“ พระวิบูลย์เมธาจารย์…ปรมาจารย์ผู้สร้างบัณฑิตสงฆ์เมืองสุพรรณ ”(ตอนที่ 2)


 

“ พระวิบูลย์เมธาจารย์…ปรมาจารย์ผู้สร้างบัณฑิตสงฆ์เมืองสุพรรณ ”(ตอนที่ 2)

      ในบันทึกที่แล้วผมได้นำผลงานที่น่าสนใจของ พระวิบูลย์เมธาจารย์ ซึ่งท่านเขียนถึงพระภิกษุที่น่ายกย่อง 3 รูป ในอดีต ของอำเภอสองพี่น้อง เสนอสู่ท่านผู้อ่าน ฉบับนี้ผมจะได้นำประวัติของท่านมาเสนอต่อไป เชิญติดตามนะครับ


      พระวิบูลย์เมธาจารย์ เป็นชาวอำเภอสองพี่น้อง มีนามเดิมว่า “ เก็บ “ นามสกุล “ พุฒิเจริญ “ บิดาของท่านชื่อว่า “ รัด “ ท่านเกิดเมื่อ วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2457 ตรงกับปีขาล  ที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีศักดิ์เป็น “ หลานอา “ ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังราชองค์ที่ 17 หรือสมเด็จป๋าของชาวสุพรรณบุรี และมีศักดิ์เป็น “ หลานปู่ “ ของพระมงคลเทพมุนี หรือหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านอุปสมบทเมื่อ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ณ วัดสองพี่น้อง โดยมีพระครูอุภัยภาดารักษ์ เป็นพระอุปปัชฌาย์ พระอาจารย์หอมเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ล้วน(เจ้าอาวาสวัดละครทำ กรุงเทพฯ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า " ภทฺทิโย "

      เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาอยู่ในสำนักวัดสองพี่น้อง 1 พรรษา แล้วย้ายเข้าไปศึกษาบาลีที่วัดพระเชตุพนฯกับสมเด็จป๋า สมัยที่ยังเป็นมหาปุ่น ป.ธ.6 พอท่านได้เปรียญ 4 ประโยคแล้ว สมเด็จป๋าก็ส่งให้กลับมาเปิดสำนักเรียนบาลีที่วัดสองพี่น้อง เมื่อ พ.ศ.2483 วัดสองพี่น้อง จึงเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุพรรณบุรีสำนักหนึ่งตั้งแต่นั้นมา  ท่านลงชื่อสอบบาลีได้ในสำนักเรียนวัดพระเชตุพนฯ ตั้งแต่ประโยค 3-6 และมาลงชื่อสอบในสำนักเรียนบาลีวัดสองพี่น้อง ปี พ.ศ.2492 เมื่อสอบได้เป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค ต่อมาในปี พ.ศ.2494 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ได้เดินทางไปจำพรรษาที่วัดปราสาททอง เป็นเวลา 2 พรรษา เพื่อสนองงานเป็นศึกษาจังหวัดตามระบบการปกครองคณะสงฆ์ ในสมัยดั้งเดิม และได้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “ พระวิบูลย์เมธาจารย์ “เมื่อปี พ.ศ.2495 หลังจากนั้นท่านก็กลับมาอยู่วัดสองพี่น้องอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะไปอยู่ประจำที่วัดดอนเจดีย์ ตั้งแต่เดือน มกราคม ปี พ.ศ.2501


      พระวิบูลย์เมธาจารย์ ท่านเป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษา เล่าเรียนทางบาลีและปริยัติธรรม นับตั้งแต่ท่านยังหนุ่มสมัยเป็นอาจารย์สอนที่วัดสองพี่น้อง จนมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ และเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2501 ท่านก็ได้จัดให้วัดดอนเจดีย์เป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลี มีนักเรียนไม่น้อยกว่าปีละ 80-100 รูป บางปีปรากฏว่านักเรียนเปรียญธรรมของวัดดอนเจดีย์สอบได้ทั้งหมด

     พระวิบูลย์เมธาจารย์อาพาธและมรณภาพ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2525  ผลงานในด้านการสร้างสรรค์ศาสนวัตถุนั้นมีไม่น้อย แต่นั่นไม่ยิ่งใหญ่เท่าผลงานการสร้างปัญญาแก่พระภิกษุสงฆ์ให้เป็นบัณฑิตสงฆ์ จำนวนมากมายมหาศาล ศิษย์สงฆ์สุพรรณฯของท่านหลายรูปในปัจจุบัน มีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสูง ทำประโยชน์อย่างสูงแก่พระศาสนา ดังเช่น


      พระธรรมมหาวีรานุวัตร (ฉลอง จินฺตาอินฺโท ป.ธ.5) วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี


    พระธรรมมหาธีรราช ( วิเชียร อโนมคุโณ ป.ธ.9) รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ  เจ้าคณะภาค 7 (ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นเป็นชั้นรองสมเด็จแล้ว ขออภัยที่ยังจำราชทินนามไม่ได้)


    พระราชพุทธิญาณวงศ์(สุชาติ ธมฺมรตโน ป.ธ.9)ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง รองเจ้าคณะภาค 7(ตอนนี้ผมไม่ทราบสมณศักดิ์และตำแหน่งที่แน่นอนว่าท่านได้เปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง)


     พระราชปริยัติสุธี(สอิ้ง สิรินนฺโท ป.ธ.8) เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี


      นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งที่ผมค้นได้ กล่าวกันว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2525 วันที่ท่านพระวิบูลย์เมธาจารย์ มรณภาพ ท่านไม่มีเงินส่วนตัวเหลือไว้แม้สักบาทในบัญชีธนาคาร หรือทรัพย์สินส่วนตัวใดๆทั้งที่ท่านเป็นถึงพระราชาคณะมากว่า 30 ปี  ท่านเป็นพระนักปกครองที่เดินทางด้วยเท้าในฤดูแล้ง และเดินทางด้วยเรือในฤดูน้ำหลากเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร เพื่อไปเยี่ยมวัดต่างๆภายใต้การปกครอง ท่านเป็นพระนักศึกษาที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ท่านเป็นพระนักปฏิบัติที่มักน้อยสันโดษ สิ่งล้ำค่าที่ท่านทิ้งว้เป็นมรดกคือศาสนบุคคลดังกล่าวมาแล้ว และคำสอนอันเป็นมรดก เป็นสมบัติของพระศาสนา และส่วนรวมที่ว่า 

  “ อยู่เพื่อตัว อยู่แค่สิ้นลม อยู่เพื่อสังคม  อยู่คู่ฟ้าดิน “

คำสำคัญ (Tags): #พระเถระ
หมายเลขบันทึก: 128246เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2007 07:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท