ฉันท์ : คำประพันธ์ไทยที่ใกล้สาบสูญ


ขอเชิญชวนทุกท่านที่มีความสามารถเชิงประพันธ์ได้ช่วยกันแต่ง ฉันท์

ฉันท์ : คำประพันธ์ไทยที่ใกล้สาบสูญ

  

                 ในบรรดาคำประพันธ์ไทยที่ใช้แต่งบทร้อยกรอง เพื่อแสดงฝีมือเชิงประพันธ์ของกวีนั้น  ฉันท์   คือคำประพันธ์ที่ถือว่า  แต่งได้ยากที่สุด  เพราะเป็นคำประพันธ์ที่ไทยรับแบบอย่างมาจากอินเดีย  ซึ่งมีลักษณะบังคับไว้ตายตัว  ทั้งคำก็ต้องใช้คำบาลีและสันสกฤตเป็นหลัก  เนื่องจากอิทธิพลที่เรารับมาจากอินเดียนั่นเอง  การใช้คำไทยค่อนข้างจะมีปัญหาในการออกเสียงครุ-ลหุ   นอกจากนี้ จำนวนคำ  การใช้คำครุ -คำลหุ  และการสัมผัส ก็ถือเป็นเรื่องเคร่งครัด

  

                     เรารับแบบอย่างฉันท์มาจากอินเดียเมื่อไหร่ ไม่ปรากฏ  แต่พบหลักฐานว่า มีตำราฉันท์เก่าแก่ที่สุดคือ  จินดามณี ของพระโหราธิบดี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (อยุธยาตอนกลาง)  ซึ่งกล่าวถึงชื่อฉันท์ไว้ถึง ๒๕  ชนิด   แต่ก่อนหน้านี้ก็มีร่องรอยการแต่งฉันท์ในมหาชาติคำหลวงไว้แล้วในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  เพียงแต่ไม่เคร่งครัดนัก 

                       วรรณคดีเก่าๆ มีหลายเรื่องที่แต่งเป็นฉันท์  เรื่องแรกคือ เสือโคคำฉันท์ ของพระมหาราชครู (แต่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ)  ส่วนหนังสือคำฉันท์ที่ได้รับการยกย่องว่าไพเราะเป็นยอดแห่งคำฉันท์ (การตัดสินของวรรณคดีสโมสร  สมัยรัชกาลที่ ๖)  คือ  สมุทรโฆษคำฉันท์ ซึ่งแต่งนานถึง ๓ ช่วงตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  

 

                     วรรณคดีที่ใช้คำฉันท์แต่ง เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในยุคสมัยอยุธยาตอนกลาง แล้วค่อยๆ  เสื่อมความนิยม จนกระทั่งปัจจุบัน เราแทบไม่พบเห็นการแต่งวรรณคดี บทร้อยกรอง บทกวี โดยใช้คำฉันท์สักเท่าไหร่  เพราะคนที่จะแต่งได้ ต้องมีภูมิรู้ภาษาบาลี สันสกฤตดีมาก  และต้องรู้จักระเบียบการแต่งเป็นอย่างดี  ด้วยเหตุที่ ฉันท์  แต่งยาก และมักแต่งขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติหรือสรรเสริญพระเจ้าแผ่นดิน เพราะต้องใช้ภาษาที่ถือว่าชั้นสูง ไม่ได้สื่อสารกันในสามัญชนทั่วไป  จึงมีผู้คนหลีกเลี่ยงไปแต่งโดยใช้คำประพันธ์ที่ง่ายกว่า  เช่นกลอน หรือกาพย์  เป็นต้น

  

                    ปัจจุบัน เราไม่ค่อยพบเห็นวรรณกรรมคำฉันท์ตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว เพราะหาคนแต่งได้ยาก  ที่พบเห็นก็มักจะเป็นบทอาศิรวาทสั้นๆ ที่แต่งขึ้นเพื่อถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในโอกาสครบรอบวันพระราชสมภพบ้าง หรือในวโรกาสสำคัญๆ เช่นพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค 

  

                   แม้แต่ในการเรียนการสอนภาษาไทยของนักศึกษาวิชาเอกภาษาไทย เมื่อถึงรายวิชากวีนิพนธ์ หรือร้อยกรอง ทีไร เป็นต้องปวดเศียรเวียนเกล้าในการตรวจผลงานนักศึกษา เพราะไม่สามารถฝึกฝนให้มี ความสามารถถึงขั้นได้ เนื่องจากเวลาจำกัด  อีกทั้งไม่อยู่ในความสนใจ ไม่ค่อยเห็นประโยชน์การนำไปใช้   เมื่อเรียนผ่านไปนักศึกษาก็เลิกแต่ง  ครั้นจะหาตัวอย่างดีๆ ที่เผยแพร่ก็หาได้ยาก

  

              เช่นนี้แล้ว  ฉันท์   ก็คงจะเสื่อมสูญไปทีละน้อย  จนในที่สุดก็จะไม่ปรากฏฉันท์ในวงวรรณกรรมไทยอีกเลย  แม้แต่บทอาศิรวาท ในที่สุดก็คงจะเหลือ คำกลอน เท่านั้น

                 ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านที่มีความสามารถเชิงประพันธ์ ได้หันมาช่วยกันแต่งฉันท์ โดยเฉพาะในบทอาศิรวาทที่ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และบรมวงศานุวงศ์ เพื่อธำรงภูมิปัญญาแขนงนี้ไว้มิให้สูญหายไป

              ผมขอยกตัวอย่างบทอาศิรวาทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งแต่งโดยใช้ฉันท์ ๑๔  วสันตดิลกฉันท์  ดังนี้  

 

ฉันทลักษณ์ วสันตดิลกฉันท์ ๑๔


   ค ค ล ล ล                 ล ล ค ค 


 ค ค ล ล ล                   ล ล ค ค   

   ค ค ล ล ล                 ล ล ค ค 

ค ค ล ล ล                    ล ล ค ค

  ( หมายเหตุ     หมายถึงคำครุ  คือคำเสียงหนัก เป็นคำที่มีสระเสียงยาวและมีตัวสะกด

                    หมายถึง คำลหุ  คือคำเสียงเบา  เป็นคำที่มีสระเสียงสั้นและ  ก็   บ่   )

  ตัวอย่างบทอาศิรวาท  (๒ บท)   

 องค์ภูมิพลมหิศราช             วรปราชญ์สถิตไทย

ทรงพระเกษมสิริวิไล            วิริยาสง่าแคว้น 

 ทรงคุณพิพัฒน์อุตมชาติ       คุณราชไผทแดน

ร่มโพธิคุณพิพิธแสน             สุขเลิศประเสริฐธรรม  

 ความหมาย     

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช  ทรงเป็นราชาที่ยิ่งใหญ่   ทรงเป็นนักปราชญ์ผู้ประเสริฐยิ่ง ที่ดำรงอยู่ ณ แผ่นดินไทย   ด้วยพระเกษมสำราญ งดงาม ผ่องใส  ด้วยพระวิริยะ ที่เป็นสง่าแห่งแคว้น  พระองค์ทรงประกอบด้วยพระคุณที่ช่วยสร้างความเจริญ   อุดมสมบูรณ์ให้แก่ชาติบ้านเมือง  ด้วยร่มพระบารมีแห่งคุณความดีอันประเสริฐของพระองค์นี้ล้วนสร้างความสุขความเจริญให้แก่แผ่นดิน

   คำอ่าน    

 อง-พู-มิ-พน-มะ-หิ-สะ-ราด   วะ-ระ-ปราด-สะ-ถิด-ไท

ซง-พระ-กะ-เสม-สิ-หริ-วิ-ไล  วิ-ริ-ยา-สะ-หง่า-แคว้น  

ซง-คุน-พิ-พัด-อุ-ตะ-มะ-ชาด    คุ-นะ-ราด-ผะ-ไท-แดน

ร่ม-โพ-ทิ-คุน-พิ-พิด-ทะ-แสน สุ-ขะ-เลิด-ประ-เสริด-ทำ

  ลีลาของวสันตดิลกฉันท์    

          วสันตดิลก  คือเม็ดฝน  ลีลาของฉันท์ชนิดนี้มีลีลาสละสลวย เหมาะใช้พรรณนาสิ่งสวยงาม หรือความงามต่างๆ  อาจใช้ชม หรือสรรเสริญพระเกียรติคุณก็ได้  ฉันท์ชนิดนี้กวีมักแต่งเพื่ออวดฝีมือเชิงพรรณนากัน 

              ผมพรรณนาความมาตามลำดับจนถึงบัดนี้ ก็เพื่อแสดงว่า ความยากของฉันท์     ไม่ได้มีแต่เฉพาะการแต่งไปตามลักษณะบังคับ    ที่กำหนดในฉันทลักษณ์เท่านั้น  แต่ยังต้องรู้ลีลาฉันท์  ต้องเลือกคำต่างๆ โดยเฉพาะคำบาลี สันสกฤต เขมร และคำไทย ที่ตรงตามลักษณะของคำครุ และลหุ  และสัมผัส  อีกทั้งต้องคำนึงถึงความหมาย เพื่อให้ได้ใจความสมบูรณ์ด้วย

               ผมคิดว่า หากเราได้สนใจ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และธำรงรักษาด้วยการฝึกแต่งฝึกใช้ ก็เชื่อแน่ว่า  ฉันท์ไทยจะไม่สูญหายไปไหนแน่ ครับ                                                                                

หมายเลขบันทึก: 130385เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2007 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
โอ้แม่เจ้า แล้วอย่างนี้หนูจะมีปัญญาแต่งมั้ยนี่ เล่นบังคับคำกันขนาดนี้ - - " เหงื่อตกเลยค่ะ น่าจะเป็นอะไรที่แต่งไม่ได้แน่ๆ

สวัสดีค่ะ

 เข้ามาให้กำลังใจ กับการเผยแผ่ สิ่งที่เป็นของดีประจำชาติไทยเรา ช่วยกันปลุกจิตวิญญาณของชาติไทยขึ้นมากันเถอะค่ะ 

คุณP

          อย่าเพิ่งอุทานสิครับ  ค่อยๆ ตั้งสติ  แล้วลองสักบทหนึ่งนะครับ  ไม่ยากน่า  ถ้าฉันท์ชนิดยาก  ก็จะแนะนำฉันท์ง่ายกว่านี้มาให้ลองนะครับ 

คุณP

          ยังคอยให้กำลังใจผมอย่างนี้เสมอมา  ขอบคุณอย่างยิ่งครับคุณตันติราพันธ์  ช่วงนี้ผมก็อ่อนล้าจากงานมากขึ้นเพราะนักศึกษาใกล้สอบปลายภาค งานจึงรุมมามาก  อาจจะไม่ค่อยได้เขียนบันทึก  ก็ขอบคุณอีกครั้งที่คอยติดตามครับ จะพยายามเขียนทุกวัน ยกเว้นมันไม่ไหวก็อาจหยุดไปบ้างครับ

  • อาจารย์ค่ะมาชวนไปฟังเพลงเพราะๆคะ ที่บล็อกคุณLittle Jazz

คุณP ครับ

            ขอบคุณมากที่มาชวนฟังเพลงอสงไขย ผมไปฟังล้วครับ  เพราะมากๆ  เป็นเพลงที่ใช้ถ้อยคำเชิงบทกวี มีความหมายดี ลึกซึ้ง และคนร้องก็ร้องดีด้วย ผมฟังสองรอบยังไม่เบื่อเลยครับ ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากค่ะที่ลงความรู้ดี ๆ ควรศึกษาไว้ให้เรียนรู้

เรียน อาจารย์ กรเพชรฯ

ผมได้ประพันธ์ "กลาโหมคำฉันท์" ซึ่งมีการใช้ ฉันท์ทั้งหมด ๙๔ รูปแบบฉันท์

สามารถชมได้ที่ website กระทรวงกลาโหม หรือ www.mod.go.th ครับ

ชัยวิทย์

เมื่อไหร่หนูจะแต่งได้เหมือนอาจารย์สักทีค่ะ รู้สึกมันยากจังคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท