เรื่องสั้นอันเป็นที่รัก : บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ (อัศศิริ ธรรมโชติ)


เขียนเรื่องสั้น เขียนให้ดี เขียนอย่างไร?

เขียนเรื่องสั้น  เขียนให้ดี เขียนอย่างไร ?

        นี่เป็นคำถามยอดนิยมของนักศึกษา เมื่อเริ่มเรียนเขียนสร้างสรรค์     ตกหนักที่ผู้สอนต้องขบคิดว่า เอ!  สอนทฤษฎีหลักการแล้ว คงไม่เพียงพอที่นักศึกษาจะเข้าถึงแก่นของ เรื่องสั้นได้  ถ้าเช่นนั้น การได้ดู ได้อ่านศึกษาวิเคราะห์จากเรื่องสั้นที่ดีๆ เป็นตัวอย่างก็จะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจและเข้าถึง  เรื่องสั้นที่ดี ได้อย่างแน่นอน

        ผมจึงค้นหาเรื่องสั้นดีๆ ที่เป็นที่ยอมรับในวงการนักเขียนหลายเรื่อง ก็ไปพบหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มหนึ่งเข้า นั่นคือ หนังสือรวมเรื่องสั้น  "อันเป็นที่รัก"  ซึ่งคุณโกศล อนุสิม แห่งสำนักพิมพ์ คณาธร ได้ ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕   โดยมีจุดมุ่งหมายว่า

        "อันเป็นที่รัก"   คือรวมเรื่องสั้น "ที่รัก"  ของนักเขียน ซึ่งนักเขียนแต่ละท่านได้คัดเลือกเรื่องสั้นที่ตนเองรักที่สุด หรือชอบที่สุด หรือพอใจที่สุด ขึ้นมาเรื่องหนึ่ง  จุดประสงค์ก็คืออยากจะให้ผู้อ่านได้ฟังนักเขียน "พูด" ถึงงานตัวเองบ้าง หลังจากที่ได้อ่านและฟังคนอื่นๆ (เช่นนักวิจารณ์) พูดถึงงานของนักเขียนมาแล้ว"  (หน้า ๘)        

       บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ  

                  เรื่องสั้นอันเป็นที่รักของนักเขียนที่ได้รับการวิจารณ์และยกย่องเรื่องหนึ่งในวงการเรื่องสั้น ก็คือ  "บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ"  ของ  คุณอัศศิริ  ธรรมโชติ 

                 "อาจารย์อัศศิริ  ธรรมโชติ  ท่านเป็นนักเขียนที่มีความสามารถเชิงวรรณศิลป์อย่างสูง  มีศักยภาพในการใช้ภาษา  มีลีลาในเชิงพรรณนาเรื่องสั้นราวกับบทกวี  เป็นนักเขียนที่ใช้ประสบการณ์จริงมาเป็นวัตถุดิบในงานเขียน  เป็นคนมีจิตใจอ่อนโยน  สะท้อนออกมาทางงานเขียนด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์   เสนอคุณงามความดีของสรรพชีวิต   ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ  สาขาวรรณศิลป์  ประจำปี  ๒๕๔๓"                                   (ปั้นนักคิดให้เป็นนักเขียน ๒๕๕๐ : ๑๒) 

                   "บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ"  คือ เรื่องสั้นอันเป็นที่รักที่สุดของคุณอัศศิริ  ธรรมโชติ ที่นำมาตีพิมพ์ในหนังสือดังกล่าว  ท่านได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

                  "ผมขอให้เอาเรื่องสั้นชื่อ "บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ" รวมอยู่ในชุด "ขุนทองฯ"  ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวด้วยกาลเวลา  สถานการณ์  และผมก็ชอบ   เขียนในช่วงเวลานั้นสะใจดี   ผมเห็นว่า  ความดี-เลวของมนุษย์ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและสภาพแวดล้อมที่ชักจูงเป็นสำคัญ ถึงโลกจะก้าวหน้าไปเช่นไร ธรรมชาติของมนุษย์เช่นนี้ก็จะยังคงอยู่"  (หน้า๑๐๐) 

                 เรื่องสั้นเรื่องนี้ ถูกจัดประเภทอยู่ในเรื่องสั้น เน้นฉากและบรรยากาศ  คืออ่านแล้วทำให้มองเห็นภาพเหตุการณ์ ได้รับรสความรู้สึก นึกคิดของตัวละครที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์  จุดเด่นอยู่ที่การใช้ภาษาพรรณนาให้เห็นภาพและได้รับรสความรู้สึกที่ชัดเจน

               ผมขอนำเอาบางตอนมาเสนอไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านและสนใจที่จะเขียนเรื่องสั้นในแนวนี้  โดยแทบจะไม่มีบทสนทนาของตัวละครเลย 

               เรื่องสั้น บนท้องน้ำเมื่อยามค่ำ  เปิดเรื่องว่า

"เขาพายเรือเพรียวบางและว่างเปล่า ทวนกระแสน้ำกลับบ้านอย่างไม่เร่งร้อนนัก  แม้ดวงตะวันจะคล้อยลับแนวไม้เหนือพุ่มพฤกษ์ริมฝั่ง  บอกสัญญานใกล้จะค่ำในอีกไม่ช้านานนี้  เขาก็คงพาเรือแล่นบนผิวน้ำไปเรื่อยๆ  แล่นตามแรงพายที่อ่อนล้า  ช้าเนิบ...เขารู้สึกเหนื่อยหน่ายแม้ใจอยากไปให้ถึงบ้านก่อนค่ำก็ตามที"

              อัศศิริ เปิดเรื่องตรงกับชื่อเรื่อง  ซึ่งเหตุการณ์ต่อไป ก็จะใช้วิธีการค่อยๆ บอดรายละเอียดของตัวละครเอกผ่านการพรรณนาไปเรือยๆ  ทำให้ทราบว่า "เขา" ที่พายเรือนั้นคือคนขายแตงโมซึ่งมีรายได้น้อยนิดจากการขายเหมาแตงโมที่ตลาด เขาไม่มีเงินเก็บพอที่จะซื้อเสื้อมาฝากเมีย ของเล่นสำหรับลูกสาว   เรื่องดำเนินไปโดยคำพรรณนาของผู้เขียนซึ่งปูเรื่องไปจนถึงปมปัญหาของเรื่อง นั่นคือ การพบตุ๊กตายางสำหรับเด็กลอยน้ำมา ทำให้เขาดีใจ ที่จะได้นำไปให้ลูกสาว  อัศศิริ พรรณนาไว้ว่า

            "ตุ๊กตายางใหม่เอี่ยมตัวนี้ไหลมากับลำคลองสายนี้และไม่มีใครเป็นเจ้าของเกินกว่าที่เขาจะใส่ใจ และคิดไปให้ยาก ลำบาก  ลำน้ำสายนี้ได้เดินทางมาไกล ผ่านตำบล  หมู่บ้านและเมืองต่างๆ มามาก กว่าจะมาถึงที่นี่  เป็นโชคดีของลูกที่ตุ๊กตาตัวนี้สู้อุตส่าห์แอบซ่อนมากับกอสวะ รอดพ้นสายตาเรือพายและบันไดท่าน้ำของผู้คนมาได้  แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหวนนึกถึงเด็กผู้เป็นเจ้าของตุ๊กตาที่แท้จริง  เขาวาดภาพเห็นเด็กน้อยยืนร้องไห้เมื่อทำตุ๊กตาที่แสนรักหล่นลงในน้ำ คงคล้ายๆ กับลูกสาวของเขาทำแตงโมสักชิ้นหล่นลงเปื้อนฝุ่นดิน และไม่รู้จะทำอย่างไร  เขารู้สึกเสียดายแทนเด็กน้อยผู้เป็นเจ้าของตุ๊กตาบ้างเหมือนกัน"  (หน้า ๙๕) 

             เรื่องดำเนินไป ทำให้เราทราบว่า พ่อค้าแตงโมคงจะนำตุ๊กตายางกลับไปให้ลูกสาว แต่จริงๆ เรื่องเพิ่งจะเริ่มต้น  อัศศิริ พรรณนาบรรยากาศบนท้องน้ำเมื่อยามค่ำคืนไว้น่าวังเวงมาก

           "เขายังเลาะริมฝั่งคลองไปเรื่อยๆ จนสุมทุมพุ่มไม้ถูกกลืนอยู่ใต้เงาของกลางคืนจนหมดสิ้น  บางครั้งนกกลางคืนตกใจส่งเสียงร้องบาดหู กระพือปีกสีดำแล่นถลาออกจากพงหญ้าที่ซุกซ่อน แล้วบินข้ามหัวลับหายไปยังฝั่งคลองตรงกันข้าม  ฝูงหิ่งห้อยวะวับแวมแตกกระจายปลิวไปคล้ายประกายไฟตกลงเบื้องหลังพงอ้อกอแขม และเสียงหึ่งๆ ของแมลงหลากหลายที่เรือพายเข้าใกล้ฟังคล้ายคนครวญครางน่ารำคาญอยู่ใกล้หู  หลายครั้งที่ความเปล่าเปลี่ยวแล่นจับหัวใจเขาฉับพลัน" (หน้า ๙๖)

          แล้วเขาก็ได้พบศพเด็กลอยน้ำ!!  เป็นปมผูกแน่นขึ้นไปอีก

          " ...แน่ะ...ศพมันอยู่ตรงนั้นเอง  เจ้าของกลิ่นมหาวายร้ายลอยเท้งเต้งติดสวะอยู่ใต้เงาของไทรใหญ่ต้นนั้น         ปรายสายตาเพียงแวบเดียว  เขาก็คิดจะเหเรือออกมาห่างอยู่หรอก  เพราะกลิ่นนั้นได้ส่งตลบทั่วบริเวณ  แต่แล้วก็มีอันให้ชะงักงัน เบิกดวงตาค้างนิ่งอยู่กับซากที่ลอยหมกอยู่กับกองสวะอย่างไม่อยากเชื่อ   คน ! ....ศพคน ! ....เขาอุทานในใจด้วยความตกใจสุดขีด" (หน้า ๙๖)

        ปมที่ผูกไว้ยังไม่พอ อัศศิริ เพิ่มปมให้แน่นขึ้นโดยให้ผู้อ่านพบความตื่นเต้นต่อ

          "เขาเบือนหน้าหลบไปแล้ว เหลือบกลับมามองอีกก็โดยไม่ตั้งใจนัก  อย่างฉับพลัน  ดวงตาเขากลับเบิกกว้างขึ้นยิ่งกว่าเก่า  ที่ข้อมือบวมฉุของเด็กน้อยนั้นผูกโดยรอบด้วยเส้นสายเล็กๆ  แสงเดือนอันค่อนสว่างทำให้เลือดในกายเขาฉีดแรง  หัวใจพองโตไหวหวั่นจนทำอะไรไม่ถูก  ทองคำ !  เขาร่ำร้องในใจ และใช้พายเขี่ยศพเข้ามาใกล้ขึ้นอีก"  (หน้า ๙๗)

         พ่อค้าแตงโมเกิดความอยากได้สร้อยข้อมือนั้นเพื่อจะได้ไปแลกเป็นเงินมาซื้อของให้ลูกให้เมีย เขาคิดว่าเป็นของที่เขาควรได้เพราะเขาพบศพเป็นคนแรก ไม่มีใครรู้เห็น สร้อยนั้นมีความหมายสำหรับชีวิตจนๆ อย่างเขา  เขาจึงตัดสินใจ

        " จึงกลั้นลมหายใจใช้มีดบางสำหรับเจาะแตงนั้น กรีดไปตามข้อและนิ้วมือของศพที่ฉุบวมจนจวนจะกลบสายสร้อยเส้นนั้นให้จมหายไปกับก้อนเนื้อ  เนื้อยุ่ยๆ ค่อนข้างเละได้หลุดออกจากกันจนเละเห็นกระดูก ส่งกลินเหม็นกระจายฟุ้ง จนเขาต้องสำลักออกมา  และกว่าจะรูดสร้อยเส้นเล็กและเบาบางให้มาอยู่ในมือของเขาได้ เขาถึงกับรากแตก กลิ่นเหม็นของศพดูจะติดมือ ติดมีด และติดอยู่ตามทั่วกายของเขา    เขาโก่งคออาเจียนแล้วล้างมือไปด้วย  ทุกอย่างไหลไปตามน้ำกับชิ้นเนื้อข้อมือของเด็กน้อย  ลอยลับเรื่อยๆ เอื่อยไปตามแรงของลำน้ำ"  (หน้า ๙๘)

          พ่อค้าแตงโมเหวี่ยงตุ๊กตาที่เก็บมาทิ้งไปเพราะน่าจะเป็นของเด็กน้อยผู้นี้  อัศศิริ  ปิดเรื่องหลังจากถึงจุดไคลแมกซ์คือการนำสร้อยทองออกจากข้อมือศพเด็กแล้ว  ว่า...

       "เขาไม่มีเวลาจะคิดว่าศพของเด็กน้อยผู้นี้ลอยมาจากไหนแน่  จะมีใครเป็นพ่อแม่จะมีโอกาสรู้หรือเปล่า?  ภายในใจส่วนลึกเขาเพียงแต่รู้สึกสลดและเสียใจให้กับโชคชะตาของมนุษย์บ้างเล็กน้อยเท่านั้น 

         ต่อจากนั้น เขาก็เร่งพายจ้ำถี่กระทบน้ำดังสะท้านไปภายใต้แสงดาวยามค่ำอย่างเริงใจ" (หน้า ๙๙)

            นี่เป็นเรื่องสั้นที่พรรณนาเรื่องตรึงผู้อ่านให้อยู่กับเหตุการณ์สั้นๆ เพียงเหตุการณ์เดียว  ทำให้ผู้อ่านพลอยขนลุกและตื่นเต้นไปกับตัวละคร  และอาจมีความรู้สึกร่วมไปกับการกระทำของตัวละคร อาจมีข้อขัดแย้งในใจ อาจเห็นใจเขา  แต่ก็อาจเห็นใจพ่อแม่ของเด็กน้อย  แต่บางคนอาจแย้งว่า แล้วจะให้เขาทำอย่างไร  บอกตำรวจ หรือจะตามใครมาช่วย หรือปล่อยไปตามกระแสน้ำ ...ฯลฯ  ช่างน่าคิด น่าติดตามไปทั้งสิ้น

             เรื่องสั้นอย่างนี้แหละครับ  คือเรื่องสั้นที่เราน่าจะนำมาวิเคราะห์ ดูเป็นตัวอย่าง  ทั้งการวางโครงเรื่อง  การดำเนินเรื่อง การใช้ภาษาพรรณนาให้เกิดภาพและอรรถรส  

            ผมจึงคิดว่า เราได้ประโยชน์จากการอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้มาก ทั้งในแง่การนำมาเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างเพื่อนำไปสร้างสรรค์เรื่องสั้นของตน และได้ทั้งแง่คิดในเรื่องของชีวิต ครับ  

หมายเลขบันทึก: 129597เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2007 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • แวะมาเข้าห้องเรียนวิชา การเขียนคะ
  • ว้าว...อึ้งและทึ่งคะ...นี่สิคะฝีมือ
  • การวางโครงเรื่องสำคัญมากใช่ไหมคะ
  • เรื่องสั้นดังๆมักจบแบบเฉือนหัวใจคนอ่าน
  • เมื่อก่อนชอบอ่านเรื่องสั้นคะ...
  • แต่ด้วยความเป็นเด็กแนว..เลยชอบของ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มากคะ..สะสมไว้หลายเล่มคะ...
  • อ่านบันทึกของอาจารย์แล้วต้องรีบกลับบ้านไปอ่านเรื่องสั้นที่ถูกทิ้งไว้นาน
  • ช่วงนี้ถูกบังคับให้อ่านแต่ตำรา..มึนคะ
  • รักษาสุขภาพด้วยนะคะอาจารย์

คุณP

         ขอบคุณครับที่แวะมา  อ่านเรื่องสั้นชั้นครูแล้วก็ได้อรรถรสครับ  มีความสุขที่ได้อ่าน  ความจริงเรื่องสั้นสมัยใหม่ในปัจจุบันก็มีฝีมือไม่น้อยเหมือนกันนะครับ  แต่เผอิญเราติดใจเรื่องสั้นของยอดฝีมือในยุคนั้น ก็เลยประทับใจเอามาเล่าสู่กันฟัง

         หากจะช่วยจุดประกายให้เรากลับไปค้นหามาอ่านบ้างก็ดีครับ เป็นความสุขที่ได้หวนกลับไปอ่านหนังสือเล่มโปรดที่สะสมไว้ ผมคิดว่า หนังสือคงดีใจที่เรายังไม่ลืมมัน

        ขอบคุณมากครับสำหรับความห่วงใยของคุณ naree

เรื่องสั้นยากนักแม้เพียงนึก ดึงเอาจินตนาการที่หลบซ่อน สรรสร้างคำที่สร้างสรรค์ด้วยถ้อยคำ สำนวน เป็นเรื่องสั้นชั้นยอด

บางครั้งที่จิตสั่งให้คิดสิ่งที่แปลกใหม่ แต่กลับต้องถอยห่าง เมื่อสิ่งที่จะเขียนมันคือภาพสะท้อนที่เลวร้ายของสังคม ที่ควบคุมความคิดอยู่เสมอ

 แต่ในวันนี้เมื่อตอนเรียนวิชาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ จากอาจารย์ ตัวอย่างที่อาจารย์หยิบยกขึ้นมา ทำให้กระจ่างแก่ใจ ว่าเรื่องสั้นสร้างสรรค์แบบที่เคยหวั่นกลัวว่าไม่ควรเขียน สามารถเรียบเรียงเป็นเรื่องสั้น

 

ขอบคุณค่ะท่านอาจารย์ ที่กรุณา มอบแต่สิ่งที่ดีให้แก่ศิษย์ แม้หลายครั้งที่ศิษย์เขลาเกินที่จะเข้าใจ แต่ด้วยความรัก ความเอ็นดู ของอาจารย์ศิษย์จึงสามารถแต่งเรื่องสั้นได้ และจะพัฒนายิ่งขึ้น

 

หากสิ้นกาลแห่งการท่องหนังสือ จะฝึกปรือฝีมืออีกครั้ง หวังว่าครั้งหน้าฟ้าใหม่อาจารย์จะให้คำปรึกษาเช่นเคยนะคะ

 

 สุนิษา สุรินทร์แก้ว

สวัสดีจ้ะP

         อาจารย์คิดว่าหนูมีพรสวรรค์ในการเขียน การใช้ถ้อยคำภาษา  แต่ว่ายังขาดประสบการณ์และการคิดในมุมมองใหม่ๆ  ต้องสลัดกรอบหรือภาพเดิม ปล่อยจินตนาการให้เต็มที่  บางทีการคิดอะไรแผลงๆ บ้าๆ บ้าง ก็น่าจะแหวกกรอบออกมาได้  แล้วนำมาขัดเกลาให้เข้ากับลักษณะความคิดสร้างสรรค์ ก็จะได้แนวคิดดีๆ  เรื่องดีๆ ขึ้นมาได้  เช่น คิดจินตนาการว่ากรุงเทพฯ  อีก 200 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท