AAR การประชุม UKM ครั้งที่ ๕


เป็นการประชุมที่ให้ความสุขแก่ผม

AAR การประชุม UKM ครั้งที่ ๕
        

 ท่านที่สนใจที่มาที่ไปของ UKM 5 ให้อ่าน บล็อก ของ อ. หมอ JJ นะครับ     ท่านเอารูปจากการประชุมมาลงไว้แล้ว     ผมขอลงบันทึก AAR การประชุมตามที่สัญญาไว้ในที่ประชุมตอน ๑๒ น. วันนี้

  • เป้าหมายของผมในการเข้าร่วม UKM 5  คือ ต้องการมาเรียนรู้ว่า UKM ในภาพรวมได้เคลื่อนไปอย่างไรบ้าง     เพื่อนำไปปรึกษาหารือกันใน สคส. ว่าในปีที่ ๒ ของ UKM  สคส. จะร่วมเป็นพันธมิตรอย่างไร     โดยจุดยืนคือ ปีที่ ๒ ต้องไม่เหมือนปีที่ ๑
  • สิ่งที่ได้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ คือ   (๑) ประทับใจว่า UKM ในภาพรวมมีผลดี  มีกิจกรรมเข้มแข็งในมหาวิทยาลัยสมาชิก     มีนวัตกรรมของการประยุกต์ใช้ KM เพื่อขับเคลื่อนระบบคุณภาพของมหาวิทยาลัย    (๒) ได้เห็นภาพที่เราไม่เห็นทาง บล็อก คือของ มอ.   (๓) ประทับใจการประยุกต์ใช้ KM ในการพัฒนาคุณภาพแบบบูรณาการของ มม.      (๔) ได้เรียนรู้ว่าการประเมินโดย surveyor ข้ามคณะ ข้ามมหาวิทยาลัย    เป็นการ ลปรร. ข้ามสายงาน  - หัวใจของ KM      (๕) ได้หลักการว่าจะใช้ระบบการประเมินให้เกิดผลดีต้องดำเนินการโดยเอา งานของเรา เป็นตัวตั้ง    ไม่ใช่เอาหน่วยประเมิน (กพร., สมศ., ฯลฯ) เป็นตัวตั้ง    ดังตัวอย่างของ มอ. ดังได้ลงในบันทึกก่อนหน้านี้
  • สิ่งที่ได้น้อย    แต่ก็ไม่ผิดคาด คือการนำเสนอโดยผู้แทนหน่วยงานประเมินส่วนกลาง     ไม่ได้นำเสนอว่าควรบูรณาการระบบคุณภาพอย่างไร     คือเขาเสนอแบบเอาตัวเขา หน่วยงานเขา เป็นตัวตั้ง     ไม่ได้มองหน่วยปฏิบัติเป็นตัวตั้ง      นี่คือจุดอ่อนของบ้านเมืองของเรา
  • ข้อเสนอให้ปรับปรุงการจัดการประชุม   
UKM UKM
  1. ถ้ามีการเชิญหน่วยงานภายนอกมานำเสนอ    ต้อง organize การนำเสนอให้เป็นแบบ dialogue    คือเป็นรูปแบบเสวนาที่มีเป้าหมายเฉพาะ    ไม่ใช่การนำเสนอหน่วยงานหรือข้อ กำหนดของหน่วยงาน  
  2. การควบคุมการประชุมควรควบคุมโดยประธาน หรือหัวหน้าทีม จัดงานโดยตรง    ไม่ต้องใช้โฆษกคู่แบบงานพิธีกรรม    ซึ่งเน้นรูปแบบ    แต่ขาดความคล่องตัว และการสรุปประเด็น    ประธาน session ควรเป็นคนที่คล่องตัว มีลูกเล่น สร้างบรรยากาศสบายๆ ของการ ลปรร. โดยอิสระ ไม่เกร็ง ไม่เป็นพิธีรีตองมากเกินไป     คือให้ได้ทั้งความรู้ ความสนุกสนานในสาระ ไม่เกร็ง หรือเครียด
  3. บางมหาวิทยาลัยมุ่งเอาวิธีการดีๆ ของมหาวิทยาลัยอื่นไปปรับใช้     เท่ากับเน้นการเรียนลัด ซึ่งดี     แต่ยังขาดการดำเนินการอีกครึ่งหนึ่ง คือการเสาะหาความรู้ที่มีอยู่ภายในหน่วยงานเอง เอามาใช้ ขยายผล     ความรู้ดังกล่าวอยู่ในผลสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ภายในองค์กรเอง     ผมสังเกตว่าบางมหาวิทยาลัยยังไม่เข้าใจประเด็นนี้          
  4. การนำเสนอในส่วนของความคืบหน้า / ผลสำเร็จจิ๋ว ด้านการเงินการคลัง  พัสดุ  การเจ้าหน้าที่ ยังมีการนำเสนอแบบ “หลงทาง KM” อยู่บ้าง     คือนำเสนอแนวคิด    ไม่นำเสนอผลสำเร็จ และวิธีการทำงานที่บรรลุผลสำเร็จนั้น    นี่คือการติดวิธีคิด / วิธีการแบบเดิมๆ     วิธีคิดและวิธีการแบบ KM ต้องแนบแน่นอยู่กับการปฏิบัติ ไม่ใช่แนบแน่นอยู่กับแนวคิด (idea)     การนำเสนอที่มีพลัง KM คือการนำเสนอความสำเร็จ / best practice และบอกวิธีการดำเนินการ หรือการกระทำ ไปสู่ความสำเร็จนั้น
ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอสำหรับให้ UKM Network นำไปพิจารณา ดำเนินการตามที่เห็นสมควร    เป็นการนำเสนอแบบระดมความคิด    คือไม่รับรองความเหมาะสมหรือถูกต้อง
  • เสนอให้ดำเนินการพัฒนาระบบประเมินคุณภาพแบบบูรณาการสำหรับมหาวิทยาลัย โดย UKM ดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานประเมิน (สมศ., สกอ., สตง., กพร., กพ.) โดยใช้ KM เป็นเครื่องมือ    เอาความสำเร็จดีเด่นขนาดจิ๋ว และขนาดใหญ่ ตามเกณฑ์ของหน่วยงานประเมินออก ลปรร. กัน   จัดพื้นที่ ลปรร. และยกระดับความรู้ผ่านการปฏิบัติอย่างอิสระ    ทั้งที่เป็นพื้นที่จริง และพื้นที่เสมือน    เชื่อมโยงกับเป้าหมายหลักขององค์กร    และเชื่อมสู่การพัฒนาเกณฑ์ในการประเมิน,  การเรียนรู้ขององค์กรประเมิน,  และการบูรณาการรายงานเป็นชุดเดียว
  • เสนอต่อหน่วยงานตรวจสอบประเมิน ให้อาศัย KM Model ข้างบน เป็นเครื่องมือสร้างองค์กรของตนสู่องค์กรเรียนรู้    ไม่ตกหลุมกระบวนทัศน์เชิงอำนาจ “ข้ารู้ดีกว่าใคร”  
  • เสนอให้เอาหมวดหมู่ของการประเมินมา จัดการ เชิงบวก    ในมหาวิทยาลัย    ในเครือข่าย UKM    เช่น หมวดการจัดการเรียนรู้ หรือการเรียนการสอน    เอา BP (Best Practice)  หรือ High Improvement มา ลปรร. กัน    เน้นการมีเจตคติเชิงบวก   
  • เสนอให้ UKM เชิญหน่วยงานประเมินทุกหน่วยมาร่วมกิจกรรม UKM ทุกครั้ง     สร้างความคุ้นเคย     ไว้วางใจซึ่งกันและกัน    ให้กลายเป็นพันธมิตรเพื่อการเรียนรู้    โดยจัดการประชุมให้ประทับใจ ให้รู้สึกว่าไม่มาร่วมจะขาดโอกาส
  • เสนอให้จัด นศ. ป. เอก – โท  ทำวิทยานิพนธ์ ระบบประกันคุณภาพเชิงบูรณาการที่ได้ผลดีและเรียบง่าย    เชิญคนของหน่วยประเมินมาร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหรือผู้สอบ    ยิ่งทำเป็นเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยจะยิ่งดี
  • เสนอให้มี Taskforce ร่วมในการพัฒนารูปแบบการบูรณาการข้อมูลสำหรับการประเมินโดยใช้ ICT    และประยุกต์ PlanetMatter & FeedSpring
  • เสนอให้ปีหน้ามีหัวข้อประชุม  ลปรร. วิธีการขับเคลื่อน KM ในมหาวิทยาลัย    - การบริหารระบบ KM    โดยทำแบบที่ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี เสนอในที่ประชุมธุรการ    คือแต่ละมหาวิทยาลัยคัดเลือก CoP เด่นมานำเสนอ 2 CoP    คือ (1) CoP ที่มีผลงาน (หมายถึงผลกระทบของงาน) เด่น    (2) CoP ที่มีปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มเด่น  หรือ  CoP ที่เพิ่งก่อตัว แต่มีเค้าว่าจะก่อผลกระทบสูง     ให้มานำเสนอผลงานและกิจกรรม     โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจัดให้คนนอก CoP ไปศึกษาปัจจัยของความสำเร็จของ CoP นั้นมานำเสนอเป็นการตีความ KM Process    รายละเอียดของประเด็นวิเคราะห์เจาะลึก CoP นั้น ได้ตกลงกันว่า ดร. อนุชาติ จะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นต่อท้ายบันทึกนี้
  • เสนอให้พิจารณาจัด มหกรรม KM : University Best Practices    โดย UKM Network จัดเอง หรือจัดใน University Fair    นำเสนอ Best Practice (ในการทำงาน)     และบอกว่ามีวิธีการบรรลุ BP นั้นอย่างไร    ถ้าจัดเองอาจเชิญ สอศ. เข้าร่วมเสนอผลงานด้วย
  • เสนอให้ในการประชุมแต่ละครั้งมีการเตรียมการเพื่อให้ F2F Contact มีประสิทธิภาพสูง  โดย  (๑) ส่งเอกสาร, Ppt ที่จะนำเสนอแก่สมาชิกล่วงหน้าทาง อี-เมล์  (๒) แต่ละมหาวิทยาลัยสรุปกิจกรรม KM ของตนเป็นเอกสารแจก   ถ้าแจกล่วงหน้าทาง อี-เมล์ ได้จะยิ่งดี    เน้นการนำเสนอ Best Practice in KM (เรื่องราวของความสำเร็จจิ๋วของการทำ KM)     และบอกว่า BP นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร   
  • ผมเป็นห่วงว่า การที่ มรภ. เข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายนี้    จะทำให้ มรภ. เข้ามาเลียนหรือลอกแบบมหาวิทยาลัยอื่นๆ เอาไปใช้ จนเอกลักษณ์ดีๆ ที่มีอยู่ใน มรภ. เลือนไป    คงต้องย้ำกับผู้บริหารของ มรภ. ว่าผู้ที่เข้ามาร่วม UKM ต้องร่วมอย่างมีสติ    ต้องอย่าเชื่อง่ายๆ ว่าวิธีการที่ดีต่อมหาวิทยาลัยอื่น จะดีต่อ มรภ.    การ ลปรร. กัน ต้องอย่าอยู่บนฐานของการเชื่อตามกัน ทำตามกัน หรือตามแห่     ต้องอยู่บนฐานของการเรียนรู้อย่างมีปัญญา และมี สติ
  • ผมกลับมาคิดไตร่ตรองต่อ ว่าการมี มรม. (มหาวิทยาลัยราชมงคล) และ มรภ. อีกหลายๆ แห่งเข้ามาเป็นสมาชิก UKM จะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง     ผมชักเกรงว่าผลดีจะน้อยกว่าผลเสีย     จึงขอเสนอให้ที่ประชุม Business Meeting  ลองหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือให้ถ่องแท้    ผมเริ่มมีแนวคิดว่าเครือข่ายหนึ่งน่าจะต้องมีสมาชิกที่ไม่มากนัก และไม่หลากหลายในเชิงเป้าหมายและวัฒนธรรมเกินไป    มิฉะนั้นพลังของการ ลปรร. ในลักษณะเท่าเทียมกัน จะสูญไป     ผมสังเกตว่าในการประชุม UKM 5 นี้ แนวคิดเชิง “น้องใหม่มาขอเรียนรู้” ชักจะชัดขึ้น    ซึ่งผมสงสัยว่าอาจเป็นสัญญาณอันตราย     ผมเริ่มคิดว่าน่าจะมีเครือข่าย  KM มรภ. (ที่จริงมีแล้ว แต่ไม่เห็นสภาพความเป็นเครือข่าย)   และมีเครือข่าย KM มรม.     โดย สคส. อาจให้ความร่วมมือในรูปแบบที่แตกต่างกัน
UKM KM
  • จะกลับไปทำอะไร     (๑) สคส. จะไปปรึกษากันว่าจะสนับสนุน UKM ในรูปแบบใดบ้างสำหรับ ปีที่ ๒    และยินดี dialogue กับทีมร่วมประสานงาน UKM     (๒) ที่แน่ๆ จะส่งเสริมทีมงาน GotoKnow.org ให้ทำงานที่ตนใฝ่ฝันต่อ    และจะเป็นเครื่องมือให้ UKM นำไปใช้งาน    (๓) ถ้าจะมี นศ. ป. เอก – โท (และอาจารย์ที่ปรึกษา) ที่มีคุณภาพ ทำวิทยานิพนธ์ ศึกษาขบวนการ (และกระบวนการ) KM ของมหาวิทยาลัย  สคส. ยินดีพูดคุยเพื่อให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำวิทยานิพนธ์เป็นรายๆ ไป    (๔) คุณเนาวนิตย์ ทฤษฎิคุณ แนะให้ สคส. จัดผู้ทรงคุณวุฒิด้าน KM ภายนอกมาร่วมสังเกตการณ์การประชุม และสะท้อนภาพการ ลปรร. / ระบบ KM     เพื่อนำไปสู่การพัฒนา KM ของ สมาชิก UKM ต่อไป 
    วิจารณ์ พานิช
    ๗ มค. ๔๙
หมายเลขบันทึก: 11548เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2006 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท