BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๑๖


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๑๖

ในการจำแนกเพื่อนที่ควรคบหรือเพื่อนที่ไม่ควรคบนั้น เบื้องต้นพระพุทธเจ้าทรงจำแนกคนออกเป็น ๒ กลุ่ม กล่าวคือ

มิตตปฏิรูปกะ แปลกันว่า มิตรปฏิรูป คนเทียมมิตร หรือมิตรเทียม มิใช่เพื่อนแท้ จึงไม่ควรคบ... และ สุหทมิตตะ แปลกันว่า มิตรแท้ หรือเพื่อนแท้ จัดว่าเป็นผู้ควรคบหาสมาคมด้วย....

ต่อจากกนั้น พระองค์ทรงจำแนกว่า มิตรเทียม และมิตรแท้ ว่ามีประเภทใดบ้าง และแต่ละประเภทมีคุณสมบัติอย่างไร... ซึ่งเนื้อหาตอนนี้ ค่อนข้างชัดเจน และัคนไทยโดยมากก็รับรู้กันทั่วไป ดังนั้น ผู้เขียนจะคัดลอกมาเล่าไว้ที่นี้อีกครั้ง.....

............

ดูกรลูกนายบ้าน คน ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ คนนำสิ่งของๆ เพื่อนไปถ่ายเดียว (คนปอกลอก) ๑ คนดีแต่พูด ๑ คนหัวประจบ ๑ คนชักชวนในทางฉิบหาย ๑ ท่านพึงทราบว่ามิใช่มิตร เป็นแต่คนเทียมมิตร ฯ

ต่อจากนั้นก็ทรงขยายความคุณสมบัติของคนเทียมมิตรแต่ละประเภทดังต่อไปนี้

คนปอกลอก...
  • คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
  • เสียให้น้อยเอาให้ได้มาก
  • ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย
  • คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

.........

คนดีแต่พูด....

  • เก็บเอาของล่วงแล้วมาปราศรัย
  • อ้างเอาของที่ยังไม่มาถึงมาปราศรัย
  • สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
  • เมื่อกิจเกิดขึ้นแสดงความขัดข้อง (ออกปากพึ่งมิได้)

.........

คนหัวประจบ.....

  • ตามใจเพื่อนให้ทำความชั่ว (จะทำชั่วก็คล้อยตาม)
  • ตามใจเพื่อนให้ทำความดี (จะทำดีก็คล้อยตาม)
  • ต่อหน้าสรรเสริญ
  • ลับหลังนินทา

.........

คนชักชวนในทางฉิบหาย.....

  • ชักชวนให้ดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
  • ชักชวนให้เที่ยวตามตรอกต่างๆ ในเวลากลางคืน
  • ชักชวนให้เที่ยวดูการมหรสพ
  • ชักชวนให้เล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

.............

ครั้นพระพุทธองค์ทรงจำแนกคุณสมบัติของคนเทียมมิตรเหล่านี้แล้ว ก็ทรงสรุปด้วยคาถาประพันธ์อีกครั้งว่า...

  • บัณฑิตรู้แจ้งมิตร ๔ จำพวกเหล่านี้ คือ มิตรปอกลอก ๑ มิตรดีแต่พูด ๑ มิตรหัวประจบ ๑ มิตรชักชวนในทางฉิบหาย ๑ ว่ามิใช่มิตรแท้ ดังนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล เมื่อคนเดินทางเว้นทางมีภัย ฉะนั้น ฯ
ผู้เขียนคิดว่า เนื้อหาชัดเจนแล้ว จึงคงไว้อย่างนี้ ในตอนต่อไปจะคัดลอกมิตรแท้มาบอกเล่าต่อไป....
หมายเลขบันทึก: 135082เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2007 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท