เติมพลังร่วมสร้างสรรค์กับกลุ่มเพื่อนประชาคมภาคใต้ (1)


พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่ “สังคมใหม่” ให้พ้นจากความซ้ำซากของนักการเมือง โดยหลอมรวมหลักการ วิทยาศาสตร์ใหม่ (New Science) เข้ากับพลังแห่งจิตวิญญาณ (Spirituality)

คณะของเราประกอบด้วย ตัวผมเอง, คุณเป้า (ภรรยา) และน้องพร้อม (ลูกสาว) ได้เริ่มออกเดินทางเมื่อเวลาเก้าโมงเช้าของวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2550  ผมขับรถไปที่วัดทุ่งไผ่ อ.เมือง จ.ชุมพร ก่อนเป็นลำดับแรกเพื่อรับ Mr.Walter (เด็กวัด-ชาวเยอรมัน) ซึ่งร่วมเดินทางไปหาดใหญ่ด้วยกันและจะแยกไปปีนัง เพื่อทำธุระในการต่ออายุพาสปอร์ต เราแวะที่ร้านชุมพรออนไลน์ อ.หลังสวน อีกที่หนึ่งเพื่อประสานงานกับลูกน้อง ก่อนเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง คือ สวนสายน้ำ แหล่งปลีกวิเวกทางจิตวิญญาณ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งจัง หมู่ที่ 5 ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

เรามาถึงตัวเมืองหาดใหญ่เมื่อเวลาสามโมงครึ่ง แวะส่ง Mr.Walter ใกล้ ๆ สถานีรถไฟ ก่อนที่จะเผชิญกับการจราจรที่ติดขัดร่วมชั่วโมงจึงเดินทางถึงสวนสายน้ำ ทันกำหนดการนัดหมายเพื่อลงทะเบียนเข้าที่พักเมื่อเวลาห้าโมงเย็น พบปะและทักทาย คุณทวีวัตร เครือสาย กัลยาณมิตรของผมจากกลุ่มประชาคมจังหวัดชุมพร และคณะที่เดินทางมาถึงก่อน 4 - 5 คน เมื่อได้ที่พักเรียบร้อยเราได้เดินเยี่ยมชมสวนสายน้ำด้วยกัน ได้เห็นแปลงปลูกผักบนเนินสูง ณ ตำแหน่งที่รับแสงแดดเต็มที่ สวนยางเก่าที่ปล่อยให้เกิดการทดแทนตามธรรมชาติกลายมาเป็นป่าฝนที่สวยงาม ทางเดินในป่า บ้านพักหลังเล็ก ๆ ที่เงียบสงบ และศูนย์ศึกษาผลงานของ กฤษณมูรติ
 
 

เวลาหกโมงเย็นเราได้ยินสัญญาณเสียงระฆังบอกให้รู้ว่าถึงเวลาอาหารค่ำ ต่อไปนี้ทุก ๆ มื้อเราจะได้กินอาหารมังสวิรัติที่ปรุงแต่งขึ้นมาอย่างประณีต รสชาติดีเยี่ยม ชวนให้เพ่งพินิจและซักถามถึงที่มาของส่วนประกอบในอาหารเหล่านั้น

  

ที่ห้องอาหาร คณะเพื่อนจากประชาคมภาคใต้เดินทางมายังไม่ครบทั้งหมด ผมและครอบครัวได้พูดคุยกับ Mr.Robert จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางมาเข้าคอร์ส Retreat และศึกษางานของกฤษณมูรติ ณ สถานที่แห่งนี้ ทำให้ทราบว่ามีการเชื่อมโยงศูนย์ศึกษากฤษณมูรติ ที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ท และสวนสายน้ำ คือ ศูนย์ศึกษาฯ ในประเทศไทย

 

จนกระทั่งได้เวลาทุ่มครึ่ง พวกเราทั้งหมดก็มาพร้อมกันที่ห้องเสวนา คุณทวีศักดิ์ สุขรัตน์ แกนหลักในการประสานงานจาก จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มต้นชี้แจงวัตถุประสงค์ของการมาพบกันในครั้งนี้ โดยเชื่อมโยงเข้ากับชื่อที่สร้างสรรค์ขึ้นมาว่า พลังแห่งเรา...กับอนาคตประเทศไทย มีการแจกเอกสารรายชื่อกลุ่มเพื่อน กำหนดการ เนื้อหาจากอีเมล์ และบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม www.thaicivicnet.com เมื่อทุกคนได้แนะนำตัวเองเสร็จสิ้นก็พอดีกับที่คณะที่มาจากสนามบินหาดใหญ่เดินทางมาถึงพร้อม อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์

 

ในวัย 62 ปี อ.ชัยวัฒน์ ดูแข็งแรงและกระฉับกระเฉงมากเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะระยะเวลากว่า 5 เดือนที่ผ่านมา อาจารย์ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อเรียนรู้และฝึกฝนศาสตร์แห่งการต่อสู้ที่เรียกว่า ไอคิโด (Aikido) และเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เชื่อมโยงกับบริบทของสังคมโลกในมุมที่สงบนิ่ง

จากการสังเกตท่าทีของสมาชิกในกลุ่มเพื่อนประชาคมภาคใต้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นบอกกับตัวเองว่า อาจารย์ คือเพื่อน คือบุคคลที่พวกเราวางใจ ยอมรับในความเป็นผู้นำ ความเป็นนักวิชาการอิสระ และนักปฏิบัติการคนสำคัญที่มุ่งมั่นผลักดันการเมืองภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง

สำหรับผม อ.ชัยวัฒน์ คือ อาจารย์ที่ผมนับถือเป็นแบบอย่างในการแสวงหาความรู้ การปฏิบัติ การแสดงออก โดยอยู่บนพื้นฐานของความปรารถนาดีต่อสังคม ประเทศชาติ และมนุษยชาติ

ค่ำคืนวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2550 พวกเราได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในหลากหลายเรื่องราว ทั้งศาสตร์แห่งการพัฒนากายและจิตในศิลปะการต่อสู้แบบมือเปล่าที่เรียกว่า ไอคิโด, ภาพเหตุการณ์ในอดีต-ปัจจุบันของสังคมไทย และพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่ สังคมใหม่ ให้พ้นจากความซ้ำซากของนักการเมือง โดยหลอมรวมหลักการ วิทยาศาสตร์ใหม่ (New Science) เข้ากับพลังแห่งจิตวิญญาณ (Spirituality)

ในช่วงสุดท้ายของคืนแรกเราได้จับคู่สนทนา ถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองออกมาบนความรู้สึกจริงใจ และเรียนรู้เส้นทางชีวิต ควบคู่ไปกับการอ่านความคิด อ่านกระบวนทัศน์ จากเรื่องเล่าของเพื่อน ผมโชคดีที่ได้รับโอกาสจับคู่กับผู้อาวุโส คุณพิชัย ศรีใส นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีประสบการณ์ตรงตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 2516 ผ่านร้อนผ่านหนาวจากขบวนการนักศึกษา ขบวนการแรงงาน กลุ่มวิชาชีพครู นักการเมือง และปัจจุบันในบทบาทของผู้สนับสนุนการเมืองภาคประชาชน การเรียนรู้ในค่ำคืนนี้จึงเป็นสิ่งที่แปลก แตกต่างจากประสบการณ์เดิม ๆ ที่ผมคุ้นเคย และมีคุณค่ากับผมมาก

 

ค่ำคืนแรกของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์จบลงเมื่อเวลาห้าทุ่มครึ่ง พร้อมกับโจทย์ที่จะต้องนำเสนอในวันรุ่งขึ้นว่า เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการพูดคุยกัน สิ่งนั้นสะท้อนความเป็นตัวเราและคู่สนทนาของเราอย่างไร ?

 

คำสำคัญ (Tags): #ชัยวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 133811เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2007 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

          พี่ไวมากเลย... กลับมาก็เอาประสบการณ์การจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้มานำเสนอแล้ว

          ผมเองก็ได้เรียนรู้อะไรมากจากเวทีนี้มาก  เพราะถือว่าได้เรียนรู้โดยทางลัดเป็น  20  กว่าปีจากประสบการณ์ของผู้รู้ที่ผ่านงานมาเกือบทั้งชีวิต  ในการต่อสู้ของขบวนภาคประชาชนภาคใต้ ( การเมืองภาคพลเมือง)   ... อีกส่วนหนึ่งได้ไปเติมพลัง  ชาร์ทแบตให้กับตนเองท่านกลางธรรมชาติที่สะอาดและสงบ  สมกับชื่อ  สถานปลีกวิเวก    สำผัสและลิ้มลองกับอาหารมังสวิรัตซึ่งอร่อยอย่างมีสุขภาพ

         อีกประการหนึ่งผมถือว่า   ผมและพี่ ซึ่งไปเข้าร่วมในนามจังหวัดชุมพร  ก็ได้เปิดพื้นที่ใหม่สำหรับขบวนการเมืองภาคพลเมืองที่เชื่อมประสานของภาคใต้  .... ที่จะขยับเพื่อสร้างกระดานใหม่ทางการเมือง  สู้กับวิกฤติอทางสังคมที่กำลังถาโถม  มาอีกระลอกแล้ว ระลอกเล่า .... เราเกิดมาทำไม ?  เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ..  ?   ผู้รับใช้ .....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท