ภาษาพาม่วน 3 เว่าพื้นก่อนจะมาเป็นหมอลำซิ่ง...เด้อนางเดอ เด้อ ๆ นางเดอ ตึ้ง..ตึ้ง..(ฟังลำล่องยาว "ล่องโขงในขวด" โดยศิลปินแห่งชาติ ปี 2540 บุญเพ็ง ไฝผิวชัย)


ในด้านรูปแบบท่วงทำนองลำ ลำซิ่งก็นำของเดิมมาใช้เฉพาะส่วนที่ เป็นทำนองเซิ้ง กระชับ ฟ้อนรำได้ล้วน ๆ มาใช้ในปัจจุบัน

ผมมีโอกาสเยี่ยมบล็อกของท่าน P  นาย วรชัย หลักคำ
เมื่อ ส. 12 พฤษภาคม 2550 @ 07:41 [257768] [ลบ]  ว่าด้วยเรื่องลำซิ่ง ความว่า ."ท่านอาจจะเคยได้ยิน ประกาศงานบุญต่างๆ โดยเฉพาะภาคอิสาน

   จะมี หมอลำซิ่ง ซึ่งเป็นการแสดงประยุกต์ให้เข้ากับสมัยนิยม

    คำว่า ซิ่ง คิดว่ามาจากคำว่า เรซซิ่ง(Racing) ผมคิดเองนะ

   ต่อมาเรียกเด็กซิ่ง  ไม่ใช่เด็กซิ่ลนะครับคนละอย่างกัน

   ซิ่ง หมายถึงเร็วๆ ด่วนๆ แว็บๆ  อะไรทำนองนี้

   หมอลำซิ่งก็ปรับจังหวะทำนอง (ทางลำ) ให้เร็วขึ้น มีองค์ประกอบอื่น เช่น หางเครื่อง กลองชุด ลีลาท่าทางการรำ การเป่าแคน เป็นต้น

   กลอนรำจะเป็นการตัดพ้อต่อว่า กระแนะกระแหน ชาย หญิง

   เอกลักษณ์ คือทำนอง เด้อ นางเด่อ เด้อเด้อ นาง เด่อ ตึง ตึง ...

   และหมอแคนจะเล่นเอวเป็นพิเศษ  คนส่วนหนึ่งชอบดู เซกซี่

   ภาษาอิสานเรียกว่า แอวดี   ภาษาอังกฤษเรียกว่า LD

   วันนี้งานบุญบั้งไฟยโสธรก็มีหมอลำซิ่ง

    เราก็จะไปดูแอวหมอแคนกัน..........ไปเถอะครับ

......................................................................................

       วันนี้ท่านช่วยชาติประหยัดพลังงานหรือยัง"

ผมขอร่วมม่วนด้วยคนครับ

     ในด้านทำนองและเนื้อหา  หมอลำซิ่งก็ปรับตัวมาจากหมอลำกลอนคู่ หญิง-ชาย ซึ่งมีการลำแบบสมัยเก่าคือ  ดนตรีใช้แคนอย่างเดียว มีรูปแบบการลำแบบเดิมหลัก ๆ 3 แนวทาง คือ

    1. ลำโจทย์ลำแก้  หมอลำจะลำถามกันไปมาเกี่ยวกับคดีโลกคดีธรรม  เช่น พุทธประวัติ  พุทธทำนาย พงศาวดารเวียงจันทน์ ฯลฯ ให้ความรู้แก่ประชาชน  ถ้าหมอลำฝ่ายไหนตอบไม่ได้  ก็จะไม่เป็นที่นิยมในเวลาต่อมา  ลำแบบนี้ในทางทำนองเรียกว่า ลำทางสั้น  ลายแคนประกอบเรียกว่า ลายสุดสะแนน

     2.  ในระหว่างลำตาม ข้อ 1. มานานสักระยะหนึ่ง (คล้ายว่าจะเป็นวิชาการมากเกินไป) ก็จะสลับด้วย ลำเดินดง โดยหมอลำฝ่ายหนึ่งจะพูดแทรกขึ้นมาให้หมอแคน (เปลี่ยนทำนอง/ลายแคน) ว่า "เอ้าหมอแคนจ้าวเข้าลายเดินดง" พูดกับหมอลำอีกฝ่ายให้คนฟังได้ยินด้วยว่า "เอ้าบาดนี้ข้อยสิพาเจ้าเดินดงเข้าป่า"  ลำเดินดงนี่แหละครับที่หมอลำยุคหลัง  ตัดมาล้วน ๆ มาเป็นกลอนลำซิ่ง กลอนเดินดงจะสังเกตุง่าย  หมอลำจะร้องนำว่า " อ๋าว..ห่านี่...." หรือ "ซ้ำ...ห่านี่.." (ห่า  นี่ : ทีนี้/บัดนี้) กลอนก็จะพาคู่ลำชมป่า  ชมสัตว์ แล้ววกมาเปรียบเทียบกับความงามความหล่อของคู่ลำ พอถึงจังหวะบรรยายลำไปถึงเสียงสัตว์ต่างๆ ก็จะลำว่า "ได้ยินหยัง... ได้ยินเสียง... วอน ๆ ๆ ละวอน ๆ ฮ้อง..." ชมไประยะหนึ่งก็จะบอกแก่คู่ลำเป็นสร้อยต่อเนื่องว่า "เด้อนางเดอ เด้อ เด้อ นางเดอ" จากนั้นคนลำพร้อมหมอแคนก็จะลงจังหวะ(กระทืบเวที่หมอลำ) "ตึ้ง  ตึ้ง" ถ้าเป็นหมอลำฝ่ายหญิงพาเดินดงก็ว่า "เด้อชาย  เดอ เด่อ ๆ ชายเดอ...ตึ้ง  ตึ้ง"  ลำเดินดง  ใช้ลายแคนเดินดงทางน้อย  ท่วงทำนองแคนรุกรับกระชับจังหวะสนุกมากจนครูหมอลำตัดมาลำเดินดงมาให้ลูกศิษย์อย่างเดียว โดยเรียกว่าลำซิ่ง  รวดเร็วมันทันใจ(เหมือนรถซิ่งว่าอย่างนั้นครับ)

                                

หมอลำเคน ดาเหลา (ศิลปินแห่งชาติ ปี 2534 ) และหมอลำบุญเพ็ง  ไฝผิวชัย(ศิลปินแห่งชาติ ปี 2540 ) ลำกลอน ลำโจทย์ลำแก้ ขนานแท้ หมอแคน ครูชา เปิงบ้าน http://www.oknation.net/blog/print.php?id=150655

    3.  ลำยาวหรือลำล่อง  หลังจากลำโจทย์แก้(ลำทางสั้น), ลำเดินดง  ได้ฟ้อนได้สนุกทั้งหมอลำและคนฟังมาระยะหนึ่งแล้ว  หมอลำจะสลับบรรยากาศมาเป็นลำทางยาว  จะมีการเกริ่น "โอ่...." เป็นสำเนียงยาวชวนออนซอนตื้นตัน  ไม่มีจังหวะฟ้อนรำ  ฟังเอาความอย่างเดียว  เนื้อหาว่าด้วย  เรื่องฟ้าฝนความต่อสู้อุปสรรคของคนอีสาน...  เล่าเรื่องความลำบากของภพชาติต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้าหรือชาดกต่างๆ  เป็นต้น  ลำยาวนี้ใช้แคนลายอ่านหนังสือใหญ่ หรือลายใหญ่ หรือลายล่องยาว  ก่อนจบลำยาวหมอลำจะต่อด้วยลำเต้ย  ซึ่งเปลี่ยนอารมณ์จากออนซอนเรื่องราวจากลำยาว  มาเป็นรุกกระชับสนุกฟ้อนได้ในช่วงสั้น ๆ เพื่อดึงอารมณ์ผู้ฟังคืนมาก่อนจบครับ

   

           

หมอลำกลอนสุนทร  ชัยรุ่งเรือง(ชัยภูมิ) รันจวน  ดวงเด่น(ร้อยเอ็ด) ภาพขวาหมอลำทองมาก  จันทะลือ (หมอลำถูทา อุบลราชธานี ศิลปินแห่งชาติ 2529) หมอแคนครูชา  เปิงบ้าน

          สมัยก่อนการลำแต่ละกลอนจะประกอบด้วยการลำแบบขอ้  1 : 2  ในอัตราส่วน  80 : 20  แต่ปัจจุบันหมอลำซิ่ง จะดัดแปลงมาเป็น  5 : 95 ครับ นั่นคือลำโจทย์ลำแก้ทางสั้น  ไม่เกิน 5 ส่วน อีก 95 ส่วน เอาทำนองลำเดินดง มาแต่งเนื้อหาใหม่ (ไม่มีดงป่าจะให้เดินด้วย) เรียกว่าลำซิ่งใส่เบส  กีตาร์  ออร์แกน  แซกโซโฟน กลองชุด  แถมด้วยเพลงลูกทุ่งอีสานแบบโชว์สเต็ปเต้นหางเครื่อง  สนุกสนานกัน 

           ส่วนการลำทางยาวแบบข้อ 3.  แทบไม่มีแล้ว  นอกจากบทเกริ่นลำสั้น ๆ  แล้วรัวกลองเข้าจังหวะมัน ๆ เข้าลำซิ่งหรือลำเต้ยเลยครับเพราะจังหวะสนุกเร้าใจ  ลำสาวจันทร์กั้งโกบ คือตัวอย่างลำเต้ยกลอนหนึ่งที่เรารู้จักดี

           จนกลายมาเป็นลำซิ่งโชว์ลีลาเร้าใจทั้งเครื่องแต่งกาย  ลีลา  หางเครื่อง  คำพูดเจรจาของหมอลำคู่ซิ่ง  แบบที่เราเห็น  ๆ มาทุกวันนี้นั่นแหละครับ

หมายเลขบันทึก: 133893เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2007 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ ท่าน ผอ.ครูชา

                 ได้ความรู้&ความรู้สึกดีๆจากทางภาคอีสานอีกแล้ว ท่าน ผอ.ครูชา ขยับเล่าเมื่อใดแล้วเป็นว่าสนุกครื้นเครงปนสาระ....ผมเป็นแฟนประจำครับ

                อยากให้ท่าน ผอ.ครูชา แนะนำลิ้งคหมอลำที่ท่านชอบมาให้ทราบมั่ง จะเป็นไฟล์เสียง วีซีดี ฯลฯ ให้ได้ฟังให้ได้ชมบ้างก็จะดีไม่น้อยนะครับ

ขอบคุณPครูนงเมืองคอน หลายเด้อครับ  ผมก็เพิ่งจะฝึกหัดบล็อกจาก  อ.รัฐเขติ สถาบันฯสิรินธร มาหมาด ๆ ลงรูป  ฝากเข้าเว็บ  ได้บ้างไม่ได้บ้าง ดังนั้นการลงภาพ  ลงเสียงแบบที่ท่านว่าก็ดี  ผมจะพยายามต่อไปก็แล้วกันนะครับ  เอาแค่บันทึกคำได้  ปรับแก้ไขข้อความได้  สร้างคำสำคัญไว้เป็นทางส่งข่าว ผมก็ดีใจและตื่นเต้น ที่จะได้นำเสนอในส่วนที่ผมพอได้พบได้เห็น เป็นอักษรพลางๆ ก่อนนะครับ  ขอบคุณอีกครั้งที่ท่านให้กำลังใจ...

ใครแต่งกลอนลำ ยาว เรื่องลำยาวล่องโขงคะ

ตอบหนูหน่อย หนูเป็นนักศึกษา ทำงานส่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท