เมืองลำพูน พ.ศ. 2570 (2)


มีการแบ่งแยกวิถีชีวิตเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจนคือ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง เป็นด้านนิคมอุตสาหกรรม ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกวง เป็นเมืองลำพูนเก่า

ยังไม่มีใครเคยพาฟ้าไปเมืองลำพูนเลยนะครับ งั้นขอเล่าให้ฟังย่อ ๆ ก็แล้วกัน

เมืองลำพูนเป็นส่วนหนึ่งของเมืองคู่แฝดใน “แอ่งที่ราบลุ่มเชียงใหม่-ลำพูน” ที่มีประวัติศาสตร์ และวิวัฒนาการร่วมกันมาอย่างยาวนาน ทั้งเชียงใหม่และลำพูน ถือว่าเป็นเมืองหลักแห่งกลุ่มล้านนา

แต่ขณะที่เชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ ลำพูนกลับเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่สงบ ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยว บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ไม่เดือดร้อน ชีวิตชาวบ้านอยู่กับธรรมชาติ รอบรั้วรู้จักกัน

หลังจากที่มีนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเข้ามาตั้งอยู่ ก็มีการแบ่งแยกวิถีชีวิตเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจนคือ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง เป็นด้านนิคมอุตสาหกรรม ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกวง เป็นเมืองลำพูนเก่า

วิถีชีวิตทางด้านนิคมอุตสาหกรรม เป็นแบบเมืองใหม่ ผู้คนพักอาศัยอยู่หนาแน่น เนื่องจากมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่วนมากจะเป็นแรงงานระดับล่าง รายได้ไม่สูงมากนัก ประมาณไม่ถึงหนึ่งในห้าเป็นคนลำพูน ซึ่งแต่ก่อนทำเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันเข้ามาทำงานในนิคมฯ เพราะรายได้มากกว่า ทำให้เกิดการย้ายที่อยู่อาศัย เข้ามายังบริเวณนิคมฯ รอบๆ มีการสร้างสถานบันเทิง และหอพักเป็นจำนวนมาก มีปัญหายาเสพติด การมั่วสุมทางเพศทำให้เกิดโรคเอดส์ตามมา ปัญหาขยะชุมชน ปัญหาสังคมเพิ่มมากขึ้น เช่น การโจรกรรม อาชญากรรม อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ ชาวเมืองต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตลดลง แรงงานจากต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่ มักทำงานในระยะหนึ่งแล้วก็จากไป ส่วนมากจึงไม่ค่อยมีความผูกพันกับลำพูน และไม่ค่อยสนใจให้ความร่วมมือในเรื่องต่าง ๆ กับชุมชน

ประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบระยะยาวก็คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย ขยะ และมลพิษอุตสาหกรรม มีแนวโน้มสูงมาก ที่จะกระทบต่อสุขภาพของคนเมืองลำพูน ทั้งนี้ยังไม่นับปัญหาสุขภาพทรุดโทรม ของคนหนุ่มสาววัยทำงานที่อยู่ในนิคมฯ ผมพบว่าในเมืองลำพูนมีร้านตัดแว่นเพิ่มขึ้นมาก เพราะได้ลูกค้ากลุ่มใหญ่ ที่ทำงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องใช้สายตาอย่างหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

แต่คนลำพูนวัยทำงานก็ยังนิยมทำงานในนิคมฯ ซึ่งมีรายได้มากกว่าภาคเกษตรมาก ปัจจุบัน รายได้หลักจากผลผลิตการเกษตรของลำพูน คือการขายลำไย ดังมีคำกล่าวว่า “ลำพูนคือลำไย หรือ ลำไยคือลำพูน” ถ้าผลผลิตลำไยดี ราคาดี เศรษฐกิจของลำพูนก็ดีไปด้วย เทศกาลลำไยของลำพูน เป็นวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง เพื่อให้คนบริโภคลำไยมากขึ้น เรื่องลำไยนี้ จะเป็นโจทย์หนึ่ง ให้ขบคิดกันต่อไปในเวทีมองอนาคตที่จัดขึ้นในครั้งนี้

หากฟ้าเดินทางเยี่ยมเมืองลำพูนในวันนี้ จะเห็นบรรยากาศความสงบของฝั่งเมืองเก่า ที่ถูกจัดไว้ให้เป็นส่วนเมืองวัฒนธรรม และรักษาความเป็นเมืองประวัติศาสตร์หริภุญชัย อันเห็นได้จากงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ที่จัดขึ้นเป็นประจำ และมีชาวบ้านชาวเมืองมารวมตัวกันมากมาย ชาวลำพูนจะเรียกตัวเองว่าเป็น “ลูกเจ้าแม่จามเทวี” ในขณะที่ทางอีกฝั่งของเมืองมีความรุดหน้า ของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย คู่ขนานกันไป

เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟ้าฟังต่อนะครับว่า ทำไมต้องมองอนาคตเมืองนี้ ไปถึงอีกตั้ง 20 ปีข้างหน้า 

หมายเลขบันทึก: 116600เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท