หนูไม่เกี่ยว : เรื่องเล่าจากบ้านผู้หว่าน


หนูไม่เกี่ยว : เรื่องเล่าจากบ้านผู้หว่าน

         ผมได้ความคิดนี้ตอนเข้าห้องน้ำเช้ามืดวันนี้   ใจมันคิดทบทวนเหตุการณ์ที่บ้านผู้หว่านในช่วงวันเสาร์ - อาทิตย์ที่ผ่านมา   ผมสังเกตว่าใจผมมันคล้าย ๆ เครื่องฉายหนัง   มันชอบกรอหนังกลับเอามาดูซ้ำอยู่เสมอ   และผมขอบคุณใจของผมที่ฉายเหตุการณ์ตอนจะเริ่มต้นกิจกรรม AAR ให้ผมได้ตกผลึกหลักการ   และคำอธิบายพฤติกรรมที่สำคัญยิ่งต่อกิจกรรม KM ในองค์กร

        พอจะทำ AAR   ผมก็เดินไปบอก 3 สาวที่เป็นเจ้าหน้าที่สนับสนุนของ พอช.   ที่มาจัดทำเอกสาร  ดูแลเรื่องธุรการต่าง ๆ ของการประชุม   ว่าให้มาเข้าวง AAR ด้วย   ทั้ง 3 คนทำรี ๆ รอ ๆ   จนผมต้องเดินไปบอกอีกหนก็ยังรี ๆ รอ ๆ   คล้าย ๆ จะบอกว่า "หนูไม่เกี่ยว" เพราะการประชุมนี้ผู้มาร่วมคือผู้บริหาร   แต่พวกหนูเป็นเจ้าหน้าที่ตัวเล็ก ๆ    จนผมต้องประกาศกลางวงด้วยไมโครโฟนว่าทุกคนที่มาขอให้มาเข้าวงทุกคน   ซึ่งตอนนั้นเราจัดที่นั่งใหม่แล้ว   ให้นั่งเรียงตั้งแต่อายุน้อยไปจนถึงอาวุโสสูงสุด   สามสาวนี้จึงนั่งที่เก้าอี้ 3 ตัวแรกของวง (ดูรูป)   และร่วมทำ AAR ด้วย

                               

                    ๓ สาวทางซ้ายมือ คือ ครูของผม ทำให้เกิดเรื่องเล่านี้

                             

             คุณพิชัย รัตนพล ประธานคณะกรรมการ พอช. กำลัง AAR

        ผมลืมอธิบายต่อที่ประชุมว่านี่คือเทคนิคการสร้าง "การมีส่วนร่วม" แบบไม่เป็นทางการของพนักงานทุกคน   คือจะไม่มีการคิดหรือกระทำว่างานนี้เป็นของหน่วยนั้นเราไม่เกี่ยว   งานนี้เป็นเรื่องของผู้บริหาร  เราไม่ใช่ผู้บริหารไม่เกี่ยว   3 สาวนี้เกี่ยวข้องกับการสัมมนาเพราะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนา   แม้จะไม่ใช่ฐานะ "ผู้แสดงหลัก"   แต่ก็มาในฐานะ "ผู้สนับสนุน"

       ในการทำ AAR  ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับงานหรือกิจกรรมจะให้ความเห็นและมุมมองตามจุดยืนหรือบทบาทของตน

        เมื่อทำเช่นนี้จนเป็นวัฒนธรรมองค์กร   ก็จะเปลี่ยนจาก "หนูไม่เกี่ยว" เป็น "หนูมีส่วนร่วม"  "หนูมีความเห็นอย่างนี้"   "หนูตีความว่าอย่างนี้"

        ผลก็คือทุกคนจะเห็นและเข้าใจงานในภาพรวมขององค์กร  เห็นความเชื่อมโยงระหว่างภารกิจหลักของตน   กับภารกิจหลักของเพื่อนร่วมงาน  โยงกับเป้าหมายหลักขององค์กร

         นี่คือประโยชน์ของ AAR

         ต้องถือปฏิบัติว่าต้องให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมร่วมทำ AAR

         เป็นวิธีปฏิบัติที่ทำให้คนซึมซับการคิดแบบเชื่อมโยงโดยไม่รู้ตัว   เป็นรูปธรรมของการฝึก Systems Thinking นั่นเอง

วิจารณ์  พานิช
 16 ม.ค.49

คำสำคัญ (Tags): #aar#systems#thinking
หมายเลขบันทึก: 12607เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2006 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดูๆแล้วๆน้องๆทั้ง 3 คน คงจะเครียดมิใช่น้อยในตอนแรกๆ อยากทราบว่าหลังจากได้ AAR แล้ว น้องๆมีความคิดเห็นอย่างไร ช่วยเล่าให้ฟังได้ไหมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท