู่  ดร.ทรงธรรม กล่าวอีกว่า ประเทศไทยจัดเก็บรายได้ ได้ต่ำกว่าประเทศอื่น โดยมีรายได้เป็นสัดส่วนเพียง 16% ของจีดีพี น้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศพัฒนาแล้วถึง 2 เท่าและต่ำกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ที่ 18% และประเทศไทยพึ่งพารายได้จากภาษีทางตรงน้อยกว่าภาษีทางอ้อม ทำให้รายได้ของรัฐบาลผันผวนตามราคาสินค้าในประเทศมาก  หากพิจารณาจากประเภทของรายได้ภาษีจะพบว่า รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังมีบทบาทน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยอัตราภาษีที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำเพียง 5% และจำนวนผู้ที่เข้าสู่ระบบภาษีก็มีสัดส่วนไม่มากนักและมีการหักค่าลดหย่อนภาษีได้มากด้วย  ในส่วนของประเภทภาษีอื่น ๆ ก็ยังมีข้อจำกัด โดยในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคล  ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่เนื่องจากภาษีนิติบุคคลมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลมีแนวโน้มปรับลดลงในอนาคต ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นรายได้สำคัญของรัฐอีกอย่างหนึ่งก็มีอัตราภาษีที่แท้จริงสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้กับอัตราที่กำหนดทำให้ช่องทางที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต      มีไม่มากนัก  ส่วนภาษีศุลกากรก็ลดบทบาทลงหลังจากที่มีการเปิดเสรีการค้าทำให้ไม่สามารถพึ่งพิงได้มากนัก นางสาวฐิติมา ชูเชิด เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า    ความเสี่ยงทางการคลังอีกด้านหนึ่งที่รัฐควรให้ความสนใจคือ ภาระเพิ่มเติมทางการคลังที่มีมากขึ้นทั้ง โดยเฉพาะภาระความเสี่ยงที่เกิดจากกิจกรรมกึ่งการคลัง เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร การให้สินเชื่อผ่านธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หรือเงินชดเชยการขาดทุนขององค์การขนส่งมวลชน ซึ่งภาระเพิ่มเติมทางการคลังส่วนใหญ่เป็นภาระที่งบประมาณในอดีตตั้งรายจ่ายไว้ไม่ครบหรือค้างจ่าย หากมีการปฏิรูประบบภาษีควบคู่กันไปจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถรองรับความเสี่ยงได้ โดยการปฏิรูประบบภาษีจะต้องทำอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการเพิ่มบทบาทของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านการขยายฐานภาษีเพิ่ม และกำหนดรายการลดหย่อนที่เหมาะสม และเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันการลดหย่อนภาษีบางรายการยังมีความไม่เป็นธรรมอยู่ เช่น การลดหย่อนเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่เปิดให้มีการหักลดหย่อนให้กับผู้มีรายได้สูงนำเงินไปลงทุนโดยได้รับการยกเว้นภาษี   นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ปัจจุบันยังมีธุรกิจที่ไม่อยู่ในฐานภาษีในสัดส่วนสูง โดยตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำบัญชีด้วย อีกทั้งทบทวนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้เป็นธรรมและทันสมัย รวมทั้งเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มโดยการขยายฐานให้ธุรกิจเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครอบคลุมมากขึ้น ในวันเดียวกัน ธปท. ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง "ทางรอดของระบบประกันสังคมไทย : แนวทางการปฏิรูปสู่ความยั่งยืน"  โดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารส่วน ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน กล่าวว่า   ในระยะต่อไปโครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น  โดยในปี 2550 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเป็นสัดส่วน 30% ของประชากรทั้งหมด โดยผู้สูงอายุวัย 60 ปีที่ยากจนเป็นเพศชาย 20% และไม่ยากจน 80%   ส่วนเพศหญิงยากจน 40% และไม่ยากจน 60%   สำหรับผู้สูงอายุ 80 ปีที่เป็นชายที่ยากจนจะเป็นสัดส่วนสูงขึ้นเป็น 50% และหญิงยากจนมีสัดส่วนสูงถึง 80% สะท้อนถึงคนชราที่เป็นคนยากจนจะมีมากขึ้น หากพิจารณาทางเงินกองทุนประกันสังคมในปัจจุบัน พบว่า เงินที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมจำนวน 110,000 บาท จะจ่ายคืนให้กับผู้ประกันสังคมที่เป็นชาย 190,000 บาท และผู้หญิง 300,000 บาท ซึ่งเท่ากับว่ารายจ่ายที่กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายมีมากกว่ารายได้ โดยหากวิเคราะห์เงินกองทุนประกันสังคมก็จะพบว่าจะมีรายได้สูงสุดในอีก 24 ปีข้างหน้าและเงินกองทุนจะค่อย ๆ ลดน้อยลงตั้งแต่ปีที่ 35 เป็นต้นไป โดยความเสียหายจนถึงปี 2630 ต่อกองทุนประกันสังคมจะเป็นเงินถึง 250,000 ล้านบาท และหากนับรวมเงินเฟ้อด้วยความเสียหายจะสูงถึง 750,000 ล้านบาท ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากภาวะที่สะท้อนให้เห็นว่าคนชราในสังคมจะมีมากขึ้นโดยที่เงินกองทุนประกันสังคมมีไม่พอจ่ายทำให้ต้องมีการปฏิรูประบบประกันสังคมไทยให้มีความยั่งยืนก่อน โดยการทำให้คนเกษียณอายุช้าลงเนื่องจากผลการศึกษาพบว่าถ้าคนเกษียณอายุช้าลงเป็น 65 ปีจะทำให้มีเงินคืนในกองทุนประกันสังคมมากขึ้น 35% ซึ่งจะเป็นสัดส่วนที่เท่ากับเงินที่จ่ายให้กับผู้ประกันสังคมเพิ่มอีก 5% เพื่อให้ผู้ประกันสังคมได้รับประโยชน์จากประกันสังคมเพิ่มขึ้น    กองทุนประกันสังคมยังสามารถหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อคนไทยในระยะข้างหน้า ด้วยการเพิ่มเงินที่ต้องจ่ายให้กองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่เก็บ 6% จากทั้งนายจ้าง และลูกจ้างเป็น 11-12%   โดยอาจจะเก็บลูกจ้างเพิ่มอีก 2% และเก็บนายจ้างเพิ่มอีก 3% ซึ่งหากเก็บเพิ่มในระดับนี้จะทำให้กองทุนประกันสังคมได้รับเงินคืนมา 105% ของความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เงินกองทุนเป็นบวกโดยไม่ลดลงในระยะข้างหน้า และหากกองทุนประกันสังคมเรียกเก็บเพิ่มได้อีก 1% จะทำให้มีเงินมาแก้ปัญหากลุ่มคนที่มีปัญหาเฉพาะมากกว่า  กลุ่มคนกลุ่มอื่นได้

ด้าน ดร.อัมมาร สยามวาลา รักษาการประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาประกันสังคมจะต้องเปลี่ยนปรัชญาของระบบประกันสังคม โดยคำนึงถึงนโยบายกระจายรายได้ด้วยโดยให้คนที่มีรายได้ทุกกลุ่มต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคม แทนที่จะกำหนดเพดานรายได้ของผู้ที่ต้องจ่ายเงินเข้าประกันสังคมไว้ที่ 15,000 บาทอย่างปัจจุบัน โดยการจ่ายคืนเงินก็อาจจะให้คนที่จ่ายเงินของกองทุนมากได้รับเงินคืนมากแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นสัดส่วนเดียวกับเงินที่จ่ายเข้าประกันสังคม ซึ่งแม้ว่าจะไม่ยุติธรรมแต่โดยหลัก ประเทศก็ต้องดูแลคนที่ยากจนที่ไม่มีทางเลือกอยู่แล้ว

 

กรุงเทพธุรกิจ  โพสต์ทูเดย์  5  ต.ค.  50

คำสำคัญ (Tags): #การคลัง
หมายเลขบันทึก: 135149เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2007 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่คิดจะเก็บภาษีจากแหล่งอื่นบ้างหรือ เก็บแต่ภาษีผู้บริโภค ซึ่งเป็นภาษีถดถอย คนมีมากเสียเป็นอัตราส่วนน้อย คนมีน้อยเสียเป็นสัดส่วนที่มาก แล้วคิดว่าภาษีที่ผลักภาระที่ยังผู้บริโภค จะไม่กระทบผู้ผลิตหรือ เพราะสุดท้ายผู้บริโภคก็อาจลดหรืองดการบริโภคผลผลิตจากธุรกิจ สุดท้ายก็ไปกระทบธุรกิจอยู่ดี

คิดถึงภาษีจากแหล่งอื่นบ้างไหม เช่น ภาษีมูลค่าที่ดิน ตามหลักของ Henry George หรือภาษีจากพวกที่มีรายได้จากการเก็บดอกเบี้ยโหดๆ

ตัวอย่าง ฝรั่งเศส ลดภาษีมูลค่าเพิ่มของร้านอาหาร จาก 19.6% เป็น 5.5%

++http://www.foodeu.com/articles/France+Cuts+Restaurant+VAT.aspx

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท