การเขียนวิทยานิพนธ์ : การกำหนดวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย


หลังจากที่นิสิต นักศึกษาได้เลือกหรือตั้งหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์แล้ว สิ่งที่จะกระทำในขั้นตอนต่อไป คือ การกำหนดประเด็นที่จะทำการศึกษาค้นคว้าให้ชัดเจน

       หลังจากที่นิสิต  นักศึกษาได้เลือกหรือตั้งหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์แล้ว   สิ่งที่จะกระทำในขั้นตอนต่อไป คือ การกำหนดประเด็นที่จะทำการศึกษาค้นคว้าให้ชัดเจน  ซึ่งการกำหนดประเด็น หมายถึง  การแยกแยะรายละเอียดของหัวเรื่องวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาออกเป็นหัวข้อย่อย ๆ  ซึ่งในทางการวิจัยเรียกว่า  วัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย  นั่นเอง เพราะหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ที่ตั้งมาไม่ชี้ชัดให้เห็นว่า นิสิต  นักศึกษาจะศึกษาค้นคว้าอะไรบ้างในเรื่องที่ตั้งขึ้นมา  ซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย  มีวิธีการ หลักเกณฑ์และประโยชน์  ดังนี้

                1.  วิธีการกำหนดวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย 

                   การกำหนดวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย  คือ  การที่นิสิต  นักศึกษา ผู้ที่จะทำวิทยานิพนธ์ระบุให้ชัดเจนว่าในหัวข้อเรื่องที่จะทำนั้น  ต้องการศึกษาเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งโดยทั่วไป การกำหนดวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัยจะต้องให้สอดคล้องหัวข้อเรื่องวิทยานิพนธ์ที่จะศึกษาค้นคว้า ปกติแล้ววัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัยข้อแรกจะเอาชื่อเรื่องที่จะทำตั้ง  ตัวอย่างเช่น  เรื่องเกี่ยวกับ  ความรู้  เจตคติเชิงวิทยาศาสตร์ของนกศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง   นิสิต  นักศึกษาที่จะทำการศึกษาอาจจะระบุวัตถุประสงค์หรือตั้งประเด็นที่จะศึกษา ได้แก่    1)เพื่อศึกษาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1และ 2) เจตคติเชิงวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะเห็นได้ว่าจากตัวอย่างข้างต้น  นิสิต  นักศึกษาได้ระบุวัตถุประสงค์กว้าง ๆ ว่าจะศึกษาอะไรบ้าง  2 ประเด็นอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อเขียนสามารถแตกแยกแยะ  แจกแจงวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัยให้ละเอียดขึ้นอีกได้

 

               2.  หลักเกณฑ์ในการกำหนดวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย

 

                   ในการกำหนดวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย มีหลักปฏิบัติง่าย ๆ  คือ ความชัดเจน ครอบคลุม  ไม่ซ้ำซ้อนและมีความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงกับชื่อเรื่อง

 

                       2.1  ความชัดเจนของวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย  หลังจากที่นิสิต  นักศึกษาทำการแยกแยะประเด็นกว้างไว้   ขั้นต่อไปคือกำหนดวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัยให้ชัดเจน  ไม่คลุมเครือ  เพิ่มเติมรายละเอียดให้กระชับและได้ใจความตรงตามชื่อเรื่องที่จะทำการศึกษาค้นคว้า  เช่น  จากชื่อเรื่อง ความรู้  เจตคติเชิงวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง สามารถตั้งวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย ดังนี้  1)เพื่อศึกษาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง  2) เพื่อศึกษาเจตคติเชิงวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง  3)เพื่อเปรียบเทียบความรู้  เจตคติเชิงวิทยาศาสตร์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งที่มีสถานภาพต่างกัน  จะเห็นว่ามีความชัดเจนขึ้นว่าจะศึกษาอะไรบ้าง

 

                       2.2  วัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัยต้องไม่มีความซ้ำซ้อนของประเด็นที่ศึกษา  จะพบบ่อยครั้งที่นิสิต  นักศึกษาระบุวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัยซ้ำซ้อนกับข้อที่เคยระบุมาแล้ว  เพียงแต่เปลี่ยนการใช้คำหรือมีการเรียบเรียงคำใหม่เท่านั้น ซึ่งนิสิต  นักศึกษาคิดว่าเป็นละข้อ  ปัญหาเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้หากนิสิต  นักศึกษาพิจารณาประเด็นหรือกรอบที่กำหนดไว้กว้าง ๆ ว่าใช้ตัวแปรหรือข้อมูลเดียวกันหรือไม่  ถ้าเป็นตัวเดียวกันควรยุบรวมกัน เขียน  เรียบเรียงให้มีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ

 

                       2.3   ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย   นิสิต  นักศึกษาต้องเขียนวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัยให้ชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนกันแล้ว  ต้องจัดลำดับความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย ให้ลดหลั่นลงไปตามความสำคัญ และแต่ละข้อหรือประเด็นหากมีความชัดเจนแล้ว  นิสิต  นักศึกษาไม่จำเป็นต้องแสดงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกก็ได้   ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัยแต่ละหัวข้อเรื่องไม่ควรจะมีมากเกิน  3-4 ข้อก็พอเพียงแล้ว  แต่อย่างไรก็ตามไม่มีกฎตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหัวเรื่องวิทยานิพนธ์ด้วยว่ามีประเด็นที่จะให้ศึกษามากน้อยเพียงใด

                3.  ประโยชน์ของการกำหนดวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย   ประโยชน์ที่เกิดจาการการกำหนดวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายของการวิจัย มีดังนี้ 1)ทำให้นิสิต  นักศึกษาเกิดความชัดเจนว่าตนจะต้องศึกษาในเรื่องใดบ้างเกี่ยวกับหัวข้อนั้น  2)ทำให้ทราบว่าจะต้องเก็บรวบรวมข้อมูลอะไรบ้างในการทำวิทยานิพนธ์เรื่องนั้น ๆ  3)  ทำให้ทราบว่าจะต้องใช้สถิติใดบ้างในการวิเคราะห์ข้อมูล 4)ทำให้ทราบว่าจะรายงานผลการวิจัยและสรุปผลการวิจัยอะไรบ้าง รวมทั้งสามารถตรวจสอบผลการวิจัยได้ด้วย 
หมายเลขบันทึก: 116547เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท