ประวัติและผลงานของนักเพลงพื้นบ้าน (ตอนที่ 4) นักเพลงปัจจุบัน


นักเพลงอีแซวรุ่นปัจจุบันที่แสดงในงานปิดทองหลวงพ่อโต

 

 

ประวัติและผลงานที่ต้องบันทึกไว้

 

ของนักเพลงพื้นบ้าน รุ่นปัจจุบัน

 

ในจังหวัดสุพรรณบุรี (ตอนที่ 4)

          ทำไมจึงเรียกว่า เพลงอีแซว นางบัวผัน จันทร์ศรี ครูเพลงชื่อดังและศิลปินแห่งชาติด้านการแสดงเพลงอีแซว บ้านห้วยเจริญ  อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้กล่าวไว้ว่า แต่เดิมไม่มีเพลงอีแซว มีแต่เพลงแคนคู่มากับเพลงฉ่อย แต่เมื่อเล่นกันนานเข้าและว่ากันคืนยันรุ่ง (ตั้งแต่ครึ่งคืนจนถึงสว่างคาตา) ร้องต่อว่ากันได้นาน  จึงเรียกกันว่า เพลงอีแซวต่อจากนักเพลงรุ่นครูมาถึงศิลปินในยุคปัจจุบันที่ยังคงยึดมั่นในการรับงานแสดงเพลงอีแซว และนำคณะไปแสดงบนเวทีในงานปิดทองหลวงพ่อโต ที่วัดป่าเลไลยก์จนถึงทุกวันนี้ ได้แก่ 

          นางลำจวน  เกษมสุข  หรือ ลำจวน  สวนแตง เกิดปี พ.. 2480 ปัจจุบันอายุ 70 ปี (พ.. 2550) บ้านเลขที่ 59 หมู่ 2  ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี แยกทางจากสามีโดยมีบุตรด้วยกัน  3  คน  ตัวของลำจวนเองไม่เคยสนใจเพลงอีแซวมาก่อนเลย  เห็นเขาเล่นเพลงยังไม่อยากดู เพราะว่าเขาร้องกันหยาบคาย ไม่น่าฟัง จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสตามพี่สาวไปเที่ยวงานปิดทองหลวงพ่อโตที่วัดป่าเลไลยก์  ได้เห็นเขาเล่นเพลง ดูแล้วสนุกสนาน  จึงได้ติดตามพี่มาลัยไปงานเพลง มีอยู่วันหนึ่งพี่สาวป่วยรักษาไม่หาย ลุงเป็นคนมาบอกกับพ่อว่า จะต้องทรงเจ้า ถ้ารับเป็นคนทรงจึงจะหาย  แต่ว่าพ่อเป็นคนไม่ชอบเพลง พอพี่สาวรับเป็นคนทรงเจ้า อาการป่วยก็หาย พอมีคนมาหาเพลงพี่สาวยังไปไม่ค่อยจะไหว  ลำจวนจึงจำเป็นต้องหิ้วกระเป๋าไปให้พี่สาว  ตอนนั้นอายุ  12 ปี สมัยก่อนไปเล่นเพลงต้องเดินไป  ไปกับพี่สาวบ่อย ๆ เข้าเขาให้ร้องก็ไม่กล้าร้อง อายคนดู เริ่มต้นที่การตีฉิ่ง ได้ค่าตัวงานละ 1 บาท อยู่มาวันหนึ่งเห็นคนที่เขาเล่นเพลงเป็นได้ค่าตัวงานละ 30 บาท แต่ตัวเองตีฉิ่งได้ 10 บาท ก็เลยคิดอยากร้องเพลง ก็ไปขอเพลงออกตัวจากรุ่นพี เดินทางไปก็ต่อเพลงกันไป เมื่อไปเล่นงานบ่อย ๆ ก็จำเนื้อเพลงได้ ระยะหลัง ๆ มีความสนใจเพลงอีแซวมากขึ้น ใช้เวลาไม่นานก็จำเพลงได้มาก  มีเพลงหักกัน (เพลงที่ว่ากันเจ็บ ๆ) แก้กันไม่ตก ผู้ชายว่ามาแล้วผู้หญิงแก้เพลงไม่ได้ เพลงคณะลำจวน สวนแตง ว่ากันเป็นเรื่องแบบเก่า ไม่หยาบคาย  มีสองแง่สองง่ามบ้าง 

            

             

         นางขวัญจิต  ศรีประจันต์ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.. 2490  อายุ 60 ปี (.. 2550) ชื่อจริงนางเกลียว เสร็จกิจ  สมรสกับนายเสวี  ธาราพร  มีบุตร  3 คน  บ้านเดิมอยู่ที่  ตำบลวังน้ำซับ  อำเภอศรีประจันต์  จังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นบุตรของนายอัง  นางปลด เสร็จกิจ ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 1 ตำบลสนามชัย  อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี  โทร. 035-521706 และ 081-945-4771 ขวัญจิต มีพี่น้องทั้งหมด  3 คน เป็นหญิง  ได้แก่  ขวัญใจ ศรีประจันต์ (จำนงค์ เสร็จกิจ) และบุญนะ  เสร็จกิจ เริ่มฝึกเพลงอีแซวจากนายไสว วงษ์งาม  และแม่บัวผัน จันทร์ศรี ตั้งแต่เป็นเด็กอายุราว 15 ปี ทั้งที่พ่อ แม่ไม่สนับสนุนให้หัดเพลงเกรงว่าเมื่อโตเป็นสาวจะมีปัญหาเรื่องชู้สาวตามมาแต่กลับสนับสนุนให้น้องสาวคนเล็กไปฝึกหัดแทน ด้วยความสนใจในเพลงพื้นบ้านจึงทำให้นางเกลียวติดตามดูการร้อง  การรำ การแสดงของแม่บัวผัน  จันทร์ศรี  เป็นประจำ จนในที่สุดได้มีโอกาสไปดูแลน้องสาวที่เล่นเพลงอยู่ในวงพ่อไสว วงษ์งาม จึงได้เรียนรู้เพลงอีแซวแบบครูพักลักจำ พี่น้องทั้ง 3 คนฝึกเล่นเพลงอีแซวมาในระยะเดียวกัน จนเป็นแม่เพลงอีแซวที่มีชื่อเสียงมาก แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่โดดเด่นในด้านการแสดงเพลงอีแซวของขวัญจิต ศรีประจันต์ การด้นเพลงอย่างฉับพลัน และสามารถนำเอาเหตุการณ์ในปัจจุบัน มาร้องหน้าเวทีได้อย่างไพเราะยิ่ง  ท่องเนื้อเพลงได้หลายลีลาตามแนวของแม่บัวผัน นางเกลียว เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีเก่า ๆ แล้วนำไปร้องตามทำนองเพลงอีแซวจนมีความแตกฉาน จึงไปขอครูไสวแสดงเพลงอีแซวหน้าเวที ได้แสดงความสามารถด้วยความเฉลียวฉลาดในการว่าเพลง  อย่างคมคาย    จึงเป็นที่ชื่นชอบของนักฟังเพลงอีแซว นางเกลียว   ตระเวนเล่นเพลงอีแซวหลายวงจึงทำให้เกิดความแตกฉาน หลังจากที่เล่นเพลงอีแซว จนมีชื่อเสียงแล้ว นางเกลียว  เสร็จกิจไปสมัครเป็นนักร้องกับวงดนตรี จำรัส  สุวคนธ์ (น้อย)  อยู่กับวงไวพจน์  เพชรสุพรรณ มีเพลงที่ดังติดหู เช่น เบื่อสมบัติ แหลมตะลุมพุก ฯลฯ  อยู่ในวงการเพลงลูกทุ่ง จนมีชื่อเสียงโด่งดังด้วยเพลง กับข้าว เพชฌฆาตซึ่งประพันธ์โดยครูจิ๋ว พิจิตร  และต่อมาได้ตั้งวงดนตรีเป็นของตนเอง (ประมาณปี พ.. 2510-2516) เป็นช่วงเวลาของวงดนตรีลูกทุ่ง คณะขวัญจิต ศรีประจันต์ กำลังได้รับความนิยมและในปี พ.. 2516 นี้เองที่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ยุติวงดนตรีลูกทุ่งกลับไปฟื้นฟูเพลงอีแซวที่จังหัดสุพรรณบุรี บ้านเกิดอีกครั้งและอุทิศชีวิตให้กับการอนุรักษ์ เผยแพร่และถ่ายทอดเพลงอีแซวให้กับลูกศิษย์และนักเรียน นักศึกษา ประชาชนผู้ที่สนใจในเพลงอีแซว และเป็นนักเพลงที่เสียสละอุทิศตนเพื่อสังคม ขวัญจิต ศรีประจันต์ จึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว) ประจำปี พ.. 2539  

        

         ขวัญใจ ศรีประจันต์ ชื่อจริง จำนงค์  เสร็จกิจ เกิดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2493 อายุ 57 ปี (พ.ศ. 2550) เป็นน้องสาวของนางเกลียว  เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ 77/1 หมู่ที่ 5  ตำบลวังน้ำซับ  อำเภอศรีประจันต์  จังหวัดสุพรรณบุรี  โทร. 035-521706 และ 081-195-8197 บ้านตรงข้ามกับ สุจินต์  ศรีประจันต์ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับงานแสดงเพลงอีแซว รับทำขวัญนาค และแสดงประกอบเทศน์มหาชาติ  ขวัญใจ เริ่มฝึกหัดเพลงตั้งแต่อายุ 13 ปี  โดยมีพี่น้องฝาแฝดอีกคนชื่อ บุญนะ  เสร็จกิจ บ้านเลขที่ 77 หมู่ที่ 5 ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ อยู่เลยเข้าไปในเส้นทางเดียวกันอีกประมาณ 500 เมตร  ครูเพลงที่ขวัญใจและบุญนะไปฝึกหัดเพลงเมื่อตอนเริ่มแรกคือ ครูไสว วงษ์งาม และแม่บัวผัน จันทร์ศรี ทั้งที่พ่อ แม่ก็ไม่สนับสนุนให้หัดเพลง ต่อมาเมื่อพี่สาวคือ ขวัญจิต ไปหัดเพลงด้วยกัน จึงมีคู่เล่นที่เสียงดี และท่าทางน่าชม ประกอบกับในยุคนั้นนักเพลงรุ่นเก่า ๆ เริ่มที่จะเลิกรากันไป เมื่อนักเพลงอีแซวรุ่นใหม่อย่าง ขวัญจิต ศรีประจันต์ ขวัญใจ ศรีประจันต์ และสุจินต์ ศรีประจันต์เข้ามาหัดเพลงและออกแสดงหน้าเวที  ทำให้มีผู้ชมให้การต้อนรับเป็นอย่างมาก ในบางสถานที่ถึงกับพาครอบครัวไปจองที่ชมการแสดงตั้งแต่ตอนเย็น  ขวัญใจ ศรีประจันต์ แสดงเพลงอีแซวอยู่ได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องลาจากวงการเพลงอีแซวไปเป็นนักร้องลูกทุ่งโดยไปกับพี่สาวคือขวัญจิต  มีชื่อเสียงอยู่ในวงการเพลงลูกทุ่ง มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงหลายเพลง ต่อมามีผลงานเทปคาสเสทเพลงอีแซวคู่กับขวัญจิต, ไวพจน์ หลายชุด และในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ขวัญจิต ศรีประจันต์ หยุดวงดนตรี ประมาณ ปี 2516 ขวัญใจ ก็กลับมาเป็นแม่เพลงสุพรรณฯ อย่างเดิม รับงานแสดงเพลงอีแซวมาจนถึงปัจจุบันนี้  

         

         นายสุจินต์  ศรีประจันต์  ชื่อจริง นายสุจินต์ ชาวบางงาม เกิดเมื่อ 4 เมษายน พ.. 2492 อายุ 58 ปี (.. 2550) บิดาชื่อนายสังเวียน ชาวบางงาม มารดาชื่อนางจอม ชาวบางงาม อยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 5  ตำบลวังน้ำซับ  อำเภอศรีประจันต์  จังหวัดสุพรรณบุรี  โทร. 081-795-3615 ฝึกหัดเพลงอีแซวจากพ่อไสว วงษ์งามและแม่บัวผัน จันทร์ศรี ตั้งแต่อายุ 13 ปี ในระยะเวลาไล่เลี่ยกับขวัญจิต ศรีประจันต์ ในขณะที่หัดเพลงอีแซวก็ฝึกหัดเพลงทรงเครื่อง (เพลงฉ่อย) เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพวงมาลัย เพลงเรือ เพลงระบำต่าง ๆ อีกมาก ในยุคนี้การหัดเพลงจะต้องฝึกตั้งเสียงกับครูเพลงก่อน ต่อจากนั้นจดเนื้อเพลงเอาไปท่องให้จำได้ แล้วกลับมาว่าเพลงให้ครูฟัง  เมื่อมีงานแสดงก็ติดตามดูรุ่นพี่ ๆ เขาเล่น จนมีโอกาสเข้าไปร่วมแสดง ว่าเพลงออกตัวก่อนเมื่อว่าเพลงได้มากเข้าก็ออกไปเล่นไปกับรุ่นพี่ ๆ จน กระทั่งเป็นที่ยอมรับในความสามารถยกให้เป็นพ่อเพลง สุจินต์ ชาวบางงาม เป็นพ่อเพลงรุ่นใหม่ที่ยึดอาชีพการแสดงเพลงอีแซวเอาไว้อย่างเหนียวแน่นเป็นงานหลักมีรายได้จากการแสดงเพลงอีแซว  การร้องทำขวัญนาคและแสดงดนตรีจนสามารถส่งลูกเรียนจบสำเร็จได้ทั้ง 3 คน สุจินต์ ศรีประจันต์ มีความสามารถสูงยิ่งน้ำเสียงไพเราะสดใสน่าฟัง ร้องเพลงด้นได้อย่างฉับพลัน มีท่วงท่าในการแสดง และลูกเล่นลูกล้อในวงเพลงที่หาตัวจับได้ยาก ทุกวัน นี้ยังคงมีงานแสดงเพลงอีแซวไม่ขาดรวมทั้งการเผยแพร่ศิลปะการแสดง  เพลงอีแซวไปสู่เยาวชนในโรงเรียนต่างๆ อีกด้วย      

        

        นางนกเอี้ยง เสียงทอง ชื่อจริง นางสวัสดิ์ เทียนแจ่ม   เกิดเมื่อวันพุธ เดือน 9   ปีมะเมีย พ.. 2497 อายุ 53 ปี (.. 2550) ที่บ้านบางงาม  อำเภอศรีประจันต์  จังหวัดสุพรรณบุรี แต่งงานแล้วมีบุตร สาว 3 คน  ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 667  หมู่ที่ 5  ตำบลดอนเจดีย์  อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 089-887-6711 ในระยะแรก ๆ  ไม่ได้สนใจเพลงอีแซว  ชอบร้องเพลงลูกทุ่ง  เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งอยู่กับคณะแตรวงในระแวกบ้าน เล่นอยู่นานพอสมควรจึงหันเหชีวิตไปฝึกหัดร้องเพลงอีแซว ครั้งแรกกับครูเคลิ้ม ปักษี (เสียชีวิตแล้ว) เป็นครูเพลงชื่อดังในเขตดอนเจดีย์จนเป็นที่รู้จักของผู้ชมทั่วไป นกเอี้ยง เป็นแม่เพลงที่ไม่รู้หนังสือ เขาอ่านเขียนหนังสือไม่ได้มีความรู้เพียงแค่ชั้น ป.2 พอที่จะเขียนชื่อตนเองได้เท่านั้น  ส่วนการจำเพลงนั้นต้องให้น้องสาว นางพยงค์  บุญช่วย (นกเล็ก) อ่านเนื้อเพลงให้ฟัง ได้ฟังทีละลงเพลง เพียงแค่ 2-3 เที่ยว ก็จำเนื้อเพลงได้นกเอี้ยงเป็นคนเสียงดีรำสวย เขามีคณะเพลงอีแซวเป็นของตนเองตระเวนแสดงในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และสถานที่ต่าง ๆ ทั่วไป และยึดอาชีพเล่นเพลงอีแซวมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน  นกเอี้ยง เสียงทอง เป็นคนที่เคารพครูบาอาจารย์ ประพฤติตนตามที่ครูเพลงแนะนำสั่งสอน นกเอี้ยงมีลีลาการร้องเพลงอีแซวที่ไม่ซ้ำแบบใคร มีการประยุกต์ทำนองร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ต่างไปจากนักเพลงคนอื่น ๆ น้ำเสียงสดใส เล่นสนุก ร้องกระชับ ประทับใจคนดู   

                

         นายบุญโชค  ชนะโชติ (โชติ สุวรรณประทีป) เกิดเมื่อปี พ..2486 อายุ 63 ปี (เสียชีวิต ปี พ.ศ. 2549) บ้านเดิมอยู่ข้างวัดพังม่วง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี บิดาชื่อนายไสว  สุวรรณประทีป มารดาชื่อ นางบท สุวรรณประทีป มีพี่น้องรวม 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน บุญโชค มีบุตรกับภริยาเดิม 2 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน เมื่อภริยาเก่าเสียชีวิต จึงได้สมรสกับนางเบญจภรณ์  (ภริยาคนปัจจุบัน) อยู่บ้านเลขที่ 1622  หมู่ที่ 5  ตำบลดอนเจดีย์   อำเภอดอนเจดีย์   จังหวัดสุพรรณบุรี  บุญโชค เริ่มหัดเพลงอีแซวเมื่ออายุประมาณ  23 ปี กับครูช้าม หอมจันทร์  บ้านเดิมบางนางบวช แต่ก่อนหน้านั้นเคยไปหัดเล่นลิเกกับคณะลิเกที่วัดโพธิ์ศรีเจริญ เมื่ออายุ 19 ปี หัดลิเกอยู่ระยะหนึ่งและออกแสดงกับคณะที่ฝึกอยู่นาน จนหันเหชีวิตมาเป็นเพลงอีแซว  การหัดเพลงในยุคนั้นบุญโชค บอกว่าฝึกร้องตามเขา (ร้องตามครูเพลง) ฝึกเวลากลางวัน ส่วนตอนกลางคืนจดเนื้อเพลงมาท่อง  ได้แสดงเพลงอีแซวครั้งแรกในงานวัดหลวงพ่อแพพิกุลทองจังหวัดสิงห์บุรี เล่นจนสว่างได้ค่าตัว 10 บาท ต่อมาคนในวงเพลงของพ่อไสวขาด   ตัวแสดงไม่พอเล่นจึงมีโอกาสได้ร่วมแสดงกับคณะเพลงอีแซวของพ่อ บางครั้งทำหน้าที่ตีรำมะนาและได้มาร่วมงานแสดงเพลงอีแซวกับคณะขวัญจิต  ศรีประจันต์ อยู่หลายปีจนในที่สุดตั้งคณะเพลงของตนเอง ในนามบุญโชค ชนะโชติ           

จากการศึกษาชีวิตประวัติความเป็นมาของคนเพลงในจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีชื่อเสียงส่วนหนึ่ง ทำให้ได้ทราบชีวิตความเป็นอยู่และภูมิหลังของนักเพลงเหล่านั้นรวมทั้งจุดเริ่มต้นของการฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน ที่พอจะสรุปได้  ดังนี้

          จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า นักเพลงบางคนหัดเพลงเพราะใจรัก บางคนหัดเพลงเพราะอยากมีรายได้  บางคนหัดเพลงเพราะเพื่อน ๆ ชักชวน และบางคนพ่อแม่ก็ไม่สนับสนุนให้หัดเพลงพื้นบ้าน แต่ก็ยังสามารถหัดจนได้และส่วนมากจะเริ่มหัดเพลงตั้งแต่วัยรุ่น อายุประมาณ 13-15 ปี ทำให้มีระยะเวลาในการแสดงเพลงอีแซวยาวนานมาจวบจนกระทั่งถึงในปัจจุบันนี้  

(ชำเลือง มณีวงษ์ : 2550.  พบกันตอนที่ 5  นักเพลงอีแซวรุ่นเยาวชน  ที่สืบสานอยู่ในโรงเรียน)

 

หมายเลขบันทึก: 130964เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2007 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

P

เรื่องเพลงอีแซวนี้ ดิฉันได้เคยฟังมา แต่ไม่มากนัก แต่ก็นิยมมากค่ะ เพราะเป็นสัญญลักษณ์ของไทยแท้ เลย นิยมไทยค่ะ

สวัสดีครับ

  •  ขอบคุณในความห่วงใยที่มีต่อศิลปะประจำท้องถิ่นซึ่งก็เป็นแขนงหนึ่งของวัฒนธรรมไทย
  • เพลงอีแซวเป็นเพลงเล่นสนุก จังหวะเร็ว ครับ
  • เดิมใช้การปรบมือเท่านั้น ต่อมามีนำเอาฉิ่งและกรับเข้ามาใช้ด้วย
  • สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ให้การสนับสนุนการแสดงประเภทนี้ ให้คงอยู่ยืนยาวต่อไป ครับ

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท