E-BOOK นวัตกรรมการเรียนรู้:กลยุทธ์ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครูรุ่นใหม่


 

                            เมื่อวันที่ 24  กันยายน  2550  คุณครูสัมพันธ์  ศักดิ์นิติจารุชัย  ครูสอนคณิตศาสตร์ ของโรงเรียนบ้านกร่างวิทยาคม  ผู้ดูแลระบบการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์  เข้ามาพบผม พร้อมเสนอโครงการ E:Book นวัตกรรมการเรียนรู้สู่การทำผลงานทางวิชาการให้กับคุณครูทั้ง 41 ท่าน และพร้อมให้โอกาสการเรียนรู้นี้กับคุณครูโรงเรียนใกล้เคียง  ผมยินดีและขอบคุณกับวิธีคิดใหม่ของที่นี่ที่ไม่เหมือนใคร จึงเริ่มที่จะนำโครงการสู่ภาคปฏิบัติในวันที่ 2-3  ตุลาคม  2550   และวันที่  2 ตุลาคม  2550  เป็นวันเปิดโครงการ    ผมได้เรียนเชิญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง(นายประมวล  บำรุงดี) มาเป็นประธานด้วยความประสงค์ให้ท่านในฐานะที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนได้มีโอกาสรับรู้ว่า เรากำลังทำอะไร เพื่อลูกหลานของชาวบ้านกร่างและใกล้เคียง  และเชื่อมั่นโครงการดีๆจะได้รับการประชาสัมพันธ์และในที่สุดโอกาสต่อๆไป โครงการดีๆนี้จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และมีการต่อยอดเป็นลำดับไป

                              

                           พูดถึง  E-BOOK  หรือที่เราเรียกตามภาษาไทยสมัยใหม่ว่าหนังสืออิเลคทรอนิกส์ หลายคนคงอยากจะรู้ความหมาย ผมได้ค้นหาความหมายจาก http://203.146.15.111/  ของกระทรวงศึกษาธิการ   ความว่า  หนังสือหรือเอกสารอิเลกทรอนิกส์  ที่ผู้อ่านสามารถอ่านผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์พกพาอื่นๆได้ สำหรับหนังสือ หรือเอกสารอิเลกทรอนิคส์นี้ จะมีความหมายรวมถึงเนื้อหาที่ถูกดัดแปลง อยู่ในรูปแบบที่สามารถแสดงผลออกมาได้ โดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์แต่ก็ให้มีลักษณะการนำเสนอที่สอดคล้องและคล้ายคลึงกับการอ่านหนังสือทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่จะมีลักษณะพิเศษ คือสะดวกและรวดเร็วในการค้นหาและผู้อ่านสามารถอ่านพร้อมๆกันได้โดยไม่ต้องรอให้อีกฝ่ายส่งคืนห้องสมุด เช่นเดียวกับหนังสือในห้องสมุดทั่วๆไป  จากความหมายถ้าท่านทั้งหลายประสงค์จะเรียนรู้เรื่อง E-BOOK  อย่างกว้างและลึก ก็เข้าไปที่ GOOGLE  พิมพ์คำว่า  E-BOOK  ก็จะพบอะไรตั้งมากมาย พร้อมมีตัวอย่างให้เพลิดเพลินจนไม่อยากจะจากพราก   นวัตกรรมการเรียนรู้ที่ผมจั่วหัวข้อไว้นั้น มีความสำคัญกับความเป็นครูอย่างมาก ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง นวัตกรรมการเรียนรู้ : คน ชุมชน และการพัฒนาที่พระมหาสุทิตย์ อาภาโร(อบอุ่น) เขียน  คุณปาริชาติ วลัยเสถียร เป็นบรรณาธิการ ได้นำใจความตอนหนึ่งของปาฐกถาเรื่อง เทคโนโลยี นวัตกรรม กับการพัฒนาประเทศ ในการประชุมประจำปีของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2542 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงอธิบายว่า คนเรานั้นจะต้องมี นวัตกรรม คือต้อง innovative หรือต้องรู้จัดสร้างสรรค์ ต้องมีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ว่าก็ต้องสามารถปรับโลกให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นอยู่หรือความพอใจความสุขสบายของตัวเองเหมือนกัน ต้องแก้ปัญหาด้วยความคิด พอทางหนึ่งตันก็ต้องหาทางใหม่ ไม่งอมืองอเท้ายิ่งในภาวะวิกฤต ยิ่งต้องการนวัตกรรม ซึ่งไม่เฉพาะแต่นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น หากแต่เป็นนวัตกรรมของทั้งระบบโดยรวม ตั้งแต่สังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิต หรือวัฒนธรรม  จากความดังกล่าว ความรู้และวิธีคิดนั้น มีความสำคัญต่อการสร้างสรรค์รนวัตกรรม เราจะพบว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมในด้านต่างๆ นั้นมีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และวิธีคิด เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น มีสถาบันพัฒนานวัตกรรมในระดับชาติทำหน้าที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมทั้งด้านเทคโนโลยีและระบบการจัดการเช่นเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมในองค์กรของตน มีการจัดการความรู้ และการสร้างความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง  หากมองในมุมของการบริหารจัดการศึกษาของไทย การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ที่เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  E-BOOK ก็จะสอดคล้องกับแนวคิดนี้ และเป็นทางเลือกหนึ่งของการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน  

                         ผมชื่นชมกับวิธีที่  คุณครู ร.ร.บ้านกร่างวิทยาคมกำลังดำเนินการอยู่    ภายหลังพิธีเปิดโครงการ  ผมได้ขึ้นไปเยี่ยมชมการปฏิบัติการเรียนรู้ใหม่ คุณครูทั้ง 41 ท่าน และมีจากโรงเรียนอื่นๆ อีก 5 ท่านกำลังตั้งใจเรียนรู้อย่างจริงจัง มีคุณครูภัทร์วดี  มูลดี และทีมงาน เป็นวิทยากร  สิ่งที่ทึ่งมากก็คือ นักเรียนชั้น ม.3,4 และ 5  จำนวน  5 คน มาเป็นผู้ช่วยวิทยากร คอยให้คำแนะนำ เดินตามเครื่องที่คุณครูแต่ละท่านกำลังปฏิบัติการอยู่  จึงเห็นได้ว่า ผลผลิตคือนักเรียนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้วิธีทำ E-BOOK มาก่อนสามารถที่จะใช้ความรู้แบบมีส่วนร่วมช่วยเหลือให้คำแนะนำคุณครูทุกท่านอย่างกลมกลืน  คุณครูก็ยินดีที่จะรับองค์ความรู้ที่นักเรียนช่วยแนะนำให้  อย่างเต็มใจ เป็นภาพที่ผมมีความสุขที่สุดของวันนี้ และคาดหวังว่าในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 คุณครูหลายท่านคงมีผลงานและใช้ผลงานนั้นเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอน พร้อมทั้งต่อยอดความรู้ใหม่อย่างสม่ำเสมอ ผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นคือนักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่  คุณครูก็มีผลงานทางวิชาการ  มิตินี้ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยครับ   ผมขอขอบคุณคุณครูทุกท่าน และนักเรียนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ที่ร่วมถักทอสายใยความรู้ใหม่ให้เกิดมีขึ้น และนำไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารการพัฒนาการเรียนการสอนเป็นลำดับไป. 

หมายเลขบันทึก: 134233เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2007 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สนุกมากเลยค่ะ อยากให้มีการจัดอบรมอีกค่ะ

   น่าจะจัดอบรมตั้งนานแล้ว เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและนำมาจัดทำเป็นผลงานของครูได้ดีมาก  เสียอย่างเดียวเวลาในการอบรมน้อยไปหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไรวิทยากรเราอยู่ใกล้ตัวอยู่แล้ว  ขอบคุณคณะผู้ดำเนินการและท่านผู้บริหารที่เห็นความสำคัญและใหความรู้เรื่อง E   BooK    

ขอนำมาเข้าโลกนวัตกรรมทางการศึกษานะครับ เป็นประโยชน์ต่อทุกคนมากเลยครับ เป็นกำลังใจให้ครับ

สวัสดีครับ คุณ bigmomma /คุณครูสกาย และคุณ อภิชาติ พงษ์ภู่

                   ขอบคุณทั้ง 3 ท่านที่กรุณาอ่านและแสดงความคิดเห็น..เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอดีตครูเป็นอาชีพที่ต้องรู้มากกว่าผู้เรียน แต่ปัจจุบันครูและผู้เรียนสามารกเรียนรู้ได้เท่ากัน เพราะแหล่งเรียนรู้และสื่อมีมากมาย ดังนั้นครูจะต้องรู้จักแสวงหาวิธีการใหม่ ความรู้ใหม่เติมเต็มตลอดเวลา ครูจึงต้องรู้ตื่น รู้เบิกบาน

                  ขอให้กำลังใจคุณครูทุกท่านนะครับ..สวัสดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท