ลิงตัวที่หนึ่งร้อย ตอนที่ 2


“ปรากฎการณ์เรื่อง "ลิงตัวที่หนึ่งร้อย" นำมาซึ่งเหตุการณ์มากมายที่มีผู้ออกมาตั้งคำถามและข้อสังเกตเกี่ยวกับ การถ่ายทอดพฤติกรรมผ่านมิติเวลา เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์และสัตว์ที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเสมือนหนึ่งว่า เมื่อใครคนใดคนหนึ่งคิดค้น เป้าหมาย และ วิถีปฏิบัติ ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ก็จะเกิดคลื่นสั่นสะเทือนไปยังการรับรู้ของคนอื่นๆ ด้วย และด้วยคลื่นความคิดนั้น ถ้ามีผู้ใดที่รับได้เร็วและชัดก็จะสามารถคิดและปฏิบัติในสิ่งที่คล้ายๆ กันออกมาได้”
เคยเขียนบทความเรื่อง ลิงตัวที่หนึ่งร้อย เผยแพร่ลงใน  Blog ชื่อเดียวกันกับคอลัมน์นี้ คือ สร้างสังคมฐานความรู้ด้วย IT ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2549 และมีอาจารย์จากคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ส่งข้อความมาขอลิงค์ลงใน Blog ของตนเอง แสดงว่าเนื้อหาที่นำเสนอคงมีสาระดี ๆ ถูกใจอยู่บ้าง(ท่านที่สนใจติดตามอ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/buildchumphon/28054) ผมได้ค้นคว้าข้อมูลมานำเสนอเอาไว้ว่า

"...การทดลองที่มีชื่อเสียงรู้จักกันในนิยาม "ลิงตัวที่หนึ่งร้อย" โดย Lyall Watson นักชีววิทยาที่มีชื่อเสียงได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาในปี 1979 ในการทดลองกับฝูงลิงชนิดเดียวกันที่อยู่รวมกันหลายร้อยตัวที่ชายฝั่งทะเลโกชิมา เกาะเกียวชูประเทศญี่ปุ่น นักวิจัยได้นำเอามันเทศหวานที่ลิงฝูงนี้ไม่เคยกินเคยเห็นมาก่อนมาเทลงบนชายหาดที่เป็นโคลนปนทราย แน่นอนที่มันเทศจะต้องเปรอะเปื้อนดูไม่น่ากิน และพวกลิงก็ไม่เคยกินมันเทศมาก่อน ดังนั้น ในตอนแรกก็ไม่มีลิงสักตัวจะสนใจแม้แต่จะเข้าไปดู หลายชั่วโมงต่อมาก็มีลิงสาวที่ดูท่าทางฉลาดเฉลียวมากกว่าเพื่อน ๆ ในฝูง ได้เดินไปหยิบมันเทศหัวหนึ่งขึ้นมาดู แล้วก็เอาไปแกว่งในน้ำทะเลจนสะอาดขึ้น เมื่อทดลองกัดกินรสหวานของมันเทศกับรสเค็มของน้ำทะเลทำให้ลิงสาวชอบก็เลยกินมันเทศจนหมดหัว และต่อมามันก็ได้สอนให้แม่กับลิงหนุ่มที่เป็นแฟนให้ลองกินดู ทั้งสามตัวก็เลยกินมันเทศกันอย่างสนุกสนาน โดยลิงตัวอื่นบ้างก็สนใจมาทดลอง บ้างก็ไม่สนใจ จนชั่วระยะเวลาหนึ่งลิงที่มาลองกินมันเทศก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ที่แปลกมากก็คือ เมื่อจำนวนของลิงที่มากินถึงจุดหนึ่ง เรียกว่า มวลวิกฤติ : Critical Mass (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็นตัวที่หนึ่งร้อยพอดีตามที่นิยามไว้ข้างต้น) ทันใดนั้นเองลิงทุกตัวที่อยู่ในฝูงต่างกรูลงมาที่ชายฝั่งพร้อม ๆ กันแย่งกันหยิบหัวมันเทศและวิ่งไปแกว่งในน้ำทะเล กัดกินอย่างพร้อมใจกันเหมือนกับว่ามันมี สัญญาณลับ อยู่ที่ลิงตัวที่วิกฤตตัวนั้น แค่นี้ยังไม่พอนักวิจัยทดลองย้ายสถานที่ไปวิจัยกับลิงฝูงอื่นบ้าง ที่เกาะทากาซากิยาม่าที่อยู่ห่างออกไป ลิงที่อยู่บนเกาะนี้เป็นฝูงลิงอีกพันธุ์หนึ่งและก็ไม่เคยเห็นไม่เคยกินมันเทศมาก่อนเลยเหมือนกัน พอนักวิจัยเทมันเทศลงไปบนชายหาดที่เป็นโคลน ทันใดนั้นเองลิงทุกตัวทั้งฝูงก็วิ่งลงมาแย่งหยิบเอาหัวมันเทศ นำไปแกว่งในน้ำทะเลและกัดกินทันทีอย่างกับว่ามันเคยกินวิธีนี้กันมาก่อน..."

ผมสรุปความคิดของตนเองเอาไว้ในตอนนั้นว่า ปรากฎการณ์เรื่อง "ลิงตัวที่หนึ่งร้อย" นำมาซึ่งเหตุการณ์มากมายที่มีผู้ออกมาตั้งคำถามและข้อสังเกตเกี่ยวกับ การถ่ายทอดพฤติกรรมผ่านมิติเวลา เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์และสัตว์ที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเสมือนหนึ่งว่า เมื่อใครคนใดคนหนึ่งคิดค้น เป้าหมาย และ วิถีปฏิบัติ ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ก็จะเกิดคลื่นสั่นสะเทือนไปยังการรับรู้ของคนอื่นๆ ด้วย และด้วยคลื่นความคิดนั้น ถ้ามีผู้ใดที่รับได้เร็วและชัดก็จะสามารถคิดและปฏิบัติในสิ่งที่คล้ายๆ กันออกมาได้

ในช่วงนี้กำลังอ่านหนังสือว่าด้วยเรื่อง ภาวะผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่ เขียนโดย มาร์กาเร็ต เจ. วีตเลย์ นักเขียนที่ผมเฝ้าติดตามผลงานด้วยความสนใจเป็นพิเศษ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ

“…ในทางชีววิทยา เชลเดรค ได้สร้างแนวความคิดที่ขัดแย้งเกี่ยวกับสนาม เขาได้วางสมมุติฐานว่า มีสนามรูปหนึ่งซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ สนามแบบนี้มีพลังในตัวเองน้อยมาก แต่ว่าสามารถจัดรูปของพลังงานที่มาจากแหล่งอื่น ๆ ได้ สนามรูปนี้สร้างขึ้นมาจากทักษะที่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกันสั่งสมไว้ตลอดเวลาที่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หลังจากที่สมาชิกจำนวนหนึ่ง ไม่กำหนดจำนวน (มวลวิกฤติ = Critical Mass) ของสายพันธุ์ใดเรียนรู้พฤติกรรมหนึ่ง ๆ สมาชิกอื่นในสายพันธุ์เดียวกันจะสามารถเรียนรู้ทักษะเดียวกันนั้นได้ง่ายขึ้น มีการสะสมพฤติกรรมไว้ในสนามรูปนี้ และเมื่อพลังงานใด ๆ ของสิ่งมีชีวิตไปรวมตัวกับมันเข้า สนามนั้นก็จะร้างแบบแผนของพฤติกรรมให้กับสิ่งมีชีวิตนั้นโดยไม่ต้องเรียนรู้ทักษะนั้นเลย เพียงแต่ดึงทักษะนั้นออกมาจากสนาม เป็นการเรียนรู้ผ่าน ความสอดคล้องกันของรูป ดังที่ เชลเดรค อธิบายว่าเป็นกระบวนการเมื่อสิ่งมีชีวิตได้รับอิทธิพลจากผู้อื่นที่คล้ายกับตัวมัน ส่วน โบห์ม บอกว่า สนามเหล่านี้บอกถึง คุณภาพของรูปแบบที่เก็บไว้ด้วยพลังงานของผู้รับ …”

นำมาเขียนเพิ่มเติมไว้ในคอลัมน์นี้และเผยแพร่ลงใน Blog เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกติดตามโจทย์ที่เฝ้าถามตัวเองอยู่เสมอว่า อะไรคือ มวลวิกฤติ ทั้งด้านดีและด้านลบ ที่เป็นปัจจัยผลักดันสังคมชุมพรให้เป็นอยู่ดังเช่นทุกวันนี้.

 

 

คำสำคัญ (Tags): #critical mass
หมายเลขบันทึก: 126177เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2007 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท