ต้นแบบบัณฑิตปริญญาชีวิต


ปราชญ์วิบูลย์ เข็มเฉลิม
 
  
 วันนี้ใคร่ขออนุญาตนำเอาเรื่องราวประสบการณ์เรียนรู้และประสบการณ์ชีวิตของครูวิบูลย์ เข็มเฉลิม เพื่อให้ผู้อ่านได้ศึกษาพอเป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อน้อมนำเอากระแสพระราชดำรัสเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับชีวิตในชีวิตประจำวันเพื่อความอยู่ ดี มี สุข อย่างยั่งยืน เชิญศึกษาได้เลยครับ...

วิบูลย์ เข็มเฉลิม : แบบอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง

 

นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม

ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 (ภาคกลางและภาคตะวันออก)
ด้านเกษตรกรรม : วนเกษตร

ประสบการณ์ชีวิตและการเรียนรู้

นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 ด้านเกษตรกรรม (วนเกษตร) เกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2479 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

เมื่อพ้นจากการเป็นทหารแล้ว ทราบว่ารัฐบาลมีแผนพัฒนาการเกษตร ได้เลิกอาชีพรับจ้างในกรุงเทพ กลับไปอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบอาชีพเป็นนายหน้าและพ่อค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ต่อมาเมื่อเห็นช่องทางว่าน่าจะได้ผลกำไรจากการทำเกษตรจึงคิดเพาะปลูกพืชเสียเอง และในปี 2512 ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน

การประกอบอาชีพในระยะแรกของครูวิบูลย์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงมีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ถึง 200 กว่าไร่ แต่เมื่อต้นทุนสูงการดำเนินการประสบปัญหาขาดทุน มีหนี้สินมากมายจึงต้องขายที่ดินเพื่อใช้หนี้ เหลือไว้เฉพาะที่ดินที่ใช้ทำมาหากินเพื่อการเลี้ยงชีพประมาณ 9 ไร่เศษ

ปัญหาที่ประสบครั้งนั้นทำให้ครูวิบูลย์มีโอกาสคิดทบทวนกระบวนการทำงานด้านเกษตรกรรม ซึ่งพบว่า ถ้านำการผลิตไปผูกโยงกับการตลาด เกษตรกรจะไม่มีวันประสบผลสำเร็จในการทำงาน เพราะต้องทำตามความต้องการของตลาดมากกว่าความต้องการของตนเอง ครูวิบูลย์จึงได้ปรับกระบวนการคิดใหม่ทั้งหมด โดยไม่ยึดตลาดเป็นเกณฑ์ จากที่เคยผลิตเพื่อขายมาเป็นการผลิตเพื่อเลี้ยงชีพในครอบครัว จะขายก็ต่อเมื่อเหลือจากการบริโภคภายในครอบครัวแล้ว ครูวิบูลย์ได้เริ่มทดลองทำเกษตรกรรมแผนใหม่ด้วยการปลูกพืชหลายชนิดตามธรรมชาติ เฝ้าศึกษา ค้นคว้า ทดลองอยู่เป็นเวลานาน จึงประสบความสำเร็จ ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบความคิดของการทำ
"วนเกษตร" ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมตามสภาพของพื้นที่โดยไม่ต้องพึ่งแรงงานผู้อื่นและการตลาด

ครูวิบูลย์ ได้สรุปกระบวนการทางความคิดและองค์ความรู้ไว้ว่า ควรให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดมากกว่าองค์ความรู้ ซึ่งหมายความว่า คนเราทุกคนสำคัญที่วิธีคิด เมื่อคิดเป็น องค์ความรู้จะตามมาภายหลัง เพราะความรู้ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่แต่ละคนสามารถสรุปได้จากประสบการณ์ของตนเอง จึงควรให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด เพราะการรู้จักคิดและคิดอย่างรอบคอบจะเป็นตัวชักนำความรู้ทั้งหมด
จากนั้นครูวิบูลย์ได้เผยแพร่แนวคิดการทำวนเกษตรเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร ใช้สวนวนเกษตรเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและผู้ที่สนใจ พร้อมกันนั้นยังได้เผยแพร่ความรู้ผ่านเวทีการประชุมสัมมนา การบรรยาย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จัดสร้างห้องหนังสือ สนับสนุนให้มีลานค้าริมทางชุมชน ส่งเสริมค่ายเยาวชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

แนวทางการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่น
ด้านเกษตรกรรม : วนเกษตร
ของ นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม

1. ภูมิปัญญาไทย ด้านวนเกษตร

1.1 เนื้อหาสาระของความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ สืบทอด และอนุรักษ์
คุณค่าของป่า กับ ชีวิต ป่าคือความหลากหลายที่ให้คุณค่าทั้งอาหาร ยา ของใช้ที่จำเป็น และสวัสดิการแก่ชีวิต ทำให้คนได้เรียนรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรให้เกิดมูลค่า และเพิ่มมูลค่าได้กว่าปกติ ทำให้พึ่งตนเองได้ในเบื้องต้นเกือบทุกเรื่อง และเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง

1.2 เนื้อหาสาระของความรู้ทีท่านได้จากการค้นคว้า ทดลองปฏิบัติด้วยตัวเองประกอบด้วย

1) แนวคิด "พึ่งตนเอง" และ "วนเกษตร"
2) กระบวนการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

1) แนวคิด "พึ่งตนเอง" และ "วนเกษตร"

ความเข้าใจเรื่องการพึ่งตนเองของผู้ใหญ่วิบูลย์ ได้มีผู้รวบรวมไว้จากการสัมภาษณ์ครั้งต่างๆ ดังนี้

การพึ่งตนเองเป็นสภาวะ หมายถึง ความสามารถของคนที่จะช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด โดยไม่เป็นภาระคนอื่นมากเกินไป มีความสมดุล ความพอดีในชีวิต เป็นสภาวะทางการที่สอดคล้องกับสภาวะทางจิตที่เป็นอิสระ มีความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ มีสิ่งจำเป็นอันเป็นปัจจัยสี่ พอเพียง เป็นความพร้อมของชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ

การพึ่งตนเองเป็นการจัดชีวิตให้สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างเหมาะสม สัมพันธ์กับคน สังคม ธรรมชาติรอบตัวเรา

การพึ่งตนเองหมายถึง การมีสวัสดิการและความมั่นคงให้กับชีวิตของตนเองในปัจจุบันจนถึงอนาคต สวัสดิการตัวนี้พร้อมที่จะตอบสนองต่อเราทันที โดยที่เราไม่ต้องไปเรียกร้องให้ใครมาจัดสวัสดิการให้ หรือให้ใครมาช่วยเหลือ เราสามารถที่จะช่วยตัวเองหรือพึ่งพาตัวเองได้ในโอกาสนั้น ๆ

การพึ่งตนเอง หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อม เราไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถ้าหากสิ่งนี้สนับสนุนให้เรามีเวลามากพอที่จะไปเสริมสร้างสิ่งที่เราทำด้วยความยากลำบากให้มันง่ายขึ้น ฉะนั้น เราจะใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสิ่งที่เอื้อเฟื้อต่อการพึ่งตนเอง แล้วก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแต่ถ้าเราใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกจนทำให้เราพึ่งตนเองไม่ได้ ก็ไม่น่าจะถูกต้อง

"ผมให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองสูง แล้วก็มองเรื่องการพึ่งตัวเองอยู่ที่ การจัดการคิดว่าถ้าเราทำให้คนจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นได้ เราก็พึ่งตนเองได้…เราไปจำกัดคนไมได้เราต้องยอมรับเรื่องความหลากหลาย แต่ทว่าคนถ้าจัดการปัญหาต่างๆ ได้ เขาก็เริ่มเรียนรู้อะไรได้กว้างกว่า เขาก็จะรู้จักคำว่า พอ พอดี…ถ้าคนจัดการไม่เป็นมันจะพูดคำว่าพอไม่ได้แน่ จะรู้สึกถูก
กีดกันถูกจำกัดไปหมด แต่ถ้าคนเริ่มจัดการอะไรเป็นมากขึ้น ก็จะเริ่มรู้จักคำว่าพอเพราะว่าบางทีคนที่คิดว่ายอมไม่ได้ จะต้องเอาตลอดเวลา เป็นเพราะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง แต่ถ้าคนจัดการได้
จัดการเป็น มันจะเริ่มมีความเชื่อมั่นตนเองมากขึ้น เชื่อมั่นสามารถจัดการกับปัญหาได้ คำว่า "พอ" จะเกิดง่ายกว่า ดูจะเป็นเรื่องของจิตวิทยานิดหน่อย
  

(การพึ่งตนเอง) เป็นไปได้ทุกรูปแบบ มันอยู่ที่การจัดการ ตอนนี้ผมค่อนข้างจะเข้าใจเรื่องการจัดการพอสมควร เพราะมีคนหลายคนมาถาม เรื่องการพึ่งตนเองของผม ก็จะถามเรื่องเอาข้าวที่ไหนกิน ผมเองไม่ต้องทำนา เราก็มีข้าวกินโดยไม่มีโอกาสขาด ข้าวไม่ขาดและเราก็จะไม่
จำเป็นต้องปลูกข้าว หรือเราต้องการของอื่นอีกหลายอย่างโดยที่เราไม่จำเป็นต้องปลูก ฉะนั้น คำว่าพึ่งตนเองมันคงไม่ได้หมายความถึงว่าต้องทำเองทุกอย่าง แต่เราจะจัดการสิ่งที่จำเป็นเหล่านี้ได้ด้วยวิธีใด เรามีอะไรได้อยู่อย่างหนึ่งจะเปลี่ยนให้เป็นอีกอย่างหนึ่งได้อย่างไร วิธีแลกเปลี่ยน วิธีแปรรูป วิธีการจัดการเป็นเรื่องสำคัญ และประเด็นการจัดการก็อยู่ที่เรามีข้อมูลกว้างๆ ต้นไม้ต้นหนึ่งเป็นอะไรได้หลายอย่างถ้าเรามีข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้นั้น ถ้าเรามีข้อมูลมากเราก็ตัดสินใจเลือกได้ถูกต้องมากกว่า เพราะเราสามารถรู้ความต้องการของใคร เรื่องอะไร มีความต้องการมากหรือน้อย การทำธุรกิจนั้นมันจะต้องตัดสินใจว่า จะทำธุระกิจเรื่องไหน นั่นคือวิธีการจัดการนั่นเองถ้าเรามีต้นไม้
ต้นหนึ่ง แล้วผมตัดสินใจได้ว่าจะเลือกกิ่งเล็กๆ มาทำไม้ประดับขาย จะได้มากกว่าเอาไปทำเป็น
วัตถุดิบอื่นขาย ขายไม้ไปเพียงต้นหนึ่งก็สามารถซื้อข้าวได้หลายถัง ดีกว่าไปนั่งทำนาตั้งหลายตารางวา
กว่าจะได้ข้าวหนึ่งถัง

สังคมปัจจุบันนี้เป็นสังคมที่ใช้เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เราต้องมาทำความเข้าใจตรงนี้ให้ได้ เราไม่จำเป็นต้องไปคิดถึงเรื่องการพึ่งตัวเองแบบเดิม ที่ทุกคนยังติดอยู่กับธรรมชาติเพราะเราไม่มีโอกาสที่จะฟื้นฟูธรรมชาติได้มากขนาดนั้น แล้วเรายังไม่สามารถสร้างทรัพย์สินรวมที่เป็นธรรมชาติได้มากขนาดนั้นด้วย เพราะธรรมชาติมันไม่มีของใคร เป็นของทุกคน แต่ตอนนี้ปลูกอะไรขึ้นมามันก็เป็นของส่วนบุคคล แล้วกลุ่มคนที่มีปัญหา คือ กลุ่มคนที่มีที่ดินจำกัดทั้งนั้นแล้วก็เริ่มมีปัญหาไม่มีกินด้วย ฉะนั้น เราต้องเร่งทำให้เขาเข้าใจและจัดการตรงนี้ให้ได้ เพราะมันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรมมากกว่า และถ้าเขาแลกเปลี่ยนได้อย่างเป็นธรรม เขาก็จะได้มากขึ้น พอกิน
ฉะนั้น การพึ่งตนเองกับการศึกษาหนีกันไม่พ้น การศึกษาเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญของการพึ่งตนเอง เป็นเรื่องเดียวกัน ที่ผมสนใจวัฒนธรรมก็ด้วยสาเหตุว่า วัฒนธรรมนั้นสอนให้พึ่งตัวเองได้ บนวิถีของวัฒนธรรมนั้นสอนให้คนรู้จักจัดการทรัพยากร แล้วก็เพื่อให้คนพึ่งตัวเองได้"


วนเกษตร : รากฐานแห่งชีวิต

"วนเกษตร"
มีกินเป็นพื้นฐาน มีสวัสดิการยามเฒ่าชรา
มีความหลากหลายคล้ายป่าธรรมชาติ
ก่อเกิดอุตสาหกรรมชุมชน

 แนวทางการพึ่งตนเองของผู้ใหญ่มีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อการสั่งสมทรัพยากรจากผืนดิน 9 ไร่เศษในช่วงเวลา 5 - 6 ปี เริ่มเป็นรากฐานที่สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ผลมาจากการปลูกต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 500 ชนิด ทำให้พื้นที่เกิดความสมดุลโดยธรรมชาติ ผู้ใหญ่ย้อนทบทวนการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เกิดขึ้น และเรียนวิถีชีวิตใหม่ว่า วนเกษตร ซึ่งเป็นรูปธรรมและหนทางไปสู่การพึ่งตนเอง ดังนี้

"อาจเป็นเพราะความจำเป็นในขณะนั้น หรืออาจจะเป็นเพราะว่าความกดดันจากความไม่เป็นธรรมในความเข้าใจตัวผม เมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้นทำให้ผมต้องคิดเอาตัวรอดในขณะนั้นให้ได้ สิ่งที่สำคัญมีอดีตซึ่งผมได้รับรู้ ช่วยให้ผมได้คิดอย่างเช่นอดีตที่สามารถทำอะไรกินเองได้ อดีตที่เราเคยเพาะปลูกและก็ใช้แรงงานเป็น แต่จากการที่เราหยุดทิ้งไปเป็นระยะเวลานานพอ
สมควรทำให้เราต้องฝึกการใช้แรงงานใหม่

การที่เราทำอย่างนี้ก็ทำให้เราเริ่มพบว่า เมื่อเราเริ่มปลูกของกินเราก็มีกิน การที่รู้จักปลูกอะไรเพิ่มขึ้นแล้วก็มีความต่อเนื่อง ทำให้เรามีสิ่งนั้นเพิ่มขึ้น แล้วก็มีปริมาณจนมีความมั่นคงขึ้น การที่ทำมา 6 ปี หลังจากที่ผมได้ล้มเหลวแล้ว ก็กลับมาเพาะปลูก ตั้งแต่เริ่มปลูกพืชอายุสั้น …ผมเริ่มจากการปลูกผักบุ้ง….และหลังจากนั้นกินไม่หมดก็เอาไปขาย การขายผักบุ้ง 30 กว่าบาทเป็นกำไรเหลือทั้งหมด ก็เลยทำให้ผมมีกำลังใจ มีความมานะที่จะทำตามแนวคิดนั้นมา

จน 2 - 3 ปี เราก็เห็นว่ามีความมั่นคงเพิ่มขึ้น มีโอกาสเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมขึ้น จนกระทั่งเราเริ่มรู้จักพืชพันธ์ที่เหมาะสมมาปลูกในพื้นที่ที่มีเหลืออยู่เพียงประมาณ 10 ไร่นั้น รู้จักพืชมากขึ้น รู้จักการใช้ประโยชน์จากพืชมากขึ้น จนถึงระยะหนึ่งเห็นว่ามีสภาพคล้ายป่า ก็เรียกสิ่งที่ผมทำนั้นว่า วนเกษตร ก็ทำให้เราเห็นว่า วนเกษตรน่าจะเป็น รากฐานของชีวิตผม

หลังจากเริ่มต้นเรียนรู้พืชทีละชนิด รู้จักเอามาใช้ประโยชน์ รู้จักเอาสิ่งเหล่านี้มาเปลี่ยนใหม่มีคุณค่าเพิ่ม เช่นกรณีของต้นข่อย ซึ่งนอกจากเป็นพืชที่เรียกกันว่าวัชพืช …เราได้ยาสีฟันเรียกว่า ยาสีฟันข่อย มูลค่าของข่อยก็เปลี่ยนไป จากขายไม่ได้เป็นกิโลกรัมละ 200 บาท"

วนเกษตรไม่ได้เป็นคำที่แปลกใหม่แต่อย่างใด มีการพูดถึงวนเกษตรในฐานะเป็น ทางเลือกของการพัฒนาเกษตรกรรมและป่าไม้มาก่อนหน้านี้แล้ว หน่วยงานราชการก็ใช้เรียก
รูปแบบของการปลูกพืชผสมผสานระหว่างไม้ยืนต้นกับพืชไร่ว่าเป็นวนเกษตร หรือสวนป่า แต่ผู้ใหญ่มองวนเกษตรลึกไปกว่านั้นมาก เพราะได้พัฒนาเป็นวิถีชีวิตโดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่รูปแบบของการทำเกษตรกรรม ความคลุมเครือในลักษณะนี้ทำให้ดูเหมือนว่า ทางเลือกการพัฒนาไม่ได้เสนออะไรนอกเหนือไปจากแนวทางกระแสหลัก หากไม่ได้พิจารณาถึงความแตกต่างในเนื้อหา

การอธิบายวนเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์ไม่ได้เน้นด้านกายภาพมากเท่าไหร่นัก ผู้ใหญ่แนะนำแต่เพียงประเด็นสำคัญ

วนเกษตรนั้นเป็นการปลูกพืชที่มีความหลากหลายชนิด อาจจะมี 10 - 20 ชนิดหรือมากกว่านั้นในที่ดินที่มีการวางแผนตั้งแต่เริ่มต้นว่า เราจะปลูกอะไรบ้าง เพื่อประโยชน์อะไร การที่มีพืช 10 - 20 ชนิด นอกจากจะเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตแล้วก็จะเกิดส่วนเกิน ส่วนเกิดเหล่านี้เราเอาไปแปรรูปในครัวเรือน

"ผมได้พบว่า ความต้องการจริงๆ ในขณะที่เราต้องการเงิน กับความต้องการจริงๆ
ในขณะที่ชีวิตเราเคยเป็นมา ชีวิตคนในชนบทโดยเฉพาะผม หรือพี่น้องที่อยู่ในครอบครัว เราต้องการมีอิสระ เราต้องการมีความสงบ เราต้องการมีชีวิตที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีมากก็สามารถแบ่งปันกันได้ แต่ปรากฏว่าในระยะเวลาที่ผ่านมา 20 ปี ไม่มีสิ่งที่เราต้องการ ประการสำคัญ กลับทำให้เกือบขาดมากกว่าเก่า ทำให้สิ่งที่คิดว่ามันควรกลับไม่มี ที่คิดว่าควรจะเป็นความมั่นคงในเมื่อเรามีรายได้มากขึ้น กลับไม่มีความมั่นคง โดยเฉพาะตัวผมเองหมดเนื้อหมดตัว เพราะหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน"

2) กระบวนการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

เป็นข้อเสนอให้กับพี่น้องเกษตรกรในเครือข่ายได้ คิดและทำ อย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้เราพึ่งตนเอง และพึ่งกันเองได้ มีดังนี้

ประมาณ 5 - 6 ปีที่ผ่านมา วนเกษตร หรือ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนป่าตะวันออกเข้าไปทำงานกับชาวบ้านในชุมชนรอบป่าตะวันออก มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อค้นหาและทดลองแนวทางในการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชนต่างๆ เพื่อให้คนและชุมชนสามารถพึ่งตนเอง อยู่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน บนพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจที่พอเพียง สังคมเข้มแข็ง และสิ่งแวดล้อมที่สมดุล

กระบวนการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง

การเรียนรู้ จะต้องเกิดขึ้นตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว ไม่ใช่เพียงแค่การอบรมแล้วจบ การอบรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้...การเรียนรู้นี้จะทำให้เราค้นพบพลัง เป็นฐานพลังที่เกิดขึ้นมาจากข้างใน ซึ่งทุกคนมี แต่ไม่เคยเอามาใช้

กระบวนการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง เป็นบทสรุปจากประสบการณ์ชีวิตเพื่อเสนอเป็นทางเลือกให้กับเกษตกรที่กำลังประสบปัญหา ใช้เป็นบทเรียนในการเริ่มต้นเรียนรู้ ทดลอง และนำชีวิตเข้าสู่วิถีของการพึ่งตนเองได้ในที่สุด

กระบวนการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน 5 เรื่อง และ 3 แผน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  • 3 ขั้นตอน ของการเรียนรู้เป็นเรื่องของการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งที่มีอยู่ และเป็นอยู่ของชีวิตของเราและชุมชนของเรา คือ

    1) การเรียนรู้ตัวเอง
    2) การเรียนรู้ปัญหา
    3) การเรียนรู้ทรัพยากร

  • 5 เรื่องพื้นฐานชีวิตที่ทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อให้ชีวิตอยู่ได้อย่างดีไม่อดอยากและพึ่งตนเองได้ในปัจจุบัน ได้แก่

    1) ข้าว
    2) อาหาร
    3) ยาสมุนไพร
    4) ข้าวของเครื่องใช้
    5) ดิน จุลินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ

  • 3 แผน ในกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจสู่การทำแผน ประกอบไปด้วย

    1) แผนชีวิตและครอบครัว
    2) แผนชุมชน
    3) แผนจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

  • แผนชีวิตและครอบครัว
     เป็น แผนพัฒนาเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน มีฐานอยู่ที่ชีวิตและครอบครัว ซึ่งพึ่งตนเองได้ จัดการชีวิตกับครอบครัว ให้ทุกคนอยู่ดีมีสุข กินอิ่มนอนหลับ ไม่ทุกข์ ไม่ร้อน ได้อย่างไร
  • แผนชุมชน เพื่อความร่วมมือและการพึ่งพากันของชุมชน
     คือ แผนพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เน้นการสร้างความร่วมมือและความสามัคคี เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้หมด ระบบของชุมชนจึงต้องเอื้อประโยชน์ ให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ และช่วยเหลือเกื้อกูลพึ่งพากันของคนในชุมชน
  • แผนจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
    คือ แผนจัดการสิ่งแวดล้อมให้สมดุล มีความเชื่อมโยงกับสองแผนแรก
    อย่างแยกไม่ได้ ชีวิตจะเป็นสุข ชุมชนจะเข้มแข็งได้ สิ่งแวดล้อมจะต้องมีความสมดุลและยั่งยืน

วัตถุประสงค์ที่ต้องการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เครือข่ายป่าตะวันออก คือ การเรียนรู้

1) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางการเรียนรู้ในวิถีของชุมชน
2) พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ ให้มีเนื้อหาสัมพันธ์สอดคล้องอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชน
3) จัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรและตามแนวทางและวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับผู้เรียนรู้
4) สนับสนุนให้ผู้เรียนรู้นำความรู้ไปปฏิบัติ และนำประสบการณ์จากการปฏิบัติกลับเข้าสู่กระบวนการสรุปประสบการณ์เพื่อยกระดับการเรียนรู้

 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท