ความเป็นผู้นำของคน ลักษณ์ 7 (ผู้นิยมเสพสุข)


จุดแข็งของผู้นำลักษณ์ 7 จึงอยู่ที่ความสามารถในการสร้างทางเลือก มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนที่คิดเร็ว สามารถทำงานได้หลายอย่างในขณะเดียวกัน และสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ได้ดี

สำหรับผู้นำลักษณ์ 7 หรือ ที่เราเรียกว่า ผู้นิยมเสพ (สุข) บุคลิกภาพภายนอกโดยทั่วไปมักเป็นคนที่คุยสนุก ร่าเริง มองโลกในแง่ดี

                 แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะผู้เขียนได้รับเสียงกระซิบจากภรรยาเจ้าของธุรกิจใหญ่ในเมืองโคราช คนลักษณ์ 7 ว่า ในที่ทำงานคุณสามีเป็นคนเข้มงวดมาก อารมณ์เสียง่าย ดูเป็นคนละคนกับสามีคนที่อยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ  กรณีนี้ นพลักษณ์อธิบายได้ว่า เมื่อคนลักษณ์ 7 อยู่ในสภาพเครียด จะไปใช้พฤติกรรมของคนลักษณ์ 1 คือ เจ้าระเบียบ จู้จี้ มาตรฐานสูง เมื่อคนลักษณ์ 7 อยู่กับภาวะดังกล่าวนานๆ เข้า ก็จะมีบุคลิกภาพที่ต่างไปจากคนลักษณ์ 7 ทั่วๆ ไปได้

                  อย่างที่มักจะเน้นย้ำกันบ่อยๆ ว่า การตัดสินว่าใครเป็นลักษณ์ใดนั้น ไม่สามารถดูได้จากบุคลิกภาพ หรือ พฤติกรรมภายนอก หากแต่ต้องดูที่แรงจูงใจเป็นหลัก

แรงจูงใจหลักของคนลักษณ์ 7 คือ  การหลีกหนีจากความทุกข์ หรือ สิ่งที่เป็นข้อจำกัด โดยมีกลไกสำคัญที่ช่วยเหลือตลอดเวลา คือ การให้เหตุผล ทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่ทุกข์ ทำให้หลุดไปจากสภาพที่ถูกจำกัด จนเป็นพฤติกรรมที่หลายคนเห็นแล้วเรียกกันว่า มองโลกในแง่ดี และ มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งในหมู่ผู้บริหารมักจะเอ่ยปากชม ผู้นำลักษณ์ 7 ว่า คิดได้อย่างไร เป็นประจำ เนื่องจากสามารถพลิกแพลง ปรับเปลี่ยนมุมมองได้หลากหลาย ไม่จนต่อปัญหาอุปสรรค

 

มีเรื่องเล่าติดปากในแวดวงนพลักษณ์ว่า สำหรับคน 7 แล้ว ทุกปัญหา มีทางออก  ซึ่งแตกต่างจาก คนลักษณ์ 6 มักพบว่า ทุกทางออก มีปัญหา จุดนี้เป็นการใช้พลังทางความคิด (ศูนย์หัว) ที่แสดงออกแตกต่างกันในคนศูนย์เดียวกัน ถ้าจะล้อกันเล่น ก็จะพบว่า คนลักษณ์ 5 มักจะ ถอนตัวออกจากปัญหา

 

คนลักษณ์ 7 และคนลักษณ์ 6 มีพลังทางความคิดที่ว่องไว รวดเร็ว แต่ใส่ใจในคนละมุมมอง ขณะที่คนลักษณ์ 5 ค่อยๆ ใช้ความคิดละเลียดกับข้อมูล วิเคราะห์ แยกแยะ

 

             จุดแข็งของผู้นำลักษณ์ 7  จึงอยู่ที่ความสามารถในการสร้างทางเลือก มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนที่คิดเร็ว สามารถทำงานได้หลายอย่างในขณะเดียวกัน และสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ได้ดี

  เราจะพบว่าองค์กรที่มีผู้นำลักษณ์ 7 เป็นหัวหอกนั้น จะไม่ค่อยอยู่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพราะผู้นำขยันคิดโปรเจ็คโน้น นี้ นั้น มาให้คนในองค์กรได้เกิดความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา

แต่ด้วยการมีความคิดใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลานี่เอง ในมุมกลับกัน เราก็มักจะพบปัญหากับผู้นำลักษณ์ 7 ในเรื่องของความต่อเนื่องของการทำงาน ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองแต่อนาคต จึงไม่ค่อยใส่ใจงานในปัจจุบันเท่าใดนัก มักมอบหมายให้เป็นบทบาทหน้าที่ของลูกน้อง หรือทีมงาน และในหลายกรณีการคิดโครงการก็ขาดรายละเอียด แต่พอทำไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็มักจะมองว่าลูกน้องไม่มีประสิทธิภาพ (ใช้กลไกเรื่องการให้เหตุผลเข้าข้างตนเองว่า ตนเองไม่ได้พลาด แต่ลูกน้องทำพลาดเอง) เรื่องนี้ผู้นำลักษณ์ 7 ควรจะต้องหันมาพิจารณาประเด็นนี้ด้วย มิเช่นนั้นจะไม่มีทีมงานที่จะอดทนทำงานอยู่ด้วยนานๆ ได้

 

ผู้นำลักษณ์ 7 ที่รู้จุดอ่อนของตัวเอง หรือที่รู้จักตัวเองว่า มักโฉบไปเรื่อยๆ จำเป็นต้องมีทีมงานสนับสนุนที่เข้มแข็ง ถ้าจะดูตัวอย่างก็มีให้เห็นกรณี อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก คอยตามเก็บรายละเอียดให้นอกเหนือไปจากการนำวิสัยทัศน์ของท่านมาแปลงเป็นนโยบาย

 

ด้านสัมพันธภาพ ผู้นำลักษณ์ 7 มักไม่ค่อยมีกำแพงในการสื่อสารเท่าใดนัก แต่ความอดทนที่จะฟังคนอื่นของผู้นำลักษณ์ 7 จะไม่ค่อยมากนัก  เพราะมักจะชอบพูดหรือบอกเล่าเรื่องของตัวเองมากกว่า ถ้าจะให้ข้อมูลกับหัวหน้างานลักษณ์ 7 ต้องสั้น กระชับ ไม่ต้องร่ายยาว ยิ่งเรื่องราวของความทุกข์ยาก ลำบากกาย ลำบากใจ ด้วยแล้ว คนลักษณ์ 7 ไม่ชอบฟังเป็นอย่างยิ่ง ยกเว้นผู้นำลักษณ์ 7 ที่รู้จุดอ่อนของตัวเอง และมีการพัฒนาตัวเองมาระดับหนึ่ง จะฝึกฟังและรับรู้เรื่องราวของผู้อื่นได้ดีขึ้น นี่คือ เรื่องที่ยากมากของคนลักษณ์ 7 ที่ต้องฝึกฝน และข้ามไปให้พ้น (การอยู่กับความทุกข์ หรือ การอยู่กับข้อจำกัด ที่จำกัดตนเองจากประสบการณ์กันสนุกสนาน มีชีวิตชีวา) 

 

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัย ว่าเรื่องง่ายๆ แค่นี้ทำไมทำได้ยาก นี่แหละคือ เสน่ห์ของเอ็นเนียแกรม หรือ นพลักษณ์ ที่ทำให้เรารู้จุดอ่อนของตัวเอง เหมือนกับที่คนลักษณ์ 7 มักจะมองว่า ทำไมเรื่องง่ายๆ เช่น การบอกว่าตัวเองต้องการอะไร ทำไมเรื่องแค่นี้คนลักษณ์ 2 ทำไม่ได้ เพราะเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในชีวิตของคนลักษณ์ 2 และลักษณ์อื่นๆ ก็มีจุดอ่อน หรือเรื่องที่ทำได้ยากของตนเองทั้งสิ้น ซึ่งหากมองไม่เห็น ก็ไม่สามารถที่จะเรียนรู้ และก้าวข้ามมันได้ ในทางพุทธศาสนามักจะใช้คำว่า การตกอยู่ในหลุมกิเลสของตนเอง เดินทีไร ก็ตกลงไปในหลุมเดิม ปัญหาเดิมๆ หากเราไม่รู้ตัวเพียงพอ

                   นพลักษณ์ ก็เปรียบเสมือนแผนที่ชีวิต ที่บอกเราได้ว่า เราจะต้องข้ามอะไร เพื่อไม่ให้ตกร่อง ตกหลุมเดิมๆ ในชีวิต ทั้งเรื่องครอบครัว และในชีวิตการทำงาน

  *************************                    

                    ท่านผู้อ่านที่สนใจจะศึกษาแง่มุมของนพลักษณ์สำหรับการทำงานในองค์กร ตอนนี้มีหนังสือให้ท่านศึกษาเพิ่มเติมแล้วค่ะ ขอประชาสัมพันธ์หนังสือน่าอ่านสักหนึ่งเล่มนะคะ  ปั้นคน ให้เก่งคน - หนังสือประยุกต์ใช้เอ็นเนียแกรมในการทำงาน
แปลจาก Brining Out the Best in Yourself at Work : How to Use the Ennegram System for Success เขียนโดย ด๊อกเตอร์ จินเจอร์ ประธาน International Enneagram Association. 


                   หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยกรณีศึกษาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นของคนแต่ละสไตล์เอ็นเนียแกรม ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น
การสื่อสาร การบริหารความขัดแย้ง และ การพัฒนาความเป็นผู้นำ  สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือใหญ่ๆ ทั่วไป

หมายเลขบันทึก: 125556เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2007 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 19:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บทความชัดกระชับ ชอบ

ผมเป็นหนึ่งในคนลักษณ์ 7

พึ่งได้เปิดมาอ่าน และพิจารณาตัวพลัน

 

  • ยินดีที่ได้รู้จักคุณ P ค่ะ
  • แล้วแวะมาเยี่ยม มาอ่าน มาพูดคุย กันอีกนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท