บทเรียนจาก PAR


"องค์ความรู้" ที่เกิดขึ้นจากการสรุปผลงานวิจัย...เป็นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีเหตุมีผล
    เมื่อวันที่  4-6  กันยายน  2550  ได้เข้าร่วมการนำเสนอผลงานวิจัยชุมชน ที่เป็นอีกโครงการหนึ่งของกรมส่งเสริมการเกษตรในการเป็นคณะทำงานและรับผิดชอบพื้นที่ จำนวน 1 จังหวัด โดยทุกคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมนั้นจะมีการจัดสรรงานกันในลักษณะของ "ทีมงาน" ที่ประกอบด้วย  ส่วนกลาง  สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต  สำนักงานเกษตรจังหวัด  และสำนักงานเกษตรอำเภอ  มีเจ้าหน้าที่ ประมาณ 5-7 คนต่อทีม  ที่มาจาก 7 จังหวัด หรือ 7 กรณีศึกษา ในเนื้อหาสาระเรื่อง  วิสาหกิจชุมชน ที่นำมาใช้เป็นประเด็นในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีกลุ่มบุคคลเป้าหมาย ประมาณ 50-60 คน โดยใช้สถานที่ของโรงแรมเอเซียแอร์พอร์ต  รังสิต  จังหวัดปทุมธานี
     ซึ่งการพบกันในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ก็คือ
      1.  เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยชุมชนของแต่ละกรณีศึกษา  จำนวน  7  กรณี  ที่แต่ละทีมงานได้ร่วมกันปฏิบัติผ่านมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง เดือนกันยายน 2550
      2.  เพื่อประมวลผลและสรุปผลงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
      3.  เพื่อเสริมหนุนความรู้ให้กับทีมงานเรื่อง  การเขียนรายงานการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
      สิ่งที่เกิดขึ้นได้มีการจัดกระบวนการ คือ
      ขั้นที่ 1  ชี้แจงความเป็นมา  วัตถุประสงค์  และผลที่คาดหวัง จากการดำเนินงานในครั้งนี้มีอะไรบ้าง?
      ขั้นที่ 2  นำเสนอผลงานวิจัยชุมชน จำนวน 7 กรณีศึกษา
      ขั้นที่ 3  ซักถามข้องสงสัย  ให้ข้อเสนอแนะ  และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน คือ  ที่ปรึกษา  ผู้นำเสนอผลงาน  และผู้รับฟัง
      ขั้นที่ 4  ประมวลผลข้อมูลและเนื้อหาสาระที่เกิดขึ้นจากการค้นหาคำตอบจากการทำวิจัยชุมชนร่วมกันเป็นรายกลุ่ม
      ขั้นที่ 5  ให้คำปรึกษากับแต่ละทีมวิจัยและปรับแก้ยกร่างผลงานวิจัย
      ขั้นที่ 6  ประเมินผลงานและคัดเลือกผลงานวิจัยเพื่อนำเสนอในงานตลาดนัการจัดการความรู้ ของกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2550
      ผลที่เกิดขึ้นก็คือ
      1.  เจ้าหน้าที่ได้ฝึกทักษะการนำเสนอผลงานวิชาการ ที่เป็นสถานการณืและเวทีจริง โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา และมีผู้ฟังที่หลากหลายประสบการณ์
      2.  รูปแบบและวิธีการสื่อสารที่แต่ละทีมงานนำมาใช้ในการ "นำเสนอผลงานวิชาการ" นั้นมี 3 รูปแบบ คือ  ใช้สื่อเดี่ยว  ใช้สื่อประสม  และใช้สื่อหลักและสื่อเสริม  ซึ่งสื่อแต่ละตัวจะมีการเสริมหนุนและเป็นเครื่องมือช่วยในการสื่อสารกับผู้ฟังได้เป็นอย่างดี
      3.  "กรอบคิดของเจ้าหน้าที่" ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในเชิงเหตุผลนั้น มาจากการเรียนรู้จากการใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
      4.  เกิดประเด็นในการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรของเจ้าหน้าที่ และประเด็นการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรอีกหลายเรื่อง และเป็นประเด็นที่มาจากความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง  เพราะเจ้าหน้าที่ใช้ "วิธีการวิจัย" ในการค้นหาความต้องการของเกษตรกร จึงทำให้มีเหตุมีผล และมีที่มาที่ไปชัดเจนเป็นรูปธรรม
     5.  เกิด "ทีมงาน"  ที่ใช้วิธีการสร้างจากการทำงานวิจัยร่วมกัน โดยแต่ละคนจะมีความรู้ความสามารถที่ต่างกันแล้วนำมาแลกเปลี่ยนและช่วยเหลือระหว่างกันเพื่อทำงานให้บรรลุผล
 ส่วนข้อคิดที่เกิดขึ้นจากการทำงานก็คือ
      1.  การจัดองค์ประกอบของทีมงาน จะต้องมีความรู้ความสามารถทางด้านเนื้อหา  ด้านการทำวิจัยชุมชน  ด้านกระบวนการ  และด้านการประเมินผล  เพื่อนำมาใช้เป็นฐานในการทำงาน
ที่จะทำให้งานสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
      2.  วิธีการพัฒนาเจ้าหน้าที่โดยใช้เหตุการณ์และสถานการณ์จริงในการเรียนรู้และการสอนงานนั้น จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดได้ โดยจัดการเรียนรู้ให้มีความต่อเนื่อง
ประมาณ 5 - 7 ครั้ง
      3.  การสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ สามารถนำมาตรฐานงานมากำหนดเป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ ภายใต้ปัจจัยเสริมหนุนและสร้างโอกาสให้กับเจ้าหน้าที่ได้พัฒนาตนเองตามเนื้องาน
ภายใต้บริบทของตนเองได้
      4.  งานส่งเสริมการเกษตร สามารถสร้างงานและสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องจากการใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หรือ PAR
      ดังนั้น นวัตกรรมการเรียนรู้และนวัตกรรมในงานส่งเสริมการเกษตร เกิดความแข็งแรงได้จากการใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หรือ PAR มาใช้ทำงานร่วมกับชุมชนภายใต้บทบาทของเจ้าหน้าที่คือ การเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้  และการเป็นทยากรกระบวนการ.
คำสำคัญ (Tags): #วิจัยชุมชน#par
หมายเลขบันทึก: 128304เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2007 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท