การขับเคลื่อนการพัฒนาการคิด:ทรัพยากรมนุษย์เป็นศูนย์กลางการพัฒนา


 ความนำ                               

                                        พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กำหนดการจัดการศึกษาเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ไว้ในมาตรา  24     ไว้หลายประการ ประการสำคัญคือมุ่งเน้นการคิด และการจัดการเรียนรู้  และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ก็กำหนดกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการบริหารการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกิดจากการคิดแบบมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้     เช่น กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการคิดของผู้เรียนให้มีความสามารถคิดระดับสูง อันได้แก่ ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น    จากการศึกษาค้นคว้างานวิจัยที่เกี่ยวข้อง กับการพัฒนาการคิด    พบว่า      การพัฒนาการคิดต้องได้รับการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ด้วยว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นศูนย์กลางการพัฒนา  ด้วยสาเหตุและปัญหาหลายประการ ได้แก่   1) ด้านกระบวนการเรียนการสอน พบว่า ครูขาดทักษะและความชำนาญการในการสอนตามปรัชญาของหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  การสอนโดยรวมยังคงมุ่งเน้นเนื้อหาฟังและจำมากกว่าการคิดตั้งคำถาม  โดยไม่เน้นกระบวนการให้ผู้เรียนได้พัฒนาด้านการคิด ช่างสงสัย ขาดการเชื่อมโยงทางความคิด  นอกจากนี้ครูมุ่งสอนให้นักเรียนสามารถสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้มากกว่า   ประการต่อมา ครูมีทักษะในการผลิตและใช้สื่ออุปกรณ์ไม่เพียงพอ  ขาดประสบการณ์ในการใช้สื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่เป็นเทคโนดลยีสมัยใหม่ และประการสำคัญ ครูและนักเรียนขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนและแหล่งค้นคว้าที่เหมาะสม และทันกับยุคสมัย   2) ด้านการวัดและประเมินผล พบว่า ข้อสอบส่วนใหญ่มักเป็นข้อสอบแบบปรนัย เน้นความรู้ความจำมากกว่าการคิดแก้ปัญหา ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนเขียนอธิบายคำตอบแสดงเหตุผลซึ่งไม่เหมาะกับความต้องการที่จะให้นักเรียน    รู้จักคิด     รู้จักสงสัย    รู้จักตั้งคำถาม   รู้จักนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาบูรณาการการเรียนรู้วิชาต่างๆ  ประการสำคัญวิธีการวัดและประเมินผลไม่หลากหลาย เน้นประเมินโดยใช้แบบทดสอบมากกว่าประเมินตามสภาพจริง   3) ด้านนักเรียน  พบว่า  จำนวนนักเรียนต่อห้องมากเกินไป  นักเรียนส่วนใหญ่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนบางรายวิชาไม่น่าพอใจ เช่น วิชาวิทยาศาสตร์   วิชาคณิตศาสตร์  เป็นต้น  นอกจากนี้นักเรียนไม่สามารถนำความรู้ที่เรียนไปสังเคราะห์และบูรณาการความรู้ต่างๆ ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้   ประการต่อมา นักเรียนขาดกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถพัฒนาวิธีคิดและวิเคราะห์แบบมีเหตุผลได้  ตั้งคำถามไม่เป็น  ขาดทักษะในการเลือกและคัดสรรข้อมูลมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง  ประการสุดท้าย นักเรียนมีพื้นฐานความรู้ด้านการใช้ภาษาไทย   คณิตศาสตร์  และวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษาไม่สอดคล้องและไม่เชื่อมโยงกับการนำไปใช้ในการเรียนต่อระดับที่สูงขึ้น (กรมวิชาการ,2544) จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น หากมองความคิดของสังคมไทยย้อนรอยอดีตถึงปัจจุบัน  ยกย่องเรื่องการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเชื่อกันว่าการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า  การศึกษาเป็นกระบวนการที่จะช่วยหล่อหลอมให้คนได้พัฒนาตนเองในด้านต่างๆตลอดช่วงชีวิต ดังนั้น การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของการเน้นให้คนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น รู้จักการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว  เมื่อเป็นดังนี้ ทรัพยากรมนุษย์จึงต้องได้รับการพัฒนาและสร้างคุณภาพการคิด เพื่อให้สอดคล้องและดำเนินควบคู่กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ  สังคม และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมีคุณภาพ   มีประสิทธิภาพ  และยั่งยืน(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,2533)

การขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน                             

                                      สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ กำหนดนโยบายที่จะเร่งพัฒนาการอ่าน เขียนและคิดวิเคราะห์เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกลยุทธ์ที่ 3 การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ  การขับเคลื่อนกระบวนการคิดสู่ห้องเรียนมุ่งเน้นให้โรงเรียนได้คิดค้นเทคนิควิธีการสอนคิดและฝึกปฏิบัติจริงในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนคิดดี คิดเป็น คิดถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ในชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการสนับสนุน ส่งเสริมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศทำวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการคิดทั้งระบบ โรงเรียนร่วมกัน สถาบันอุดมศึกษา องค์กรต่างๆหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อขับเคลื่อนการคิดสู่การปฏิบัติ  การศึกษาทั้งระบบ ได้แก่ การปรับปรุงหลักสูตร แผนและกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิด และยกระดับคุณภาพการศึกษา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น  เป้าหมายการพัฒนาการคิดเป็นคุณภาพการคิดของนักเรียนที่เกิดจากการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของครู และระบบบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียน  สพท. และ  สพฐ.  ที่เอื้อต่อการพัฒนาการคิด   โดยมีเป้าหมายการพัฒนาการคิดหลักที่ นักเรียน    1) มีความสามารถในการคิดดีและคิดเป็นตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  2)ผลการประเมินด้านการคิดสูงขึ้น   3) สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันจนเป็นนิสัย มีนิสัยแห่งการคิด  ปัจจัยแวดล้อมที่นำสู่ความสำเร็จนี้ อยู่ที่การบริหารโรงเรียนทั้งระบบที่เน้นกระบวนการคิด  ห้องเรียนมีบรรยากาศการเรียนรู้ สื่อ และการจัดห้องเรียนที่ส่งเสริมการคิด และประการสำคัญครูวิเคราะห์งานผู้เรียนเป็น จัดการเรียนรู้ต่อยอดการพัฒนาผู้เรียนได้(สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา.สพฐ.,2550)

ความหมายและความสำคัญของการคิด                               

                                        นักวิชาการจำนวนมากได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการคิด เพราะเห็นว่า การคิด นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง   ประเทศต่างๆ มีการแข่งขันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคมและความอยู่รอดปลอดภัยของประเทศรวมทั้งการเอาชนะใจมนุษยชาติ ความคิดเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินแพ้ชนะ   การคิดจึงเป็นทุนสำคัญของมนุษย์  ที่มนุษย์สามารถจินตนาการ และสร้างให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดประโยชน์และทำให้ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี  และมีความสัมพันธ์กับระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม  การพัฒนาการคิดคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน  มีผู้ให้ความหมายของการคิดที่เน้น กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ไว้ ดังนี้                             

                                          ออสบอร์น(Osborn.1957:23) กล่าวถึง ความคิดสร้างสรรค์ว่า เป็นจินตนาการประยุกต์ (Applied Imagination)  เป็นจินตนาการที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่มนุษย์ประสบอยู่ มิใช่เป็นจินตนาการที่ฟุ้งซานเลื่อนลอย โดยทั่วไปความคิดจินตนาการจึงเป็นลักษณะสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ในการนำไปสู่ผลผลิตที่แปลกใหม่และเป็นประโยชน์                                       

                                        กู้ด (Good.1959:570) ให้ความหมายความคิดสร้างสรรค์ว่า เป็นความช่างคิดในการสำรวจตรวจสอบสถานการณ์ที่แปลกใหม่ หรือใช้วิธีการใหม่แก้ปัญหาเก่า หรือเป็นผลผลิตที่ริเริ่มขึ้นใหม่จากนักคิด                                   

                                        กิลฟอร์ด (Guilford.1967:61) ให้ความหมายว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นลักษณะความคิดอเนกนัย (Divergent Thinking) คือความคิดหลายทิศทาง หลายแง่หลายมุม คิดได้กว้างไกล ลักษณะความคิด เช่นนี้จะนำไปสู่ความคิด การประดิษฐ์สิ่งแปลกใหม่ รวมทั้งการคิดหาวิธีการแก้ปัญหาได้สำเร็จด้วย ความคิดอเนกนัย ประกอบด้วยความคิดริเริ่ม (originality) ความคิดคล่องตัว(Fluency) ความคิดยืดหยุ่น(Flexibility) และความคิดละเอียดลออ(Elaoration)                             

                                        อารี พันธ์มณี (2537:9) ได้ให้ความหมายของ การคิดว่า เป็นกระบวนการทางสมองที่คิดในลักษณะอเนกนัยอันนำไปสู่การค้นพบสิ่งแปลกใหม่ ด้วยการคิดดัดแปลง ปรุงแต่งความคิดเดิมผสมผสานกันให้เกิดสิ่งใหม่ ซึ่งรวมทั้งการประดิษฐ์ค้นพบสิ่งต่างๆ ตลอดจนวิธีการคิด ทฤษฎี หลักการได้สำเร็จ ความคิดจะเกิดขึ้นได้นี้มิใช่เพียงแต่คิดในสิ่งที่เป็นไปได้ หรือสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ความคิดจินตนาการก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะก่อให้เกิดความแปลกใหม่ แต่ต้องควบคู่กันไปกับความพยายามที่จะสร้างความคิดฝันหรือจินตนาการให้เป็นไปได้ หรือที่เรียกว่า จินตนาการประยุกต์ นั่นเอง จึงจะทำให้เกิดผลงานจากความคิด  (อารี พันธ์มณี,2546:153-155)              

                                            พอจะกล่าวสรุปได้ว่า การพัฒนาการคิด เป็นการจำแนก แยกแยะ จัดกลุ่มข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อการเปรียบเทียบ ระบุสาเหตุ และผล หรือเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูล ระบุความสำคัญ   หลักการ  แนวคิด  หรือจุดเด่น  จุดด้อย ของสถานการณ์ นั้นๆ   จากความหมายของการคิดจะเห็นได้ว่า การคิดมีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างมาก มีผู้กล่าวถึงความสำคัญของการคิดไว้หลายท่าน ดังนี้                              

                                            อารี สัณหฉวี (2511:424) กล่าวว่า การคิดเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมปัจจุบัน เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงมีปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เด็กจะต้องฝึกฝนให้รู้จักคิดสิ่งใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาต่างที่ต้องพบในชีวิตประจำวัน                               

                                            ชาญชัย  อินทรประวัติ (2518: 19) ได้ให้ความเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์มีความจำเป็นต่อชีวิต เพราะในการให้การศึกษาแก่เด็กไม่สามารถจะสอนทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การสอนเด็กให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จึงมีโอกาสนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาได้                              

                                            เฮอร์ลอค (Hurlock.1972:319) กล่าวถึงคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ว่า ความคิดสร้างสรรค์ให้ความสนุก ความสุขและความพอใจแก่เด็กและมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของเด็กมาก ไม่มีอะไรที่จะทำให้เด็กรู้สึกหดหู่ได้เท่ากับงานสร้างสรรค์ของเขาถูกตำหนิ ถูกดูถูกคิดว่าสิ่งที่เขาสร้างนั้นไม่เหมือนของจริง  (อารี  พันธ์มณี, 2546 : 155-156)                              

                                           ความสำคัญของการคิดตามที่กล่าวถึงข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การคิดนั้นได้ถูกกำหนดให้มีระดับคุณภาพ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วัยเรียน ทุกระดับการศึกษา จนกระทั่ง ผู้เรียนสำเร็จการศึกษา และนำกระบวนการคิดไปใช้ในการดำรงชีวิต  ระดับคุณภาพของการคิด จำแนกได้ 3 ขั้น ได้แก่ 1) ขั้นรวบรวมและคัดเลือกข้อมูล (Gathering) เช่น สังเกตรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส กำหนดประเด็นรวบรวม กำหนดเป้าหมาย เป็นต้น  2) ขั้นจัดกระทำข้อมูล (Processing)  เช่น ตรวจสอบ วิจารณ์ ไตร่ตรอง เชื่อมโยง จัดลำดับ เปรียบเทียบ จำแนก เป็นต้น  3) ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้(Applying) เช่น คิดวิเคราะห์ วิจารณ์  สังเคราะห์ ขยายความรู้ สร้างทางเลือก สร้างค่านิยม เป็นต้น  (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา.สพฐ.,2550)

แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาการคิด                           

                                           การขับเคลื่อนการคิดนั้นจำเป็นต้องทำทั้งระบบรวมทั้งมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้ทราบผลจากการปฏิบัติของโรงเรียนที่มีบริบทแตกต่างกัน การขับเคลื่อนระบบให้ความสำคัญกับการเริ่มที่ผู้สอนเข้าใจนักเรียน โดยพิจารณาจากผลงานและการแสดงออก แล้วหาวิธีการจัดการเรียนรู้  การจัดการความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจะเป็นปัจจัยป้อน และกระตุ้นให้โรงเรียนและครูมีการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนในระดับที่กว้างขึ้น ในการขับเคลื่อนการพัฒนาการคิด ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ คือ เข้าถึงจิตใจและค่านิยมจากมุมมองของผู้เรียน และพัฒนาการคิดของผู้เรียน จากจุดที่เขาเป็นให้ระดับสูงขึ้น  การพัฒนาการคิดทั้งระบบโดยเริ่มจาก  1) สร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคิดและกระบวนการคิดต่างๆ  2) เชื่อมโยงการคิดกับหลักสูตรและการสอน สอดแทรกในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ในการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้  3) พัฒนาการสอนคิดในชั้นเรียนทำให้เห็นกระบวนการคิดที่ชัดเจน  4) พัฒนาครูประจำการเกี่ยวกับเทคนิคการสอนคิด คิดค้นหาวิธีใหม่ๆ ใช้นวัตกรรม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างเครือข่ายและชุมชนแห่งการเรียนรู้  5) ประเมินการคิดของนักเรียนควบคู่กับการสอน ประเมินการเปลี่ยนแปลงการสอนของครู (สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา.สพฐ.,2550)

สรุป                                         

                                      การขับเคลื่อนการพัฒนาการคิด นั้น ปัจจัยที่ส่งต่อความสำเร็จ อยู่ที่หน่วยงานทางการศึกษาระดับปฏิบัติ ได้แก่  สพท. และโรงเรียน ที่ต้องสร้างรูปแบบและ กระบวนการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียน โดยการสร้างองค์ความรู้ การคิดให้กับ ครู ให้สอนการคิดเก่ง มีนิสัยนักคิด ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเป็นผู้ให้ เป็นการสร้างนวัตกรรมการคิดร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่งจะนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของนักเรียน และสู่การเป็นนักคิดที่ดี  คิดอย่างสร้างสรรค์ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อสังคม  ประเทศ และโลก ในที่สุด 

เอกสารอ้างอิง                                  

                                  กรมวิชาการ.ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา.กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ.2544.                            

                                  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.เอกสารการสอนชุดวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ.นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.2533.                                   

                                  สำนักพัฒนานวตกรรมการจัดการศึกษา.แนวดำเนินการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน.กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ.2550.                                  

                                 อารี  พันธ์มณี.จิตวิทยาสร้างสรรค์การเรียนการสอน.กรุงเทพฯ:ใยไหม.2546.

หมายเลขบันทึก: 133373เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2007 03:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท