หมอบ้านนอกไปนอก(22): เพื่อนร่วมทาง


คนที่อยู่ในทีมนั้นต้องมั่นใจได้ว่า เข้าใจแนวคิดที่แท้จริงของการจัดการความรู้ ทำงานเป็นทีมเป็น ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เรียนรู้ได้เร็ว ทำกิจกรรมกลุ่มได้ นำกลุ่มได้ พูดเป็น มีประสบการณ์จริงในการปฏิบัติ ไม่ขี้ใจน้อย ไม่ขี้งอน บอกได้สอนแนะได้ ยินดีรับคำแนะนำย้อนกลับได้ ใจกว้าง ไม่คิดเล็กคิดน้อย ไม่โอ้อวดตัวเองเกินจริง มีความคล่องตัวพอที่จะเดินทางไปได้ มีประสบการณ์เป็นFacilitator ในการพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งรู้ใจกัน

                   วันนี้เป็นวันเริ่มต้นของปีงบประมาณ 2551 วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2550 ก็ถือได้ว่าผมมาอยู่ที่เบลเยียมได้ 1 เดือนแล้ว ผมเริ่มเดือนใหม่อย่างสดชื่น ใส่เสื้อเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์ 80 ปีของในหลวง ที่เมืองไทยคงมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในระบบราชการ คนเก่าเกษียณไป คนใหม่มารับตำแหน่งแทน หมุนเปลี่ยนเวียนไปทุกปีๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง จากความคิดในวันแรกที่มาถึงเบลเยียมรู้สึกว่าแต่ละวันๆผ่านไปช้ามาก แต่มาวันนี้เริ่มรู้สึกว่าแต่ละวันหมุนผ่านไปเร็วมากขึ้น วันนี้เช้าฟ้าครึ้ม กลางันถึงเย็นฝนตก ลมแรง อากาศหนาวเย็น ทำให้ไม่ได้ไปวิ่งออกกำลังกายตอนเย็น

                  เช้าและบ่ายเรียนกับอาจารย์ฌอง ปิแอร์ อังเกอร์ ช่วงเช้าเป็นเรื่องระบบบริการสาธารณสุขในท้องถิ่น (Local/District Health systems) โดยองค์ประกอบของระบบคือเขตพื้นที่ในอำเภอที่มีศูนย์บริการสาธารณสุขหรือสถานีอนามัยเป็นสถานบริการด่านหน้า มีการดูแลตามแนวทางเวชปฏิบัติครอบครัวเป็นปฐมภูมิและมีโรงพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ป่วยเป็นทุติยภูมิ มีการบริหารจัดการเป็นระบบสุขภาพแบบบูรณาการ ตามที่ผมได้เล่าไปแล้วเมื่อตอนที่แล้ว ช่วงบ่ายเรียนเรื่องระบบสารสนเทศด้านสุขภาพของโรงพยาบาล แล้วต่อด้วยการไปศึกษาระบบห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเพื่อการสืบค้นข้อมูลและยืมหนังสือในการเรียน

                  วันนี้บูโคล่า แต่งชุดประจำชาติไนจีเรียไปเรียน ได้ความว่าเป็นวันชาติหรือวันที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ พวกเราก็มายืนตรงล้อมวงกันเคารพเพลงชาติไนจีเรียที่บูโคล่า โรติมี่และบาเชีย เป็นคนร้องให้พวกเราฟัง เป็นวันครบรอบได้รับอิสรภาพปีที่ 47 ปี

                  เพื่อนๆในรุ่นก็เริ่มจำกันได้หมด วันนี้มีเพื่อนจากอาเซอร์ไบจัน เพิ่งมาเรียนวันแรกเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการออกหนังสือเดินทาง เพื่อนคนนี้ชื่อนา (Afandiyeva Narmin, Azerbaijan) ทุกคนมีความคุ้นเคยกันมากขึ้น พูดเล่นทักทาย แซวกันมากขึ้น ไปเล่นกีฬาด้วยกัน ทุกคนต่างพูดภาษาที่ไม่ใช่ภาษาของตนเอง แต่ก็รู้เรื่องกันดี ภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเป็นเพื่อนกัน มิตรภาพเกิดได้เสมอถ้าเราเปิดใจเข้าหากัน ทำให้ผมคิดถึงมิตรภาพอันแน่นแฟ้นของผมกับคนกลุ่มหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปบรรยายด้วยกันหลายครั้ง นั่นคือทีมวิทยากรการจัดการความรู้ ที่ยืนยันได้ว่า "มิตรภาพที่ดี ลืมได้ยาก"

                 ผมได้เรียนแนวคิดเรื่ององค์การแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้มาตั้งแต่ปี 2545 จากอาจารย์ที่นิด้า เช่นอาจารย์นิสดาร์ อาจารย์ทิพยวรรณ อาจารย์สุจิตรา อาจารย์วีรวัฒน์ โดยเฉพาะเรื่ององค์การแห่งการเรียนรู้ที่ผมได้นำแนวความคิดมาใช้ในการพัฒนาโรงพยาบาลบ้านตาก ส่วนเรื่องการจัดการความรู้นั้นเรียนแล้วแต่ผมเองไม่สามารถมองให้เห็นแนวทางปฏิบัติได้ พอมาปี 2548 ทางสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส) ได้ชวนโรงพยาบาลบ้านตากเข้าร่วมเครือข่ายจัดการความรู้โรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่างที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร)

                   ผมได้ให้โรงพยาบาลสมัครเข้าร่วม ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้จากอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช กับอาจารย์ ดร.ประพนธ์ ผาสุกยืด ทำให้ผมได้รู้รูปธรรมของการปฏิบัติและเชื่อมโยงไปสู่เรื่องขององค์การแห่งการเรียนรู้แล้วมองย้อนไปในช่วงที่ผ่านมาของโรงพยาบาลบ้านตากและเห็นได้ว่า ได้มีการนำเอาหลักการของการจัดการความรู้มาใช้อยู่แล้วและได้ศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือและการพูดคุยกับอาจารย์หมออนุวัฒน์ ศุภชุติกุลด้วย ทั้งสามท่านเป็นปรมาจารย์ผู้ถ่ายทอดการจัดการความรู้ให้ผม

                หลังจากที่ได้ร่วมกิจกรรมการจัดการความรู้กับ สคส. ได้มีโอกาสฟังบรรยายของอาจารย์ทั้งสองท่าน ทำให้ผมได้เรียนรู้เทคนิควิธีการที่นำมาปรับใช้มากขึ้น เมื่อปลายปี 2548 ผมได้รับมอบหมายจากอาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช ให้ไปร่วมบรรยายการจัดการความรู้ ตัวอย่างการปฏิบัติที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการบรรยายต่อจากอาจารย์ประพนธ์ ผาสุกยืด ในครั้งนั้นทำให้ผมใช้เวลาในการถอดบทเรียนการปฏิบัติที่โรงพยาบาลบ้านตากแล้วได้มาเป็น LKASA Model อีกครั้งก็ไปเล่าในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการความรู้ที่ สคส.จัด และหลังจากนั้นก็ได้ไปบรรยายให้สำนักงานเลขานุการสภาผู้แทนราษฎรในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรระดับสูงเพื่อเข้าสู่ระดับ 9 ซึ่งได้เชิญอาจารย์หมอวิจารณ์ แต่ท่านติดภารกิจ ให้เชิญผมไปแทน การบรรยายทั้งสามครั้งนั้นเป็นฐานการสร้างความมั่นใจในการบรรยายเรื่องการจัดการความรู้ของผม ซึ่งเน้นเล่าจากการปฏิบัติจริงของผมกับทีมงานในโรงพยาบาลบ้านตากเป็นหลัก

                   ช่วงแรกๆก็เป็นการบรรยายคนเดียวครึ่งวันบ้าง ทั้งวันบ้าง ตอนหลังผู้จัดขอให้ผมไปช่วยทำกิจกรรมกลุ่มให้ด้วย ผมไปคนเดียวแล้วปรากฏว่าเหนื่อยมากและได้ผลไม่เต็มที่นัก ผมก็เริ่มคิดว่า ถ้ามีทีมไปด้วย ก็จะทำให้การทำกิจกรรมกลุ่มบรรลุผลมากขึ้น เวลามีปัญหาติดขัดอะไร ผมก็จะมีคนช่วยคิด ช่วยวิเคราะห์และช่วยวางแผนแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า รวมทั้งเป็นโอกาสที่จะได้ถ่ายทอดแนวความคิด ความเข้าใจ เทคนิคต่างๆให้ทีมงานเพื่อจะได้เสริมสร้างความเข้าใจที่มากขึ้นในการนำไปขยายผลต่อในงานของแต่ละคนและให้ทีมได้มีโอกาสเรียนรู้จากหน่วยงานที่เราไปบรรยายให้เขา

                    ผมก็มานั่งคิดดูว่า ใครบ้างที่เราจะนำมาร่วมทีมด้วย คนที่อยู่ในทีมนั้นต้องมั่นใจได้ว่า เข้าใจแนวคิดที่แท้จริงของการจัดการความรู้ ทำงานเป็นทีมเป็น ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เรียนรู้ได้เร็ว ทำกิจกรรมกลุ่มได้ นำกลุ่มได้ พูดเป็น มีประสบการณ์จริงในการปฏิบัติ ไม่ขี้ใจน้อย ไม่ขี้งอน บอกได้สอนแนะได้ ยินดีรับคำแนะนำย้อนกลับได้ ใจกว้าง ไม่คิดเล็กคิดน้อย ไม่โอ้อวดตัวเองเกินจริง มีความคล่องตัวพอที่จะเดินทางไปได้ มีประสบการณ์เป็นFacilitator ในการพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งรู้ใจกัน การที่จะต้องคิดมากก็เพราะว่า เวลาเราไปเป็นวิทยากรคนเดียว เราควบคุมคุณภาพของตัวเองคนเดียวได้ง่าย คล้ายๆการสอบเทียบเครื่องมือ (Calibrate) ตัวเราได้ดี แต่พอมีหลายคน เราต้องคุมคุณภาพของทุกคนในทีมได้ ไม่เช่นนั้นการบรรยายหรือทำกิจกรรมจะไมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เราวางไว้

                  ตอนแรก ผมก็เล็งพี่ปุ๋ย (วรุตม์ อ๊อดทรัพย์) ที่สามารถเป็นผู้เยี่ยมสำรวจภายในและภายนอกในการพัฒนาคุณภาพได้ดี ความคิดลึกซึ้ง ละเอียดในการเก็บประเด็นสำคัญๆในการทำงานได้ดี ไม่ชอบคุยอวด แม่นหลักการ รู้จริงและทำจริง กับพี่ตุ๊ (เทพทวย มูลวงษ์) ที่เป็นผู้รับผิดชอบงานคุณภาพหลายเรื่อง เป็นหัวหน้าทีมพัฒนาคุณภาพการบริการ เป็นทีมเยี่ยมสำรวจภายใน เป็นคนทำจริงที่รู้จริง แม่นหลักการ พูดเป็น พูดแบบเห็นการปฏิบัติ ไม่ใช่เชิงทฤษฎี สุภาพ อ่อนโยน มีวิธีการพูดการสอนที่ทำให้คนฟังรู้สึกมั่นใจ ง่ายและมีความสุขและพี่นวล (สีนวล ดุษดินทร์) ที่เป็นคนที่เข้าใจเรื่องยากๆได้เร็ว เก็บรายละเอียดของงานได้ดี มีวิธีพูด วิธีสอนแนะนำที่ดี เข้าใจง่าย เรียนรู้เร็ว แต่ทั้งสามคนนี้เป็นกำลังสำคัญในเรื่องการพัฒนาคุณภาพโดยเฉพาะการเยี่ยมสำรวจภายในและการเป็นวิทยากรหรือเป็นวิทยากรให้คำปรึกษาภายนอกมากอยู่แล้ว ถ้าดึงมาเป็นวิทยากรการจัดการความรู้อีกก็จะหนักเกินไปและแต่ละคนก็มีภาระเรื่องครอบครัวที่ต้องดูแลด้วย

                   ในที่สุดผมก็ได้คนที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการไปร่วมทีมวิทยากรจัดการความรู้ที่ถือว่าคุณสมบัติครบตามที่ผมต้องการในฐานะหัวหน้าทีมคือพี่ตุ๊ก (ภิพาภรณ์ โมราราช) ป้อม (รัชดา โพธิ์ทอง) น้อย (วราพร คุ้มอรุณรัตนกุล) นาง (อัณณ์ฉัตร์ อินภิรมย์) ปู (วรวรรณ พุทธวงศ์ ) ปิ (ปิย์วรา ตรีบุพชาติสกุล นามสกุลเดิม ตั้งน้อย ) และเอ้ (สุภาภรณ์ บัญญัติ นามสกุลเดิม อินตะนัย)ถ้ามีการบรรยายเกี่ยวกับระบบสารสนเทศด้วยก็จะมีพี่ออด (อภิชาติ รอดแสวง)ไปด้วย

                    พี่ตุ๊ก เป็นหัวหน้างานบริการสุขภาพชุมชน รับผิดชอบงานคุณภาพหลายเรื่องและก็ทำได้ดี เข้ากับคนอื่นๆได้ง่าย เกาะติดงานดีมาก ชำนาญเรื่องสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลและการบริหารความเสี่ยงมาก

                   ป้อม เป็นหัวหน้างานรังสีวิทยา เพิ่งย้ายมาบ้านตากได้ประมาณสามสี่ปี มีความสามารถหลายด้าน มนุษยสัมพันธ์ดีมาก เข้ากับคนอื่นๆได้ง่าย ช่วยดูแลประสานกับน้องๆกายภาพได้ดี 

                   น้อย เป็นหัวหน้างานการพยาบาลผู้สูงอายุ เป็นผู้ริเริ่มงานด้านนี้ มีความตั้งใจในการทำงาน พูดน้อย ทำจริง เข้ากับคนอื่นๆได้ง่าย

                  นาง เป็นเจ้าหน้าที่ในงานเวชปฏิบัติครอบครัว ทำงานดี มนุษยสัมพันธ์ดี เรียนรู้เร็ว คุยเก่ง มีประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานชุมชนดี

                  ปู เป็นหัวหน้างานการพยาบาลพิเศษ มีความรับผิดชอบสูง กล้าพูดกล้าทำ กล้าเสนอความคิด เป็นตัวของตัวเอง รับงานจิปาถะ แต่ก็ทำได้ดีทุกงานทั้งในโรงพยาบาลและงานเสริมอื่นๆนอกโรงพยาบาลที่ผมขอให้มาช่วยเช่น ดูแลเรื่องการเรียนการสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ของวิทยาลัยชุมชนตาก

                  ปิ เป็นหัวหน้างานการพยาบาลเด็ก เป็นผู้ริเริ่มงานการพัฒนาเด็กพิเศษ เด็กพัฒนาการล่าช้า น่าจะเป็นแห่งแรกของโรงพยาบาลชุมชน เป็นคนเก่ง หัวไว เรียนรู้เร็ว ทำงานจริง กล้าพูดกล้าทำกล้าเสนอความคิดเห็น เป็นตัวของตัวเอง มีเหตุมีผล เคยช่วยเป็นหัวหน้างานเวชระเบียน ช่วงที่เวชสถิติลาเรียน ก็ทำหน้าที่ได้ดีมาก เป็นเลขาของทีมสารสนเทศและเวชระเบียน ที่ทำงานได้เร็ว สมบูรณ์ ครบถ้วน มองภาพรวมของงานสารสนเทศระดับโรงพยาบาลได้ดีมาก

                   เอ้ ทำงานอยู่งานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์และเคยเป็นเลขาทีมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ช่วยผมรับผิดชอบการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ชั้นปี 4 และ 5 ของศูนย์แพทย์ตาก มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งงานจะยุ่ง จุกจิกมาก เป็นคนที่ช่วยผมทำสไลด์บรรยายมาตลอดจนเข้าใจหลักการแนวคิดของการจัดการความรู้ดี มีความรับผิดชอบสูง พิถีพิถันในการทำงาน เรียนรู้เร็ว ทำกิจกรรมกลุ่มได้ดี มีความสามารถในการประสานงานดี

                   พี่ออด ทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้ที่มีความอุตสาหะ ทุ่มเทให้กับงานเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาลมาก มีความสามารถหลากหลาย ช่วงที่มีงานก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลต่างๆ พี่ออดเป็นผู้ช่วยหรือเป็นมือขวาในการช่วยผมคุมงานก่อสร้างเลย ทำให้เราได้อาคารสถานที่ที่ดีตามแบบที่กำหนด ผู้รับเหมาไม่สามารถตบตาเราได้เลย

                   ในการไปเป็นวิทยากรแต่ละครั้ง ผมจะต้องคุยกับผู้เชิญให้เข้าใจก่อนว่า ต้องการอะไร อบรมใคร ต้องคุยให้ชัดว่า กิจกรรมกลุ่มที่ทำนั้น อยากได้เรียนรู้กระบวนการ (process) หรือจะให้เราไปทำกลุ่มเพื่อถอดบทเรียนเนื้อหา (content) เราจะได้จัดวางกิจกรรมได้ตรงใจคนจัด ทีมวิทยากรก็จะมีการประชุมพูดคุยกันก่อนเพื่อเตรียมความพร้อม สร้างความเข้าใจในวัตถุประสงค์และกระบวนการร่วมกัน เป็นลักษณะทบทวนก่อนปฏิบัติ (Before action review: BAR) พอเสร็จกิจกรรมในแต่ละวันเราก็มาคุยกันว่า แต่ละกลุ่มที่ไปทำเป็นอย่างไรบ้าง ติดขัดอะไรบ้าง เพื่อจะได้ปรับกระบวนการในวันถัดไป ก็เป็นการทบทวนหลังปฏิบัติ (After action review: AAR) ทีมงานได้ฟังผมบรรยายก่อนหลายครั้งมาก จนเข้าใจและสามารถบรรยายแทนผมได้ เนื่องจากเป็นการยกตัวอย่างกิจกรรมในโรงพยาบาลที่เราทำร่วมกันมา

                  แนวคิดสำคัญของการจัดการความรู้นั้น เน้นการยอมรับและเห็นคุณค่าของความรู้ในตัวคน (Tacit knowledge) ที่เป็นทักษะ ประสบการณ์ สามัญสำนึก พรสวรรค์แล้วหาทางเปลี่ยนความรู้ในตัวคนออกมาเป็นความรู้ที่เห็นได้ชัด (Explicit knowledge) เพื่อให้คนอื่นๆได้เรียนรู้ (Share & Learn) เพื่อพัฒนางานต่อไป เป็นการใช้ความคิดเชิงบวก เห็นคุณค่าของเพื่อร่วมงาน สร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เปิดใจเข้าหากัน เชื่อใจกัน หนทางในการถอดความรู้ในตัวคนก็คือเครื่องมือจัดการความรู้ เช่นเรื่องเล่าเร้าพลัง สุนทรียสนทนา สุนทรียสาธก เป็นต้น การจัดการความรู้เน้นบรรยากาศเชิงบวก เล่าความสำเร็จในอดีต พูดอย่างจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ ถามอย่างซาบซึ้งใจและจดอย่างใส่ใจเข้าใจ

                  ผมมีความคิดว่า การให้เจ้าหน้าที่ไปเป็นวิทยากรข้างนอก เป็นช่องทางสำคัญในการพัฒนาเจ้าหน้าที่แล้วจะส่งผลต่อการพัฒนาโรงพยาบาลไปด้วย จึงอนุญาตให้ไปเป็นวิทยากรได้ไม่จำกัด แต่ด้วยภารกิจที่แต่ละคนรับผิดชอบ เขาก็จะจำกัดตัวเองไม่ให้กระทบต่อการทำงานในโรงพยาบาล วิทยากรการจัดการความรู้กลุ่มนี้ได้นำกิจกรรมจัดการความรู้มาใช้ในงานที่แต่ละคนรับผิดชอบได้ดีมาก ถ้าผู้บริหารเปิดโอกาสให้เข้าช่วยทำมากิจกรรมการจัดการความรู้ในโรงพยาบาลบ้านตากต่อเนื่องจะเกิดประโยชน์มาก แต่ตอนนี้อาจจะออกไปเป็นวิทยากรภายนอกได้น้อยลง เนื่องจากระเบียบใหม่กำหนดให้งานส่งเสริมการเรียนรู้ตรวจสอบคนที่จะไปบรรยายหรือประชุมอบรมนอกโรงพยาบาลไม่ให้เกิน 2 ครั้ง ถ้าเกินต้องเขียนแบบฟอร์มรายงานและขออนุมัติเป็นพิเศษจากผู้อำนวยการผ่านการควบคุมของหัวหน้างานส่งเสริมการเรียนรู้ อาจทำให้การรับบรรยายของแต่ละคนลดน้อยลงไป ก็น่าเสียดายการเรียนรู้ร่วมกันที่จะเกิดขึ้นระหว่างผู้จัดกับทีมวิทยากรไป

                    ก่อนจบบันทึกนี้ก็ฝากบทเพลงที่ชื่อว่า เราและเธอ ให้กับเพื่อนๆร่วมทีมวิทยากรจัดการความรู้ของผมทุกๆท่าน และฝากความขอบคุณที่ได้สละวันลาพักร้อนและเหมารถไปส่งผมขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ ผ่านมา ร่วมกับพี่ๆน้องๆอีกหลายคนที่ร่วมไปส่งเช่น ป้าตา พี่ตุ้ย พี่น้อย พี่แดง หมอลพ น้องแอน พี่เจ๊ก พี่ตุ่น พี่คำ น้องเอ๋ ขอบคุณครับ

“ส่งดวงใจนี้ให้เพื่อน ภาพความหลังมิเคยเลือน หลุดสลาย ภาพรอยยิ้มและความกล้า มาปลุกเร้าการต่อสู้ อยู่หนไหน ความมั่นใจยังไม่คลาย มิเคยแหนงหน่าย หนทางแห่งธรรม

อยู่ต่างแดนแสนไกลห่าง สุดขอบฟ้าเห็นลางๆ ดุจจะย้ำ ให้คำนึงถึงใจเจ้า ข้ามภูเขาและทะเล   จะเร่คว้างไปอย่างไร วอนให้จำ มั่นใจ จงทำ ก้าวไปให้ถึง

เราและเธอ อยู่ไกลแสนไกลกัน ความผูกพันเหมือนดังว่าติดตรึง ใจเจ้าลอย คล้อยตามสายลมตรึง บอกคิดถึง เฝ้ารำพึงกับใบไม้

ฝากบทเพลงนี้ให้เพื่อน ได้ยินแล้วเหมือนการเตือนสู่ความหมาย เกี่ยวดวงใจร้อยให้มั่น อยู่ที่ไหนไม่สำคัญ ชีวิตนั้นดังพืชพันธุ์แห่งเสรี งอกงามเต็มที่ ใต้ดวงตะวัน ใต้ดวงตะวัน”

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52

2000 Antwerp, Belgium

1 ตุลาคม 2550

22.00 น. ( 03.00 น.เมืองไทย )
หมายเลขบันทึก: 133865เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2007 03:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีเจ้าค่ะ คุณน้าหมอ

            โห  เพื่อนคุณน้าหมอเยอะจังเลยค่ะ คิคิ ...มิตรภาพระหว่างการเดินทาง..

        เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ---------> น้องจิ ^_^ สำหรับกลอนที่น้าหมอบอกว่า อยากเห็นตอนที่หนูไปแข่งแล้วชนะมาได้ ก็มีในบันทึกนี้ค่ะ ลองอ่านดูนะค่ะ http://gotoknow.org/blog/nongji/109419  คิคิ 

         อ่านแล้วอย่าขำน๊า 55555++

สวัสดีค่ะ...คุณหมอ...

ขอบคุณมากนะคะ...กับความรู้เชิงกระบวนการที่สะกัดมาเพื่อให้ได้เรียนรู้ค่ะ

(^____^)

ระลึกถึงคุณเอ้และหลานๆ นะคะ

กะปุ๋ม

สวัสดีครับหมอพิเชษฐ์ ทักทายศิษย์เบลเยี่ยมรุ่นน้อง อีกหน่อยก็ชินกับบ้านเมืองของเขา สองสัปดาห์ก่อนผมไปจัดการ KM workshop กับสำนักบิการสุขภาพ คณะพยาบาลเชียงใหม่ ทีมงานของ รพ.บ้านตาก 2 คน ผมยังถามถึงหมอเลย

จะแวะมาเยี่ยมอีกครับ

สวัสดีครับน้องจิ

น้าหมอเข้าไปอ่านแล้วไพเราะมากและให้เนื้อหาสาระที่ดี ชื่นชมมากกับความสามารถของเยาวชนไทยยุคใหม่ ที่ไม่ทิ้งภาษาไทย

กลอนสุภาพ ๒ บท ในหัวข้อเรื่อง " ชีวิตที่พอเพียง"  ด้วยสมองอันน้อยนิดของหนู(จิ) ก็แต่งได้ออกมาว่า

               องค์พ่อหลวงปวงไทยให้แนวทาง

               ราษฏร์น้อมสร้างนิสัยในถิ่นฐาน

               ไม่เป็นหนี้ มีเงินเก็บ จากการงาน

                ร่วมสืบสานศิลป์โบราณงานของไทย

                ใช้ชีวิตพอเพียงเลี้ยงปากท้อง

                แล้วจักต้องทำจิตใจให้ผ่องใส

                ควบคู่กับคุณธรรมนำจิตใจ

                รู้จักกิน รู้จักใช้ ให้พอเพียง

น้าหมอคิดว่า การแต่งคำประพันธ์ไม่ใช่แค่พรสวรรค์อย่างเดียว แต่เป็นทักษะ ความชอบและความใส่ใจด้วย อยากให้น้องจิเขียนคำประพันธ์ออกมาเยอะๆ

มีคนบอกว่ามีเพื่อนร้อยคนน้อยเกินไป มีศัตรูหนึ่งคนมากเกินไปครับ

สวัสดีครับคุณ Ka-poom

ขอบคุณครับ คิดว่าน้องเอ้ได้รับแล้วเพราะเข้ามาอ่านบล็อคแล้ว ขอบคุณมากครับ

ความเคลื่อนไหวของชาว R2R เป็นอย่างไรบ้างครับ

และก็ฝากความคิดถึงให้คุณกะปุ๋มและชาวโรงพยาบาลยโสธรด้วยครับ

สวัสดีครับพี่ชาตรี

น้องนางที่ไปร่วมฟังกลับมาชมพี่มากเลยครับ ปรมาจารย์การจัดการความรู้เชิงชุมชนอีกท่านหนึ่งของเมืองไทย

เพิ่งรู้ว่าพี่เป็นศิษย์เก่าแอนท์เวิป ดีใจที่ได้เป็นรุ่นน้องของคนดีและเก่ง มีอะไรที่ช่วยชี้แนะด้วยนะครับ ตอนนี้ผมปรับตัวกับชีวิตต่างแดนแล้ว คิดว่าเหนื่อยน้อยกว่าตอนทำงานมากเลยครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

ไม่ได้เข้ามาทักทายเสียนาน ปิดงบประมาณก็ยุ่งๆ มีการสรุปงานมากมาย วางแผนใหม่ ตัวชี้วัดมากมาย แต่ปีนี้ เขาบอกให้ทำงานอย่าง ดี เก่ง สุข ก็พยายามอยู่ค่ะ คุณหมอคงสบายดี มีความสุขมากๆ มีกำลังใจมากๆนะคะ ขณะนี้กำลังเขียนบทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงที่ไปอบรมมา และชักชวนให้ชาวบล็อก เอาความดีที่ทำกัน มาต่อให้เต็มแผ่นดิน ถวายในหลวงค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์

  ขอบคุณความรู้ที่อาจารย์สรุปมาให้ครับ

  ทำให้ผมได้เรียนรู้ตามอาจารย์ไปเรื่อยๆครับ

  จะคอยติดตามครับอาจารย์

ผมเรียนที่ KU Leuven ปี 1990-1992 มหา'ลัยบุ๋น ต้องทำวิทยานิพนธ์ด้วย โชคดีที่ท่านโปรเฟสเซอร์ท่านเคียว (เคี้ยว) เราอย่างหนัก เวลาผ่านไปสิบห้าปี ยังจำผมได้อยู่ครับ

จะแวะมาทักทายบ่อยๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท