อยากรู้มั๊ย.. เราคุยอะไรในวงจัดการความรู้ท้องถิ่น (๓)


 (บันทึกก่อนหน้าคลิกอ่านได้ที่  และ )

ความทุกข์ของคนพิจิตรและกระบวนการทางปัญญา

            ความน่าสนใจของเรื่องราวที่พิจิตรเล่าให้ฟัง นอกจากจะเป็นการผลักดันให้การเจ็บป่วยด้วยโรคพิษจากสารเคมีเป็นงานของสาธารณสุขแล้ว ยังเป็นการต่อสู้ระหว่าง ๒ กระบวนทัศน์ คือ G C K (Good Community Knowledge) และ K P M (Knowledge Power Money)

            ยกตัวอย่าง วปอ.ภาคประชาชน  (วิทยากรกระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเอง) ที่ใช้หลักคิดว่าทุกจังหวัดมีคนดีอยู่แล้ว มีคนสนใจทำเกษตรแบบลด ละ สารเคมีอยู่แล้ว พาไปดูงานภาคอีสาน (ที่มีวปอ.มาก่อนเรา) มองเรื่องความสุข ไม่ใช่ตัวเงินเรื่องเดียว เป็นการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนของผู้นำก่อน เดี๋ยวจะพาไปหลงทาง

             ทำการถอดความรู้ที่มีอยู่ในตัวแล้วออกแบบการเรียนรู้ หลักสูตรมาจากชาวบ้าน ต่างจากราชการที่มีหลักสูตรมาแล้วอย่างตายตัว ทำมา ๑๕ รุ่นแล้ว แต่ใช้เงินเยอะ เพราะต้องหมุนเวียนไปบ้านชาวบ้านต่างๆ อยู่เรื่อย  ต้องทำให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิดให้ได้ มิเช่นนั้นก็จะไปสอนให้แค่เทคนิคเรื่องการทำปุ๋ย ฯลฯ

            หลักการออกแบบการเรียนรู้  ครูที่มาสอนไม่ใช่แค่มีความรู้ แต่ต้องมีความดีด้วย (G good)  การเรียน วปอ.ต้อง “อยู่รอด ปลอดหนี้ สุขภาพดี มีความสุข” การเรียนต้องตั้งเป้าไว้ชัดเจน การเรียนรู้ต้องให้กระทบใจ ได้พลังจิต พลังใจ เอาครูที่แก้ทุกข์มาให้ดูเป็นกำลังใจ (ได้มุมมองชีวิต) มีกัลยาณมิตรที่ผูกพันกันทางใจ (ได้เพื่อน)  ต้องแก้ทุกข์เอาไปใช้กับชีวิตได้ (ได้ความรู้) ให้ทุกคนทบทวนชีวิตตัวเอง  เอาหนี้ของตัวเองออกมา (เริ่มจากทุกข์) เรียนจากของจริงคือครูต้นแบบ วันสุดท้ายวางแผนชีวิตตัวเอง กลับไปชีวิตเราจะเอาอย่างไร  ใช้สถานที่เรียนที่วัด เพื่อให้มีมิติจิตวิญญาณ  เจาะเลือดก่อน ตื่นเช้า ทำสมาธิ ไหว้พระ สวดมนต์ มีวิทยากรพิเศษสอนโยคะ เพื่อคลายปวดเมื่อยจากการใช้แรงงานเยอะ  อาหารการกินช่วยกันทำ ล้างจาน ล้างใจ  ต้องมีการปฏิบัติการจริงในพื้นที่ด้วย  ทำให้ศักดิ์สิทธิ์โดยรับประกาศนียบัตรต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์

              คนที่มาไม่ได้มาแบบศิลปินเดี่ยว มีคนส่งมา และรับกลับไปด้วย มีเครือข่าย (ชมรมเกษตรธรรมชาติ) คอยตามต่อ คอยช่วย ให้กำลังใจ ขยายผลในชุมชนของตนเอง  ไม่ใช่เรียนรู้เรื่องการผลิตอย่างเดียว แต่เรียนรู้การตลาดด้วยกันด้วย เป็นวงของผู้ทำข้าวและทำผัก  มูลนิธิไปหานักธุรกิจที่มีจิตใจเพื่อสังคมมาช่วยวางแผนการตลาด ไม่ใช่ “เตะหมูเข้าปากหมา” เหมือนที่ผ่านมา มูลนิธิถูกนักธุรกิจเด็ดยอดไปเป็นประโยชน์ของตัวเอง เช่น เอาสูตรไปผลิตขาย การเน้นเรื่องจิตใจ เช่น ผ้าป่าต้นไม้ไปวัดผาซ่อนแก้ว ภูเขาโล้นวันเดียวปลูกต้นไม้เต็มไปหมด เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในเชิง “เครือข่าย” ที่คนมีใจให้กัน จากการมากินอยู่ดูฟังด้วยกัน ๕ วัน

             ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ผลิตนักเรียนได้ ๑๕ รุ่นรวม ๖๐๐ คน และขยายผลสมาชิกเพิ่มอีกประมาณ ๓,๐๐๐ คน (แต่ต้องสำรวจข้อมูลเหล่านี้ใหม่) รุ่นหนึ่งมีแกนนำ ๖ คน รุ่นหลัง ๒๐ คน  เป็นวิทยากรระดับเขต ระดับจังหวัด จะไปทางไหนก็เจอเครือข่ายเราทั้งนั้นแหละ (รับเหมาทั้งจังหวัดเป็นวิทยากรหลักให้กับกระทรวงต่างๆ)  แต่ดาราดังรุ่นใหม่บางคน เช่น จรัล จะต้องเข้ากรุงเทพฯ หรือถอยรถปิคอัพเก่าๆ ขึ้นมาตระเวนขายผักในโรงพยาบาลต่างๆ เราต่อเครือข่ายโรงพยาบาลให้  โรงพยาบาลรับรองคุณภาพผักให้ ยิ่งกว่าได้จตุคามอีก

               กากน้ำตาล เมื่อก่อนไปได้ดี แต่เราปรับตัวช้า ปีนี้เลยขาดทุน เป็นอุทาหรณ์ว่าเมื่อไหร่เกษตรกรเข้าไปในวงจรธุรกิจ ไม่มีคำว่าปราณี มูลนิธิของคุณ “เคยเป็นแม่พระ จะมาทำตัวเป็นแม่ค้า ทำใจได้หรือไม่”  โรงสีคุณบำรุง (โรงสีชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ) แข่งกับธุรกิจสายการเมืองสู้ไม่ไหว ประเด็นหลักคือ “ความรู้เราไม่พอ โตเกินความจริง ผิดเวลา” ฯลฯ

                 การได้เผยแพร่ในสื่อ เช่น หนังสือพิมพ์ เป็น “น้ำทิพย์ชโลมใจ” มีส่วนช่วยให้กำลังใจ ทำให้คนที่อื่นๆ ขอมาศึกษาดูงาน  มีการสานต่อสู่คนรุ่นใหม่ กลายเป็นหลักสูตร “วปอ.น้อย” มีเครือข่ายโรงเรียนประมาณ ๑๐ โรง เราเคยไปแข่งได้ที่ ๑ ของเขต ได้ที่ ๒ ของประเทศ  พระเทพฯ เสด็จไปดูบูทของพิจิตร ได้ออกทีวี เด็กๆ พ่อแม่ภูมิใจ แต่กระทรวงแต่งชุดขาวไปถ่ายรูป และเอาผลงานไปเพื่อขอดูงานต่างประเทศ เอาเงินลงไปทำโครงการพื้นฐาน (ขุดสระ เนรมิตส่วนประกอบต่างๆ)

                 การขยายผลสู่นายก อบจ.และนายก อบต. แต่มีระเบียบเยอะ มูลนิธิไม่คุ้นเคย เลยไม่อยากไปเอางบมาใช้  จะหาเครือข่ายนายกอบต.สัก ๗ แห่ง เพื่อจัดอบรมวปอ.  ได้ลองทำแล้ว เอาชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ครู อบต. มาคุยพร้อมกัน  ชาวบ้านมีความหวัง  โดยเราใช้เทคนิค future search  พบว่า “ต้องปลดนี้ ให้สังคมรู้รักสามัคคี ดึงเอาเศรษฐกิจพอเพียงกลับมา”  นายก อบต.เห็นด้วย ต่อให้ให้มูลนิธิเขียนโครงการมา อบต.จะสนับสนุนงบประมาณในการมาเจอกันเสมอๆ

                เชื่อมหน่วยงานอื่นด้วย เช่น สกว. ซึ่งมีโจทย์ออกมาเป็นเรื่องเกษตรกร โดยมูลนิธิจะเป็นคนช่วยประสานให้   ไปขยับผู้ว่าไม่ได้เพราะเป็นคุณอำนวจ แต่ขยับกลุ่มเกษตรกร  มูลนิธิมีสื่อที่เข้าถึงชาวบ้านคือจดหมายข่าว แต่ก็ยังหาเงินเพื่อเป็นค่าจัดส่งอยู่  ต่อไปอีก ๕ ปี วางแผนจะยกทีละตำบล เพราะดูแล้วนายก อบต.ที่เราเกี่ยวข้องด้วยจะมีวาระเหลืออยู่อย่างน้อย ๒ ปี  ในขณะที่เราไม่มีเงิน แต่เรามีกำลังคนโดยอาศัย “ความดี” ที่เรามีอยู่ เช่น อาศัยอาสาสมัครไอซีที มาช่วยทำเว็ปไซต์ให้ เอาเรื่องดีๆ มาลง หรือโครงการไอซีทีเพื่อชุมชน ที่มีคอมพิวเตอร์ลงไปแล้ว ๒๐ เครื่อง แต่ต้องหางบมากั้นห้องอีกประมาณ ๑ แสนบาท ทุกข์ของคนพิจิตร “ชาวนาทรุด โรงสีโกง ภัยธรรมชาติ พันธุ์ข้าวไม่มีคุณภาพ ต้นทุนสูง” โรงสีหลักล้ม โรงสีย่อยก็จะล้มตาม เพราะขายข้าวแล้วให้กระดาษ (เช็ค) มาใบหนึ่ง บางโรงสีก็หอบเงินหนีไปแล้ว

              จะใช้ www.khonphichit.com เป็นสื่อกลางเชื่อมคน เชื่อมองค์กร และเครือข่ายต่างๆด้วยกัน เป็นการต่อยอดจากไอซีทีเพื่อชุมชนได้ด้วย วางเป้าเป็นศูนย์ฝึกอบรม หาลูกค้าจาก อบต.ส่งคนมาอบรม

              การเมือง การคดโกง และภาคส่วนที่ไม่จริงใจ ทำร้ายชาวนาอย่างไร กรณีประกันราคาข้าวเปลือก ที่ต้องกันไว้เกวียนละ ๒๐๐ เพื่อเป็น “เบี้ยไบ้รายทาง” ตกเป็นเงินในจังหวัดประมาณ ๓๐๐ ล้าน สถานการณ์แบบนี้เราฟังแล้ว “ตกใจ” ทีเดียว ทำไมเมืองไทยถึงมีระบบการหาผลประโยชน์แบบนี้ที่คนรับผลร้ายที่สุดคือ “คนที่อยู่ล่างสุด” เข้าใจแล้วล่ะว่าทำไมชาวนาไทยถึงลืมตาอ้าปากไม่ได้

               สรุปแล้ววันนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ “ลงตัว” เป็นการ “เติมเต็ม” กันและกัน เช่น ทางสถาบันการจัดการองค์รวม ได้ให้คำแนะนำในการตลาด การบริหารจัดการในเชิงธุรกิจได้ ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยเครือข่าย เป็นดาวกระจาย  หรือตัวอย่างของ วจส.เชื่อมโยงกับความรู้ของคณะเกษตรศาสตร์ ที่มีอาจารย์จิรวิทย์มาร่วมเรียนรู้ด้วย

              สุดท้ายคงจะโยงไปถึง “ความมั่นคงยั่งยืน” ของคนทำงานทางสังคมในประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร สุดท้ายเส้นทางของคนเหล่านี้ไปทางไหน เท่าที่เห็นตัวอย่างมีบ้างที่เติบโตไปเอาดีทางด้านวิชาการ อีกหลายคนก็กลับสู่ความพอเพียงด้วยวิถีด้านการเกษตร หลายๆ คนก็เข้าไปอยู่ในระบบราชการ และก็มีหลายคนที่เริ่มคิดถึง “กิจการส่วนตัว” ที่รองรับอนาคตตัวเอง

              ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว มันก็มีข้อดีซ่อนอยู่ เพราะเท่าที่ฟังหลายๆ วง พบว่าพอเริ่มทำงานนานๆ ไปมักชักจะกลายเป็นงานประจำ (routine) ที่ทำให้เราเฉื่อยและอยู่แบบอาศัยระบบไปเสียแล้ว  แต่การที่ทำงานแบบโครงการ ที่ต้องรีบผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นภายใต้ระยะเวลาและงบประมาณที่เป็นตัวกำหนด  ทำให้เรากระตือรือร้น ปรับตัว พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ที่สำคัญคือ เราได้มีโอกาสออกไปนอกพื้นที่คุ้นชินเดิมบ่อย ผิดกับงานประจำที่จะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ทำให้นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงตัวเองเกิดขึ้นได้น้อยกว่า

หมายเลขบันทึก: 115919เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2007 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ แวะมาเยี่ยมครับ

ข้อมูลที่นำเสนอทำให้ คนในวงราชการ น่าจะคิดให้มาก และต้องเติมไฟ เพื่อตอบสนองการพัฒนา ตอบแทนคุณแผ่นดินต่อไปครับ

  • พี่อุเขียนได้เยี่ยมมาก อ่านแล้วรู้สึกเหมือนเห็นแสงสว่าง ว่าเมืองไทยไม่ไร้ความสามัคคีเลยซักทีเดียว
  • ขอเรียนเสนอว่าที่ สสส. มีเครือข่ายสื่อเพื่อเยาวชนอยู่นะครับ น่าจะนำไปเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากในพื้นที่มีสาร เครือข่ายนี้มีสื่อน่าจะมีช่องทางที่ส่งเสริมกันได้ ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งคือ เครือข่ายนี้เค้าส่งเสริมด้านความดี ไม่น้อยไปกว่าคุณภาพของสื่อนะครับ
  • เรียนเสนอไว้ครับ รับรองไม่ผิดหวัง
  • ขอบคุณครับ

ขอบคุณทุกความคิดเห็นนะค่ะ..

น้องปืนค่ะ.... บันทึกนี้ที่บอกว่าเยี่ยมนี้ต้องยกความเยี่ยมให้กับ พี่ปาน (คุณสมโภชน์ นาคกล่อม) จาก สถาบันเสร้มสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ที่เป็นคุณลิขิตมือเยี่ยม.. ผู้ส่งบันทึกนี้มาให้อ่านกันค่ะ.....

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท