'สมหมาย' จวก 'ธปท.' ไร้กิ๋น


'สมหมาย' จวก 'ธปท.' ไร้กิ๋น
"โฆษิต" เต้นวิกฤติโรงงานทยอยเจ๊ง เรียก กก.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-ธุรกิจรายสาขาถกด่วน ยอมรับแรงงานขาดแคลน แนะรัฐเอกชนร่วมมือกันอยู่นิ่งไม่ได้ "จักรมณฑ์" มั่นใจโรงงานจะไม่ล้มเป็นโดมิโน ระบุบาทแข็งเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ขณะที่ "สมหมาย" จวกแบงก์ชาติดูแลอัตราแลกเปลี่ยนผิดพลาด ปล่อยตลาดออนชอร์-ออฟชอร์ แตกต่างกันถึง 11.5% ชี้แตกต่างแค่ 5% ก็แย่แล้ว เตือนหากปล่อยเช่นนี้เงินบาทจะยิ่งแข็งค่าขึ้นนายโฆสิต   ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการรับมือการปิดโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ  หลังจากที่ บริษัท  ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน) ขอถอนจาก      ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และจะปิดโรงงานว่า  ได้รับทราบเหตุผลชัดเจนจากปัญหาการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 ส.ค.นี้จะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือกันในคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนร่วม   รวมทั้งในวันที่ 8  ส.ค.นี้ จะเชิญคณะอนุกรรมการธุรกิจรายสาขาเข้าหารือเรื่องนี้ด้วย ส่วนการให้ความช่วยเหลือในกรณีของบริษัท   ยูเนี่ยนฟุทแวร์  รองนายกฯ เชื่อว่าไม่มีปัญหามากนัก เพราะถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ยืนยันจะช่วยเหลือคนงาน  แต่เรื่องนี้จะต้องหารือกับคณะกรรมการทั้ง  2 ชุดล่วงหน้า ทั้งเรื่องคนงาน และการเปลี่ยนโครงสร้างที่จะหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมว่าจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร แต่จะให้อยู่นิ่งคงไม่ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นขณะนี้คือแรงงาน แต่โดยภาพรวมแรงงานขาดแคลนก็น่าจะจัดการได้หากมองในภาพสำคัญ เมื่อมีอุตสาหกรรมที่มีปัญหานโยบายของบริษัทก็อาจจะปรับโครงสร้างไปทำอย่างอื่น ซึ่งจะต้องมีการประคับประคองทั้งจากภาครัฐและเอกชนนายโฆสิตระบุว่า ขณะนี้ทราบว่าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม  รองเท้า ฯลฯ หลายแห่งเข้าไปขยายงานในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นระยะ หรือลดงานในปริมณฑลเพื่อไปขยายงานในต่างจังหวัด เนื่องจากหาแรงงานในปริมณฑลไม่ได้ แต่ปัญหาแรงงานนี้เมื่อไปต่างจังหวัดก็กลับหาคนงานไม่ได้เช่นกัน จนยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างเป็นระบบนั้นทำได้ยาก เพราะมีทั้งขาดแคลนและเกินความจำเป็น  ดังนั้นจึงจะต้องแก้ปัญหาโดยใช้การบริหารการจัดการ ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการทั้งทักษะและ ความต้องการของโรงงาน ในส่วนของบริษัทไทยที่ย้ายฐานไปต่างประเทศเพื่อหาแรงงานนั้น ยอมรับว่าขณะนี้    มีหลายแห่งย้ายฐานไปที่ประเทศลาวและเวียดนามบ้างแล้วส่วนข้อเสนอของนายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า         แห่งประเทศไทย (ธสน.) ให้เพิ่มผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเพื่อดูแลการผันผวนของค่าเงินบาทโดยเฉพาะ นายโฆษิตกล่าวว่า ประเด็นนี้นายณรงค์ชัยอาจจะเสนอนายเกริกไกร จีระแพทย์ รมว.พาณิชย์หรือไม่  แต่ส่วนตัวเห็นว่าในภาพรวมของเศรษฐกิจนั้นคิดว่าในเรื่องของค่าเงินและการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง สิ่งที่ต้องการคือความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ไม่ได้ต้องการว่าจะต้องมีคนเพิ่ม เพราะความร่วมมือกันไม่กระชับขึ้นเรื่อย ๆ การแก้ปัญหาจะยากด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงเหตุการณ์ที่โรงงานอุตสาหกรรมรองเท้าเริ่มทยอยปิดตัวลงในขณะนี้ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็ได้ตรวจสอบข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมทุกเช้าตลอดเวลา พบว่าโรงงานในแถบจังหวัดเชียงราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานเกี่ยวกับสินค้าเกษตรเริ่มมีปัญหาบ้างแล้ว นอกจากนี้ยังได้สั่งให้ติดตามโรงงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรีด้วย เพราะเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก และเห็นว่าการที่โรงงานอุตสาหกรรมปิดตัวก็เป็นเรื่องธรรมชาติของทุกอุตสาหกรรมที่มีทั้งปิดและเปิดเป็นวงจร  ส่วนกรณีของบริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ ถอนตัวจาก ตลท. ปลัดอุตสาหกรรมระบุว่า เข้าใจว่าน่าจะเกิดจากปัญหาการขาดทุนสะสมมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว ส่วนการที่เงินบาทแข็งค่านั้นก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น  ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร โดยในส่วนของอุตสาหกรรมรองเท้าถ้าเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่ซับซ้อนคิดว่าไทยยังสามารถสู้ได้ แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ผลิตง่าย ๆ โดยอาศัยแรงงานราคาถูก คงต้องมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านแน่ เพราะค่าแรงงานถูกกว่าไทย  "ถ้าเป็นสินค้าที่มีโอกาสในการพัฒนายกระดับสินค้าได้ โดยเฉพาะการที่จะเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าเองได้ก็จะเป็นการดี แต่เรื่องทำการตลาดผู้ผลิตสินค้าไทยคงจะลำบาก เพราะไม่มีประสบการณ์ เนื่องจากเคยแต่เป็นผู้รับจ้างผลิตให้เท่านั้น" ปลัดอุตสาหกรรมกล่าว นายจักรมณฑ์กล่าวว่า ไม่คิดว่าการปิดกิจการของโรงงานต่าง ๆ จะเป็นโดมิโน เพราะโดยหลักจะมีการปรับตัวอยู่แล้ว แม้ว่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าก็ตาม เนื่องจากเป็นวงจรของธุรกิจ เพียงแต่มีปัจจัยค่าเงินบาทเข้ามาทำให้ตัวส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยหลักของอุตสาหกรรมไทยมีปัญหา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เพราะการที่เงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยอ่อนไหวต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน เพราะจะทำให้ค่าแรงแพงขึ้น  นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ ธนาคาร        แห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า  ธปท. ได้อนุญาตให้กองทุนส่วนบุคคลสามารถนำเงินไปลงทุนยังต่างประเทศได้ จากเดิมที่อนุญาตเฉพาะกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  เพราะเท่าที่ดูในขณะนี้พบว่ามีกองทุนส่วนบุคคล ที่มีความพร้อมที่จะไปลงทุนต่างประเทศหลายกองทุน คิดเป็นเม็ดเงินรวมกับเกือบ 100,000 ล้านบาท  "คาดว่าในสัปดาห์นี้ ธปท. จะสามารถจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 5,000 ล้านบาทได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรวงเงินให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงพิจารณาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ด้วยว่าจะใช้ระดับใดจึงจะเหมาะสม  ซึ่งปกติ   ธปท. จะคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำในระดับ  MLR-2.25% ต่อปี" นายสุชาติกล่าวนางสุชาดา  กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ค่าเงินบาทในช่วงนี้เริ่มมีเสถียรภาพแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นผลจากมาตรการดูแลค่าเงินบาทที่เพิ่งประกาศไป 6 แนวทาง   ส่วนดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงวานนี้อาจจะยังไม่ใช่สัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีเงินทุนไหลออกจนทำให้บาทอ่อนค่า  เพราะการที่ต่างชาติขายหุ้นก็ยังสามารถฝากเงินไว้ในบัญชีเงินฝากในประเทศได้  ขณะเดียวกัน ธปท. ยังไม่กังวลต่อปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา  ซึ่งส่อเค้าเป็นภาวะฟองสบู่  ทำให้ความเชื่อมั่นในเงินสกุลดอลลาร์ลดลง  เพราะเรามีกรอบป้องกันหลายอย่าง เชื่อว่าเราจะไม่เจอปัญหาภาวะฟองสบู่อย่างสหรัฐแน่นอนนักบริหารอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งเปิดเผยว่า ค่าเงินบาท ณ วันที่ 2 ส.ค. เปิดที่ระดับ 33.81-33.83 บาทต่อดอลลาร์ และปิดตลาดในระดับทรงตัวที่ระดับ 33.81-33.83 บาทต่อดอลลาร์  ระหว่างวันค่าเงินบาทนิ่งมาก เพราะช่วงนี้ไม่มีปัจจัยมากระตุ้น  โดยระหว่างวันค่าเงินบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ  33.80 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์ สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวในวันพรุ่งนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-33.85 บาทต่อดอลลาร์แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังทำสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ช่วงนี้มีการอ่อนค่าลงไปจากก่อนหน้านี้ เพื่อเสนอเป็นรายงานต่อนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สำหรับนำไปใช้เป็นข้อมูลการประชุมคณะรัฐมนตรี และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเหตุผลที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงนี้  หากจะบอกว่าเป็นผลสำเร็จจากการที่  ธปท. ออกมาตรการ 6 ข้อ      คงไม่ใช่ เพราะต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนต่างชาติมีการเทขายหุ้นออกมามาก  อย่างไรก็ดี คงต้องฟังข้อสรุปจาก ธปท. ว่าวัดผลสำเร็จของมาตรการทั้ง 6 ข้ออย่างไร  นอกจากนี้  สศค. ยังจับตาว่า หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการลดดอกเบี้ยนโยบายลง  ก็อาจจะส่งผลกระทบทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเชียเพิ่มขึ้นอีก รวมถึงจะทำให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นอีกครั้งหนึ่งด้วย รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ที่จะส่งผลกระทบให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น  "ในส่วนของกระทรวงการคลัง อยากเห็นค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 34-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเห็นว่า  ธปท. ควรต้องมีการเข้าไปแทรกแซงอย่างต่อเนื่อง ไม่งั้นเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นอีก" ขณะที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของ ธปท. กำลังดำเนินไปบนพื้นฐานที่มีปัญหา เนื่องจากมีการปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนของตลาดเงินในประเทศ (ออนชอร์) และตลาดเงินในต่างประเทศ (ออฟชอร์) แตกต่างกันถึง 11.5% โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ค่าเงินบาทในออนชอร์มีการอ่อนค่าลงบ้างมาอยู่ที่ 33.81 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทในออฟชอร์กลับแข็งค่าอยู่ที่ 29.89% หรือห่างกันเกือบ 4 บาท เนื่องจาก ธปท.บริหารจัดการแบบที่ทำให้เกิดการตัดขาดระหว่าง 2 ตลาด  ทั้งนี้  หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป  เงินบาทก็จะยิ่งแข็งค่าขึ้น และยังจะทำให้เกิดการเก็งกำไรระหว่าง  2 ตลาดมากขึ้นด้วย ซึ่งเห็นว่าเรื่องดังกล่าวจะประมาทไม่ได้ เพราะจะยิ่งทำให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง 2 ตลาดเข้าใกล้กันยากยิ่งขึ้น นอกจากนี้มีข้อมูลว่าก่อนที่จะมีการออกมาตรการกันสำรอง 30% อัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง 2 ตลาดก็อยู่ใกล้เคียงกันมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน "ผมเคยพยายามถามผู้ว่าการ ธปท. ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร แต่ต้องดูว่าบาทมันมีค่าที่ออฟชอร์ เพราะว่ามันมีธุรกรรมมากที่ออฟชอร์  มีความต้องการ ซื้อบาทมาก  ดังนั้นต้องยอมรับว่าทางออฟชอร์มีความสำคัญ ถ้าไม่สำคัญก็คงไม่มีการขึ้น ๆ ลง ๆ หรอก แล้วการที่ออฟชอร์แข็งค่าวันนี้ ก็แสดงว่าบาทมันน้อยลง โดยการที่ยิ่งห่างกันก็มีการมองกันว่าออฟชอร์จะยิ่งแข็ง แล้วการที่ ธปท. บอกว่าจะสนับสนุนให้คนไปลงทุนต่างประเทศ ใครมันจะไป และถึงจะบอกว่าจะทำให้ออนชอร์อ่อนลง      คนก็ไม่เชื่อ"  นายสมหมายกล่าวรมช.คลังกล่าวอีกว่า  มีวิธีการที่จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของ 2 ตลาดเข้าใกล้กันมากขึ้น ได้แก่ การปล่อยให้รัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชนที่ต้องการซื้อเงินดอลลาร์ที่ตลาดออฟชอร์ สามารถนำเงินบาทออกไปซื้อได้ โดยอาจจะใช้วิธีการโอนผ่านธนาคารพาณิชย์ก็ได้  หรือให้ทาง ธปท. เองเป็นผู้ไปซื้อดอลลาร์ที่ตลาดออฟชอร์ให้มากขึ้น  ซึ่งที่ผ่านมาการที่  ธปท. ไม่ดำเนินการตามแนวทางนี้  เนื่องจากความไม่รู้ และทำให้กลัวว่าอาจจะยิ่งทำให้เกิดการเก็งกำไร  ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังและรัฐบาลก็เคยมีการเสนอขอชำระหนี้ก่อนกำหนดผ่านทางออฟชอร์      แต่ ธปท. ปฏิเสธไม่ให้ทำ เพราะไม่ต้องการให้ทำนอกรูปแบบที่เคยทำ  ซึ่งเกรงว่าจะทำให้บริหารจัดการได้ยาก  โดยที่จริงแล้วไม่ต้องกลัว เพราะ  ธปท. สามารถมอนิเตอร์ได้ตลอดอยู่แล้ว และต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ปล่อยให้มีเงินบาทไปทำธุรกรรมในออฟชอร์เพิ่มมากขึ้น  "วิธีของ ธปท. ที่ทำอยู่มันไม่เป็นธรรมชาติ เพราะว่า จะทำอะไรก็ต้องขอก่อน แต่การที่ 2 ตลาดต่างกันถึง 11.5% ผมว่าแค่ 5% ก็มากเกินไปแล้ว มันจะเป็นสัญญาณบอกว่ามีปัญหาพื้นฐานทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเรา แสดงว่าเราบริหารจัดการบนพื้นฐานที่มีปัญหา   ขณะเดียวกัน ธปท. ยึดแต่นโยบายเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ มันจึงมีอะไรบางอย่างที่ผิดพลาด" รมช.คลังกล่าว  อย่างไรก็ดี  ยืนยันว่าการออกมาพูดในครั้งนี้เป็นความเห็นของตนที่ต้องการแสดงในเชิงวิชาการ ไม่ได้ต้องการบีบ ธปท. แต่อย่างใด  รวมถึงเรื่องข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงตัวผู้ว่าการ  ธปท. ตนก็ไม่เคยมีความคิด ในเรื่องนี้ นายสมหมายกล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ช่วงนี้มีการปิดกิจการของบริษัทผลิตสินค้าส่งออกหลายแห่งนั้น   เชื่อว่าแม้จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนกว่าปัจจุบัน ก็จะต้องมีการปิดกิจการอีก เพราะบริษัทเหล่านั้นไม่มีการปรับตัวให้แข่งขันได้ รวมถึงมีบางบริษัทที่ใกล้ปิดกิจการอยู่แล้ว ผสมโรงอ้างผลกระทบจากกรณีการแข็งค่าของเงินบาทด้วย ซึ่งค่าเงินไม่ได้แข็งค่าเฉพาะไทยประเทศเดียว   อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลพยายามช่วยก็คือ พยายามตรึงค่าเงินไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป แต่เชื่อว่าถ้ายังปล่อยให้ 2 ตลาดแตกต่างกันมากอย่างปัจจุบัน ก็คงตรึงค่าเงินบาทไม่ให้  แข็งค่าได้อีกไม่นานนายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ความเข้าใจที่ไม่ยอมให้นำเงินบาทออกไปทำธุรกรรมในตลาดออฟชอร์ เพราะเกรงว่าจะเกิดการเก็งกำไร ถือว่าเข้าใจผิด แต่ตรงกันข้าม โดยหากปล่อยให้  2 ตลาดแตกต่างกันมาก ก็จะยิ่งมีการเก็งกำไรมากขึ้น  ซึ่งที่ผ่านมาการออกมาตรการ 30% ของ ธปท. มีผลทำให้ 2 ตลาดแตกต่างกันมากขึ้น  อย่างไรก็ดี หาก ธปท.ใช้วิธีที่สามารถลดส่วนต่างลงได้ ก็ไม่จำเป็นต้องยกเลิกมาตรการ 30% ก็ได้ และความแตกต่างกันระหว่าง 2 ตลาด ก็ควรจะลดลงให้น้อยกว่านี้ เพราะแค่ 5% ก็ถือว่ามากแล้ว แต่ปัจจุบันต่างกันถึง 11.5%นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล คณะทำงานติดตามการทำงาน คมช.และรัฐบาล  กลุ่มไทยรักไทย  กล่าวว่า ผลจากการทำงานของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี บริหารงานล้มเหลวเกิดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ  ในส่วนของกองทัพก็ใช้งบประมาณกว่า 4 พันล้านบาท ซื้ออาวุธจากต่างประเทศที่ไม่มีคุณภาพ     ตนจึงอยากให้รัฐบาลหันมาดูแลปัญหาเรื่องปากท้องให้ประชาชน ขอเสนอแนะให้ตั้งวอร์รูมดูแลเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ไม่ใช่มัวแต่ไปรณรงค์ให้ประชาชนออกมารับร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องรับเพื่อให้มีการเลือกตั้ง แต่ไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมาดูแลเรื่องปากท้องของประชาชนเลยไทยโพสต์  3  ส.ค.  50
คำสำคัญ (Tags): #ภาวะเศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 116545เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท