ผมเพิ่งกลับจากเวทีเรียนรู้กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์บ้านหนองอ้อ จ.ราชบุรีในโครงการศึกษาสถานะการณ์ปัญหาและภาวะหนี้สินของชุมชนบ้านหนองอ้อเมื่อวาน(22ม.ค.) ภายใต้การสนับสนุนของสกว.ท้องถิ่น ที่จริงผมไปร่วมประชุมโครงการวิจัยระบบแลกเปลี่ยนชุมชนที่ชัยภูมิ19-21 ขากลับเลยถือโอกาสแวะฟังพระอาจารย์สุบิน ปณีโตซึ่งทีมวิจัยอาราธนามาพูดเรื่อง"พุทธธรรมนำชีวิต:เศรษฐศาสตร์แนวพุทธและความสำคัญของการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย"เสร็จสิ้นการประชุมมีการทำAARในกลุ่มผู้จัดเตรียมงานด้วย ผมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเขาด้วยในฐานะเพื่อนสนิทที่คุ้นเคยเพราะมาที่นี่เป็นครั้งที่4แล้ว เนื้อหาAARขอไม่เล่าครับ แต่จะเล่าความคิดปิ้งแว๊บที่มีมาก่อนและชัดเจนขึ้น หลังจากฟังพระอาจารย์และศิษย์(พี่จำรัส)นำเสนอชุดความคิดให้ที่ประชุมฟัง
พระอาจารย์สุบิน นำแนวคิดนี้มาจากครูชบอีกเช่นเคย แต่พัฒนาเชื่อมโยงกับหลักธรรมอย่างพิสดารโดยใช้ชื่อว่ากองทุนเมตตาธรรมนำสวัสดิการภาคประชาชน ทำบุญวันละ๑บาทจังหวัดตราด
รายละเอียดถอดโครงมาจากกองทุนสัจจะลดรายจ่ายวันละ๑บาททำสวัสดิการภาคประชาชนของครูชบซึ่งเล่าไว้ก่อนหน้านี้หลายครั้งแล้ว จึงไม่ขอเล่าในที่นี้ แต่จะเล่าความคิดเชื่อมต่อที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร คือ
แนวทางการสำรวจทุนชีวิตรายครัวเรือนที่ดำเนินการใน400หมู่บ้านๆละประมาณ100ครัวเรือนโดยทีมงานน้าประยงค์และคณะนั้น ถือเป็นข้อมูลพื้นฐานซึ่งเป็นชุดความรู้เรื่องทุนชีวิตของคนในหมู่บ้าน จะนำมาเป็นอุปกรณ์ในการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจจนเกิดความตระหนักนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น นี่เป็นประการแรกของกระบวนการเรียนรู้ด้วยการสร้างความรู้(วิจัยอย่างมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดคุณค่า/ความหมายของความยากจนและพอเพียงซึ่งเป็นเป้าหมาย กับทุนชีวิตซึ่งเป็นศักยภาพ/ความสามารถของแต่ละครัวเรือนในหมู่บ้าน)
หลังจากได้ความรู้นี้แล้วก็นำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้น(นำความรู้มาใช้โดยการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติกลับไปกลับมาอย่างมีเป้าหมาย : จัดการความรู้) เรื่องแรกที่กล่าวถึงนี้เป็นกรอบเรียนรู้หลักของโครงการนี้ ซึ่งพระอาจารย์สุบินและพี่จำรัสอธิบายได้ชัดเจนมากสรุปได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ซึ่งได้ผลลัทธ์เป็นความเข้าใจจนเกิดความตระหนักและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมกิจกรรมในทางที่ดีขึ้น ทำให้ช่วยลดปัญหาความยากจนได้
ประการที่2คือ การใส่กิจกรรมเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อเสริมทุนชีวิตที่ค่อนข้างอ่อนแอของชุมชน กิจกรรมแรกทำให้เกิดความตระหนักด้วยตนเอง จนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมจากภายใน กิจกรรมที่2ที่ผมคิดว่าจะช่วยได้มากคือ กิจกรรมกองทุนเมตตาธรรม ทำบุญวันละ๑บาทหรือกองทุนสัจจะลดรายจ่ายวันละ๑บาทนั่นเอง ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้แกนนำเกิดการเรียนรู้อย่างมีพลังเพื่อนำมาเป็นกิจกรรมขับเคลื่อนคนในชุมชน ซึ่งการจัดการเรียนรู้ของเครือข่ายกะหรอและกลุ่มการเงิน3ตำบลในนครศรีธรรมราชพอมีประสบการณ์ในเรื่องนี้อยู่บ้าง
อีกกิจกรรมหนึ่งที่ผมเฝ้าตามดูคือระบบแลกเปลี่ยนชุมชนซึ่งการไปชัยภูมิคราวนี้ ทำให้ได้เรียนรู้จากพระอาจารย์จุก วัดโนนตากลาง นครราชสีมาและกลุ่มต้นแบบอื่นๆซึ่งน่าสนใจมาก ผมคิดว่าตัวอย่างเหล่านี้ เป็นอุปกรณ์ในการจัดการเรียนรู้ที่ดีซึ่งพวกเรานักจัดการความรู้ควรมีไว้ในคลังความรู้ (เรื่องนี้จะมอบให้แหม่มเก็บรวบรวมไว้)เพื่อนำมาใช้ในสถานะการณ์ต่างๆ ผมคิดว่า 3 โครงสำคัญในการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร คือ 1)การเรียนรู้ทุนชีวิตจากบัญชีรับจ่ายครัวเรือน 2)กิจกรรมสัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาทและ3)ระบบแลกเปลี่ยนชุมชนจะเป็นกระบวนการเรียนรู้เบื้องต้น(ที่ผมคิดได้)ที่จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้(บ้าง) ซึ่งการทำงานเรื่องนี้ให้สำเร็จ ต้องหลวมรวมพลังความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆอย่างขนานใหญ่ (ต้องอาศัยความรู้และทักษะชุดใหญ่)ประการหลังสุดนี้อาจเป็นคอขวดสำคัญที่เราต้องฝ่าข้ามเป็นด่านแรก
ไม่มีความเห็น