ตลาดนัดกรมอนามัย 2550 - Press Tour (14) ความเข้มแข็งที่ทับรั้ง


เทคนิคของคุณอำพันธ์ก็สำเร็จตั้งแต่การประสานงาน อ่อนน้อมถ่อมตน เข้าไปชนะใจทุกที่ อาจจะ Outsource เข้ามา และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และก็ขับเคลื่อนได้ด้วยชุมชนเอง

นี่ก็ที่ทับรั้ง ... มีชมรมสร้างสุขภาพของคุณอำพันธ์ อยู่เจริญ สถานีอนามัยทับรั้ง อ.พระทองคำ นครราชสีมา คุณอำพันธ์มาเล่าให้ฟังด้วยค่ะว่า

  • ผมคิดว่า ชมรมสร้างสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีมากในเรื่องของการดำเนินงาน ผมทำงานอยู่ที่สถานีอนามัยมาตลอด รักอนามัย จบมาก็ทำงานที่นี่ คิดว่าคงเกษียณที่นี่ด้วย และมีความผูกพันกับชีวิตชนบทมาตลอด
  • ผมอยู่ในพื้นที่ ก็จะเห็นชมรมสร้างสุขภาพของในเขตเมืองก็ดี ในเขตเทศบาลก็ดี เขาค่อนข้างที่จะเป็นปึกแผ่น และเข้มแข็งพอสมควร
  • แต่พื้นที่ที่ห่างไกลในชนบทล่ะ สิ่งสำคัญ คือ เราขาดการสนับสนุน
  • การก่อตั้งชมรมครั้งแรกของพื้นที่นี่ เขาบอกว่า ต้องสร้าง สถานีอนามัยต้องมีชมรมฯ ทุกหมู่บ้าน พูดง่ายๆ คือ ทางกรมฯ ทางกระทรวงฯ สั่งมา สอ. ต้องทำได้ทุกอย่าง
  • สั่งมา เราก็ทำสนองครับ ... แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ เมื่อ 4-5 ปีก่อนที่ผ่านมานี่ ชมรมสร้างสุขภาพของเราค่อนข้างจะเข้มแข็ง และมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่ค่อนข้างจะมาก
  • ชมรมที่ผมดูแลอยู่ มีทุกหมู่บ้าน มีหลายชมรม เยอะมาก มีทั้งชมรมผู้สูงอายุ ชมรมออกกำลังกาย ซึ่งตอนแรกเราจะเน้นไปที่แอโรบิคเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าเห็นชัด โดยเฉพาะกระทรวงมาโปรโมท ทำให้สร้างกระแสได้ค่อนข้างจะมาก และท้องถิ่นร่วมมาสนับสนุน ทำให้ชมรมออกกำลังกายเน้นแอโรบิคเป็นส่วนใหญ่
  • ซึ่งทำไปทำมา ปรากฎว่าบางครั้งขาดการสนับสนุน บางครั้งชมรมเองล้า อาจจะมีหลายเหตุหลายปัจจัย แต่ก็จะมีหลายชมรมที่สามารถดูแลสุขภาพ และยืนหยัดอยู่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่
  • นอกจากจะมีชมรมแอโรบิคแล้ว คนไทย...เบื่อง่าย เต้นกันอยู่ทุกวันๆ บางครั้งเบื่อ ... เทคนิคของเราก็คือ พยายามที่จะหาสิ่งใหม่ๆ ไปเสริมชมรมฯ ให้เกิดเปลี่ยนแปลง จากแอโรบิค เราอาจให้เกิดยืดเหยียดร่างกายบ้าง ไม้พลองบ้าง รำไทเก้ก
  • ... บอกผู้สูงอายุเข้าไปเสริม มีแต่แอโรบิคอย่างเดียวไม่ได้ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวก็จะไม่เข้ามาร่วม เราก็จะทำให้มีหลายอย่างเข้าไป ให้เขาได้มีโอกาสเลือก
  • ในพื้นที่ก็จะตั้งชมรมขึ้นมาเสริมในส่วนตรงนี้ ในส่วนที่จะทำให้ชมรมยั่งยืนได้ คือ พยายามปรับปรุงให้ตรงใจกับสมาชิก สมาชิกต้องการอย่างไร เราก็อาจจะนำเสนอเข้าไป
  • ตัวอย่างชมรมที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ที่ทำมา ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ ได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ส่วน สอ.นี่ ค่อนข้างจะได้เปรียบ คือ
  • ... เราอยู่ในพื้นที่ เราใกล้ชิดกับพี่น้องในพื้นที่
    ... เราจะรู้จักคนทางบ้านอยู่มาก หรือพื้นที่ที่อยู่นาน ชาวบ้านจะรู้ใจกัน คุยกันได้ เรื่องส่วนตัว ติดต่อกัน ตั้งแต่ความสัมพันธ์ส่วนตัว
    ... เราก็จะเกิดการประสานการทำในพื้นที่ เราจะมีท้องถิ่นที่สำคัญ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เราก็จะประสานนายกฯ ท่านสมาชิกให้เห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย ทุกปีท่านจะจัดให้การกระตุ้นชมรมสร้างสุขภาพ ให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่อง มีการประกวดเต้นแอโรบิคในพื้นที่ที่ท่านนายก อบต. จัดเอง
  • ผมเป็นผู้ประสาน จัดหาคณะกรรมการ เป็นผู้จัดทีม แต่วัตถุประสงค์ไม่ได้ให้เอาชนะกัน แต่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม เกือบทุก รร. มีอยู่ 9 รร. ให้ความร่วมมือในการออกกำลังกายในเด็ก และเยาวชน
  • อย่างบ้านโนนงิ้วที่ทำชมรมแอโรบิคได้เข้มแข็งแล้ว เขาก็ยังคิดปรับเปลี่ยนว่ายังจะมีอะไรที่เข้าไปในชมรมบ้าง เขาคิดได้หลายอย่าง
  • คุณฉัตรลดาสนใจมาก แอบถามอีกค่ะว่า ... "ดิฉันมีประสบการณ์ในการทำงานเมืองน่าอยู่ ได้ฟังเรื่องการไปประสานงานกับท้องถิ่นก็ได้งบประมาณมาช่วยกิจกรรม เราทำให้เขาเห็น และช่วยกระตุ้นช่วยเสริม ทำยังไง หรือมีวิธีการยังไงคะ"
  • ตอนแรกที่ผมไปอยู่ ... ตัวเขาไม่ค่อยมองเรา มาแรกๆ ผมพยายามประสานความเข้าใจ โดยเฉพาะกับท้องถิ่น เราต้องเข้าไปหาเขา เข้าไปชี้แจง เข้าไปพูดคุยทั้งทางตรง ทางอ้อม
  • ผมจะเข้าไปบ้านผู้นำทุกบ้าน ท่านผู้ใหญ่ก็ดี ท่านสมาชิก อบต. ท่านนายกฯ ท่านรองนายกฯ อะไรก็แล้วแต่ ผมจะไปหา ไปพูดคุย แนะนำตัว
  • ... บางทีเขามองสถานีอนามัยอีกแบบหนึ่ง ... สมัยก่อนๆ ที่ผมไปทำงานใหม่ เขาจะมอง สอ. ว่า อนามัยก็อยู่ส่วนอนามัย ก็ทำของเขาไป อนามัยก็รักษาคนไข้ไป
  • พอเราเน้นเรื่องการส่งเสริมฯ ไปพูดคุยเป็นการส่วนตัว เข้าไปหาเขา “เราเป็นเจ้าหน้าที่นะ มาตรงนี้ จะทำยังไงๆ” ภาพเราก็ดีขึ้น
  • และที่ผมทำ ก็พยายามสร้างความมีส่วนร่วม เวลามีงานก็จะเชิญเขามา พอหลังๆ เข้า เขามีประชุมอะไร เขาก็จะเชิญเราทุกครั้ง ไม่ว่าแผน 5 ปี 3 ปี แผนชุมชน เขาจะเชิญเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง เปิดสภาก็เชิญเข้าไปร่วม และเราก็ไม่เคยขาด ถ้าการประชุมที่ไหนสำคัญ แต่ถ้าไปไม่ได้จริงๆ ก็ส่งลูกน้องไปแทน ... ประสานความเข้าใจ ทั้งส่วนตัว และเป็นทางการ ... คือ เราสร้างความเชื่อมั่นก่อน และสร้างความศรัทธา เขาจะเชื่อมั่นเรา เพราะเราให้ความจริงใจกับเขา
  • แล้วเวลาที่ชาวบ้านเขามาหาเรา เขาประทับใจเรา เขาไปบ้านแล้วเขาจะไปเล่าต่อ พอเขาไปเล่าให้ชาวบ้านเข้าใจเรา มีความเชื่อมั่น เขาจะเชื่อเรา เวลาพูดอะไรเขาจะฟัง
  • จากผู้รับบริการ ของ สอ. เมื่อก่อน เดือนละประมาณ 300-400 คน ปัจจุบันนี้คนไข้เดือนละประมาณเกือบ 2,000 คน มีผู้รับบริการ ทั้งในเขตรับผิดชอบ และตำบลใกล้เคียง
  • เราพัฒนาตัวเราเองก่อน ให้ผ่านมาตรฐาน เราทำ 5ส ก่อน ก่อนทำ 5ส สถานีอนามัยดูไม่ได้เลยครับ ชาวบ้านเข้าบอก มันไม่สบายใจนะ เราก็ทำ 5ส ก่อน
  • ทำ 5ส ผ่านที่แรกของอำเภอ เรา คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน สอ. ตอนนี้มีลูกจ้างด้วย 7 ท่าน แต่ตอนทำ 5ส ก็มีอยู่ 4 ท่าน เราทำ 5ส ให้ดีก่อน ให้ชาวบ้านเขาเกิดความอยากเข้ามาหาเรา และพัฒนาคุณภาพให้ผ่าน และทำจนผ่านเป็นที่แรกของอำเภอ ผ่าน HA
  • และมาพยายามทำความเข้าใจ และรุกเข้าไปอย่างเต็มที่เลย
  • คุณฉัตรฯ ถามแบบเจาะลึกเข้าไปอีกละค่ะ "คิดยังไงคะ ที่มาทำสถานที่ให้ดี ให้สะอาดก่อน"
  • เรา ... เจ้าหน้าที่สาธารณสุข คำว่า จนท.สส. คนที่เห็นต้องเห็นเป็นคนสาธารณะ ถ้าเราไม่ทำตัวให้เขาเห็น แล้วจะไปบอกใครได้
  • ... เจ้าหน้าที่อนามัยของผมไม่มีใครดื่มเหล้า ไม่มีใครดื่มเบียร์ ... คือ เราคุยกัน ผมเป็นหัวหน้าแต่ก็ต้องฟังคนสวน ทุกคนทำงานเหมือนพี่เหมือนน้อง ก็คุยกัน เรานี่ เราทำงานสาธารณสุขนะ เราเป็นแบบอย่างให้ชาวบ้าน ถ้าในตำบลทับรั้งของเรานี่ ไม่มีสถานที่ใดที่เป็นแบบอย่างให้ชาวบ้านเลยนี่ ชาวบ้านเขาจะไปเอาแบบอย่างจากที่ไหน นะครับ
  • ผมก็ทำเรื่องของตัวอย่างของเจ้าหน้าที่ไว้ให้มาก
    เรื่องเหล้า ... ถ้าเจ้าหน้าที่ยังดื่มเหล้าอยู่ แล้วจะไปบอกใครเขาได้ เป็นไปได้ยังไง ... ถ้าเจ้าหน้าที่ยังสูบบุหรี่อยู่ แล้วไปบอกให้ชาวบ้านไม่สูบ ได้ยังไง ... ถ้าตัวเรายังทำไม่ได้ ไปบอกชาวบ้าน เขาก็ไม่เชื่อหรอกครับ
  • ... อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ขอร้องเจ้าหน้าที่ เราทำงานร่วมกัน เรามีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ชาวบ้าน ถ้าเราไม่ทำตัวอย่างให้ชาวบ้าน แล้วเราจะสำเร็จอย่างไร ผมพยามคุยกับเจ้าหน้าที่ ... เจ้าหน้าที่ผมน่ารักมากครับ และทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนเป็นทั้งเพื่อน ทั้งพี่ ทั้งน้อง เราทำงานมีความสุข แม้เราจะเหนื่อยนะครับ มีเจ้าหน้าที่อยู่ 4 ท่าน ลูกจ้างอีก 3 ท่าน ผู้รับบริการก็จำนวนมาก ประชากรเกือบ 12,000 คน แต่เราทำงานอย่างมีความสุข คือ ทำงานด้วยสนุกไปด้วย ทำให้เราได้พัฒนามาถึงตรงนี้
  • ต่อไปเราก็พยายามแลกเปลี่ยนหลายๆ ที่ ที่เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน จากสถานที่เราทำมาส่วนหนึ่งแล้ว ชมรมสุขภาพก็เติบโตมาส่วนหนึ่ง
  • แต่ปัญหาที่ สอ. เจอมาตลอดตั้งแต่ผมทำงานมา 20 ปีพอดี คือ ปัญหาเรื่องเหล้า บุหรี่ นี่เป็นปัญหาที่ ไม่มีทางที่จะลดอะไรได้มากมายเลย
  • เป็นปัญหาที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของเรา เวลารับคนไข้บริการ แต่ละเดือนที่มีเข้ามาหาบริการเรานี่ เรื่องของอุบัติเหตุก็ดี แต่ 80% จะเป็นเหล้า เราคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไร
  • ก็คุยกับพี่น้องหลายๆ หมู่บ้าน ว่า เราน่าจะมี ชุมชนอะไรที่จะเป็นต้นแบบที่จะลด ละเรื่องเหล้าได้บ้าง ก็อาจจะเป็นเรื่องของการลดลง
  • ก็มีหมู่บ้านหนึ่ง บ้านโนนงิ้ว เป็นหมู่บ้านที่ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวทางตรงนี้ แต่เขาไม่คิดว่าเขาจะทำได้
  • ก็เลยมาคุยกันว่า ถ้าเราจะทำ เราจะมีกระบวนการอย่างไร ชาวบ้านก็ไม่สามารถที่จะทำได้อยู่แล้ว เพราะว่าเขาทำมาตั้งแต่สมัยเมื่อไรก็ไม่รู้ จนมาปัจจุบัน ชาวบ้านดื่มเหล้าเกือบหมดหมู่บ้านแล้ว เหลือไม่มากที่ไม่ดื่มเหล้า
  • ... เขาบอกว่า มันยาก
  • เราก็หาแหล่ง ก็มีแหล่งผู้ที่มีความรู้เรื่องของการทำกลุ่ม และพอดีผมมีเพื่อนที่รู้จักอยู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีฯ ผมก็เชิญมาเป็นที่ปรึกษา ทำเป็นโครงการรณรงค์ ลด ละ เลิก เหล้า ... เพื่อจะแก้ปัญหาครอบครัว ปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดประจำ แล้วมันก็มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพได้เยอะ
  • ซึ่งทำเมื่อปีที่แล้ว ลงชุมชนต้นแบบตรงนี้ โดยให้ชาวบ้านเขาสำรวจกันเอง เรื่องรายรับรายจ่ายของครอบครัว (เรื่องนี้ ผมได้รับคำแนะนำจาก อาจารย์ทาง สสส. ช่วยเขียนโครงการนี้ ของบฯ สสส. ได้งบประมาณมาเกือบแสนบาท) ... ก็ทำกิจกรรมต่อเนื่องมาเป็นปี เริ่มจากชาวบ้านถ้าเขาไม่เห็นปัญหาจริงๆ เขาไม่ยอมรับ ก็ต้องให้เขาเห็นปัญหาให้ได้ ให้เขาได้สำรวจรายรับรายจ่ายครัวเรือนนี่ แต่ละปีเป็นอย่างไร จ่ายค่าอะไรเท่าไร มีคนดื่มเหล้าเท่าไร เดือนหนึ่งเสียค่าเหล้าเท่าไร ให้เขาสำรวจมาในปีนั้น ซึ่งตรงนี้ เราก็ไม่ค่อยเชื่อข้อมูลของเขา 100% หรอกครับ
  • จากการสำรวจ เราต้องเชื่อ เพราะเขาทำมากันเอง และเอาข้อมูลนั้นมาเสนอ เป็นตัวเลขให้เห็นว่า เขาจัดงานเฉพาะงานบุญนี่ เขาเสียเงินโดยเฉพาะค่าเหล้าไป 200,000 กว่าบาท เรื่องจัดงาน และเรื่องกินเหล้าอีก รวมแล้วเกือบ 4 แสนบาทที่เขาต้องเสียไป (แต่ความจริงอาจจะมากกว่านี้) คือ จะให้เขามองเห็นจริง จะให้เขาช่วยกันคิด
  • เราเป็นผู้สนับสนุน เป็นผู้จุดประกาย เป็นผู้จุดคำถาม ให้เขาได้คิด
  • วันนี้ ถามไปว่า ถ้าเราจัดงาน โดยไม่มีเหล้า มันจะเกิดอะไรขึ้นในหมู่บ้าน อาทิตย์หนึ่งหมุนเวียนกันไป เขาก็คิดส่วนดีส่วนเสีย ปรากฎว่า ทุกคนคิดเหมือนกันหมด ถ้าจัดงานไม่มีเหล้า คนก็จะไม่มาช่วย เจ้าภาพโดนแน่ๆ เลย ... (รอบนี้ ยังไม่สำเร็จค่ะ)
  • ต่อมาจัดเป็นกลุ่มครับ ทีนี้ กลุ่มเด็ก กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มที่กินเหล้า กลุ่มที่ไม่กินเหล้า ให้เขาคิดว่า “ถ้าจัดงานบุญไม่มีเหล้านี่ มันจะเกิดอะไรขึ้น” ทุกคนก็หาปัญหามา เขาบอกว่า
    ถ้าจัดงานแล้วไม่มีเหล้าเขาจะไม่มาช่วย แต่พอให้คิดเป็นกลุ่มนะครับ ... ปรากฎว่า คุยกันไปคุยกันมา ถ้าไม่มีเหล้าก็ยังช่วยนะ เขาก็เริ่มคุยกัน และเริ่มรู้แล้ว ว่า ที่คิดว่าจัดงานบุญไม่มีเหล้าจะไม่มา มันผิดแล้ว เขาคิดกันใหม่ว่า ถึงไม่มีเหล้า เขาก็มาช่วย ไม่เสียเงินด้วย ได้บุญด้วย ... เรื่องนี้ต้องเอาเข้าหมู่บ้าน
  • จากนั้นมานะครับ เริ่มจากการไม่มีเหล้า ก็เริ่มคิดเรื่องอื่นไป จัดสถานที่ปลอดเหล้า กีฬาปลอดเหล้า จนกระทั่งถึง รร.ปลอดเหล้า ตอนนี้มีวัดปลอดเหล้าแล้วครับ
  • ในชุมชนเราจะมี รร. เป็นตัวนำ เวลาทำประชาคมเขาจะมา โรงเรียน วัด ชาวบ้านเขาจะคุยกันทั้งหมด การทำประชาคมจะนิมนต์พระด้วย เชิญ รร. มาคุยกัน ให้เขาพยายามคิดขึ้นมา เขาก็จะกำหนด ... รร.ปลอดเหล้า มีกติกาเลย 1 2 3 4 5 ... หมู่บ้านลด ละ เลิก กำหนดเลย ... กติกาเขาจะกำหนดทีละข้อๆ อันไหนทำไม่ได้อย่าเพิ่งทำ อันไหนทำได้ ทำ ค่อยๆ ปรับไป ค่อยๆ ทำไป
  • ... จนถึงปัจจุบันนี้ ความสำเร็จคิดว่า เกิน 80% แต่ก่อนประชาคมกำหนดไว้ว่า งานบุญ งานบวช งานศพ งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ไม่มีเหล้า งานแต่งงานเรายกเว้นไว้ให้ หมู่บ้านเขาตั้งกันเอง งานรับปริญญา ยกเว้นให้ อยากฉลอง แต่ปรากฎว่า งานแต่ง 2 งานที่ผ่านก็ไม่มีเหล้าครับ มันก็ไปของมันเอง ไม่ได้อยู่ในกฎกติกาเลย
  • ถามว่า ... ตรงนี้ดีมั๊ย ผมว่าทำมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้ผลดีค่อนข้างจะมาก นพ.สสจ. ก็ให้เป็นหมู่บ้านของอำเภอที่ทำได้ประโยชน์ และผมพยายามส่งเสริม ทำให้เขามีอะไรเราพาเขาไปออก ให้เขาภูมิใจว่าเขาทำสิ่งที่ดีดี เขาจัดงานไม่กินเหล้านี้ดี เอาไปเผยแพร่ มีหลายหมู่บ้านที่อยากเอาอย่าง แต่ก็ไม่กล้าทำ
  • มีที่อยากเล่าให้ฟังคือ ... ที่ภาคอีสานนี้ ทุกปีเขาจะทำบุญตามบ้าน ฉลองศาลพระภูมิ เขาจะทำทุกปี และเขาจะมีสิ่งหนึ่ง คือ การเต้นเจ้า เต้นผู้ทรง จะมีเหล้าขาวขวดหนึ่ง เป็นประเพณี แต่ที่บ้านโนนงิ้วนี่ เขาใช้น้ำเปล่า เจ้าจะดื่มหรือไม่ดื่ม ก็บอกว่า เราไม่ได้ทำเพื่อลบหลู่ เราขอขมากับเจ้าก่อนว่า เราขอถวายน้ำเปล่าแทนเหล้าจากทุกปี ขอสมาก่อน ปรากฎว่า ปีที่ผ่านมา สนุกสนานมาก เจ้าก็ไม่ได้ดื่มเหล้าครับ

เทคนิคของคุณอำพันธ์ก็สำเร็จตั้งแต่การประสานงาน อ่อนน้อมถ่อมตน เข้าไปชนะใจทุกที่ อาจจะ Outsource เข้ามา และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และก็ขับเคลื่อนได้ด้วยชุมชนเอง

รวมเรื่อง ตลาดนัดความรู้กรมอนามัย 2550 

 

หมายเลขบันทึก: 119332เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2007 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท