อันเนื่องมาจากการฝึกอบรมเรื่อง Competency


โดยเน้นหนักในการทำ Workshop กันเป็นหลัก ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นพระเอก-นางเอก แสดงออกกันอย่างเต็มที่ บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า “ความรู้อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ”

เมื่อวันที่ 22 – 24 สิงหาคม 2550 ผมได้รับโจทย์ร้อน ๆ จากศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดชุมพรให้ช่วยจัดการฝึกอบรม เรื่อง โครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อวิเคราะห์ Competency กลุ่มเป้าหมายคือ พนักงานของสถานประกอบการและบุคลากรภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ ในการวิเคราะห์ตำแหน่งงาน และการพัฒนาบุคลากรในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กำหนดการซึ่งแสดงหัวข้อการฝึกอบรม และเอกสารพิมพ์จากไฟล์ PowerPoint ที่ได้รับมาปึกใหญ่ ไม่ได้ให้ความชัดเจนในการทำงาน พลิกอ่านไปมา 2-3 รอบ ก็เกิดความรู้สึกว่า นี่ถ้าต้องสอนตามนี้ทั้งหมดคงจะเกิดอาการที่ผมเรียกว่า บ้าใบ คือ อบ รม บ่ม เพาะ กันไป แต่สุดท้ายไม่ทำให้เกิดดอก ออกผล ออกแต่ใบให้เห็นเขียว ๆ กันอย่างเดียว

อาการ บ้าใบ ยังติดตามมาเมื่อเข้าไปค้นหาและ Download เอกสารการฝึกอบรมของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทางอินเตอร์เน็ท มีแต่คำอธิบายความหมายของ Competency, DACUM ที่แปลมาจากตำราวิชาการ (ทั้งดุ้น) ตามมาด้วยแผนภาพ Diagram ที่สลับซับซ้อน โยงไปโยงมาน่าเวียนหัว นึกถึงภาพที่ท่านเหล่านั้นกำลังอธิบาย คงจะ อวดอ้าง (Show & Reference) กันมันส์ปาก ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะท่านพูดไทยคำ อังกฤษห้าคำ เป็นการแสดงออกถึงความเก่งกาจสามารถในแบบที่เราเคยชิน

แต่ในเวทีระดับ ผู้ปฏิบัติ หลับแน่นอน...ถ้าไม่สามารถดึงการมีส่วนร่วมและสร้างความน่าสนใจให้เกิดขึ้นได้จริง ผมจึงตัดสินใจขออนุญาตเจ้าของโครงการฯ ปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการฝึกอบรมเสียใหม่ พร้อมทั้งให้สัญญาว่า จะพาไปให้ถึงความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความสามารถในการวิเคราะห์ Competency & DACUM ออกมาเป็นผลสำเร็จให้จงได้ โดยผมจะเน้นหนักในการทำ Workshop กันเป็นหลัก ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นพระเอก-นางเอก แสดงออกกันอย่างเต็มที่ บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า ความรู้อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ

วันแรกผมเริ่มต้นด้วยการบรรยาย เรื่อง บริหารชีวิต-บริหารคุณธรรม โดยใช้เทคนิค เรื่องเล่าเร้าพลัง (Storytelling) จากประวัติชีวิตของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม, พี่เลี่ยม บุตรจันทา ฯลฯ เพื่อให้ตระหนักในคุณค่าของทุนความรู้ ทุนมนุษย์ ทุนทางสังคมในองค์กร พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนออกมานำเสนอผลการวิเคราะห์ งบดุลชีวิต ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง

จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาหลัก โดยใช้รูปแบบการบรรยายเนื้อหา 20% และการแบ่งกลุ่มทำ Workshop ตามประเด็นที่ถูกออกแบบมา 80% ตลอดการฝึกอบรมเราสนุกกับ Workshop ใหม่ ๆ กันถึง 5 ครั้ง ดังนี้

  1. CRC Competency Model : แผนสร้างคนรองรับธุรกิจเซ็นทรัล
  2. Strategy Map กรณีศึกษาและค้นหา Competency ของกาแฟเขาทะลุ
  3. ทดลองเขียน Competency Dictionary
  4. การวิเคราะห์หน้าที่และงานย่อยด้วยเทคนิค DACUM
  5. กระบวนการ AAR : After Action Review

การออกแบบกระบวนการฝึกอบรมลักษณะนี้แน่นอนว่าความยากอยู่ที่การเตรียมการ เพราะต้องเชื่อมโยงเอาสาระหลักทางวิชาการออกมาสู่การเรียนรู้โดยเน้นหนักที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ เนื้อหาและกระบวนการปฏิบัติจะต้องไปกันได้กับพื้นฐานของผู้เรียนด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ การสร้างบรรยากาศแห่งการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม” (Team Learning) จะเป็นตัวร้อยรัด เชื่อมโยง ให้เวทีของการฝึกอบรมพัฒนาไปสู่ การเป็น “สนามพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์”.


ติดตามเนื้อหาและภาพของการฝึกอบรม Competnecy ครั้งนี้ได้ที่เว็บไซต์ www.chumol.com

คำสำคัญ (Tags): #competency
หมายเลขบันทึก: 124480เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2007 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท