BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๙


เล่าเรื่องสิงคาลกสูตร ๙

การประกอบเนืองๆ ซึ่งการเที่ยวไปในตรอกต่างๆ ในกลางคืน   เป็นทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ... นี้เป็นข้อที่สองของอบายมุข ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงจำแนกโทษไว้ ๖ ประการ กล่าวคือ

  • ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาตัว
  • ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาบุตรและภรรยา
  • ไม่คุ้มครอง ไม่รักษาทรัพย์สมบัติ
  • เป็นที่ระแวงของคนอื่
  • คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่่นั้นๆ ย่อมปรากฎในผู้นั้น
  • อันเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากแวดล้อม

ขยายความตามนัยอรรถกถาเพิ่มเติมว่า คนเที่ยวกลางคืนก็อาจเหยียบหนาม เหยียบเศษแก้ว หรือของมีคมอื่นๆ... (กลางคืนมืด มิได้สว่างดังเช่นกลางวัน)... อีกอย่าง แม้คู่อาฆาตทราบข่าวว่าได้ไปเที่ยวแถวนั้นในตอนกลางคืนก็อาจดักทำร้ายได้ ... ดังนี้ชื่อว่า ไม่คุ้มครองรักษาตนเอง

แม้ผู้ที่รออยู่ที่บ้าน คือ บุตรและภรรยา (หรือสามี) ก็ย่อมวิตกกังวลว่าสามี (หรือภรรยา) ยังไม่กลับบ้านดึกดื่นแล้ว กินก็ไม่ได้นอนก็ไม่หลับ บางครั้งก็อาจออกมาตามหาด้วยความห่วงใย ซึ่งจะประสบเภทภัยต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน.... ดังนี้ชื่อว่า ไม่คุ้มครองรักษาบุตรและภรรยา (หรือสามี)

เมื่อสามีหรือภรรยาออกเที่ยวกลางคืน สมาชิกภายในบ้านก็น้อยลง และบางครั้งก็อาจต้องไปตามหาซึ่งกันและกัน จึงสบโอกาสให้พวกโจรเล็กโจรใหญ่ก่อการลักขโมยหรือปล้นจี้เอาทรัพย์สมบัติไปได้... ดังนี้ชื่อว่า ไม่คุ้มครองรักษาทรัพย์สมบัติ

เมื่อมีเหตุการณ์ฆ่า ข่มขืน หรือลักขโมยเกิดขึ้นในยามค่ำคืน ก็อาจเป็นที่ระแวง ถูกตั้งข้อสงสัยจากคนทั่วไป แม้จะไม่ได้ทำก็ตาม อาจต้องขึ้นโรงพักหรือถึงกับไปศาลเพื่อแก้ข้อกล่าวหาทำนองนี้...ดังนี้ชื่อว่า เป็นที่ระแวงของคนอื่น

แม้ไม่ถึงกับขึ้นโรงพัก แต่ก็อาจถูกกล่าวหา เกิดข่าวลือต่างๆ ทำนองว่า ฉันเห็นเขาคืนนั้น!... ผมว่าเชื่อว่าเขาทำแน่นอนเพียงแต่ไม่มีหลักฐาน!... เห็นมั้ย ! เขาใส่เสื้อคอกลมสีแดง เหมือนกับคนร้ายที่พยานให้การเมื่อเดือนก่อนเลย เขาแน่ๆ... ดังนี้เป็นต้นชื่อว่า คำพูดอันไม่เป็นจริงในที่นั้นๆ ย่อมปรากฎในผู้นั้น

และประการสุดท้าย อรรถกถาขยายความว่า ความทุกข์ที่มีสาเหตุมาจากการเที่ยวกลางคืนบ่อยๆ นั้น มีหลากหลายนัก ซึ่งใครๆ ก็ไม่อาจคำนวนได้ว่ามีเท่าโน้นเท่านี้ เพราะโดยทั่วไปคนอื่นก็ตั้งข้อรังเกียจ ถูกเหยียดหยามนินทาว่าร้าย หนักขึ้นไปก็อาจเสียทรัยพ์ เสียเวลา เสียลูกเสียผัวเสียเมีย เสียชื่อเสียง... ทำนองนี้จึงชื่อว่า อันเหตุแห่งทุกเป็นอันมากแวดล้อม

แนวทางตามคำอธิบายของพระอรรถกถาจารย์ชัดเจนยิ่งนัก จึงยุติอบายมุขข้อสองไว้เพียงแค่นี้ 

หมายเลขบันทึก: 134386เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2007 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท