ใช้การ "จับภาพ" แทนการติดตามผลงาน KM
สอศ. ต้องการติดตามผลงาน KM แก้จน เอามาเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้บริหารสถาบัน (404 แห่ง) ดูเป็นตัวอย่างในการประชุมผู้บริหารสถาบันการศึกษาในสังกัด ดร. สุริยะผู้รับผิดชอบงาน KM แก้จนได้มาปรึกษา สคส. จึงแนะนำให้ใช้การ "จับภาพ KM" เป็นเครื่องมือ ซึ่งก็คือการเข้าไปดูการปฏิบัติจริงหรือเข้าไปพูดคุยกับ "คุณกิจ", "คุณอำนวย", และ "คุณเอื้อ" เพื่อประเมินว่ามีกิจกรรม KM จริงหรือไม่ ถ้ามี เป็นกิจกรรม KM ที่เข้มแข็งจริงจังเพียงใด สคส. มีทีมประสานงานและทีมประชาสัมพันธ์ที่มีทักษะในการทำงานนี้ได้ งานนี้เป็นการทำงานแบบมีค่าบริการ โดยคุณธวัชเป็นผู้ประสานงาน
เมื่อ "จับภาพ" พบ KM ดี ๆ ทีมงานก็จะเขียนข่าวไปลงหนังสือพิมพ์และนิตยสาร หรือถ้าดีเด่นก็อาจพาสื่อมวลชนลงเยี่ยมพื้นที่ ทำให้สื่อเอาไปเผยแพร่ตามมุมมองอิสระของผู้สื่อข่าว
เรามีวิธีการที่จะให้ภาพที่ได้ไม่เป็นภาพที่โรยหน้าด้วยผักชี และในขณะเดียวกันถ้า KM ดังกล่าวเป็น "ของจริง" กลุ่ม KM ที่ได้รับการ "จับภาพ" ก็จะเท่ากับได้ ลปรร. กับทีม "จับภาพ" เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน กิจกรรม "จับภาพ" จึงเป็นกระบวนการ KM ในตัวของมันเอง มีประโยชน์หลายชั้น
เมื่อทีมงานไปจับภาพกลับมาแล้ว จะเอามาเล่าสู่กันฟังครับ
ขอเปิดเผยเคล็ดลับว่า งานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 - 2 ธ.ค.48 ที่มีตัวอย่าง KM เด่นมาให้ ลปรร. กันนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลของการ "จับภาพ KM" ครับ
วิจารณ์ พานิช
18 ม.ค.49