ก้าวสู่ความสำเร็จของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร โดย ประธานวิทย์ ยูวะเวส


ก้าวสู่ความสำเร็จของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร โดย ประธานวิทย์ ยูวะเวส

วิธีดำเนินการบริหารสถานศึกษาให้ประสบความสำเร็จ

                การดำเนินการบริหารสถานศึกษา วิทยาลัยเทคนิคพิจิตรให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นที่จะต้องประยุกต์องค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งด้านการบริหาร การจัดการ จิตวิทยารวมทั้งองค์ความรู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้เคียงกัน เช่น การดำเนินการเชิงระบบ การวิจัย ฯลฯ  ทั้งนี้เป้าหมายที่สำคัญของการดำเนินการล้วนมุ่งที่จะสร้างสรรค์ความสำเร็จให้เกิดขึ้นในการบริหารงานของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร  รูปแบบการบริหารฯ จึงเป็นการดำเนินการในลักษณะบูรณาการ(Integration) โดยนำปริบทของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร รวมทั้งองค์ความรู้ที่จำเป็น และมีประโยชน์ต่อการบริหารสถานศึกษามาผนวกเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เขียนได้น้อมนำพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งผู้เขียนยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และดำเนินชีวิตส่วนตัวอย่างเคร่งครัดมาตลอด ได้แก่พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2541 ซึ่งมีใจความสำคัญที่เน้นให้ผู้มีความรู้ความสามารถแต่ละด้านร่วมมือกัน ปรึกษาหารือกันด้วยปัญญาในอันที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในที่สุด  จากการบูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆรวมทั้งพระราชดำรัสฯดังกล่าว ผู้เขียนจึงจัดสร้างระบบการบริหารสถานศึกษาที่เหมาะสมกับปริบทของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร โดยมีขั้นตอนดังนี้               

1.  ขั้นเตรียมการ ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ                               

1.1  ขั้นกระตุ้นความคิด เป็นขั้นตอนที่ผู้เขียนมีความมุ่งหวังที่จะให้ผู้รับผิดชอบงานด้านต่าง ๆ เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ในการดำเนินงานให้ไปสู่ความสำเร็จมากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ผู้เขียนให้ความสำคัญกับการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี (Rapport) กับรองผู้อำนวยการสถานศึกษา หัวหน้างาน และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งมวล โดยวิธีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยความจริงใจ ให้ความสนใจภาระงานในความรับผิดชอบ รวมทั้งใช้คำถาม และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนางานไปสู่ความสำเร็จ ได้แก่คำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ทำไม                               

1.2  ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธรรมชาติและรูปแบบการดำเนินงาน เป็นขั้นตอนหลังจากกระตุ้นความคิดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้นได้นำเอาแนวคิด หรือคำตอบที่ได้รับจากขั้นการกระตุ้นความคิดมาทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานเชิงระบบ ได้แก่ ครูชำนาญการพิเศษ นักวิจัยของวิทยาลัยฯ คิดค้นวิธีที่จะพัฒนางานไปสู่ความสำเร็จ ประเด็นที่ดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และผลลัพธ์ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้                                

1.3  ขั้นกำหนดยุทธ์ศาสตร์ที่เหมาะสมกับปริบทของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร เป็นขั้นตอนที่ผู้เขียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นำองค์ความรู้ที่ได้จากขั้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากำหนดเป็นยุทธ์ศาสตร์ในการดำเนินงานให้ไปสู่ความสำเร็จ               

2.  ขั้นดำเนินการ เป็นการนำยุทธ์ศาสตร์ที่ได้จากขั้นเตรียมการมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมโดยคำนึงถึงความสำเร็จสูงสุดของการดำเนินงาน ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ                               

2.1  ขั้นลงมือปฏิบัติตามยุทธ์ศาสตร์ที่กำหนด                               

2.2  ขั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการปฏิบัติงาน                               

 2.3  ขั้นปรับปรุงยุทธ์ศาสตร์การดำเนินงาน                                 

3.  ขั้นประเมินผล เป็นการดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงผลของการบริหารงานโดยใช้วิธีการที่กำหนด ทั้งนี้การดำเนินการคำนึงถึงหลักการประเมินผลเป็นสำคัญ ซึ่งมีแนวทางดังนี้                             

 1)  กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินผล                                

2)  กำหนดข้อมูลที่ใช้ในการประเมินผล                               

3)  กำหนดแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการประเมินผล                               

4)  กำหนดเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล                               

 5) กำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล                               

6)  กำหนดวิเคราะห์ข้อมูล

หมายเลขบันทึก: 118721เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท