รักบ้านเกิด
กลุ่ม 4 รักบ้านเกิด ศูนย์เรียนรู้โชคชัย จ. นครราชสีมา รักบ้านเกิด อำเภอโชคชัย

การทอเสื่อกก


การทอเสื่อกก
    ในการ  ทอเสื่อ  เป็นไปเพื่อการใช้สอยในครัวเรือน บ้านใดไม่มีเสื่อใช้ถือว่า พ่อแม่ ลูก เกียจคร้านไม่มีฝีมือ  หนุ่มสาว ที่แต่งงานใหม่หรือขึ้นเรือนใหม่จะต้องมี ฟูก หมอน เสื่อที่ฝ่ายหญิงจัดเตรียมสะสมไว้เป็นของขึ้นเรือน ความจำเป็นดังกล่าวนี้  ทำให้มีการทอเสื่อไว้ใช้  หรือหาแลกเปลี่ยนสินค้าจากหมู่บ้านอื่นไว้ติดบ้านเรือน  เสื่อจึงมีความสำคัญในฐานะที่ทำให้ที่อยู่อาศัยน่าพักพิงทั้งในยามตื่นและยามหลับนอน   และยังใช้กำบังแดด  ลม  ฝน  ข้างฝาเรือนได้อีกด้วย  นอกจากนั้นกลุ่มอาชีพยังทอเสื่อเพื่อถวายเป็นไทยทานให้กับวัดเพื่อบำรุงศาสนา  ในฤดูเทศกาลต่างๆ  เช่น  บุญผ้าป่า  วันเข้าพรรษา  และบุญทอดกฐิน  เป็นต้น  และกลุ่มยังนำเสื่อทอนั้นไปแลกกับหมู่บ้านใกล้เคียง
    อาชีพเดิมของสมาชิกกลุ่มทอเสื่อคือ  ทำไร่และทำนา  และมีการทอเสื่อกันมาบ้างเล็กน้อยแต่พึ่งจะมีการรวมกลุ่มทำกันมาในปี   2544  ในการบริหารจัดการจึงยังไม่มีเป็นรูปร่างเท่าที่ควร  เงินทุนยังไม่มีมากเช่นกัน  คณะกรรมการบริหารงานจึงยังมีแค่ฝ่ายเดียว  คือ  ฝ่ายบริหารทำหน้าที่บริหารงานทั่วไป  เช่น  ในเรื่องการจัดการของกลุ่ม   การจัดการบัญชี  การจัดการประชุม  และเรื่องการจัดระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม
               กำนัน สวนหอม   ขาวกระโทก   มีภรรยาชื่อ นาง สายหยุด   ขาวกระโทก   ขณะนี้ปฏิบัติหน้าที่เป็นกำนัน ในตำบลกระโทก   บ้านอยู่ที่บ้านดอนใหญ่    187   หมู่  3  ตำบลกระโทก   อำเภอโชคชัย   จังหวัดนครราสีมา   ชื่อบ้านดอนและบ้านใหม่   เป็นหมู่บ้านที่นำด้านกลุ่มอาชีพ  ในระดับตำบล  เป็นหมู่บ้านที่มีความพร้อมทั้งในหมู่บ้าน  / ชุมชน / สถานที่ / สมาชิก  มีความพร้อมความร่วมมือกันดีเป็นหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งทั้งผู้นำหมู่บ้านและชุมชน
                    วัตถุดิบ
           กก  คือ  วัสดุที่นำมาทอเป็นผืนเสื่อ ชาวบ้านนิยมใช้กกกลมกกที่มีลำต้นกลมๆ  มีชื่อทางวิทยาศาสตร์  Cypress  tegetifenis  Rorb
       ฟืม  คือ  เครื่องสำหรับทอเสื่อ  มีลักษณะเป็นท่อนไม้ มีรูห่างกัน  1 นิ้ว  ทำด้วยไม้ไผ่  เป็นซี่ แล้วเจาะรูตรงกลางเรียงกันระหว่างซี่ไม่ไผ่แต่ละกัน
      เส้นเอ็น  ทำเป็นใยปอที่นำมาลอกและกางเป็นเส้นตากแดดให้แห้งแล้วนำมาปั่นเป็นเส้นใช้สอดรูฟืม
            ไม้พุ่งเสื่อ  ยาวประมาณ  150  เซนติเมตร   ทำจากไม้ไผ่เหล่าให้กลม   ส่วนปลายแหลมมีช่องสำหรับเสียบกก
             โฮง   คือ   โครงไม้เครื่องทอทำด้วยไม้แก่น   เนื้อแข็งเป็นรูปสีเหลียมผืนผ้า  กว้างประมาณ   2  เมตร  ยาวประมาณ  2.5  เมตร  ใช้สำหรับขึงเชือกไนลอนในการทอเสื่อ
             เทียนไข  คือ  เทียนไขที่เป็นแท่ง  นำมาถูกับเชือกไนลอนที่ขึงระหว่างการทอ  เพื่อช่วยในการกระทบฟืมมีความลื่นยิ่งขึ้น
            ม้ารองนั่ง   คือ  เป็นท่อนไม้ขนาดใหญ่  ที่วางขวางกับโฮงเพื่อเป็นที่รองนั่งสำหรับคนทอที่ทำการกระทบฟืม
                 ขั้นตอนการทอเสื่อกก
                 เลือกขนาดของฟืมให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ  นำฟืมไปตั้งในโฮงที่จะทอ  แล้วตั้งให้ได้ระดับ  ระยะห่างจากเหล็กตีนเสื่อประมาณ  2  ฟุต  นำเชือกไนลอนมาขึงจากริมฟืมซี่แรก  จะเริ่มจากด้านซ้ายหรือขวาก่อนก็ได้แล้วแต่ถนัด  การขึงเชือกให้คน  2  คน  คนหนึ่งนั่งอยู่ตรงหัวเสื่อ  คอยมัดเชือกที่ขึงให้ตึงและแน่น  อีกคนหนึ่งอยู่ที่ตีนเสื่อคอยสอดเชือกกับเหล็ก  ตีนเสื่อใช้เชือกสอดเข้าไปในรูฟืม  เจาะไว้เป็นสองแถวแล้วดึงปลายเชือกไปเกาะติดกับตะปูที่เราตอกงอไว้ติดกับไม้อีกท่อนหนึ่ง  แล้วยึดกันให้แน่น  เชือกดึงให้ยาวตามความยาวของเสื่อ  พรมน้ำใส่กกที่จะทอ  ในการทอเสื่อจะใช้คน  2  คน  คนแรกเป็นคนทอ  อีกคนหนึ่งเป็นคนคอยสอดเส้นกก  กกที่นำมาทอจะใส่ถุงพลาสติก  เพื่อให้กกนิ่มและทอได้แน่น  การทอคนทอจะต้องคว่ำฟืมเพื่อให้มีช่องว่างสำหรับสอดกกคนสอดจะสอดเส้นกกโดยแนบส่วนหัวของเส้นกกกับไม้สอดสอดเข้าไปตามช่องระหว่างเชือกที่แยกออกจากกัน  ขณะที่ค่ำฟืมพอสอดไปสุดริม  เชือกอีกข้างดึงให้สอดกลับคืน  คงเหลือแต่เส้นกก  คนทอก็จะกระทบฟืมเขาหาตัวแล้วคนทอกหงายฟืม  คนสอดกใส่ส่วนปลายของเส้นกกแนบกับไม้สอดสอดกกเข้าไปอีก  คนทอก็กระตุกฟืมเข้าหาตัว  แล้วไพริม  เสื่อทางด้านซ้ายมือ  การไพริม  เสื่อคือการใช้ปลายกกม้วนงอลงแล้วสอดพับเชือกขัดไว้ให้แน่น  ต่อไปคว่ำฟืมไพริมเสื่อทางด้านขวามือทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้ขนาดตามที่ต้องการ  ในขณะทอหากต้องการให้การทอง่ายยิ่งขึ้น  ให้ใช้เทียนไขถูกับเส้นเอ็นที่ขึงไว้ให้ทั่วเพื่อที่จะให้เอ็นลื่นไม่ฝืด  ตัดริมเสื่อทั้งสองด้านให้เรียบร้อยเสื่อจะมีความสวยงามยิ่งขึ้น  ใช้มีดตัดเส้นเอ็นทางตีนเสื่อเพื่อให้เสื่อออกจากโฮง  มัดเอ็นที่ปลายเสื่อ เพื่อเป็นการป้องกันเสื่อลุ่ย  นำเสื่อที่ทอเสร็จแล้วผึ่งแดดให้แห้งสนิท  จึงพับเก็บไว้จำหน่ายหรือแปรรูปต่อไป
                         ระยะเวลาในการทำ  60  ผืน/ เดือน
                          เสร็จแล้วนำเสื่อมาขัดด้วยหินเพื่อให้เกิดความนุ่ม  โดยใช้ลูกหินลื่นๆหล่อปูนจับให้มีด้านมือถือใช้สำหรับขัดมัน  ใส่ไปใส่มาตามเส้นกกของผืนเสื่อประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงถูเหมือนกันทั้งสองด้าน  เสร็จแล้วใช้เต่าฟูพ่นขนออกให้หมด
                          ต่อผืนมีขนาดกกว้าง   100  เซนติเมตร  ยาว  200  เซนติเมตร   ขายเป็นผืนขายส่งผืนละ  60  บาท  ขายปลีกผืนละ  80  บาท
                           การผลิตเสื่อของกลุ่มในป้จจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างชัดเจน กระบวนการผลิตเริ่มต้นจากการปลูกไหล  (กกกลม)  การจักกกการตากแดด  การย้อมสี  การทอ  และการแปรรูปเสื่อทอให้เป็นผลิตภัณฑ์จากเสื่อทอหลายๆอย่าง  เช่น  เสื่อพับ  ชุดรองจาน  ชุดรองแก้ว  ฯลฯ  ผู้ผลิตได้ใช้ความประณีตของฝีมือ  เทคโนโลยีสีสัน  ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์   ระดับราคาและศักยภาพการผลิตให้เพียงพอ  เพื่อสามารถตอบสนองปริมาตรการสั่งซื้อของตลาด 
ที่ต้องการได้  ผลจากการจำหน่ายเสื่อทอจึ่งมีชื่อเสียงในการผลิตเสื่อทอว่าเป็นเสื่อทอที่มีคุณภาพที่ดีและมีคุณค่า
ที่มา : สวนหอม     ขาวกระโทก  .กำนัน  (2550,12 สิงหาคม ).อุมาพร  พึ่งกระโทก  .สัมภาษณ์
คำสำคัญ (Tags): #การทอเสื่อกก
หมายเลขบันทึก: 129900เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2007 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ สมาชิกกลุ่มรักบ้านเกิดทุกท่าน

  • หากมีรูปภาพใส่ฟล์อัลบั้ม หรือจัดลงบันทึกประกอบการบรรยายด้วยจะดีมากเลยครับ

จากคน เกิดรักบ้าน เรา..อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท