สำนวนสุพรรณ


 

 สำนวนสุพรรณ

         พูดถึง ตำนานย่านสุพรรณ สำเนียงสุพรรณกันมาแล้ว คราวนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านมาคุยเรื่องสำนวนสุพรรณกันบ้าง น่าสนใจทีเดียวนะครับ ไม่เชื่อลองติดตามดู

          สำนวนที่คนสุพรรณเกี่ยวข้องชัดเจนก็คือสำนวน “ ช้างป่าต้น  คนสุพรรณ “ สำนวนนี้คนรุ่นหลังไม่ค่อยจะทราบความหมายกันแล้ว ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวของสำนวนนี้ผมต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ถาวร  สิกขโกศล และอาจารย์มนัส  โอภากุล และท่านผู้รู้อีกหลายท่านที่ผมได้ใช้ข้อมูลการค้นคว้าของท่านมาเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน
 ในภาษาไทยมีสำนวนที่เกี่ยวข้องกับชาวสุพรรณโดยตรงอยู่ 2 สำนวนคือ
1. “ช้างป่าต้น  คนสุพรรณ”
2. “โค  ขะ  ละ  สุ”
         จาก 2 สำนวนนี้ท่านพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของไทยท่านได้แสดงความคิดเห็นจากประสบการณ์ที่ท่านเคยรู้จักคนสุพรรณว่า “ ว่าถึงอัธยาศัยใจคอ พระพินิจวรรณการ(นักปราชญ์ชาวสุพรรณ) เป็นเพื่อนที่น่าคบ เพราะพูดอะไรก็ด้วยความจริงใจ ผิดกันตรงข้ามกับคติที่ว่า “ ชาวสุพรรณเป็นพวก โค  ขะ  ละ  สุ “ ซึ่งไม่จริงเสมอไป ควรจะเป็นชนิด “ ช้างป่าต้น  คนสุพรรณ “ จะถูกกว่า
 สำนวน “ โค  ขะ  ละ  สุ “ มาจากโคลงกระทู้สุภาษิตโบราณบทหนึ่งที่ว่า


 โค   ราชเป็นชาติเชื้อ   คนคด
 ขะ   ว่าเขมรพูดปด      ปากโป้ง
 ละ   ครพวกพูดหมด    เป็นมุ  สาเฮย
 สุ     พรรณคนคดโค้ง  แลบลิ้นถึงหู


         ละคร ในโคลงบทนี้หมายถึง นครศรีธรรมราช รวมความว่า คนโคราช คนเขมร คนนครศรีธรรมราชและคนสุพรรณ ล้วนเป็นคนปลิ้นปล้อนคบไม่ได้
 ส่วนสำนวน “ช้างป่าต้น  คนสุพรรณ” เป็นลักษณะอุปมาอุปไมย ช้างป่าต้น เป็นอุปมา คนสุพรรณเป็นอุปไมย


         คำว่า “ช้างป่าต้น”นี้มีปัญหาถกเถียงกันมานาน แม้ท่านพระยาอนุมานราชธนยังปรารภว่า ไม่มีคนอธิบายได้กระจ่างสักที บางคนอธิบายสำนวนนี้ไปในทางร้ายว่า ช้างป่าต้น  คือช้างป่าลึก บึกบึน ดุร้าย แต่คนส่วนใหญ่จะใช้สำนวนนี้ไปในเชิงยกย่อง ในหนังสือโคลงนิราศสุพรรณ ซึ่งเป็นโคลงสี่สุภาพเรื่องเดียวของสุนทรภู่บทที่254 พบว่ามีคำ “ป่าต้น” หรืออาจเป็นคำ”ช้างป่าต้น”อยู่ในโคลงบทหนึ่งที่ว่า
 

       บูราณท่านว่าน้ำ  สำคัญ
  ….ป่าต้นคนสุพรรณ ผ่องแผ้ว
  แดนดินถิ่นที่สูพรรณ ธรรมชาติ  มาศเอย
 ผิวจึงเกลี้ยงเสียงแจ้ว แจ่มน้ำคำสนอง


         ในต้นฉบับสมุดไทย กรมศิลปากรกล่าวว่า “ถ้ามิใช่ลายมือของท่านสุนทรภู่เอง ก็อาจจะเป็นลายมือเสมียนที่เขียนตามคำบอกของท่านก็ได้” มีคำว่า ช้างอยู่หน้าคำว่าป่าต้น แต่มีรอยลบออกเพราะคำเกิน ถ้าเป็นดังนี้สำนวน “ช้างป่าต้น  คนสุพรรณ” มีใช้มาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแล้ว

        จากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนขุนแผนพานางวันทองหนี หลังจากขุนแผนตีทัพหลวงแตกที่จระเข้สามพันแล้ว ได้พานางวันทองชมสัตว์ในป่า กวีได้พรรณนาถึงช้างไว้และมีคำว่า “ป่าต้น”ดังนี้


 จตุบาทกลาดป่าพนาดร  

ฝูงกุญชรเข้าชัฏระบัดพง


 นำโขลงคลาเคลื่อนมาคล่ำคลาย 

ทั้งพังพลายเนียมนิลดูระหง


 โคบุตรสังขทันต์คันทรง  

อำนวยพงศ์สุประดิษฐ์ตระหง่านงาม


 ชาติเชื้อเนื้อเกิดในป่าต้น  

เอกทันต์ทอกทนต์พินายหลาม


 สีดอเดินเกริ่นโกรกตะโกรงตาม 

ค่อมข้ามขอนขัดตะโคงคุ้ย


          กลอนนี้กล่าวถึงช้าง 11 ชนิดคือ 1.เนียม  2.นิล  3.โคบุตร  4.สังขทันต์  5.คันทรง  6.อำนวยพงศ์ 7.สุประดิษฐ์  8.เอกทันต์  9.ทอก  10.พินาย  11.สีดอ


        ช้างตั้งแต่ชนิดที่ 1 -  10 เป็นช้างมงคลทั้งสิ้น แสดงว่าเมืองสุพรรณเป็นแหล่งช้างดีมานานแล้ว


         คำว่า “ ป่าต้น “ ตามหลักราชาศัพท์ หมายถึงป่าหลวง หรือ ป่าสงวนของพระมหากษัตริย์


         นอกจากนี้เรื่องการเลี้ยงช้างในสมัยก่อน  ช้างศึกนั้นเมื่อเสร็จศึกแล้ว จะนิยมปล่อยในป่าที่ไม่ลึกเกินไปเมื่อเกิดศึกสงครามจึงให้ควาญช้างไปนำกลับมา ดังนั้นช้างหลวงพันธุ์ดีจึงต้องมีป่าสงวนไว้เป็นที่ปล่อยเพื่อให้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ป่าชนิดนี้จึงเรียกว่า “ ป่าต้น “ คือป่าสงวนสำหรับเลี้ยงช้างหลวงตลอดจนสัตว์ป่าอื่นๆเพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาคล้องช้างหรือล่าสัตว์ได้ตามพระราชอัธยาศัย ป่าต้น จึงต้องมีทำเลที่เหมาะ อุดมน้ำ หญ้า อาหารสัตว์ และอยู่ไม่ไกลพระนครนัก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง เมืองสุพรรณบุรีอยู่ไม่ไกลจึงเหมาะจะเป็นป่าต้น


           จากความตอนนี้สรุปว่า ป่าต้น คือป่าหลวง เป็นป่าสงวนของพระราชาห้ามคนสามัญ จับ ล่า หรือทำร้ายสัตว์ในป่านี้ และช้างป่าต้น คือ ช้างป่าหลวง ล้วนเป็นช้างพันธุ์ดีเลิศ


         สำหรับบริเวณ “ ป่า ต้น “ จากเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวว่า


 “ ได้ยกกองทัพขับพลไป   

ถึงตำบลต้นไม้ไทรสาขา


 ยังห่างป่าต้นพ้นมา   

ขุนช้างชี้ว่าที่ตรงนี้ “


       อาจารย์ศุภร  บุนนาค  พิจารณาจากวรรณคดีแล้วสันนิษฐานว่า ป่าต้น น่าจะอยู่ในบริเวณ ตำบลอู่ทอง ตำบลยุ้งทลาย และตำบลจระเข้สามพัน ประกอบกับพบหลักฐานร่องรอยคอกช้างดิน และมีชื่อสถานที่คือ เขาวงพาด “วงพาด” แปลว่า ที่ล้อมช้างติดอยู่กับเพนียด หลักฐานจึงแสดงว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งเลี้ยงช้างมาแต่โบราณ สมเป็นที่ตั้ง “ ป่าต้น “


          เหตุที่ป่าต้นอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรีและเป็นแหล่งช้างชั้นเยี่ยม จึงเปรียบคนสุพรรณได้กับช้างป่าต้น อุปมาว่าเป็นเลิศเหนือช้างถิ่นอื่นใด อุปไมยว่าเป็นเลิศเหนือคนอื่นฉันนั้น สำนวนนี้จึงเป็นคำยกย่องคนสุพรรณ


         นอกจากความเห็นของนักวิชาการที่กล่าวมาแล้ว นายมนัส โอภากุล ก็ได้เขียนบทความเรื่อง “ช้างป่าต้น คนสุพรรณ “ ลงในวารสารศิลปวัฒนธรรมไทย ฉบับเดือนกันยายน 2541 แสดงความเห็นสรุปได้ว่า สำนวน “ช้างป่าต้น คนสุพรรณ “ นี้น่าจะมาจากโคลงนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่ บทที่ยกมากล่าวไว้แล้วในตอนต้น แต่ท่านได้วิเคราะห์ว่า ก่อนที่จะกล่าวถึงโคลงบทดังกล่าว สุนทรภู่ ได้ไปพบผู้เฒ่าสองคนตายายอายุ 120 และ 118 ปี  ที่บ้านทึง  สายตาผู้เฒ่าทั้งสองยังดี สนเข็มได้ แถมยังมีผิวพรรณผ่องใส อ้วนท้วนสมบูรณ์ แม้พวกสาวๆและแม่แก่ แลดูแล้วมีความคมสัน สวยงาม จึงปรากฏว่าน้ำมีความสำคัญ คำว่า “ ป่าต้น “ อาจหมายความว่า”ป่าต้นน้ำลำธารของสุพรรณเป็นป่าดี “เป็นต้นกำเนิดของช้างป่า จึงมีผู้มาเติมคำว่า “ ช้างป่าต้น คนสุพรรณ “ ทำให้มีความหมายไปอีกทางหนึ่ง

        นอกจากสุพรรณมีน้ำดีแล้วยังมีช้างป่าดี และช้างเมืองสุพรรณก็มีมาก และช้างเหล่านี้น่าจะเป็น “ ช้างต้น “ หรือตระกูลช้างที่มีคชลักษณ์ดี อันเป็นที่มาของคำ “ ช้างป่าต้น “ โดยเสริมคำ “ ช้าง “เข้าไปอีกคำหนึ่ง

         นายมนัส โอภากุล ยังกล่าวอีกว่า เมืองสุพรรณยุคโน้นเป็นป่าดงดิบ ย่อมมีช้างมากว่าอยุธยา เพราะสุพรรณมีเขตแดนเป็นป่าผืนเดียวกับกาญจนบุรี เมื่อสุพรรณเป็นเมืองหน้าด่าน ทางกรุงศรีอยุธยาสั่งให้ส่งช้างไปให้( บางครั้งต้อนจากสุพรรณไปเข้าเพนียดที่กรุงศรีอยุธยา )เช่นปรากฏหลักฐานทางช้างข้ามที่วัดท่าโขลง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

         นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าเรื่องพระเพทราชา ที่ว่าเป็นชาวบ้านพลูหลวง มีความสามารถในการเลี้ยงช้าง ไปสมัครเป็นทหารในกองช้าง จนได้ดีเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นพระเจ้าแผ่นดิน นอกจากนี้ยังมีหลักฐาน อีกมากมายที่แสดงว่าเมืองสุพรรณมีช้างมากจริงๆ เช่นคอกช้างดินสมัยทวารวดีที่อำเภออู่ทอง บนเขาถ้ำเสือ และที่บ้านหนองแจง ตำบลไร่รถ อายุสมัยทวารวดีคาบเกี่ยวลพบุรี นอกจากนี้ที่ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เชิงสะพานข้ามแม่น้ำสุพรรณ แถบวัดกุฎีสงฆ์ พบคอกช้างสมัยอยุธยาอีกแห่งหนึ่ง ใต้คอกช้างมาไม่ไกลก็จะถึงวัดประตูสาร ซึ่งชื่อนี้ก็บอกชัดเจนว่าเป็นทางเข้าออกของช้าง เชื่อว่าเป็นทางขึ้นลงของช้าง เพราะริมตลิ่งเป็นที่ลาด เหมาะที่ช้างจะลงอาบน้ำ นอกจากนั้น ชื่อสถานที่ต่างๆในจังหวัดสุพรรณ ยังมีชื่อเกียวกับช้างอีกมากมาย เช่น อำเภอด่านช้าง ตลาดท่าช้างในอำเภอเดิมบางนางบวชซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นที่ให้ช้างขึ้นลง วัดท่าโขลง ตำบลท่าระหัด อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เป็นต้น


        พูดถึง “ ช้างป่าต้น “ แล้ว นายมนัส  โอภากุล ได้กล่าวถึง “ คนสุพรรณ “ ว่า สุนทรภู่กล่าวว่า น้ำในแม่น้ำสุพรรณเป็นน้ำดี ทำให้ หนุ่ม สาว ผู้เฒ่า ผู้แก่ มีผิวพรรณผ่องใส เกลี้ยงเกลา สะอาดสะอ้าน และให้ความหมายของคนสุพรรณว่า  น่าจะหมายถึงตัวบุคคลที่มีคุณงามความดี อาจหมายถึงกษัตริย์เชื้อสายสุพรรณ ที่ไปครองกรุงศรอยุธยาถึง15 – 16 พระองค์ ในตอนท้ายนายมนัส โอภากุลได้สรุปว่า “ ช้างป่าต้น “ หมายถึงช้างที่มีคชลักษณ์ดี ต้นตระกูลเกิดในป่าของเมืองสุพรรณ ส่วน” คนสุพรรณ “ หมายถึงคนสุพรรณที่มีผิวพรรณดีมีความเป็นเลิศในชื่อเสียง และการงาน เพราะดื่ม อาบ ใช้น้ำของเมืองสุพรรณ ถึงมีความเด่นในคุณลักษณะพิเศษ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น


     

คำสำคัญ (Tags): #สำนวน
หมายเลขบันทึก: 115782เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2007 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ได้ความรู้อีกเพียบ......5555555++........ดีใจมีครูเก่ง.....

           พรุ่งนี้ซ้อมใหญ่เลยหรอค่ะ....แล้วได้เรียนหรือเปล่าค่ะ.....จะได้ไม่ต้องเอาหนังสือไป...

          เป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ --------> น้องจิ ^_^

  • เตรียมมาเรียนไว้ก่อนแต่ซ้อมแน่
  • เอ๊ะชอบเรียน หรือชอบซ้อมทำหน้าที่พิธีกร
  • ขี้เกียจเรียนรึ..เปล่า คุณน้องจิ
  • ขับเสภาให้ ชัด อย่าหลงทำนอง เกริ่นไม่ต้องยาวมาก เดี๋ยวจะเป็นเสภาลาวซึ่งเป็นอีกทำนอง

ไม่ได้ขี้เกียจเรียนเจ้าค่ะ.......ขยันจะตาย....แต่ว่าถ้าซ้อมจะได้ไม่ต้องแบกไปไงเจ้าค่ะ

ใครช่างคิดว่าเพื่อนไปแทบจะทั่วประเทศ -_-!.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท