เศรษฐศาสตร์และการเงินข้างเสา – ตอนที่ 5 พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2540 ที่เกี่ยวกับการกู้หนี้ยืมสิน


ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2540

“…เมื่อ ๔๐ กว่าปีมีผู้หนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย มาขอเงิน   ที่จริงก็ได้เคยให้เงินเขาเล็กๆ น้อยๆ อยู่เรื่อยๆ เขาบอกไม่พอ.  เขาก็ขอยืมเงิน ขอกู้เงิน.  เมื่อเขาขอกู้เงิน ก็บอกว่า เอ้า...ให้ แต่ขอให้เขาทำบัญชี บัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย. รายรับก็คือเงินเดือนของเขา ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย และเงินที่อุดหนุนเขา.  ส่วนรายจ่ายก็เป็นของที่ใช้ในครอบครัว. แต่มีสิ่งหนึ่งที่ครั้งนั้นไม่เข้าใจ ไม่เคยเห็น คือไม่เคยทราบ มีรายการหนึ่ง บอกว่าค่าแชร์.  แล้วอีกตอนหนึ่งก็มีค่าแชร์อีก.  ถามเขาว่าแชร์คืออะไร.  เขาก็อธิบายว่าเป็นเงินที่จ่ายให้ เจ้ามือ จ่ายให้เขาทุกเดือน.  เมื่อเดือดร้อนก็ขอ ประมูลแชร์ได้ แต่การประมูลนี้ก็หมายความว่า สมมติว่าแชร์หนึ่งต้องเสียเดือนละร้อยบาท เขาก็จะได้รับคล้ายๆ เงินกู้. ควรจะได้เป็นเงินพันสองร้อยบาทต่อปีหนึ่ง โดยให้ร้อยบาทต่อเดือน.  ก็ควรจะดี แต่เขาไม่ได้รับพันสองร้อยบาท.  เขาได้ราวๆ แปดร้อยบาท หรือเจ็ดร้อยบาทเท่านั้น แล้วแต่จะประมูลได้.  คนที่มีเงิน เขาไม่ประมูล เขาทิ้งไว้ในแชร์นั้น.  ถึงเวลา เขาก็จะได้เงินกลับคืนมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย บวกดอกเบี้ย.  ถามเขาว่า ทำอย่างนี้สามารถที่จะหมุนเงินได้หรือเปล่า.  แล้วก็ถามเขาว่า ทำไมจ่ายค่าแชร์แล้ว ยังจ่ายแชร์ซ้ำอีกทีหนึ่ง.  เขาบอกว่าสำหรับจ่ายแชร์เดือนนั้น เขาต้องออกมาทำแชร์สัปดาห์คือ ๗ วัน.  ๗ วันนี้เขาก็เปียแชร์มาสำหรับไปใช้ค่าแชร์เดือน.  เขาก็นึกว่าเขาฉลาด.  ความจริงแชร์นี่ไม่ใช่เฉพาะคนนี้เท่านั้น แต่มีทั่วไปทุกแห่ง ทั้งทางราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็มี ทุกบริษัท ทุกส่วน แม้จะเอกชน เขาก็มีแชร์.  ได้บอกให้เขาเลิกแชร์ เลิก แล้วให้ทำบัญชีต่อไป.  ทีหลังเขาทำบัญชีมา เขาไม่ขาดทุนแล้ว.  เขาสามารถที่จะมีเงินพอใช้ เพราะบอกให้เขาทราบว่า มีเงินเดือนเท่าไหร่ จะต้องใช้ภายในเงินเดือนของเขา.  การทำแชร์นี้เท่ากับเป็นการกู้เงิน.  การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี.  อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ…”

... มีอีกรายหนึ่งในระยะนั้น กว่า ๔๐ ปี ก็เข้ามาบอกขอกู้เงิน เขาขอกู้เงินสามหมื่นบาท.   ถามว่าเอาไปทำอะไร บอกว่าจะไปซื้อเครื่องมือสำหรับตัดเย็บผ้าให้ภรรยาทำร้าน.  ก็ตกลงให้เขา แล้วเขาจะคืนมาเมื่อไหร่ก็แล้วแต่เขา.  ในที่สุดเมื่อเขาตั้งร้านแล้ว เขาก็เอาเงินมาคืนทุกเดือนสม่ำเสมอ จนกระทั่งหมดจำนวนที่ได้ให้กู้.  ด้วยความฉลาด ด้วยความซื่อสัตย์ของเขา รู้ว่ากิจการนี้จะทำให้มีกำไรได้ สามารถที่จะคืนเงินมาให้ครบจำนวนที่กู้ และต่อไปก็เป็นกำไรทั้งนั้น ก็ชมเขาว่าดี.  คือคนนี้เขาเป็นคนซื่อสัตย์...

...มีอีกรายหนึ่ง เขามาวันหนึ่ง เอาหัวเข็มขัดมาให้ เราถามว่าหัวเข็มขัดนี่เอามาให้ทำไม.  ในที่สุดก็ทราบว่าเขาขอกู้เงิน.  อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ประหลาด เพราะว่าเขาไม่มีเงินใช้ ทำไมไปซื้อหัวเข็มขัด ซึ่งก็ราคาไม่ค่อยถูกนัก เอามาให้.  ก็เลยบอกเขาว่าไม่ให้ ไปหาเงินที่อื่น เพราะว่าทราบดีว่าถ้าให้เขา เขาจะไม่มีเอามาใช้คืน.  เงินที่จะให้เขาก็มี แต่ถ้าให้เงินเขาแล้ว เขาก็เอาไปใช้อย่างอีลุ่ยฉุยแฉก และไม่มีผลอย่างผู้ที่ขอกู้สำหรับทำอาชีพ จะกลายเป็นการทำให้คนยิ่งเสียใหญ่.  อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องสอนว่า กู้เงิน เงินนั้นจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่นไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์...

...อันนี้ก็มีอีกคนหนึ่ง.  เขาจะแต่งงาน และขอกู้เงิน.  นึกว่าคนนั้นเขาก็ทำงานมาดี ก็น่าจะให้เหมือนเป็นรางวัลเขา ก็ให้เงินเขาหมื่นบาท.  สมัยโน้นหมื่นบาทไม่ใช่น้อย.  หมื่นบาทเพื่อจะไปจัดงานแต่งงานของเขา.  ตกลงเขาได้แต่งงาน.  เขายังไม่ได้คืนเงิน ก็ไม่ค่อยถืออะไร เพราะว่าเขาแต่งงาน เขามีความสุข ก็ดีไป.  เขาจะได้ทำงานได้ดี.  แต่หารู้ไม่ว่าสักปีสองปีภายหลัง เขามาขอเงินสามหมื่นบาท.  เลยบอก เอ๊ะ! สามหมื่นบาทไปทำอะไร.  เขาบอกว่าเมื่อแต่งงาน เงินไม่พอ เขาจึงไปกู้เงินที่อื่นมา. ใช้หนี้ไม่ได้ และต้องเสียดอกเบี้ย จนกระทั่งเงินที่ใช้หมดแล้ว. ต้องใช้ดอกเบี้ย จำนวนทั้งหมด ทั้งต้นและดอกนั้น ก็คือสามหมื่นบาท ไม่นับเงินหนึ่งหมื่นบาทที่เราให้เขาไปแล้ว.  หมายความว่าไปติดหนี้นุงนัง หนี้ที่ไม่สามารถที่จะใช้คืนได้.  เลยไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะได้ความว่าถ้าไม่ได้อย่างนี้ เขาจะฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีทางออก.  เงินเดือนเขาก็ไม่พอที่จะไปใช้หนี้  ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นทุกที.  ทุกครั้งที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็ต้องติดอีกต่อไป ทบต้น.  ก็เลยเห็นว่าเมื่อครั้งแรกเขาขอยืมเงินสำหรับแต่งงานน่าจะมีความสุข กลับมีความทุกข์.  ก็เลยคิดว่าไหนๆ ให้ไปหมื่นบาทแล้ว ก็ควรให้ครบที่จะไปใช้หนี้ได้  ลงท้ายเขาก็สามารถมีชีวิตต่อไป และทำงานได้.  แต่คงเป็นบทเรียนที่ดี.  อันนี้ก็หมายความว่า เขาขอเรา เราก็ให้ เราก็ได้ช่วยชีวิตเขา…”

...มีอีกรายหนึ่งมา เป็นคนข้างนอก เขามาบอกว่าลูกของเขาเจ็บตา ถ้าไม่ทำอะไรตาจะบอด เราก็สงสารเขา ก็ให้เงินเขาสามหมื่นบาทเหมือนกัน ลงท้ายก็ไม่ทราบว่า ลูกเขาได้ไปผ่าตัดตาได้ผลดีอย่างไร.  แต่วันหนึ่งก็โผล่มาอีกที บอกว่าเรียบร้อยแล้ว ลูกนั้นเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ขอบ้าน ขอบ้านอยู่.  แล้วเขาก็ไปสืบเสร็จว่าบ้านนั้นว่างแล้ว.  ขออยู่ฟรี ก็เลยเลิกเลย เพราะว่าเขาควรจะมีฐานะพอสมควรที่จะมีบ้านอยู่.  บ้านที่ขอนี้เป็นบ้านที่นับว่าใหญ่.  ถ้าให้บ้านตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องมาขอค่าใช้จ่ายสำหรับในบ้านอีก.  เมื่อบ้านใหญ่ก็คงมีญาติ มีเพื่อน มาอาศัยบ้านอีกที ก็ต้องเสียเงินอีก เลยบอกไม่ให้.  ที่พูดไม่ให้นั้น ก็เรียกว่ามีความเดือดร้อนเหมือนกันที่จะพูดอย่างนั้น เพราะว่า จะว่าสงสารก็สงสาร.  เวลาใครมาขออะไร แล้วไม่สามารถที่จะให้ มันก็ไม่ค่อยสบายใจ.  ในที่สุดก็เงียบไป...

พระราชดำรัสดังกล่าว พระองค์ท่านทรงพระราชทาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ขณะที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติการเงิน ผมขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน ความตอนดังกล่าว มาแสดงไว้ ณ ที่นี้ เพื่อเตือนใจพวกเราเกี่ยวกับการบริหารเงินทองของตัวเองและข้อควรระวังก่อนตัดสินใจกู้หนี้ยืมสินครับ

ดูรายละเอียดพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2540 ทั้งหมด ได้ที่ http://www.amarin.co.th/royalspeech/speech40.htm
หมายเลขบันทึก: 122062เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีมากเลย  และเข้าใจที่ท่านได้ปฏิเสธเขาบ้าง  และก็ให้บ้าง  ด้วยเหตุและผล  ดีจังเลยนะ  สามารถนำไปปฏิบัติตามที่พระองค์กล่าวมา คือการที่จะให้คนยืมเงิน  ถ้าเรามี  ในฐานะที่เราเป็นผู้ที่มีความสามารถเหนือกว่า  เราจะใจดีไปหมดทุกครั้งไม่ได้ เพราะจะได้ใจ  ยามไม่มีมายืม มาขอ  ควรจะสอนให้เขาได้รู้จักการช่วยเหลือตนเองให้ได้ก่อน  ไม่ใช่มานั่งนอนรอแต่ความช่วยเหลือ ของคนอื่นอยู่รำไป 

ทุกวันนี้ เขาสอนกันไว้ว่า  ถ้ามีคนจะมายืมเงินเรา  เรายืมคืนเลย ในตอนนั้น บอกเราก็กำลังเดือดร้อนเหมือนกัน ยกแม่นำทั้ง 5 มาว่าเลย  ไม่ใช่ใจดำ แต่รู้ว่าคนที่มายืมมีนิสัยอย่างไร  ยิ่งไม่ใช่พี่น้องหละ ต้องทำใจ เอ็นดูเขาเอ็นเราขาด  และถ้าเป็นพี่น้อง  ถ้าให้ยืมจะต้องทำใจเลย ว่าให้เลย ไม่มีทางจะได้คืน ถ้าได้คืนก็ยาก ต้องคิดว่าจะได้คืน  แต่ถ้ามาคืน แสดงว่าเขามีความห่วงใยเราอยู่  พูดำปพูดมาเหมือนคนเห็นแก่ตัวเนาะ  จะไม่เห็นได้ไง  เวลาเราไม่มีเงิน เราอดอย่างเสือเลย  ไม่กล้าไปยืมใคร ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี  กินได้ไหมเนี่ย 2 อย่างนี้  สวัสดีคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท