คน 9 ลักษณ์ กับความเป็นนักกลยุทธ์


 

 ดิฉันได้รับการติดต่อจากนิตยสาร MBA ให้เขียนในหัวข้อความเป็นนักกลยุทธ์ จากมุมมองนพลักษณ์  ก็เลยเป็นที่มาของข้อความข้างล่างต่อไปนี้

 

คำถามที่  1 นพลักษณ์เกี่ยวข้องกับการเป็นนักกลยุทธ์อย่างไร

          

          ถ้าตอบตามทฤษฎีนพลักษณ์  พูดได้ว่าคนทุกลักษณ์มีศักยภาพในการเป็นนักกลยุทธ์เท่าเทียมกันโดยพื้นฐาน

          แต่คุณก็จะโต้แย้งดิฉันกลับมาว่า เท่าที่รู้จักคนแต่ละลักษณ์มีความเป็นนักกลยุทธ์ที่แตกต่างกันเท่าที่เคยสัมผัสมา  คำตอบคือ ถูกต้องแล้วค่ะ เพราะอะไร นพลักษณ์อธิบายได้ว่า เนื่องจากคนแต่ละลักษณ์สร้างโลกทัศน์ของตนเอง (กรอบวิธีคิด วิธีรู้สึก และการแสดงออกทางพฤติกรรม) และสร้างยุทธศาสตร์เฉพาะตน ที่จะเรียนรู้การดำรงชีวิตให้มีความสุขตามแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา เช่น

 

            คนลักษณ์ 1 มีโลกทัศน์ว่าโลกนี้จับผิดเรา คนลักษณ์ 1 จึงพัฒนาทักษะ และกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดคือ มองเห็นจุดบกพร่องในงาน ในชีวิต ในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว แล้วดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอยู่ตลอด ในกรณีที่คุณมอบหมายงานให้คนลักษณ์ 1 รับผิดชอบเป้าหมายขององค์กรสักเรื่องหนึ่ง คนลักษณ์ 1 จะแสวงหาเครื่องมือมาจัดการจนงานสำเร็จลุล่วงจนได้สิน่า มิเช่นนั้นจะไม่เลิกทำงานแน่นอน

 

            คนลักษณ์ 2 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้จะให้ ต่อเมื่อคนลักษณ์ 2 ต้องเป็นผู้ให้ก่อน ทักษะที่คนลักษณ์ 2 พัฒนาขึ้นมาคือ การทำทุกวิถีทางเพื่อชนะใจคนที่ตนเองต้องการให้เขายอมรับ คนลักษณ์อื่นๆ อาจจะวิจารณ์การกระทำของคนลักษณ์ 2 ว่าไม่ตรงไปตรงมา แต่ลักษณ์ 2 ก็ทำจนบรรลุความตั้งใจได้เสมอ ด้วยการอ้อมไปอ้อมมา หรือผลักดันผ่านมือที่สาม มือที่สี่ แล้วแต่สถานการณ์ บางคนก็เรียกพฤติกรรมทำนองนี้ว่า นักชักใย คือ ทำงานอยู่เบื้องหลัง ถ้าคุณมอบหมายให้คนลักษณ์ 2 ทำงานให้ถึงเป้าหมายบางอย่าง คุณจะพบว่า ทางเลือกของกลยุทธ์ที่อาศัยเครือข่ายที่เคยมีอยู่ทั้งของคุณ และของคนลักษณ์ 2 จะถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทุกสถานการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม

 

            คนลักษณ์ 3 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้จะยอมรับ หรือให้รางวัลตนเองเมื่อทำสำเร็จบรรลุเป้าหมาย  ดังนั้นจึงไม่ยากที่คนลักษณ์ 3 จะแสวงหาทุกวิถีทาง ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้งานสำเร็จ ดังนั้นคนลักษณ์นี้จึงมักไม่เคยสร้างกรอบให้ตัวเองว่า ฉันจะไม่ทำนั่น ไม่ทำนี่ แต่จะเป็นการสร้างศักยภาพให้ตัวเอง ด้วยการสะกดจิตตัวเองว่า ฉันทำได้ (ทุกอย่าง) ไม่เหมือนคนอีก 8 ลักษณ์ ที่จะมีกรอบของตัวเองที่มักจะไม่ทำบางอย่าง หรือทำเรื่องหนึ่งเรื่องใดยากมากๆ (เช่น คนลักษณ์ 1 ทำในสิ่งที่เรียกว่า ผิดพลาด หรือ บกพร่อง จะไม่ทำเด็ดขาด หรือคนลักษณ์ 4 จะไม่ทำในสิ่งที่เห็นว่า ธรรมดา เป็นต้น) ดังนั้นทักษะที่คนลักษณ์ 3 พัฒนามาตลอดชีวิต คือ ทักษะการปรับตัวได้อย่างยอดเยี่ยมที่จะเป็น และทำในสิ่งที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ให้บรรลุทุกวิถีทาง จนเป็นที่มาของการเรียกขานคนลักษณ์ 3 ว่า นักแสดง เพราะจะเป็นนักกลยุทธ์ที่ไร้ข้อจำกัดนั่นเอง

             คนลักษณ์ 4 มีโลกทัศน์ว่า โลกทอดทิ้ง ไม่เข้าใจ คนลักษณ์ 4 จึงแสวงหาความพิเศษ ความแตกต่าง ความไม่ธรรมดาอยู่ตลอดเวลา ตลอดชีวิต สิ่งที่จะเป็นจุดขายได้อย่างดีเยี่ยมเวลาคนลักษณ์ 4 ทำงาน คือ งานที่แตกต่าง ไม่ธรรมดา ไม่เหมือนกับชาวบ้านเขานั่นเอง นอกจากนั้นก็ยังมีลักษณะพิเศษคือ กินใจ อีกด้วย

            แต่อาจจะยากสักหน่อยในการมอบหมายงานเชิงกลยุทธ์ให้ลักษณ์ 4 ทำ ถ้าเขา หรือเธอไม่เห็นว่ามันเป็นงานที่ท้าทาย หรือพิเศษพอ ในทางตรงกันข้าม หากคุณต้องการคอนเซ็ปต์ของงานแบบประเภท หลุดโลก  เลือกใช้คนลักษณ์ 4 เถอะ รับประกันคุณภาพ หรืองานประเภท ลึกซึ้ง กินใจ ซึ่งคุณจะต้องเปิดใจให้กว้างด้วยในการมอบหมายงานทำนองนี้ให้คนลักษณ์ 4

 

            คนลักษณ์ 5 มีโลกทัศน์ว่า โลกเรียกร้องมากเกินไป มีทรัพยากรน้อยเกินไป จึงพัฒนาทักษะในการแสวงหาข้อมูล ความรู้ ไว้เต็มแน่น ทักษะที่พัฒนาขึ้นจนเป็นเรื่องง่ายของคนลักษณ์ 5 คือ การทำตัวออกมาเป็นคนสังเกตการณ์ มากกว่าที่จะเอาตัวเข้าไปคลุกวงใน เมื่อสังเกตแล้วก็วิเคราะห์ข้อมูลออกมาเป็นส่วนๆ อย่างเป็นกลางๆ ดังนั้น จึงเหมาะที่จะมอบหมายให้วิเคราะห์ หรือมองหากลยุทธ์ให้องค์กร คนลักษณ์ 5 สามารถตอบโจทย์ให้คุณได้มากมาย แถมวิเคราะห์ทางหนีทีไล่ให้เสร็จสรรพ แต่หากจะมอบหมายให้คนลักษณ์ 5 ลงมือทำ (Implement) คงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป เพราะคนลักษณ์ 5 บางคนที่ยังไม่สามารถข้ามพ้นกับดักบุคลิกภาพของตนเองได้ ก็จะไม่ชอบที่จะทำงานแบบลงไม้ลงมือปฏิบัติเท่าใด ไม่ชอบยุ่งกับผู้คน รวมถึงไม่ชอบให้ผู้คนมายุ่งกับตนเองนัก ชอบที่จะนั่งคิด วิเคราะห์ หรือทำตัวเป็นเสนาธิการให้เท่านั้น

 

            คนลักษณ์ 6 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้อันตราย จึงพัฒนาทักษะของการสงสัยต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวว่าจะอันตรายหรือไม่ อย่างไร และมองหาทางหนีทีไล่ ในทำนองป้องกันไว้ก่อนในทุกเรื่องที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต คนลักษณ์ 6 เหมาะเป็นอย่างยิ่งในการช่วยทำ Risk Management ในองค์กร เพราะจะมีความรอบคอบเสมอสำหรับสิ่งที่จะเป็นความเลวร้ายในอนาคต 

 

            คนลักษณ์ 7 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้จำกัด จึงพัฒนาตนเองให้มีความว่องไวเป็นพิเศษกับทักษะเรื่องการวางแผน และการสร้างทางเลือก เพื่อหลบหนีไปให้พ้นเสียจากสภาพที่ตนเองถูกจำกัด ถ้าหากคุณต้องการคนคิดกลยุทธ์ทีมีความหลากหลาย ยึดหยุ่น และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อาจจะต้องพึ่งพาคนลักษณ์ 7 ได้ดี แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากจะให้ปฏิบัติหรือลงมือทำงานคงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป เช่นเดียวกับคนลักษณ์ 5 เพราะในระหว่างการทำงานถ้าคนลักษณ์ 7 เบื่อ หรือรู้สึกถูกจำกัด .... คุณคงนึกออกว่าเขาหรือเธอจะทำอย่างไร... แล้วงานของคุณจะเป็นอย่างไร

 

            คนลักษณ์ 8 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้ไม่ยุติธรรม จึงมักที่จะแสดงออกมาในทางปกป้องคุ้มครองคนที่อ่อนแอ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม คนลักษณ์ 8 มีพลังเหลือเฟือในการทำงาน พร้อมเป็นตัวชนให้กับองค์กรเสมอ แต่อาจจะมีความตรงไปตรงมาสูง ชนก็ชนกันตรงๆ ไม่มีการอ้อมค้อมใดๆ แต่คนลักษณ์ 8 บางคนที่มีสติรู้ทันตนเองรู้จุดอ่อนตนเองตรงนี้แล้ว จะสามารถทำงานให้มีสไตล์ที่นุ่มลง มีกลยุทธ์ในการจัดการกับเรื่องราวต่างๆ และผู้คนได้อย่างอ่อนโยนขึ้น

             คนลักษณ์ 9 มีโลกทัศน์ว่า โลกนี้ไม่ให้ความสำคัญ และมองข้ามตนเอง จึงพัฒนาทักษะในการเอาอกเอาใจ ช่วยเหลือ มีน้ำใจต่อคนทุกคน ยกเว้นตัวเอง และมีศักยภาพในการทำความเข้าใจมุมมองของคนอื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย จนบางครั้งคนลักษณ์อื่นจะมองว่าคนลักษณ์ 9 เล่นการเมือง ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนเป็นของตัวเอง  

คำถามที่ 2 ถ้าจะวิเคราะห์คน 9 ลักษณ์ กับคุณลักษณะของการเป็นนักกลยุทธ์ได้อย่างไร

          จากข้อมูลข้างบนจะเห็นว่า คนแต่ละลักษณ์จะมีความสามารถพิเศษ ความเชี่ยวชาญในการใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน แต่ธรรมดาของคน (ทุกลักษณ์) ที่จะต้องเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง คนหลายๆ คนพัฒนาทักษะอื่นๆ ที่มิใช่ทักษะหลักของลักษณ์ตนเอง เพื่อการอยู่รอด ดังนั้นการใช้นพลักษณ์เพื่อมอบหมายงานแบบหยาบๆ คงไม่ได้เป็นวิถีทางที่เหมาะสมนัก

คำถามที่ 3 ถ้าคุณเป็นผู้บริหารระดับสูง จะมอบหมายงานเชิงกลยุทธ์ให้กับคน 9 ลักษณ์อย่างไร

          ขอตอบว่า ควรมอบหมายงานตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ไม่จำเป็นต้องพิจารณาความเป็นลักษณ์ของเขามากนัก เพราะแต่ละคนจะอยู่ในระดับของความเป็นลักษณ์ที่แตกต่างกัน เช่น คนที่จมอยู่กับลักษณ์ของตนเอง ไม่สามารถข้ามพ้นบุคลิกภาพของลักษณ์ตนเองได้ ก็จะไม่มีความสุขนักในการทำงาน ไม่สามารถปรับตัวได้ดี เหมือนที่ยกตัวอย่างกรณี ลักษณ์ 5 และลักษณ์ 7 ข้างต้น

             นพลักษณ์จะเป็นเครื่องมือที่ดี หากผู้บริหารนำไปประยุกต์ใช้โดยให้พนักงานแต่ละคนรู้จักตัวเอง และแสวงหาแนวทางในการทำให้ตัวเองพ้นจากข้อจำกัด และพัฒนาจุดแข็งของตน ซึ่งนพลักษณ์จะทำให้เกิดบรรยากาศของการทำงานอย่างมีความสุข และส่งผลโดยอ้อมให้องค์กรมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล จากการเพิ่มความสุขให้คนในองค์กรอย่างยั่งยืน มิใช่เป็นเครื่องมือสำหรับการเลือกใช้คนให้เหมาะกับงาน โดยไม่เปิดโอกาสให้เขาข้ามพ้นตัวตนของตัวเองค่ะ
หมายเลขบันทึก: 126836เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2007 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ อาจารย์อัญชลี - อุชชิน

ดิฉันจำได้ว่าเคยได้อ่านเกี่ยวกับเรื่องนพลักษณ์ครั้งแรกก็จากนิตยสาร MBA ค่ะ แล้วก็มาได้เจอบล็อกของอาจารย์ใน GotoKnow  ต้องขอบคุณอาจารย์มากค่ะ ที่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเรื่องนพลักษณ์ให้ผู้อ่านหลายๆ ท่านได้ศึกษาคะ

ส่วนตัวดิฉันเองเคยได้เข้ามาอ่านบล็อกบ้างแต่ก็ยังไม่ได้ฝากความคิดเห็นไว้ เลยขอทักทายอาจารย์ผ่านบันทึกนี้นะค่ะ  ดิฉันเองอยากจะทราบเหมือนกันว่าตนเองเป็นคนลักษณ์ใด  คือยังไม่กล้าฟันธงนะคะ คิดไว้ว่าจะมาอ่านบันทึกของอาจารย์ในนี้อีกครั้ง แล้วจะได้ประเมินตนเองอีกครั้งคะ

ขอบคุณมากนะค่ะ :)

ขอบคุณค่ะ คุณมะปรางเปรี้ยว ที่แวะมาทักทาย

เห็นว่าที่นี่มีคนรู้จักนพลักษณ์บ้างแล้ว เลยแวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันค่ะ

ส่วนเรื่องการค้นหาลักษณ์ของตนเอง ไม่ต้องรีบร้อนค่ะ ค่อยๆ ดูค่ะ (เป็นการฝึกเจริญสติไปในตัวด้วยค่ะ)

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถแวะเข้าไปอ่านในเว็บไซด์ของ สมาคมนพลัษณ์ไทย ที่ www.enneagramthailand.com ได้ค่ะ หรือไปคุยกันในกระดานสนทนาของที่นั่นก็ได้ค่ะ .... ยินดีต้อนรับทุกท่านค่ะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์อัญชลี

ขอบคุณมากๆ ค่ะที่แวะไปทักทายในบันทึกเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการจัดการ จากการประชุม 

เรื่องนพลักษณ์ดิฉันคิดว่าคงต้องศึกษาให้มากกว่านี้หน่อยคะ ถึงจะสามารถระบุได้ว่าตนเองเป็นคนลักษณ์ใด แถมอาจจะต้องแวะมาปรึกษาอาจารย์เพิ่มเติมด้วยนะค่ะ :)

ผมอ่านหมดทุกบันทึกของบล็อกนี้แล้วครับ ได้ความรู้มากครับ - ผมคนเจ็ดครับ จะไปเข้าร่วมอบรมขั้นกลางของสมาคมนพลักษณ์ ๒๒ - ๒๔ ก.ย.นี้ด้วยครับ

P
อาจารย์สุรเชษฐ คะ ไว้เจอกันในที่อบรมค่ะ
ขอบพระคุณค่ะที่แวะมาอ่าน และทักทาย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท