บำนาญประชาชนที่เป็นการลงทุนทางสังคม


กระบวนการสวัสดิการภาคประชาชน เป็นการลงทุนทางสังคม เป็นการพัฒนาคน ที่เกิดผลในทางเศรษฐกิจ

งานศึกษาของดร.วรเวศม์พยากรณ์ไว้ชัดเจนว่าสถานะทางการเงินของกองทุนสวัสดิการภาคประชาชนสงขลาระดับตำบลหรือเชื่อมโยงเป็นหน่วยจัดการหนึ่งเดียวในระดับจังหวัดโดยสมมุติให้ทุกคนเข้าเป็นสมาชิก ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก กล่าวคือ

1)ปัจจัยสำคัญอยู่ที่เงินบำนาญ 
แม้ตัดเงินสวัสดิการอื่นๆออกไป หากยังคงอัตราบำนาญที่กำหนดไว้ กองทุนก็จะประสบปัญหาทางการเงินในระยะยาวโดยเริ่มตั้งแต่การจ่ายเงินบำนาญเป็นต้นไป
แต่หากลดเงินบำนาญลงก็จะยืดระยะเวลาประสบปัญหา
และหากตัดเงินบำนาญออกไปเลย เหลือเพียงสวัสดิการอื่นๆ กองทุน ก็จะไม่ประสบปัญหาทางการเงิน

2)การเพิ่มเงินสัจจะโดยสมาชิกหรือรัฐร่วมสมทบจะช่วยยืดระยะเวลาที่กองทุนจะประสบปัญหาออกไป กล่าวคือ ตามสวัสดิการ9เรื่องทีกำหนดไว้ในปัจจุบัน กองทุนจะมีเงินไหลออกมากกว่าไหลเข้าเมื่อเริ่มจ่ายเงินบำนาญ และเริ่มประสบปัญหาทางการเงินในปี 2572
โดยที่เงิน1บาทที่เพิ่มขึ้นจะช่วยยืดระยะเวลาออกไป12 ปี คือ
สัจจะ2บาท กองทุนจะเริ่มติดลบในปี 2584
3บาท  กองทุนจะเริ่มติดลบในปี 2596
4บาท กองทุนจะเริ่มติดลบในปี 2608

คำพยากรณ์ของดร.วรเวศม์มาจากหลักฐานข้อมูลประชากรในจังหวัดสงขลา ทั้งโครงสร้างอายุของประชากรและอัตราการเกิด โดยที่การเดินทางไปสู่ความแก่ของประชากรมีความเที่ยงตรงมาก เมื่อสรุปว่าสวัสดิการบำนาญเป็นปัจจัยหลักต่อความมั่นคงของกองทุน                คำพยากรณ์นี้จึงมีความแม่นยำสูงมาก

หากนำเงินกองทุนสะสมที่ค่อยๆโตขึ้นจนมียอดเงินสะสมสูงสุดก่อนจ่ายบำนาญประมาณ25,000,000,000ไปลงทุน ที่ง่ายที่สุดคือฝากธนาคารก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่แนวคิดของครูชบจะไม่นำดอกเบี้ยมาจ่ายสวัสดิการ
ดังนั้นหากรัฐร่วมสมทบตามข้อเสนอของชุมชนคือ1ต่อ1ใน3ระดับ รวม4บาทแล้ว กองทุนสวัสดิการจังหวัดสงขลาที่ครอบคลุมประชากรทั้งจังหวัดตามอัตราการจ่ายสวัสดิการที่กำหนดไว้ในปัจจุบันก็จะเริ่มประสบปัญหาทางการเงินตั้งแต่ปี2608เป็นต้นไป


ปัญหานี้สามารถเตรียมการแก้ไขล่วงหน้าได้ หากมองว่า กระบวนการสวัสดิการภาคประชาชน เป็นการลงทุนทางสังคม เป็นการพัฒนาคน  ที่เกิดผลในทางเศรษฐกิจ

คำถามคือ กระบวนการดังกล่าวเกิดผลตามที่กล่าวถึงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร? เพราะเงินลงทุนของรัฐในแต่ละปีมีมากมายมหาศาล ถ้าจะลงทุนเพื่อการนี้แล้วเกิดผลคุ้มค่ามหาศาล ทำไมรัฐไม่เลือกช่องทางนี้?
คำถามคือ กระบวนการดังกล่าวเกิดผลในการพัฒนาทุนทางสังคม พัฒนาคน และพัฒนาเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน       อย่างไร?

พระอาจารย์สุบิน ปณีโต เคยเสนอให้มีการวิจัยเปรียบเทียบการลงทุนของรัฐผ่านกลไกที่มีอยู่กับการลงทุนโดยให้รัฐใช้เงื่อนไขเป็นหุ้นส่วนร่วมสมทบตามที่ขบวนสวัสดิการภาคประชาชนเสนอโดยใช้กลไกของชุมชน โดยเฉพาะสถาบันศาสนาในการพัฒนา

โครงการประสานงานวิจัยองค์กรการเงินและระบบสวัสดิการชุมชน โดยการสนับสนุนของสกว.เปิดรับสมัครโครงการวิจัยและพัฒนาตามแนวทางนี้ ท่านใดสนใจเขียนเข้ามาพูดคุยได้ครับ

หมายเลขบันทึก: 134364เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2007 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

ถ้าจะเสนอให้เป็นนโยบาย  งานวิจัยคงต้องเป็นวิชาการพอสมควร (รึเปล่าคะ)

จะรับโครงการวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทไหมคะ 

ที่น่าจะเป็นไปได้ คือ ศึกษาเปรียบเทียบในพื้นที่เดียวกัน  ดูต้นทุน-ผลประโยชน์ กรณีของสวัสดิการชุมชนที่จัดให้ผู้สูงอายุเปรียบเทียบกรณีเบี้ยชราภาพจากรัฐ

ต้นทุน ดูต้นทุนบริหารจัดการ และเงินที่จ่ายไป  ประโยชน์ แค่ดูการพัฒนาคนด้านสุขภาวะอย่างเดียว  การจัดการโดยชุมชนก็น่าจะมีประสิทธิภาพ คือต้นทุนต่ำและถึงมือผู้รับมากกว่า  (แถมยังอาจกระจายได้อย่างเป็นธรรมมากกว่า)

จะขยายไปดูด้านทุนทางสังคม หรือ การพัฒนาคนด้านจิตใจด้วยก็ได้  แต่งานจะยากขึ้นอีก   เพราะจะเปรียบเทียบ ประโยชน์หลากหลายกับต้นทุนที่ต่างก็มีหน่วยทางกายภาพกันคนละหน่วย ได้อย่างไร

ในการศึกษาจึงจะต้องทำให้ทุกอย่างเป็นหน่วยเดียวกัน   จึงจะเปรียบเทียบกันได้

ที่เห็นทำวิจัยกันอยู่มักเป็นการให้ตอบความพอใจ ว่ามาก หรือ ปานกลาง หรือ น้อย  คิดว่า วิธีศึกษาแบบนี้ไม่มีน้ำหนักพอที่จะสร้างความเชื่อถือให้ผู้กำหนดนโยบายค่ะ 

ทางเลือก คือ ใช้หน่วยวัดทางการเงิน  ซึ่งเศรษฐศาสตร์มีวิธีประเมินอยู่เหมือนกันค่ะ  (ไม่ได้แปลว่าเราตีค่าทุกอย่างให้เป็นเงิน  เพียงแต่ใช้มันเป็นหน่วยเพื่อวัดของหลายสิ่งที่มีหน่วยทางกายภาพต่างกัน บวกลบกันตรงๆไม่ได้)  แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ถ้าศึกษาอย่างระมัดระวัง ก็ใช้การได้พอสมควรค่ะ

น่าท้าทายสำหรับผู้สนใจศึกษานะคะ

วุฒิชัย สังข์พงษ์
กระผมคิดว่าถ้ามีการนำรูปแบบการวิจัยดังกล่าวมาใช้ร่วมกับการวางแผนด้านการศึกษาจนกระทั่งการเข้าสู่ตลาดแรงงานของประชากรด้วยก็จะทำให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพราะจริงๆแล้วมีหลายๆด้านที่มีความสัมพันธ์กับสวัสดิการภาคประชาชน ไม่ทราบว่าคุณภีม มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ
  • สวัสดีครับ
  • ผมมองว่า วงจรการเงินกรณีนี้ คล้ายกับวงจรการเงินรายคน ต่างกันคงไม่มาก
  • ขอนำเสนอเป็นแผนภาพนะครับ
  • แผนภาพนี้ มีวงเล็บ บอกว่า กระบวนการนั้น อธิบายได้โดยสมการเชิงอนุพันธ์แบบใด

 kinetics

       (ถ้าภาพไม่ขึ้น ลองคลิก ที่นี่)

  • จากภาพนี้ จะทำนายล่วงหน้าโดยไม่ต้องแก้สมการ ว่า ความยั่งยืน เกิดเมื่อ ไหลออก น้อยกว่า ไหลเข้า
  • เรามองแต่ขาเข้าอย่างเดียว แต่ไม่มีขาลงทุน
  • ในระบบระดับชาติอื่น ณ จุดสมดุล ไหลเข้าจากการลงทุน จะใหญ่พอที่จะส่งผลกระทบ เช่น กรณีของ กบข. ผมเชื่อว่า รายรับจากการลงทุน น่าจะใหญ่พอ ๆ การเติมเงินสมทบแต่ละปีเองด้วยซ้ำ
  • ถ้าไม่มองการไหลเข้าจากการลงทุน โอกาสรอดแบบยั่งยืน แทบจะเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่บีบให้การไหลออกให้แผ่วมาก ๆ ซึ่งก็จะไม่มีประโยชน์เท่าไหร่

 

 

  • ขอเสริมเล็กน้อยครับ
  • ผมเข้าไปดูงบดุล กบข ปี 2549 พบว่า ผลตอบแทนการลงทุน เป็นประมาณครึ่งหนึ่ง ของเงินที่สมาชิกสมทบเข้าไปแต่ละปี 
  • ถ้านับอายุ กบข ว่า มีเพียง 10 ปี กว่าจะไปถึงจุดที่เงินสมทบจากสมาชิก พอดีกับเงินต้องจ่ายคืน ก็คงเป็็นอีกราว 25 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายความว่า มูลค่าสินทรัพย์ของ กบข ยังโตได้อีกหลายเท่า และในระยะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า มีสิทธิลุ้นเห็นผลตอบแทนการลงทุนที่ แซง การสมทบเงินจากสมาชิก และในระยะยาว ผลตอบแทนการลงทุนต่อไป อาจมีมูลค่าที่เป็นหลายเท่าของเงินสมทบต่อปีได้ด้วยซ้ำ
  • ในกรณีนี้ ผมมองว่า กบข คงเป็น role model ของการจัดการได้เป็นอย่างดี เพราะที่ผ่านมา ก็ถือได้ว่า อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจครับ

 

แนวทางของ กบข.น่าสนใจ และกบข.ก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการลงทุน

เท่าที่ทราบคือต่างจากกรณีประกันสังคม ซึ่งเป็นระบบไตรภาคี การนำกองทุนไปลงทุนทำได้ลำบาก ไม่คล่องตัว ก็จะฝืดๆเรื่องการสร้างกองทุนให้ใหญ่ขึ้นสำหรับจัดสวัสดิการ

กลุ่มสัจจะลดรายจ่ายวันละบาท ของครูชบ ปรัชญาน่าสนใจมากเพราะหากรับดอกเบี้ยจากการฝากธนาคารก็จะขัดกับศาสนาอิสลาม ซึ่งในพื้นที่จะนะมีคนอิสลามอยู่ไม่น้อย  หากคนอิสลามเข้าร่วมไม่ได้ก็คงขัดกับหลักการของความเป็น "ชุมชน" และจะไม่สามารถขยายฐานสมาชิกได้

ทางออกคือ เงินสมทบจากรัฐ  ซึ่งกระทรวงการคลังไม่มีนโยบายตรงนี้ 

ไม่แน่ใจว่าถ้าเป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนในลักษณะ "เงินปันผล"  (ไม่ใช่ดอกเบี้ย) จะขัดกับหลักการของครูชบหรือไม่

อ้อ..  เห็นบริษัทประกันชีวิตเอกชนรายใหญ่รายหนึ่งโฆษณาว่า  สมาชิกสามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันเริ่มต้นวันละ 10 บาท  (เดือนละ 299 บาท) แล้วทำให้คิดว่า "นวัตกรรม" ของครูชบทรงพลังมากจริงๆ ค่ะ   แม้ว่าปรัชญาเบื้องหลังจะต่างกันลิบลับ

 

อ้อ  ทางเลือกที่สาม คือ กลุ่มสัจจะลดรายจ่ายวันละบาท  จ่ายบำนาญบางส่วนเป็นคูปอง   คูปองนี้เอาไว้ใช้จ่ายในชุมชนได้  เอาไว้เป็นค่าตอบแทนคนที่มาดูแลคนชราได้    คนที่ได้รับคูปองสามารถเอาคูปองมาออมได้เหมือนกัน 

แต่ต้องคิดระบบไหลเข้าไหลออกของคูปองดีๆค่ะ  เริ่มต้นทดลอง ถ้าออกคูปองไม่มากนัก ก็ไม่น่าจะมีปัญหาค่ะ

ขอบคุณอ.ปัทมาวดีมากครับ

ผมอ่านข่าวมติชนรายวันประมาณ2-3วันมาแล้ว     คุณองอาจ คล้ามไพบูลย์จากพรรคปชป.เสนอว่าจะอุดหนุนเบี้ยยังชีพให้คนชราทุกคน

ในฐานะที่ผมร่วมเสียภาษีด้วย ผมไม่เห็นด้วยกับการนำเงินกองกลางจ่ายให้ผู้สูงอายุแบบสงเคราะห์เช่นที่เป็นมา
กลุ่มบ้านดอนไชย เครือข่ายโซนใต้จ.ลำปางสะท้อนปัญหาเบี้ยยังชีพที่ได้ไม่ครบทุกคน สร้างความแตกแยกในชุมชนเพราะกระบวนการคัดกรองไม่มีประสิทธิภาพพอหรือคนในชุมชนก็ด้อยโอกาสพอๆกัน แต่การแก้ไขโดยจ่ายให้ทุกคน ผมเห็นว่าเดินผิดทาง
กลุ่มบ้านดอนไชยคิดช่วยเหลือตัวเองและพึ่งพาช่วยเหลือกันด้วยกระบวนการกลุ่มออมบุญวันละ1บาทเป็นแนวทางที่ควรส่งเสริมสนับสนุนมากกว่า

ในช่วงที่ครูชบเป็นคณะกรรมการนโยบายสังคม พระอาจารย์สุบิน ปณีโตเป็นที่ปรึกษาได้เสนอให้นายกชวน หลีกภัยดำเนินนโยบายที่พรคไทยรักไทยหยิบไปใช้คือ กองทุนหมู่บ้าน1ล้านบาท เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่สนใจ ดำเนินนโยบายเชิงสงเคราะห์ด้วยกลไกของราชการ
สงเคราห์กับประชานิยมมันต่างกันตรงไหน?

การสงเคราะห์ด้วยเบี้ยยังชีพเป็นการลดทอนพลังของชุมชน

พรรคประชาธิปัตย์ควรสนับสนุนข้อเสนอของขบวนองค์กรการเงินชุมชนตามแนวทาง "ชุมชนจัดสวัสดิการ รัฐเป็นหุ้นส่วนร่วมสมทบ"

ข้อเสนอของอาจารย์น่าสนใจครับ แต่ผมคิดว่าการเมืองไม่สนใจรายละเอียดทางวิชาการเท่าไร          การเมืองกับการจัดการความรู้มีส่วนคล้ายคลึงกันในแง่ที่ ต้องอาศัยจินตนาการเป็นตัวนำ

จินตนาการว่ารัฐจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุทุกคนกับจินตนาการว่ากองทุนสวัสดิการภาคประชาชนขับเคลื่อนตัวเองด้วยแรงจูงใจที่รัฐจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนคือภาพฝันของนักการเมือง

งานวิชาการและตัวอย่างรูปธรรมในเรื่องนี้มีพอสมควรแล้ว รายละเอียดค่อยลงลึกให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น           แต่จินตภาพของนักการเมืองต่อเรื่องนี้คือตัวชี้วัดคุณภาพนักการเมือง

 

ผมเห็นด้วยกับคุณวุฒิชัยครับ

คุณวุฒิชัยลองเล่าไอเดียกระบวนการวิจัยดังกล่าวให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ?

ขอบคุณอ.วิบุลครับ ในกรณีของกองทุนสวัสดิการสงขลา ทราบว่าตอนนี้ธกส.ให้ดอกเบี้ยพิเศษที่3% คิดว่าเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุน

การคำนวณของดร.วรเวศม์แสดงว่าผลตอบแทนจากระบบบำนาญในคนแต่ละรุ่นต่างกันคือคนที่เป็นสมาชิกเมื่ออายุมากจะได้เปรียบกว่าคนอายุน้อยนับจากอายุ45ปีลงมา(อีก15ปีได้บำนาญ)โดยที่ทุกช่วงชั้นอายุจะได้กำไรจากการเข้าเป็นสมาชิก(หมายความว่ากองทุนขาดทุนทุกรุ่น)

อย่างไรก็ตามหากอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่6%คนที่เข้าเป็นสมาชิกเมื่ออายุ5ขวบจนถึงแรกเกิดผลตอบแทนจากระบบบำนาญจะติดลบหรือขาดทุน ถ้าดอกเบี้ยสูงกว่านั้นก็เป็นไปได้ที่กองทุนจะมีเงินไหลเข้าจากการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และหากนำเงินที่รัฐร่วมสมทบมาคิดด้วยก็อาจจะเป็นไปตามที่อาจารย์ว่าไว้ ผมยังหาไม่เจอว่าอาจารย์วรเวศม์วิเคราะห์ส่วนนี้ไว้ละเอียดเพียงใด

โดยระบบคูปองที่อาจารย์ปัทมาวดีเสนอนั้นเป็นแนวทางที่น่าสนใจมาก

ไอเดียเรื่องนี้คงขยายขอบข่ายมากกว่าสวัสดิการบำนาญที่เป็นตัวเงิน

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการใช้ระบบแลกเปลี่ยนเข้ามาเสริมการสมทบด้วยตัวเงินเพียงอย่างเดียว ถ้าอบต.และกองทุนสวัสดิการภาคประชาชนคิดเรื่องนี้เสริมเข้ามาก็จะเป็นกระบวนการเสริมความเข้มแข็งจากภายในให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น แม้ว่าคำทำนายบอกเราว่ากลไกชุมชนจะใช้การได้น้อยลงเรื่อยๆก็ตาม

งานวิชาการที่ศึกษา cost-benefit เปรียบเทียบระบบชาวบ้านกับระบบที่รัฐทำอยู่ยังไม่มีอย่างแน่นอนค่ะ  (ดิฉันคิดว่า ที่พระอาจารย์สุบินพูดนั้น  เป็นเรื่องของการวิเคราะห์เชิงวิชาการแบบประโยชน์-ต้นทุน ซึ่งรวมทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินค่ะ)

แต่งานวิชาการหลวมๆที่ดูว่า ชาวบ้านพอใจแค่ไหนนั้นมีอยู่มาก ซึ่งไม่มีนัยสำคัญเท่าไหร่สำหรับการสร้างนโยบาย

นอกจากการเมืองแล้ว  ข้าราชการยังมีบทบาทสำคัญในการเสนอและกำหนดนโยบาย    นักการเมืองอาจไม่สนใจวิชาการ แต่ผู้กำหนดนโยบายในกระทรวงสนใจแน่  อย่างน้อยก็ในกระทรวงการคลังที่ดิฉันเห็นผู้กำหนดนโยบายก็กำลังค้นหาคนที่จะทำวิจัยให้  แต่ยังหาไม่ได้สักที    เพียงแต่ว่า กระทรวงเขียนโจทย์มาให้  ซึ่งยังไม่ตรงกับสิ่งที่นักวิชาการคิดเสียทีเดียว

เสวนาที่ ธรรมศาสตร์วันที่ 26 พย. จะให้นักวิชาการพยายามช่วยกันตั้งโจทย์จากสถานภาพความรู้ที่มีอยู่

เป็นโจทย์ของรัฐและชุมชน  จากมุมมองนักวิชาการ

โจทย์ของกลุ่มชุมชน จากมุมมองของชาวบ้านเป็นอย่างไร  อาจารย์ภีมคงช่วยแบ่งปันความคิดได้

อย่าง 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น  เริ่มต้นมาจากการทำงานของนักวิชาการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระทรวง  เมื่อนักการเมืองเอาด้วย  (ทั้งที่การเตรียมการยังไม่สมบูรณ์ดี)   มันก็เลยเกิดขึ้นได้

สำหรับงานสวัสดิการ    เรื่องของเรื่องก็คือ  จัดการความรู้อย่างเดียวก็ไม่พอ  วิชาการอย่างเดียวก็ไม่พอ   มันต้อง "รวมพลัง" ทุกฝ่ายค่ะ

 

 

 

  • เท่าที่เคยทราบมา การลงทุนไม่ขัดหลักอิสลามครับ
  • แต่ห้ามลงทุนในกิจการใดบ้าง เป็นอีกเรื่อง
  • ประเด็นของโครงการสัจจะออมทรัพย์ ผมไม่แน่ใจว่า เรากำลังสานต่อส่วนรูปแบบ หรือปรัชญา ?
  • สานต่อเพียงรูปแบบ ควรกลายออกไปเป็นแบบอื่นได้ เช่น เลียนแบบ กบข หรือเปลี่ยนยอดเงิน เพื่อเน้นความยั่งยืนของระบบ
  • สานต่อปรัชญา เงินหนึ่งบาท อาจเป็นมากกว่าเงินหนึ่งบาท แบบนั้นเราหวังผลอีกแบบ คือไม่ได้หวังผลเรื่องเม็ดเงินเท่ากับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชุมชน เหมือนกับที่เรื่องจะให้รัฐมาสมทบแบบ โยนเงินฟาดหัว หรือ ร่วมสมทบเพื่อสร้างความเข้มแข็งชุมชน ... ซึ่งเงินไม่ใช่เป็นเพียงเงิน แต่กลายเป็นกุศโลบาย
  • คำถามคือ ผมไม่แน่ใจว่าที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น จะสานต่อด้านใด ?

ความคิดครูชบคือวาทกรรมอนาธิปัตย์
รัฐเป็นหุ้นส่วนอย่างเท่าเทียม
นอกจากรัฐแล้ว สมาชิกทุกคนก็เท่าเทียมกัน
ครูชบบอกว่าใครจะรวยไปรวยที่บ้าน
สำหรับกลุ่มสัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาท
ทุกคนเท่าเทียมกัน
กลุ่มไม่รับเงินบริจาคจากใครทั้งสิ้น
เรียกร้องให้รัฐทุกระดับ(อบต./เทศบาล อบจ. รัฐกลาง)ถือหุ้นกับชุมชนอย่างเท่าเทียม

จากการวิเคราะห์ของดร.วรเวศม์ ฐานสวัสดิการที่กลุ่มกำหนดไว้จะเกิดปัญหาทางการเงินขึ้นแน่ แต่กว่าจะถึงวันนั้นชุมชนย่อมหาแนวทางปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้ เพราะเขาเป็นผู้คิดย่อมปรับแก้กันได้เอง         ที่สำคัญคือ ขบวนการนี้มุ่งยึดอำนาจรัฐอย่างสันติด้วยนโยบายสาธารณะ "สัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาท ทำสวัสดิการภาคประชาชน"

ใครเห็นด้วยกับนโยบายนี้ จัดตั้งกลุ่มตามระบบฐานคะแนน1ต่อ50 แล้วเชื่อมโยงเข้าหากันในระดับตำบล จังหวัด และระดับชาติ
เป็นพรรคการเมืองที่มาจากฐานประชาชน
อย่างแท้จริง

ผมเข้าใจว่าตอนนี้มีสาขาพรรค(เปรียบเทียบ)กระจายทั่วประเทศแล้ว ถ้าพรรคการเมืองที่มีอยู่ไม่ถือโอกาสเอาไปใช้ รับรองว่าเลือกตั้งคราวหน้าหรืออย่างช้า     2สมัยต้องได้พบกับพรรค"สัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาท ทำสวัสดิการภาคประชาชน"แน่

ออมบุญวันละหนึ่งบาทชุมชนบ้านดอนไชย

เลขาจำเป็นเห็นด้วยกับ อาจารย์ปัทมาวดี 1000% เลย ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งเห็นด้วยแต่ไม่มีการช่วยผลักดันกันเป็นขบวนใหญ่ หรือการมีส่วนร่วมไม่เป็นขบวนมันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นช้ามากหรืออาจจะเป็นแค่ความฝัน

จากประสบการณ์ที่เลขาจำเป็นได้พบกับตัวเอง คือเมื่อวันที่ได้เข้าไปแลกเปลี่ยนกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ยินคำพูดที่ทำให้เลขาจำเป็นต้องพูดไม่ออกคือว่า การทำงานในภาคประชาชนทำกันนั้น และเป็นกรณี ของเบี้ยยังชีพด้วยแล้วพูดให้เราต้องเก็บมาคิดอีกว่า การจัดสวัสดิการภาคประชาชนที่ชุมชนได้รวมตัวกันจัดตั้งเพื่อช่วยเหลือกันนั้น  เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับเทศบาล

แต่ปัญหาที่ทางเทศบาลได้จัดนั้นเป็นเรื่องที่ยุติธรรมกับชาวบ้านที่ไม่ได้รับอย่างทั่วถึงกันหรือไม่ (เพราะชาวบ้านฝากมาให้ช่วยระบายความในใจ สำหรับชาวบ้านที่ฝึกแต่รับการช่วยเหลือไม่ค่อยคิดที่จะช่วยเหลือตนเองก่อน ต้องช่วยกันเปลี่ยนพฤติกรรมกันใหม่)คงต้องใช้เวลา ในการเปลี่ยนแปลงความคิดใหม่ที่ต้องพึ่งตนเองก่อน นะค่ะ

มันอาจจะเป็นเรื่องของงบประมาณของส่วนราชการที่มีไม่เพียงพอ หรือไม่คิดที่จะให้หมดทุกคน แล้วแต่ทุกคนจะได้ข้อมูลประกอบในการคิดเอง เออเอง

จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา หนทางแก้ไขในการจ่ายเบี้ยยังชีพนั้นเลขาจำเป็นคิดว่ามีหนทางออก

แต่จะมีใครที่จะช่วยกันหาทางออกนั้นร่วมกันหรือไม่แค่นั้น ทุกพื้นที่ ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ที่กรุงเทพ เลขาจำเป็นได้รับข้อมูลจากต่างพื้นที่มีการจ่ายที่คล้ายคลึงกัน และปัญหาก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ จึงคิดว่าเรื่องนี้คงจะเหมือนกันทั้งประเทศ

ตอนนี้ห้องกองทุนเลยเป็นสำนักงานที่ระบายความในใจและสำนักงานที่ให้การช่วยเหลือในส่วนของภาคประชาชนจึงพอจะรู้ถึงเรื่องราวของชุมชนมากเพราะเลขาจำเป็นจะคุยกับสมาชิกในฐานะเพื่อนบ้านมากกว่า และเป็นผู้ที่ดูแลกันเห็นอกเห็นใจกัน

เมื่อวันที่เลขาจำเป็นได้ช่วยให้สมาชิกได้รับการช่วยเหลือสำเร็จจึงได้กินข้าวกับน้ำพริกที่คนได้รับการช่วยเหลือนำมาให้เป็นการขอบคุณ แค่นี้เลขาจำเป็นก็ดีใจแล้วเพราะได้ช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ

วุฒิชัย สังข์พงษ์
กระผมคิดว่าความมั่นคงของประเทศต้องมาจากความมั่นคงของการศึกษาซึ่งจะเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงการมีรายได้และความสามารถในการจ่ายภาษีเพื่อใช้สำหรับพัฒนาประเทศรวมทั้งเป็นสวัสดิการให้กับตนเองในอนาคต เพราะฉนั้นถ้าเรามีข้อมูลประชากรวัยเรียนทุกรุ่นและสามารถกำหนดทิศทางความเป็นไปที่จะพัฒนาไปสู่ประชากรวัยแรงงานที่มีคุณภาพ และมีงานรองรับประชากรอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ทุกคนทุกอาชีพก็จะมีความสามารถที่จะมีรายได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีพและจ่ายภาษีดังกล่าวข้างต้น อันนี้เป็นเพียงความคิดเห็นบางส่วนที่จะนำไปสู่การวางแผนการวิจัยได้บ้างหรือเปล่าครับคุณภีม ติดต่อทาง[email protected] ได้นะครับ ขอให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงามนะครับ
  • มีตัวเลขไม่เป็นทางการของอัตราเงินเฟ้อที่ผมลองประมาณการดูเองในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 % ต่อปี โดยอิงจากราคาสินค้า ซึ่งเร็ว ๆ นี้ ผมลองประมาณซ้ำโดยตัวเลขของ ธปท. ระยะย้อนหลังไม่กี่ปี ก็ได้ตัวเลขที่สอดคล้องกันระดับหนึ่ง

 

ถ้าเอาเลขเงินเฟ้อมาคิด การจัดการการเงินกองทุนที่อิงฐานคิดจากการฝากเงิน จะเปราะบางเนื่องจาก

ถ้าไม่มีสมทบเพิ่มจากรัฐ 

1) ฝากเงิน อาจมีปัญหากรณีที่นับถืออิสลาม เพราะประเด็นเรื่องห้ามดอกเบี้ย เว้นแต่เป็นธนาคารเพื่อการลงทุน

2) อย่างเก่ง ก็โตทันเงินเฟ้อเท่านั้นเอง

3) บางช่วง อาจมีการถอนออกเร็วกว่าเงินสมทบ

 

ถ้ามีเงินสมทบ

1) กลายเป็นประเด็นการเมืองไป ซึ่งถ้าโชคดีพอ ก็อาจยั่งยืน

2) ไม่แน่ว่า เงินสมทบจากส่วนนี้ จะมากพอหรือไม่

 

ดังนั้น รูปแบบที่เน้นเสถียรภาพระยะยาวของกองทุนเอง เลี่ยงไม่พ้นต้องอิงรูปแบบ กบข

แต่ถ้ากองทุน เน้นปรัชญาสร้างวินัยการ ออม-สร้างเครือข่ายสังคมมากกว่าตัวเงิน แบบนั้น เม็ดเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ตั้งแต่ต้น ก็ไม่ต้องคิดมากเรื่องความยั่้งยืนของกองทุนเอง

 

รูปแบบที่เน้นเสถียรภาพระยะยาวของกองทุนเอง เลี่ยงไม่พ้นต้องอิงรูปแบบ กบข

อยากให้อ.วิบุลขยายความหน่อยครับ?

แนวคิดของคุณวุฒิชัยคืออุดมคติของระบบการศึกษาสังคมและการเมือง ซึ่งจะประกันเศรษฐกิจที่พอเพียงสำหรับทุกคนทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่การศึกษาของเราเป็นการสอนความรู้เก่าที่ใช้งานไม่ค่อยได้มากไป นอกจากความรู้ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต/สังคมแล้ว ยังเน้นการเรียนกับการสอนซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่สร้างสรรค์ปัญญาเท่าไร ยังมีระบบและคุณค่าที่นับถือปริญญาเกินกว่าเหตุอีกต่างหาก จะปรับเปลี่ยนเรื่องเหล่านี้อย่างไร?

ได้ครับ

คือถ้าเรามองว่า ความยั่งยืน (ศัพท์ทาง kinetics เรียก steady state) คือการที่เงินไหลเข้า สมดุลพอดีกับเงินไหลออก

เงินไหลเข้า มาจากไหน

  • สมาชิก
  • ผู้สมทบ เช่น รัฐ นายจ้าง
  • ผลตอบแทนการลงทุน

เงินไหลออก ไปไหน

  • กลับสู่สมาชิก
  • เงินเฟ้อ

กรณีที่รูปแบบ ไม่มีรัฐหรือนายจ้างสมทบมาเกี่ยวข้องล่ะ ? (คือกรณีของเรา)

เงินไหลเข้า มาจากไหน

  • รับจากสมาชิก
  • ผลตอบแทนการลงทุน

เงินไหลออก ไปไหน

  • กลับสู่สมาชิก
  • เงินเฟ้อ

ทีนี้ ถ้าผลตอบแทนการลงทุน ต่ำกว่าเงินเฟ้อล่ะ ?

ก็จะเป็นว่า เงินมาจากสมาชิกอย่างเดียว

แต่ตอนเสียออกไป เสียด่้วยการจ่ายคืนสมาชิก และัส่วนที่เงินเฟ้อเกินผลตอบแทน

เช่น ผลตอบแทน 3 % แต่เงินเฟ้อ 4 % ก็เท่ากับว่า เท่ากับเงินหายไปสุทธิปีละ 1 %

กองทุนที่เน้นการฝากธนาคารหรือตราสารหนี้เป็นหลัก อาจเจอแหล่งที่ผลตอบแทนเอาชนะเงินเฟ้อได้นิดหน่อย โดยหากอยากได้ผลตอบแทนสูงกว่านั้น ก็คงต้องอกสั่นขวัญหายกันหน่อย ว่าจะลุ้นได้ดอกเบี้ย หรือจะเสียเงินต้น (=หนี้สูญ)

กรณีของ กบข. ระบบคิดคือ ต้องเอาชนะเงินเฟ้อได้มากพอสมควร ซึ่งที่เป็นอยู่ ก็ดูเหมือนจะชนะได้หลายเปอร์เซนต์โขอยู่ ซึ่งสถิติตรงนี้ ผมไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ก็ขอข้ามไป

ผลตรงนี้ มากพอที่จะทำให้เงินกองกลาง ค่อย ๆ งอกขึ้นเรื่อย ๆ

และปัจจุบัน เฉพาะส่วนที่งอก ก็งอกเร็วพอสมควร จนเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินใหม่ในส่วนที่สมาชิกสมทบ

อีก 10 ปีข้างหน้า ก็น่าลุ้นอยู่ ว่าเผลอ ๆ ส่วนที่งอกชนะแรงฉุดจากเงินเฟ้อ จะใหญ่กว่าเงินใหม่ที่สมาชิกสมทบเข้ามาเสียอีก

ก็จะทำให้มีเบาะขนาดใหญ่ ที่รองรับการจ่ายคืนสมาชิกได้

ถ้าไม่โดนใครล้วงไปถลุงเล่นซะก่อน...

ลืมบอก...

  • ประโยคสุดท้าย ก่อนหน้า เป็นการพูดเล่นนะครับ อย่าได้เผลไปเชื่อเข้าเชียว
  • ใครจะมาล้วงได้ จริงไหม ?

 

 

วุฒิชัย สังข์พงษ์
กระผมเคยได้ยินผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยพูดว่า "ให้คิดแบบเด็ก แต่ให้ทำแบบผู้ใหญ่" ตอนแรกก็งงครับ จนได้ฟังคำเฉลย จึงถึงบ้างอ้อ ว่าเด็กไม่คิดซับซ้อนคิดอะไรก็พูดหรือทำอย่างที่คิดไม่ซับซ้อน แต่ถ้าทำแบบเด็กอาจผิดพลาดได้เพราะเด็กไม่มีประสบการณ์ ก็ให้ทำแบบผู้ที่มีความรู้มีความเข้าใจมีประสบการณ์ ก็จะทำให้งานประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ จริงหรือเปล่าครับ และกระผมคิดว่าคงต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมากด้วยนะครับ โชคดีนะครับคุณภีม

ขอบคุณอ.วิบุลมากครับ

โจทย์ของชุมชนซับซ้อนโดยการ
1)ทำสวัสดิการช่วยเหลือกันเองแล้ว
2)พยายามเชื่อมโยงกัน
3)ให้รัฐเห็นพลังเพื่อเข้ามาเป็นหุ้นส่วนร่วมสมทบ

ข้อ1)นั้นอาศัยการจ่ายแบบช่วยเหลือกันที่เน้นการสงเคราะห์เกินตัว ช่วยเหลือกันระหว่างรุ่น จึงมีปัญหาเรื่องการเงินในระยะยาว ทั้งเรื่องสมาชิกเกินดุลกลุ่มและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีการจ่ายมากกว่ารับ
ข้อ2) การเชื่อมโยงกันเป็นแบบสหภาพหรือเครือข่าย มีหน่วยจัดการระดับตำบล ทำให้ขอบเขตเล็กย่อมถัวเฉลี่ยได้น้อย บางแห่งมีโอกาสล่มอย่างรวดเร็ว
ข้อ3)รัฐไม่ยอมเอาด้วย เพราะพลังต่อรองไม่พอ

ตอนนี้ที่สงขลาฝากกับธกส.ได้ดอกเบี้ย3%(ซึ่งมากที่สุดแล้ว)ยังน้อยกว่าเงินเฟ้ออีก1% จึงเป็นปัญหาบวกเพิ่มมาอีก

อย่างไรก็ตาม โดยแนวคิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากัน รัฐควรเข้ามาสนับสนุนอย่างยิ่ง แต่รัฐคือรัฐบาลคือพรรคการเมืองและข้าราชการจะคิดเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังในแง่มุมไหนไม่ทราบได้

สังคมไทยอาจจะทำกลับข้างจากที่คุณวุฒิชัยว่าไว้ก็ได้คือ คิดแบบผู้ใหญ่(ซับซ้อน)ต่ทำแบบเด็กเล่นขายของ(555)

ฟังดูแล้ว ชวนให้คิดว่า ความยั่งยืน คงต้องเกิดจาก

  • หน่วยย่อย ยั่งยืนในระยะยาว (จ่ายไม่เกินตัว)
  • เกิดเครือข่าย เพื่อรองรับความผันผวนช่วงสั้นของหน่วยย่อย (บางช่วง อาจมีเหตุบังเอิญจ่ายหลายรายพร้อมกัน) ไม่ใช่เพื่อถัวเฉลี่ยระยะยาว ซึ่งจะเป็นว่า หน่วยที่ไม่มีวินัย มาแย่งดูดหน่วยที่มีวินัย
  • เพราะถ้าหน่วยย่อยไม่ยั่งยืน ประกอบกันมากกี่ร้อยหน่วย ยังไง ๆ ก็ไม่ยั่งยืน
  • นิสัยจ่ายคืนสมาชิกเกินตัว แำ้ก้ด้วยการเก็บเงินจากสมาชิกเพิ่ม ก็ไม่ได้ช่วยอะไร จะล้มในระยะเวลาที่เหมือนเดิมทุกประการ

 

 

*แนวคิดของครูชบให้ชุมชนพึ่งตนเอง พัฒนาตนเองด้วยการฝึกสัจจะกับการลดรายจ่ายวันละ1บาท
*นำการฝึกนี้มาใช้เพื่อเป็นสวัสดิการของสมาชิก
*ครูชบพ่วงเรื่องนี้เข้ากับสวัสดิการบำนาญขั้นต่ำของรัฐจากฐานเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ300บาท
ทำให้เป็นการใช้จ่ายเกินดุล เมื่อสวัสดิการบำนาญเริ่มแผลงฤทธิ์(ดำเนินงานกลุ่ม15ปีขึ้นไป)
*ตอนนี้สมาชิกและกรรมอาจจะยังไม่เห็นเพราะมีเงินไหลเข้ามากกว่าไหลออกมาก
*แต่การคำนวณพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำว่ากลุ่มจะประสบปัญหาด้านการเงินจากระเบียบที่กำหนดไว้จากกราฟที่มีเส้นตัดเริ่มติดลบในปีที่15เป็นต้นไป

ครูชบเสนอว่า การที่ชาวบ้านรวมตัวกันฝึกฝนให้ตนเองมีสัจจะ ย่อมมีอานิสงค์มาก เพราะสัจจะเป็นพลังให้คนทำการใดอย่างเข้มแข็งมั่นคง ซึ่งจะทำให้งานสำเร็จได้โดยง่าย
*ทำไมรัฐไม่ลงทุนเพื่อการนี้ ด้วยวิธีการสร้างแรงจูงใจให้คนรวมตัวกันเพื่อการนี้ เพราะรัฐลงทุนพัฒนาคนด้วยวิธีการอื่นๆด้วยจำนวนเงินนับไม่ถ้วน เป็นการลงทุนพัฒนาคนที่ถูกมากๆเพียงปีละ 365 บาท
*รัฐของครูชบมี3ระดับคือ อบต./เทศบาล อบจ.และรัฐบาลกลาง รวมกันปีละ 1,095 บาทต่อคน
*ผลที่ได้คือ การฝึกคนในเรื่องสัจจะอย่างขนานใหญ่ซึ่งเป็นหัวใจของแนวคิดนี้
*ผลที่ได้คือ การจัดสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างกว้างขวางผ่านกลไกของชุมชนซึ่งมีต้นทุนต่ำสุด

ผมเห็นว่าแนวคิดนี้น่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆด้วยการลดรายจ่ายวันละ1บาทแต่ยากเพราะคนส่วนใหญ่ทำไม่ได้หรือยังไม่ได้ทำ

รู้ว่าง่าย แต่ไม่ทำ ถือว่า ไม่(จัดการความ)รู้

ในรายละเอียดกระบวนการจัดการและฐานะทางการเงินเป็นเรื่องที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เหมาะสมได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท