Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๑๒)


พลังเครือข่าย : การใช้ KM ของเครือข่ายราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช (๒)

พลังเครือข่าย : การใช้ KM ของเครือข่ายราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช (๒)

อาจารย์โสภณ  คงจังหวัด :
                ครับก็ขอขอบคุณผู้ดำเนินรายการ  ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ  ผมเป็นตัวแทนของคุณเอื้อปัจจุบันนี้เป็นผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช  คงจะพอทราบบทบาทของคุณอำนวย  คุณเอื้อ และคุณกิจบ้างแล้ว   ในส่วนของการเรียนรู้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช   หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบการจัดการเรียนรู้การเงินแล้ว  ส่วนงานต่างๆ  เราก็ถือว่า  จริงๆ  แล้วการจัดการความรู้บางที่เราต้องจัดการ  เพราะว่าเรามีปัญหาเหมือนกัน   ปัญหาที่เหมือนกันคือว่า  ในเรื่องขององค์กรชุมชนในเรื่องของกลุ่มการเงินนั้น  ชาวบ้านสับสน  หน่วยราชการที่เราพูดถึง 9 หน่วยที่ลงไปก็ให้ความรู้แก่ชาวบ้านไม่เหมือนกัน ชาวบ้านมาฟังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรวันนี้ พรุ่งนี้ไปฟังธนาคารออมสิน  แล้วสับสนว่าจะเอายังไงกันแน่  ที่สำคัญหน่วยงานนั้นไปสร้างองค์กรของตัวเองขึ้นมาในพื้นที่ก็มีความเป็นเจ้าของในองค์กรนั้นอีก มันทำให้ชุมชนแทนที่จะมีความรักความสามัคคีเขาก็เกิดความแตกแยกกันในส่วนหนึ่ง  เหมือนกับว่าวันนี้สมัยที่เราเรียนหนังสือทุกคนก็คงเข้าใจว่า  ทำไมการพัฒนาเราไม่ยั่งยืน เราก็มองว่าส่วนราชการนั้นไม่ประสานงานกัน วันนี้ผมเป็นคุณเอื้อ  ผมเป็นหัวหน้าส่วนราชการ  ความหวังความตั้งใจของผมตั้งแต่เรียนหนังสือจนเริ่มทำงาน  คืออยากที่จะทำงานแบบบูรณาการกัน  เมื่อโครงการนี้เข้ามาความตั้งใจเดิมนั้นก็ประสบความสำเร็จ  ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการพัฒนาองค์กรโตเฉพาะองค์กรหนึ่งองค์กรใดเท่านั้น  องค์กรไหนโตก็จะมีส่วนราชการไปรุมชื่นชมยินดี  องค์กรไหนล้มเหลวก็จะไม่มีใครดูแล  ในที่สุดงบประมาณอะไรต่างๆ ก็ไปลงกับองค์กรนั้นละครับ  เข้มแข็งอยู่องค์กรเดียว  เราคาดว่าต่อไปนี้องค์กรที่ผ่านการเรียนรู้แล้วต้องเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง  ในคณะทำงานของการจัดการเรียนรู้  จะมีทั้งหมดสามวง ผมจะซ้ำให้ดูอีกที  วงแรกคือวงคุณเอื้อ  คือหัวหน้าส่วนราชการที่จะต้องให้การสนับสนุนการทำงาน     วงที่สองก็คือวงคุณอำนวย  ก็คือพนักงานในสังกัดหน่วยราชการนั้น  วงสุดท้ายก็คือวงคุณกิจ  ซึ่งจะเห็นว่าวงคุณเอื้อนั้นคือทีมผู้บริหารนั่นเอง คุณอำนวยนั้นทางส่วนราชการต้องสรรหาคนที่มีหน่วยก้านและความตั้งใจที่จะเป็นแกนกลางที่จะเข้าไปเรียนรู้กับชุมชน  ส่วนวงคุณกิจนั้น  คือองค์กรเครือข่ายชุมชน  ผู้ที่สมัครใจเข้าเรียนรู้  ดูบทบาทแต่ละวง  วงคุณเอื้อ เวลาเราทำงาน  เป้าหมายบทบาทจะมี อย่างของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรปีนี้  ธนาคารสำนักงานใหญ่  ชี้วัดเลยว่าต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้ได้เท่าไร  ยกตัวอย่างว่ากลุ่มการเงินปีนี้  ผมจะต้องทำกลุ่มการเงินให้เข้มแข็งอำเภอละหนึ่งกลุ่ม  21  อำเภอ  2 กิ่งอำเภอ เพราะฉะนั้นเราต้องทำแล้วอันนี้  อันที่สองคือคุณเอื้อต้องทำงานอย่างบูรณาการ  มาพูดคุยกันว่าเราจะกำหนดทิศทางการทำงานอย่างไร ต่อไปในการส่งเสริมให้ความรู้กลุ่มการเงินหรือพี่น้องประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  เราต้องมีกรอบและแนวคิดที่เหมือนกัน  ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ  เอาความรู้จากชาวบ้านที่มีอยู่  เอาความรู้ที่เป็นความรู้เปิดเผยที่เราสามารถที่จะเรียนรู้ได้มาแลกกัน  ที่สำคัญคือคุณเอื้อเราจะต้องสนับสนุนกันในเรื่องของคนและงบประมาณลงไป  จังหวัดนครศรีธรรมราชโชคดีที่ท่านผู้ว่าอนุมัติงบ CEO ลงไปให้  แต่ส่วนหนึ่งก็ยังไม่พอ  ส่วนราชการเราที่มีโครงการมีแผนงาน ซึ่งในแผนงานนั้นๆ  ก็จะมีผู้รับผิดชอบ  จะมีงบประมาณและมีกิจกรรมอยู่แล้วส่วนนี้มาทำร่วมกัน ในวงของคุณอำนวยที่เป็นตัวแทนของหน่วยราชการนั้น  คุณอำนวยเองก็ต้องเป็นคนที่มีใจรักในเรื่องเหล่านี้  มีหน่วยก้านดี  มีความสมัครใจที่จะทำงาน  สามารถที่จะประสานงานระหว่างคุณกิจกับคุณเอื้อได้  และต้องมีความช่ำชองในเรื่องวิทยากรกระบวนการ  คุณอำนวยนั้นไม่ได้ทำหน้าที่เป็นครู  แต่ทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ ดึงความรู้ของผู้ที่มาเรียนรู้ที่มีศักยภาพมาเผยแพร่และเอามาใช้ในโอกาสต่อไป  และที่สำคัญต้องมีการบันทึกไว้  สรุปก็คือคุณอำนวยก็คือแกนหลักของกระบวนการของเรา ส่วนคุณกิจ คือชุมชน  คือกลุ่มนั่นเอง ซึ่งก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลาและสามารถที่จะช่วยตัวเองได้  และต่อยอดเป็นสถาบันการเงินชุมชน  เป็นองค์กรชุมชน  และต่อไป  จะเป็นอะไร  ก็เป็นกองทุนหมู่บ้าน   ต่อไปก็จะเป็นสถาบันการเงินชุมชน  อนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นใช่หรือไม่  นั่นคือเรื่องที่เราคาดหวังให้คุณกิจจะต้องพัฒนาต่อยอดต่อไป  ส่วนที่เราคาดหวังให้เกิดคือชุมชนเข้มแข็ง  ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าที่เราพูดว่าชุมชนเข้มแข็ง เราพัฒนากลุ่มโดยพัฒนาแบบปีนี้พัฒนาปีหน้าพัฒนากลุ่มเดิม  อยากจะเห็นกลุ่มที่มันเข้มแข็งแล้วในระดับตำบลหรือหมู่บ้านแล้วไปช่วยเหลือคนอื่น  เพราะฉะนั้นอาจทำหน้าที่คุณอำนวยในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน  ให้เพื่อนเข้มแข็งอย่างนั้นแหละชุมชนจึงจะเข้มแข็งจริงๆ    ซึ่งในแต่ละวงก็จะเกิดพลังเรียนรู้แบบทวีคูณ  วงคุณเอื้อ  วงคุณอำนวยและวงคุณกิจ  ก็จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  มีการเชื่อมโยง  และมีการสรุปบทเรียน  ซึ่งทั้งสามวงนี้ต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา นอกจากเราแลกเปลี่ยนกันในวงกันเองแล้ว จะต้องแลกเปลี่ยนกับคุณอำนวยด้วย  ซึ่งจะเกิดขุมที่เรียกว่าขุมความรู้หรือคลังความรู้  ซึ่งจะเป็นแกนความรู้จริงๆ ที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการเชื่อมโยงและการสรุปบทเรียน  ส่วนคุณเอื้อมีความคาดหวังว่าชุมชนเข้มแข็งสามารถช่วยตัวเองได้  อยากจะให้สมาชิกและกรรมการขององค์กรนั้นมีองค์ความรู้  ความสามารถ  มีความรู้ในพื้นที่ที่ตนเองจะต้องส่งเสริมแนะนำ มีความเข้าใจในเรื่องอำนาจที่ตนเองมีอำนาจ  เช่น  อำนาจในการที่จะอนุมัติการทำงานอย่างนี้เป็นต้น  แล้วต่อไปทำอย่างไรให้คณะกรรมการหรือสมาชิกมีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มเพิ่มขึ้น  ที่ผ่านมาคณะกรรมการของกองทุนหลายกองทุนโดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้านปัจจุบันนี้ใครก็ไม่อยากเป็น  เพราะเป็นแล้วไม่ได้อะไร  แต่ถ้าตัวเองทราบบทบาทหน้าที่ของตัวเองว่าหน้าที่นั้นเป็นประโยชน์ต่อสังคม  ความเข้มแข็งเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน  ถ้าเขาทราบบทบาทหน้าที่ตรงนี้แล้วโอกาสที่จะเข้าเป็นคณะทำงานก็มีมาก  คนที่เป็นสมาชิกก็จะทำหน้าที่บทบาทของตนเองอย่างถูกต้อง  ในเรื่องของการทำบัญชี  เราอยากจะเห็นการทำบัญชีที่เป็นปัจจุบัน  องค์กรการเงินปัจจุบันนี้  ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มออมทรัพย์ เครดิตยูเนี่ยน  ธนาคารชุมชน  ส่วนใหญ่แล้วจะมีปัญหาในเรื่องการบันทึกบัญชีที่เป็นปัจจุบัน  คุณเอื้อก็คาดหวังว่าถ้าจะให้เข้มแข็ง  ก็จะต้องบันทึกทำบัญชีได้ถูกต้อง  โปร่งใส  พร้อมที่จะให้ใครตรวจสอบได้  นี่คือหัวใจของการทำธุรกิจ  ถ้าระบบการทำบัญชีไม่ถูกต้องแล้ว  ความเชื่อถือไม่มี  ในเรื่องของความสามารถในการจัดการทุนและเงินให้มีประสิทธิภาพ  กองทุนหมู่บ้านปัจจุบันนี้เรามีทุนอยู่ทั้งหมดกองทุนละประมาณ 1,100,000  เศษๆ  ถึง 1,200,000  ดังนั้นในการจัดการทุนจะทำอย่างไรให้ทุนนี้งอกเงยต่อยอดไปได้  การบริหารจัดการเงินให้มีสภาพคล่องเพียงพอ บางชุมชนไม่ต้องการเพิ่มทุน  ถึงแม้ว่าประชาชนในกลุ่มของตัวเอง สมาชิกของตัวเองต้องการเพิ่มทุน  แต่ก็ไม่ต้องการเพิ่มทุน  เพราะกลัวว่าจะเป็นปัญหา  ตัวนี้แหละคือการเสริมเรื่องเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า  ถ้าเขาได้เงินไปแล้วไปพัฒนาให้เกิดการสร้างอาชีพ  สร้างงาน  สร้างรายได้ขึ้นมา  ก็จะเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าขึ้น  เพราะในส่วนของการจัดการทุนว่าทำอย่างไรให้มีทุนเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการ  การจัดการเงินทำอย่างไรให้สมาชิกสามารถที่จะใช้เงินจากกองทุนไปใช้ประกอบอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น  ในที่สุดแล้วการบริหารจัดการนั้นจะต้องให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย  หรือที่เราพูดถึงกำไรนั่นเอง  อีกเรื่องหนึ่งก็เรื่องสวัสดิการของสมาชิกในชุมชน  กลุ่มการเงินเหล่านี้ปัจจุบันแล้วถ้าเรามองแล้วในเรื่องอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่ก็จะเกินกว่าธนาคาร  หรือใกล้เคียงกับธนาคาร  แต่สิ่งที่ชุมชนจะได้รับคือเรื่องสวัสดิการ  เอากำไรจากตัวนี้มาจัดลงไปให้สมาชิกให้กับชุมชน  ในเรื่องของสวัสดิการเกี่ยวกับศึกษา  สวัสดิการเกี่ยวกับเรื่องของการรักษาพยาบาล  สวัสดิการเมื่อครอบครัวของสมาชิกถึงแก่กรรม ในเรื่องของชุมชนมีสวัสดิการในเรื่องของการจัดงานวัฒนธรรมประเพณี     ถ้าเราทำตรงนี้ได้  ความจงรักภักดีหรือความศรัทธาที่สมาชิกมีให้กับชุมชนในเรื่องที่ตัวเองต้องเสียค่าตอบแทนหรือดอกเบี้ยลงไป สมาชิกก็จะไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองเสียเงิน  ก็ถือว่าตัวเองได้รับส่วนแบ่งปันด้วย  ความสามารถในการจัดระบบข้อมูลและจัดการชุมชนให้ดี ตรงนี้สำคัญที่สุด ปัจจุบันนี้ไม่ว่าการประกอบอาชีพอะไร ชุมชนนั้นต้องมีข้อมูลในเรื่องข้อมูลพื้นฐาน  ข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบอาชีพการเงิน  ทำอย่างไรถึงจะทราบว่าวันนี้วันพุธ มันเริ่มออกดอกแล้ว  แต่ละเดือนมันจะให้ผลประมาณเท่าไร  เราจะส่งไปขายใครที่เป็นเครือข่ายของเรา  ข้อมูลตรงนี้ต้องมี  ซึ่งในลักษณะอย่างนี้เราคาดหวังว่าชุมชนน่าจะจัดการได้  อยากจะให้ชุมชนสร้างและเชื่อมโยงเครือข่าย  เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนเอง     คาดว่าในลักษณะเมื่อกี้ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อนนั่นคือสิ่งที่เราคาดหวัง  คือชุมชนนี้มีการบริหารจัดการที่ดี  ผู้บริหารเป็นผู้จัดการมืออาชีพและอยากที่จะจัดการให้ตนเองมีความรู้ความเข้าใจ  อยากจะให้คนสมัครเข้าเป็นสมาชิก  เป็นกรรมการ เป็นผู้สนับสนุนตนเองอยู่ตลอดเวลา  บทบาทของคุณเอื้อเพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมาย ตัวนี้ก็คือที่ อาจารย์ภีมได้พูดถึง  9 หน่วยงานของหน่วยราชการของจังหวัดนครศรีธรรมราชก็เป็นที่ยอมรับว่า หัวหน้าส่วนราชการงานเรามาก  ประชุมในพื้นที่ไม่เท่าไร  แต่ประชุมต่างพื้นที่  ที่กรุงเทพฯ  อะไรมั่ง  ของเก่ายังไม่ได้ทำของใหม่มาอีกแล้ว    เวลาทำโครงการนี้จะคุยในวงของคุณเอื้อก็คุยไม่ได้สักทีก็ส่งลูกน้องไปแทน  การเรียนรู้แทนที่จะต่อเนื่องก็ไม่ต่อเนื่อง  เพราะฉะนั้นส่วนนี้เราก็ต้องพยายามทำกรอบให้ชัดเจน  คนที่ไปแทนเราคนนั้นจะต้องบอกได้ว่านโยบาย  ภารกิจของเรานั้นต้องทำอย่างไร  อันนี้ต้องสร้างความชัดเจน  ปัญหาของเราก็คือว่า  เราจะจัดการและพัฒนาคนในหน่วยงานของเราให้เป็นคุณอำนวยมืออาชีพได้อย่างไร  อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า  เราจะร่วมมือทำงานกันอย่างบูรณาการกันให้ชุมชนเป็นแกนกลางและจะพัฒนาได้อย่างไร  สองเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทางคุณเอื้อจะต้องดำเนินการ ซึ่งทั้งสองข้อนี้จะต้องพัฒนาคุณเอื้อในเรื่องของความรู้  ในเรื่องทักษะ  และสองข้อนี้แหละครับก็คือเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ของคุณเอื้อ  ซึ่งจะต้องจัดการเรียนรู้ต่อไปในจังหวัดนครศรีธรรมราช   วงของเราในเรื่องการจัดการความรู้ของชุมชน    บทสรุปของเราก็คือว่าเราจะปฏิรูปในการบูรณาการการทำงานโดยใช้วงคุณเอื้อ  ถ้าวงคุณเอื้อเห็นด้วย  คุณเอื้อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน  มีแผนงานมีโครงการ  การปฏิบัติงานของเราเพื่อที่จะผลักดันให้ชุมชนเข้มแข็งนั้นก็จะเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จ  ขอขอบคุณครับ
พ.ต.  นพ.ธัญญ์  อิงคะกุล :
            ขอบคุณอาจารย์โสภณที่ให้มุมมองของคุณเอื้อ  ก็คงเป็นเรื่องของความคาดหวังว่าเราเอากระบวนการตรงนี้มาใช้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง  สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการบริหารแบบบูรณาการ  ที่ อาจารย์เน้นคงเป็นเรื่องของการประสานงานแล้วก็ต้องหาคุณอำนวยมืออาชีพ  เพื่อมาทำให้งานลุล่วงไปได้ด้วยดี  ดังที่การบูรณาการของจังหวัดนครศรีธรรมราชเคยตั้งไว้ว่าเป็นบูรณาการหน่วยงานด้วยการจัดการความรู้ เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์เมืองแห่งการเรียนรู้  ยังมีวิทยากรอีกท่านหนึ่ง  เนื่องจากเวลาลุล่วงไป  จะขออนุญาตเบรกตรงนี้ก่อน  เราจะกลับมาที่ห้องนี้สักประมาณสิบเอ็ดโมง  ในช่วง  session  ต่อไปในช่วงสิบเอ็ดโมงถึงเที่ยง  คงจะเป็นวิทยากรอีกท่านหนึ่งมาให้ความรู้กับพวกเรา  แล้วมีการดูคลังความรู้กัน  หลังจากนั้นคงเป็นการทำ  AAR  (after  action review) ของห้องนี้ ขอเชิญพักก่อนครับ  แล้วเดี๋ยวกลับมาพบกันครับ       
พักรับประทานอาหารว่าง                                           
พ.ต. นพ.ธัญญ์  อิงคะกุล :
                สวัสดีครับเราจะรอกันอีกสักสองสามนาที  เพราะ  session  ต่อไปยังมีวิทยากรอีกท่านหนึ่ง  ระหว่างที่รอถ้าใครมีคำถาม    อย่าลังเลที่จะถามขึ้นมานะครับ      เพราะวิทยากรของเราพร้อมที่จะตอบทุกคำถาม  ช่วงต่อไปช่วงสิบเอ็ดโมงถึงเที่ยงจะเป็นช่วงของวิทยากรอีกท่านหนึ่งที่จะมาให้ความรู้อีกเรื่องหนึ่งในฐานะที่เป็นคุณอำนวย    และเราจะเอาคลังความรู้ที่ได้วันนี้มานำเสนอกัน     รวมถึงประเด็นตอบคำถาม  มีคำถามมาค่อนข้างเยอะมาก  มีใครยังไม่ได้กระดาษบ้างครับ  AAR  คือจะถามว่าท่านมีเป้าหมายอะไรบ้าง  แล้วสิ่งที่ท่านได้  ตรงตามบรรลุสิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า  ที่มันไม่บรรลุเป้าหมายมันเป็นเพราะอะไร  แล้ววางแผนจะทำอะไรต่อไป เราจะได้รู้ว่าที่เรามาฟังกันวันนี้อาจเป็นบทบาทของแค่องค์กรเดียว  กลับไปบริบทขององค์กรหรือหน่วยงานเราอาจไม่ใช่อย่างนี้ก็ได้  ฉะนั้นเราจะลองมาหาข้อสรุปกัน  เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาจะเชิญวิทยากรท่านถัดไป  อาจารย์จำนง อาจารย์เป็นครูชำนาญการพิเศษ  อาจารย์มาวันนี้ในบทบาทของคุณอำนวย  อาจารย์มีเรื่องเล่าดีๆ เยอะมาก  บวกกับอาจารย์เขียนบทความไว้  แล้วก็ยังมีสิ่งดีๆ  อีกทั้งบทความในเรื่องของการถอดความของทั้งคุณเอื้อ  คุณอำนวยและคุณกิจ  และยังมีการถอดคลังความรู้  อันนี้อาจไม่ใช่ทฤษฎีของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม    แต่เป็นทฤษฎีของอาจารย์เอง  ซึ่งน่าสนใจ  ลองฟังกันดู  เรียนเชิญ อาจารย์ครับ
อาจารย์จำนง  หนูนิล  :
            เรียนผู้ดำเนินรายการ  และเพื่อนข้าราชการที่มาร่วมประชุมกันในวันนี้  บทบาทของคุณอำนวย  การที่ได้เราได้รับความรู้มา  คือผู้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้    ไม่ใช่ครูสอนนักเรียน    บทบาทนี้ทำให้ทีมคุณอำนวยคิดมาก  เพราะอาจถูกสั่งสอนมาในระบบเดิมที่ว่าจะมีความรู้อะไรก็จะต้องไปสอนชาวบ้าน  พอเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้  จึงต้องคิดใหม่  เราจะต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่  ในทีมของเรา  วงคุณเอื้อ  ท่านคัดตัวคนที่จะไปเล่นบทบาทคุณอำนวยมาจากต่างหน่วยงานกัน  ส่วนของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน  ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดในฐานะคุณเอื้อ  พิจารณาครูอาสา  คือ  พอดีสามตำบลที่นำร่องอยู่ในอำเภอเมือง  ก็โยนเรื่องทั้งหมดให้อำเภอเมืองเป็นคนพิจารณา     ผมเป็นข้าราชการคนหนึ่งในอำเภอเมือง  ก็ดูน้องๆ ครูอาสาก็ดูแลกิจกรรมนี้อยู่  ก็วางตัวครูอาสาในสามตำบลลงไปเป็นทีมคุณอำนวยร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ   เนื่องจากว่าภาคีเครือข่ายอื่นๆ โครงสร้างองค์กรของเขาไม่ใช่คนที่จะเล่นในพื้นที่ครบ ก็มาดูกันว่าหน่วยงานใดที่ครองพื้นที่อยู่  คือดูแลเข้าใจพื้นที่อยู่  หนีไม่พ้นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนที่มีครูอาสาอยู่ทุกตำบล  ในขั้นคุณเอื้อที่เขาวางตัว ก็ได้ความจริงว่าในสามตำบลนี้  เราจะมีคนมาทำทีมเป็นทีมคุณอำนวย อย่างทีมตำบลบางจากเราได้พัฒนากร คือพอดีเรียนอีกนิดนึงว่า  ทั้ง  9  องค์กรนี้แล้ว  เรายังไปเชื่อมกับองค์การบริหารส่วนตำบลด้วย  บวกกับกำนันของอีกทั้ง 3 ตำบลด้วย    เพราะในราชการภาครัฐทั้ง  9  องค์กร ไม่สามารถที่จะคิดอะไรลงไปได้ ต้องประสานกับท้องที่และท้องถิ่นด้วย  เพราะฉะนั้นกำนันของทั้งสามตำบลเป็นคุณเอื้อด้วย  เพราะฉะนั้นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งสามตำบลก็เข้ามาเป็นวงของคุณเอื้อด้วย     แต่เนื่องจากว่าท่านผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์พูดแล้วว่า  เรื่องของการทำทีมของคุณเอื้อบกพร่องและกระท่อนกระแท่นไปหน่อย  แต่ถ้าเราให้ความสำคัญ  ต้องภาครัฐบวกกับท้องที่และท้องถิ่นด้วยถึงจะขับเคลื่อนการจัดการความรู้ตรงนี้ในสามท้องที่ได้  ทีมของตำบลบางจากก็มีพัฒนากร  เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนขององค์การบริหารส่วนตำบลมาเป็นหนึ่งในสามคนของทีมคุณอำนวยด้วย  มีครูอาสา  มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ทางคุณภีมในฐานะ CKO ของโครงการได้ออกแบบไว้อย่างนั้นว่าตำบลละ 3 คนเป็นทีมคุณอำนวย  บางจากก็ได้ทีมสามคนอย่างที่เรียนไปแล้ว  ตำบลท่าไร่ได้พัฒนากร  ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่ใกล้ชิดที่สุด  คือรู้เรื่องหมดเลยตรงนั้นเป็นหนึ่งในสามคน    และก็มีอาสาพัฒนาของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนอยู่ในทีม   อีกตำบลหนึ่งคือตำบลมะม่วงสามต้น   เราได้พัฒนากรและครูอาสาอีกสองคน      คือเราไม่ได้เป็นบังคับว่าใครจะไปตรงไหนตรงไหน    พอคุณเอื้อวางตัวว่าคุณอำนวยแต่ละตำบลจะเป็นใครบ้าง ตรงนี้ส่วนหนึ่งก็ให้เป็นอาสาสมัคร  คือเป็นความสมัครใจของคุณอำนวยเองด้วย  ที่จะลงในพื้นที่ไหน  คุณเอื้อก็ดูตัวเอาไว้ว่าจะเป็นใครได้บ้าง  แต่เอาเข้าจริงๆ  ส่วนหนึ่งก็เป็นไปตามความสมัครใจของคุณอำนวยที่จะทำด้วยว่าถนัดหรือเหมาะสมไหมที่จะเล่นในพื้นที่นั้น  นี่ก็เป็นที่มาของทีมคุณอำนวย  ในการที่ทีมของคุณอำนวยจะไปทำกิจกรรมของพื้นที่  เราถูกให้ข้อคิดเอาไว้   สำคัญประการหนึ่งที่ว่า สิ่งที่เราจะลงไปเล่นจะต้องไม่ไปเริ่มต้นจากสิ่งใหม่  ควรเป็นสิ่งที่เขาทำอยู่  คุณอำนวยก็จะมาแลกเปลี่ยนความคิดกันว่าทุนเดิมของสามตำบลนี้  เป็นการเงินรูปแบบใดก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นออมทรัพย์  หรือกองทุนหมู่บ้าน  ของทั้งสามตำบลนี้  การเรียนรู้ต่อเนื่องจากที่ชาวบ้านเรียนรู้มาแล้วมันเป็นอย่างไร  เพราะว่าถ้าเราไปตั้งโจทย์ใหม่ที่มันไม่ใช่สิ่งที่ทำอยู่  มันจะทำให้การดำเนินงานสะดุดได้  จากประสบการณ์ที่เราเป็นครูอาสาในพื้นที่  เป็นพัฒนากรในพื้นที่  ถ้ามีโครงการอะไรใหม่ๆ แล้วเราพาเข้าไปในหมู่บ้านตำบล  ชาวบ้านจะรับไม่ได้  เพราะฉะนั้นตรงนี้เราได้บทเรียนตรงนั้นมาแล้ว  ก็เอามาทำเป็นว่าต่อไปนี้ทีมคุณอำนวยจะนำความรู้เข้าไปในตำบล ต้องดูเสียก่อนว่าทุนเดิมในตำบลที่มีอยู่  บริบทชุมชนมีอยู่อย่างไร  คุณอำนวยแต่ละตำบลก็ไปศึกษาดูว่า  ปรากฏการณ์ทางการเงินที่เป็นอยู่ในทุกๆ ตำบลเป็นอย่างไร  เช่น  ยกตัวอย่างว่าตำบลบางจากมีความคิดที่จะเป็นสถาบันการเงินชุมชน  พยายามก่อตั้ง พยายามที่จะรวมตัวกันมานานแล้ว  ตรงนี้จะเป็นข้อมูลแก่คุณอำนวยว่า  ถ้าเราจะไปเล่นที่ตำบลบางจาก  ต้องหยิบฉวยเรื่องนี้มาเป็นข้อมูลในการที่จะมาวางแผนต่อไป  หรือตำบลท่าไร่  เป็นตำบลที่คิดจะนำการออมทรัพย์แต่ละแห่งผูกโยงเป็นเครือข่ายกัน  ตรงนี้ก็เป็นข้อมูลแล้วว่าทุนเดิมเขาเรียนรู้อะไรอยู่  เขาทำอะไร  แล้วทีมคุณอำนวยจะเข้าไปหยิบฉวยตรงไหนมาเป็นประเด็นในการเรียนรู้ได้บ้าง  ตำบลมะม่วงสามต้น  ตรงนี้เขายังไม่ได้จับมือกันทำอะไร  เขาก็คิดกันว่าเขาน่าจะสร้างเสริมประสิทธิภาพการทำงานของกองทุนชุมชนให้มันดี  ตรงนี้ทีมคุณอำนวยจะต้องส่องกล้องมองดูไปหมดเลยว่าปรากฏการณ์ที่มันเป็นอยู่แต่ละตำบล  คืออะไรที่เป็นประเด็นเรียนรู้ที่เขาได้เรียนรู้อยู่แล้ว  ถ้าเราไปจับเรื่องใหม่ชาวบ้านจะรับไม่ได้  จะสังเกตได้ว่าโครงการอะไรใหม่ๆ เข้ามาในตำบล ถ้ามันไม่เชื่อมโยงกับฐานความคิดความรู้เดิมของชาวบ้าน  การขับเคลื่อนจะยากมาก  คุณอำนวยของทั้งสามตำบลจะต้องไปลงคลุกคลี  จากเมื่อก่อนนี้  ครูอาสากับพัฒนากรเข้าไปกันคนละที  จากความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยเป็นเรื่องเป็นราวก็มาทำในโจทย์เดียวกัน อาศัยประเด็นที่ชาวบ้านเรียนรู้และมีความพยามยามจะทำอยู่แล้ว  ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปได้ง่ายขึ้น  เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าว  ก็จะมาพูดคุยกันในวง ว่าแต่ละตำบลจะมีประเด็นเรียนรู้อะไรบ้าง   หลังจากที่เราทำความรู้จักแต่ละตำบลแล้ว    โดยยึดโยงกับความรู้เดิมของชาวบ้าน  ทีมคุณอำนวยแต่ละตำบลจะมาประชุมกัน  ซึ่งมีการประชุมกันทุกครึ่งเดือน   โดยจะร่างแผนการการเรียนรู้ของชาวบ้าน  หรือการร่างหลักสูตรว่าจะเรียนรู้ต่อเนื่องในประเด็นใดได้บ้าง  ก่อนที่จะคิดตรงนี้ผมลืมพูดในประเด็นที่ว่าคุณอำนวยแต่ละคนต้องเรียนรู้และฝึกฝนตนเองมากพอสมควร  หาความรู้จากการอ่านหนังสือบ้าง  การแลกเปลี่ยนกันบ้างจากบล็อกหรือ  internet ต่างๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำอยู่แล้วก็ตาม  ในการที่จะทำตรงนี้มันก็มีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาบ้าง  คุณอำนวยก็ต้องใช้ความพยายามอยู่เหมือนกันที่จะเข้าใจถึงเรื่องราวของการจัดการเรียนรู้   ในการมาทำทีมร่วมกันเนื่องจากว่าแต่ละคนที่มาก็ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าตนเอง  คือคุณอำนวยว่าทำแล้วจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับงานที่ตนเองทำอยู่หรือไม่  อยากให้ทุกคนมองว่าการเงินของชุมชนมันเกี่ยวข้องกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนตรงไหน คืออยากจะให้ทุกคนทำแล้วได้ด้วย  คือได้กันทุกฝ่าย ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนทำตรงไหนที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจะได้จากกองทุนการเงินชุมชน  มันแตกย่อยเป็นกิจกรรมแผนงานโครงการ หรือพัฒนากร  หรือจะเป็นเกษตรอะไรที่มันแฝงอยู่ในนั้น  บางทีถ้ามองไม่เห็นลังเลไม่แน่ใจว่าจะมาร่วมเป็นทีมกันได้หรือไม่  แต่พอวิเคราะห์เห็นแล้วว่าการเงินชุมชนตรงนี้มันมีเนื้องานของตนแทรกอยู่  นึกไม่ถึงว่าอย่างอนามัยมองเห็นงานของตนในองค์กรการเงินชุมชนด้วย  เมื่อวานผมได้ประชุมอีกเวทีหนึ่ง ได้มีหมออนามัยบอกว่าเวลาจะเรียกประชุมชาวบ้านเรียกยาก  แต่พออาศัยเครือข่ายกองทุนการเงินชุมชนเรียกง่าย  ท่านจะมาบริการอะไรต่างๆ ก็จะมาบริการที่กองทุนการเงินชุมชน  เพราะฉะนั้นทีมของคุณอำนวยทั้งสามตำบลให้แต่ละคนมองให้เห็นว่ามีงานของตนเองรวมอยู่ด้วย  พอถึงขั้นตรงนี้แล้วจะถึงเรื่องของความสมัครใจในการทำงาน  ชาวบ้านก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ตนทำอยู่แล้ว ตรงนี้จะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจด้วยกัน  ไม่ใช่ว่าฉันถูกสั่งให้ทำ  คุณอำนวยเองจะต้องหัดมองดูและพัฒนาตนเองต่างๆ ในเรื่องของการจัดการความรู้  เพราะว่าในหน้าที่ของแต่ละคน  แม้ว่าจะเป็นการบอกว่าองค์กรตนจัดการความรู้แล้วก็จริง แต่มันก็ไม่รู้ว่าจะไปพลัดไปหลงทางตรงไหนหรือไม่  เพราะฉะนั้นทีมคุณอำนวยก็พยายามอ่านหนังสือต่างๆ    สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชของเราก็พยายามขวนขวาย       ท่านผู้ว่าท่านให้เกียรติกับคุณอำนวยมาก  การให้งานมันผลักดันเดินไปข้างหน้าได้    มันมีวงขึ้นมาอีกวงหนึ่ง   วงคุณเอื้อบวกกับวงคุณอำนวยขึ้นมาอีกวงหนึ่ง   ท่านใช้วิธีของท่าน  ยุทธศาสตร์ของท่านมาร่วมกับเรา  ทุกครั้งเวลาเรากลับจากพื้นที่ได้อะไรมายังไง    ท่านมักจะมาเป็นผู้เรียนคนหนึ่ง   มีอยู่ครั้งหนึ่งคุณอำนวยกลับจากดูงานในพื้นที่  พบว่าประเด็นเรียนรู้ที่สำคัญประเด็นหนึ่งของกองทุนการเงินชุมชนคือเรื่องของบัญชี  ในวงนั้นคือคุณเอื้อบวกคุณอำนวยกำลังจะคิดแบบบันทึกอะไรสักอย่าง  เป็นคู่มือกลางที่จะเอาไปใช้กับกลุ่มออมทรัพย์ ความคิดมันทำท่าจะไปอย่างนั้นอยู่แล้ว  แต่ก็มีความคิดหนึ่งว่าเราจะไปทำแบบนั้นให้โหลหมดไม่ได้  น่าจะให้แต่ละกลุ่มออมทรัพย์  แต่ละกองทุนหมู่บ้านคิดของตัวเองได้ด้วย  ไม่งั้นจะเป็นจัดการความรู้ได้อย่างไร  ท่านผู้ว่าท่านนั่งอยู่ด้วย  ท่านก็บอกว่า นี่เอาละ! ทำก็ทำเถอะไม่ว่า  แต่อย่าบังคับกลุ่มออมทรัพย์หรือกองทุนหมู่บ้านที่จะเอาไปใช้  ถ้าตรงไหนเขาดีอยู่แล้ว  ก็อาจจะสร้างบันทึกตรงนั้นขึ้นมาเป็นสีสันเป็นเรื่องที่เขาลงตัวอยู่แล้วก็ให้เขาทำไป  อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่าเป็นวงเรียนรู้จริงๆ เป็นการจัดการความรู้ภาคปฏิบัติที่น่าสนใจมาก ที่นี้พูดถึงหลังจากที่คุณอำนวยส่องกล้องปรากฏการณ์การเงินชุมชนแล้ว  ก็กลับมาก็กลับมานั่งร่างประเด็นเรียนรู้ต่างๆ  ที่จะนำไปพูดคุยกันในแต่ละตำบล  จากนั้นก็เอาร่างนี้ไปเป็นแผนหยาบ ๆ หรือหลักสูตรหยาบ ๆ  ว่าแต่ละตำบลคุณอำนวยจะเอาอะไรไปคุยและนำไปเสนอในแต่ละตำบล ก็นำเอาลงไป  ผมลืมเรียนให้ทราบไปว่าในทีมคุณอำนวยทีมหนึ่งจะถูกวางให้มีคุณอำนวยคนหนึ่งเป็นคุณประสาน  เพื่อประสานการประชุมหรือนัดหมายสถานที่  เตรียมเอากระดาษเขียน ปากกาหรือกระดาษต่างๆ ไป  นั่นเป็นคุณประสาน คุณวิทยากรกระบวนการ  คือเวลาจะเป็นลำดับอะไรก่อนหลัง  การแบ่งกลุ่มย่อยใหญ่  การนำเสนอ  การบันทึกและการสรุปอะไรต่างๆ อย่าให้ที่ประชุมเงียบนิ่ง อย่าให้ขัดแย้งกัน อะไรต่างๆ  เหล่านี้คือหน้าที่ของวิทยากรกระบวนการ และอีกคนหนึ่งที่วางตัวไว้คือคุณลิขิต  คือคนที่คอยบันทึกเรื่องราวต่างๆ  ในครูอาสา ในสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ก็จะวางตัวกันเอาไว้อย่างนี้  แต่ว่ามันก็ไม่แน่ว่าจะเป็นอย่างนี้ได้ตลอดไป  เพราะว่าเราเป็นคนปฏิบัติ หากว่าในทีมเพื่อนคนใดหายไปต้องเล่นบทอื่นได้ด้วย  ทุกคนในทีมต้องทำได้ทุกอย่าง ทีนี้ก็นำแผนที่ร่างไว้อย่างหยาบๆ มาเสนอ      จนเกิดความคิดที่หลากหลายว่าอยากรู้อยากเรียนเรื่องของการพิจารณาโครงการ  อยากเรียนเรื่องการทำบัญชี  เรื่องสวัสดิการ  ออกมามากมายซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ารายละเอียดต่างๆ  คงจะมีอยู่ในเอกสารแล้ว    รวมทั้งว่าเวลาที่เราไปนอกจากเนื้อหาที่เขาจะเรียนรู้แล้ว  ลีลาการเรียนรู้ของแต่ละตำบลแต่ละพื้นที่มันไม่เหมือนกัน  ข้อจำกัดมากมายก็ให้ประสานไปทางคุณอำนวยที่จะต้องร่วมมือกับคุณกิจ  เรื่องนี้วิธีเรียนรู้ใดถึงจะเหมาะสม  ใช้สื่อใด  วิทยากรที่ไหนที่ต้องออกแบบร่วม  เพราะว่าวิทยากรกระบวนการไม่ใช่วิทยากรเนื้อหา  คุณอำนวยร่วมมือกับคุณกิจ  พิจารณาดูเป็นรายเนื้อหาว่าเนื้อหาไหนน่าจะมาก่อน  หรือชาวบ้านสอนกันเอง  หรือต่างหมู่บ้านต่างกลุ่มมาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกัน  คุณอำนวยจะต้องหูไวตาไวและจะต้องกำหนดออกมาให้ได้เป็นแผนปฏิบัติการการเรียนรู้  ทีนี้ก็ถึงขั้นที่ว่าเรียนรู้ตามแผนแล้ว  ในโครงการนำร่องเนื่องจากเป็นงบกลางปี  เราออกแบบไว้ให้คุณกิจมีกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด  6  เวที  6 ครั้ง   แต่ผลออกมามากกว่าที่เราตั้งเป้าเอาไว้  ซึ่งทุกครั้งที่คุณอำนวยทำกิจกรรมในพื้นที่แล้วทุกครั้งเราจะเอามาพูดคุยกันในวงคุณอำนวยเพื่อที่จะถอดบทเรียน  เราก็ถอดแบบลูกทุ่ง  คุณอำนวยจะมีการมีบันทึกเอาไว้ทุกครั้ง  เพื่อที่จะเป็นข้อมูลในการที่เราจะได้ถอด  สรุปว่าการทำแต่ละครั้งมันได้อะไรมาเป็น     องค์ความรู้บ้าง  อันนี้ก็เป็นกระบวนการขั้นตอนในการเรียนรู้ที่เราทำกัน  อย่างน้อยๆ มันก็เกิดความรู้สึกดีในการที่เรามาเป็นนักเรียน  มาเรียนรู้มาแบ่งปัน  ผลผลิตจริงๆ  ของการทำออมทรัพย์  กองทุนหมู่บ้านก็ดี   มันอาจจะยังไม่เห็นผลมากมาย    เพราะระยะเวลาแค่  6  เดือน  ทีนี้คุณอำนวยแต่ละคนก็จะต้องให้ข้อมูลเหมือนกัน  บางคนตั้งเป้าในกา

หมายเลขบันทึก: 12686เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2006 04:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท