ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข จ.ชุมพร


ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีแนวทางเพื่อให้เป็นการลงทุนในสิ่งที่ประชาชนและชุมชนริเริ่มขึ้น มีกระบวนการเรียนรู้และการดำรงชีพตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยึดหลักคุณธรรม ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และสามารถพึ่งตนเองได้

ผู้นำรัฐบาลยังคาดหวังให้ใช้ ยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด เป็นร่มใหญ่ของกิจกรรม และโครงการที่ลงสู่ทุกพื้นที่ และเป็นจุดบูรณาการความอยู่ดีมีสุขของประชาชนฐานรากและชุมชน

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขจะเป็นจริงขึ้นได้ ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน/ท้องถิ่น ให้ประชาชนเป็นผู้แก้ไขปัญหาได้เองทั้งวันนี้และในอนาคต โดยใช้ศักยภาพของชุมชนให้เกิดการพัฒนาตนเองมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ความอยู่ดีมีสุขจึงต้องเริ่มที่ชุมชนก่อน และเชื่อมโยงต่อยอดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐให้ทุกฝ่ายเกื้อหนุนกันตามความสามารถของคนในชุมชน โดยรัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณเป็นเงินจำนวน 5 พันล้านบาท ให้ไว้กับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อนำไปพัฒนาตามความเหมาะสมของชุมชน

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2550 รัฐบาลโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุขได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 2,000 ล้านบาท จังหวัดชุมพรได้รับการจัดสรรในงวดแรกเป็นเงินทั้งสิ้น 59 ล้านบาท  และต่อมาได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมลงสู่จังหวัดต่าง ๆ ด้วยหลักเกณฑ์เดิม ซึ่งในรอบ 2 นี้ จังหวัดชุมพรได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมเป็นเงินทั้งสิ้น 23 ล้านบาท (เมื่อรวมกับที่ได้รับการจัดสรรรอบแรกรวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 82 ล้านบาท)

ผมได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลเรื่องนี้จากการทำหน้าที่ในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่จังหวัดแต่งตั้ง และได้ศึกษาลึกลงไปในแง่มุมทางด้าน การบริหารยุทธศาสตร์ (Strategic Management) เมื่อต้องทำหน้าที่ที่ปรึกษาให้กับคณะนักศึกษาปริญญาโทที่สนใจเรื่องนี้ พวกเราช่วยกันวิเคราะห์ SWOT หรือ จุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunities) อุปสรรค (Threat) ของการบริหารยุทธศาสตร์ภายใต้บริบทของแนวคิดและข้อมูลเท่าที่พอจะหาได้ สรุปได้ดังนี้

1. จุดแข็ง : Strength (S)

  • มีตัวอย่างและแหล่งเรียนรู้ของชุมชน/ท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จตามแนวทางยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขอยู่ในพื้นที่ สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • กลไกการสนับสนุนในรูปแบบชุดปฏิบัติการระดับตำบลได้รับการให้ความสำคัญตั้งแต่เบื้องต้น โดยการจัดประชุมสัมมนาชี้แจงโครงการ
  • การบริหารแผนงานโครงการในระดับจังหวัดโดยใช้รูปแบบสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์ (OSM : Office Strategic Management) มีความเข้มแข็ง ทำงานได้รวดเร็ว เปิดกว้างในการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็น และติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด
  • รัฐบาลและผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดให้ความสำคัญอย่างจริงจัง มีการติดตามงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
  • โครงการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่ตอบสนองภาคเกษตรกรรม เช่น การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ถ้าได้รับการต่อยอดให้มีประสิทธิผลอย่างแท้จริงจะเป็นประโยชน์ต่อการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้มาก

2. จุดอ่อน : Weakness (W)

  • การเร่งรัดขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชน/ท้องถิ่นรีบเสนอแผนงานโครงการ ทำให้กระบวนการจัดทำแผนชุมชนบกพร่องในเรื่องคุณภาพ
  • มีการลอกเลียนแบบแผนงานโครงการโดยมุ่งเน้นให้ได้งบประมาณเข้าสู่ชุมชน/ท้องถิ่นก่อนอื่นใด ทำให้เกิดโครงการซ้ำซ้อนกันเป็นจำนวนมาก
  • การซ้ำซ้อนในแผนงานโครงการจะทำให้เกิดผลผลิตที่ไม่หลากหลาย และออกมามากเกินไป เกิดสภาวะแข่งกันขาย แข่งกันบริการ ตัดราคา เป็นเหตุให้ราคาตกต่ำ
  • การบริหารแผนงานโครงการที่ได้รับงบประมาณขาดการพัฒนาภารกิจ พัฒนาระบบงาน และพัฒนาบุคคลากร จะเป็นเหตุให้ประสบปัญหาการดำเนินงาน
  • การสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ โดยใช้การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) ยังไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ
  • การทุจริตในการบริหารงบประมาณของชุมชน/ท้องถิ่น เป็นปัจจัยลบที่จะส่งผลให้แผนงานโครงการไม่ประสบความสำเร็จ ต้องควบคุมกำกับงานอย่างเต็มที่
  • แผนงานโครงการทางด้านการสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจากองค์กรชุมชน/ท้องถิ่น และหน่วยราชการผู้ให้การสนับสนุนการจัดทำแผนงานโครงการในพื้นที่ ควรให้องค์กรเพื่อสาธารณประโยชน์เป็นผู้ดำเนินการ

3. โอกาส : Opportunities (O)

  • เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล
  • มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการลงทุนในสิ่งที่ประชาชนและชุมชนริเริ่มขึ้น
  • มีกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • มีกระบวนการทำงานร่วมกันของภาคีการพัฒนาทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น

4. อุปสรรค : Threat (T)

  • รัฐบาลโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มีระยะเวลาการบริหารงานที่จำกัด เป็นปัญหาเชิงนโยบายในการสนับสนุนต่อเนื่องอย่างจริงจัง
  • ความเฉื่อยในระบบราชการอันมีผลมาจากการคาดหมายว่า ปี 2551 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและแนวนโยบาย ทำให้ขาดความทุ่มเทบริหารงานอย่างจริงจังเพื่อประสิทธิผลที่ดีที่สุด
  • ความไม่ชัดเจนในแนวนโยบาย โดยเฉพาะในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

นำเสนอผ่านทาง GotoKnow เพราะมุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคมชุมพร ท่านที่ต้องการอ่านเอกสารฉบับเต็ม รออ่านได้ทางเว็บไซต์ ชุมพรเวที www.chumphonstage.com ครับ.

คำสำคัญ (Tags): #อยู่ดีมีสุข
หมายเลขบันทึก: 119021เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2007 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจจังที่ในจ. ชุมพร มีแนวทางที่ดีในการที่จะพัฒนาจังหวัดให้ด้ยิ่งขึ้น

     ขอเป็นกำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท