สรุปงานโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเกาะสมุยปี 2550


         บันทึกการจัดการความรู้ : KM

         สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะสมุย

       "โครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน"

(ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง)

              สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะสมุยได้ดำเนินงานโครงการศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงในปี 2550 ซึ่งเป็นโครงการฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์การขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท ในหัวข้อการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีวัตถุประสงค์โครงการฯ เพื่อเป็นจุดเรียนรู้ด้านการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและเพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้และสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้ โดยเรียนรู้ด้านการผลิตพืช สัตว์ ประมง ฯลฯ

             สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะสมุยได้ปฏิบัติงานตามโครงการโดยได้จัดตั้งศูนย์หลักที่บ้านกรอกพันรา หมู่ 1 ต. ลิปะน้อย อ. เกาะสมุย มีนายไพชนย์ แย้มบาน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6ว เป็นผู้จัดการศูนย์ มีกิจกรรมของศูนย์ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ไม้ผล เช่น ลางสาด ลองกอง มังคุด และมะละกอ และมีกิจกรรมไม้ดอกไม้ประดับ คือ หน้าวัวตัดดอกเป็นกิจกรรมรอง พื้นที่ 400 ตร.ม. และมีการเลี้ยงผึ้ง พืชสมุนไพร ท่องเที่ยวเกษตร หญ้าแฝก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ เป็นกิจกรรรมเสริม ซึ่งมีเหตุผลในการกำหนดกิจกรรมดังนี้ สภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศมีความเหมาะสม มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ใช้ในการเกษตรได้ตลอดปี ผลตอบแทนสูง และให้ผลผลิตเร็ว ต่อเนื่อง ตลอดทั้งปี สนับสนุนการท่องเที่ยวของอำเภอ ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถเพิ่มรายได้ได้อย่างต่อเนื่องซึ่งตรงกับความต้องการของชุมชน และได้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายขึ้นที่บ้านเขาป้อม หมู่ 2 ต. หน้าเมือง อ. เกาะสมุย มีนายมโน ภัทรวังฟ้า เจ้าพนักงานการเกษตร 6 เป็นผู้จัดการศูนย์ มีกิจกรรมของศูนย์คือไม้ดอกไม้ประดับ เช่น หน้าวัวตัดดอก ในพื้นที่ 360 ตร.ม. ซึ่งมีเหตุผลในการคัดเลือกและดำเนินกิจกรรมดังนี้ สภาพพื้นที่ ดิน น้ำ สภาพภูมิอากาศมีความเหมาะสมใช้พื้นที่น้อยให้ผลตอบแทนสูงและรวดเร็ว เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความต้องการของชุมชนทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นกิจกรรมที่สามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจท่องเที่ยวได้ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมกับอำเภอเกาะสมุยเป็นอย่างมาก

               การดำเนินงานศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงทั้งศูนย์หลักและศูนย์เครือข่ายของอำเภอเกาะสมุยได้มีการจ้ดทำข้อมูลพื้นฐานของศูนย์ฯ เช่น ป้ายแปลง การจัดทำบัญชี สำนักงานฯ ได้ทำการคัดเลือกเกษตรกรที่เข้าร่วมเรียนรู้ในศูนย์ฯ ซึ่งศูนย์หลักมีเกษตรกรเข้าร่วมเรียนรู้ 50 ราย และศูนย์เครือข่ายมีเกษตรกรเข้าร่วมเรียนรู้ 30 ราย มีการจัดเวทีเรียนรู้ของทั้งสองศูนย์ฯ ๆ ละ 5 ครั้ง โดยมีกำหนดการการจัดเวทีเรียนรู้ ดังนี้

กษอ
เกษตรอำเภอกล่าวเปิดการประชุมและชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการฯ

        ป้ายศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง

ซึ่งมีกิจกรรมให้เรียนรู้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นหน้าวัว พืชสมุนไพร ไม้ผล เลี้ยงผึ้ง

ผู้จัดการศูนย์หลัก คุณไพชนย์ร่วมเรียนรู้กับเกษตรกร

       ครั้งที่ 1 การเตรียมวัสดุปลูก การสร้างโรงเรือนปลูกไม้ดอกไม้ประดับ

  • ศูนย์หลัก          วันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ศูนย์บริการฯ ม. 4 ต. ลิปะน้อย
  • ศูนย์เครือข่าย   วันที  9 พฤษภาคม 2550 สวนนายชัยณรงค์ ทองสุข ม. 2 ต. หน้าเมือง

       ครั้งที่ 2 การทำการเกษตรผสมผสาน

  • ศูนย์หลัก          วันที่ 15 พฤษภาคม 2550 ศูนย์บริการฯ ม. 4 ต. ลิปะน้อย
  • ศูนย์เครือข่าย   วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 สวนนายชัยณรงค์ ทองสุข ม. 2 ต. หน้าเมือง

       ครั้งที่ 3 การใช้ปุ๋ย โรคแมลงศัตรูพืช

  • ศูนย์หลัก         วันที่ 5 มิถุนายน 2550 ศูนย์บริการฯ ม. 4 ต. ลิปะน้อย
  • ศูนย์เครือข่าย  วันที่ 6 มิถุนายน 2550 สวนนายชัยณรงค์ ทองสุข ม. 2 ต. หน้าเมือง

      ครั้งที่ 4 การเก็บเกี่ยวไม้ดอกและไม้ผล

  • ศูนย์หลัก         วันที่ 12 กรกฎาคม 2550 ศูนย์บริการฯ ม. 4 ต. ลิปะน้อย
  • ศูนย์เครือข่าย  วันที่ 17 กรกฎาคม 2550 สวนนายชัยณรงค์ ทองสุข ม. 2 ต. หน้าเมือง

      ครั้งที่ 5 การตลาดไม้ดอกและไม้ผล

  • ศูนย์หลัก        วันที่ 23 กรกฎาคม 2550 ศูนย์บริการฯ ม. 4 ต. ลิปะน้อย
  • ศูนย์เครือข่าย  วันที่ 24 กรกฎาคม 2550 สวนนายชัยณรงค์ ทองสุข ม. 2 ต. หน้าเมือง

      สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะสมุยได้สรุปความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับหน้าวัวตัดดอกจากผลการจัดเวทีเรียนรู้ดังนี้

      การเตรียมวัสดุปลูก การสร้างโรงเรือนปลูกไม้ดอกไม้ประดับ

      - วัสดุปลูก วัสดุปลูกหน้าวัวควรมีลักษณะโปร่ง ระบายน้ำดี และเก็บความชื้นได้ดี สามารถเป็นที่ยึดของรากไม่ให้ต้นล้มเมื่อต้นโตขึ้น ไม่เป็นพิษต่อระบบราก อายุการใช้งาน ไม่ผุหรือย่อยสลายง่าย หาง่าย ราคาเหมาะสม มีค่า pH อยู่ระหว่าง 5.5-7.5 ไม่เป็นที่สะสมของโรคและที่อาศัยของแมลงศัตรูและหาได้ง่ายในท้องถิ่นสะดวกในการนำมาใช้ สำหรับอำเภอเกาะสมุยวัสดุปลูกที่เหมาะสมในการใช้คือกาบมะพร้าวเนื่องจากเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ราคาถูก นำมาใช้งานไม่ยุ่งยาก และที่สำคัญต้องเป็นกาบมะพร้าวที่แก่จัดเปลือกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลโดยธรรมชาติเนื่องจากมีเส้นใยมากและเหนียวทำให้อายุการใช้งานทนทาน ถ่านไม้เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีความทนทาน สะอาด ย่อยสลายตัวช้า ไม่เป็นที่สะสมของโรค

      - การสร้างโรงเรือน โรงเรือนที่เหมาะสมสำหรับหน้าวัวควรพรางแสงประมาณ 75% การสร้างโรงเรือนต้องมีความสูง 3-4 เมตร เนื่องจากดอกหน้าวัวต้องการความชื้นสูงและแสงแดดรำไร อากาศถ่ายเทดี ไม่ชอบลมโกรกมากซึ่งผู้ปลูกสามารถดัดแปลงรูปแบบของโรงเรือนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่การผลิตและงบประมาณที่มีอยู่

      - สายพันธุ์ เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจปลูกหน้าวัวเนื่องจากหน้าวัวเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตนาน 5-7 ปี หากคัดเลือกสายพันธุ์ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการผลิตและการตลาดได้ สำหรับสายพันธุ์ที่มีปลูกของอำเภอเกาะสมุยประกอบด้วย 6 สายพันธุ์ มีลักษณะดังนี้

                   1. พันธุ์ Tropical ดอกสีแดง ปลีเหลืองอ่อน ยอดปลีสีเขียว

                   2. พันธุ์ Rosa ดอกสีชมพู ปลีเหลืองอ่อน ยอดปลีสีเหลืองปนเขียว

                   3. พันธุ์ Aeropolis ดอกสีขาวนวล ปลีสีขาวปนแดงอ่อนๆ

                   4. พันธุ์ Sonate ดอกสีชมพู ปลีสีม่วงอ่อน

                   5. พันธุ์ Meramger ดอกสีขาว

                   6. พันธุ์ Fantasia ดอกสีขาว เส้นใบสีแดง ปลีสีแดง

พันธุ์ Rosa
พันธุ์ Tropical

และมีข้อสังเกตุจากผู้ปลูกพบว่าพันธุ์ Tropical ที่มีดอกสีแดงเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดีที่สุดจากทั้ง 6 สายพันธุ์ที่มี

        การปลูกและการดูแลรักษา

        - พื้นที่ปลูก ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการ

       - อุณหภูมิ ผู้ปลูกสังเกตุพบว่าถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปก็จะทำให้หน้าวัวเจริญเติบโตไม่ดี สีของดอกจะซีดเร็ว ดอกจะบิดเบี้ยว แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำเกินไปก็จะทำให้หน้าวัวออกดอกน้อย ต้นชะงักการเจริญเติบโต

       - แสง หากระดับความเข้มของแสงน้อย ต้นจะผอม ก้านจะอ่อน ให้ดอกน้อย แต่หากระดับความเข้มของแสงมากเกินไป จะทำให้ต้นแตกกิ่งข้างได้ดีแต่สีของจานรองดอกซีดเหลืองปลีไหม้

      - การให้น้ำ การสังเกตุว่าหน้าวัวได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่นั้น สังเกตุได้จากใบและดอกเริ่มมีอาการเหี่ยวอ่อน จานรองดอกเป็นรอยช้ำๆ หรือวัสดุปลูกแห้ง แสดงว่าขาดน้ำหรืออุณหภูมิสูงควรให้น้ำทันทีและควรให้แต่น้อยและบ่อยครั้ง ถ้าหากให้น้ำมากเกินไปก็จะทำให้เกิดผลเสียได้คือ ใบหน้าวัวจะเหลืองและเหี่ยวแห้ง เน่าตายได้

       การให้ปุ๋ย โรคศัตรู

       - การให้ปุ๋ย หน้าวัวเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้แม้จะไม่มีการให้ปุ๋ยเลยแต่การให้ปุ๋ยเสริมทำให้หน้าวัวมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นและมีดอกขนาดใหญ่

      - โรคศัตรูที่สำคัญของหน้าวัว โดยปกติหน้าวัวจะมีศัตรูรบกวนน้อยมากเนื่องจากหน้าวัวมีใบที่หนาและมีไขเคลือบใบ โรคที่พบ เช่น โรคใบไหม้ โรคแอนแทรกโนส โรคใบแห้ง โรครากเน่า และศัตรูที่สำคัญของหน้าวัวคือ เพลี้ยไฟ ไรแดง ไรขาว ไส้เดือนฝอย

      * มีข้อสังเกตุจากผู้ปลูกว่า*

      หากพบขอบใบแห้ง แสดงว่าหน้าวัวได้รับแสงมากเกินไป

      หากพบจานรองดอกช้ำ แสดงว่าอุณหภูมิภายในโรงเรือนสูงกว่าปกติ

     หากพบจานรองดอกและใบอ่อนไม่คลี่ แสดงว่าหน้าวัวได้รับแสงน้อยเกินไป

       การเก็บเกี่ยว

       - การเก็บเกี่ยว อายุของดอกหน้าวัวที่เหมาะสมสำหรับการตัดมีความสำคัญมากหากตัดดอกที่อ่อนเกินไป ดอกหน้าวัวจะไม่บานต่อ แต่ถ้าตัดดอกที่แก่เกินไปก็จะทำให้อายุการใช้งานสั้น ดังนั้นจึงควรตัดดอกขณะที่จานรองดอกมีการบานหรือขยายตัว 2 ใน 3 แต่ถ้าในฤดูร้อนควรจะตัดดอกเมื่อจานรองดอกบานหรือขยายตัวได้ครึ่งหนึ่ง นอกจากการบานของดอกแล้วจะใช้การเปลี่ยนสีของปลีเป็นตัววัดซึ่งจะตัดดอกเมื่อปลีเป็นสี 40-50% และให้แช่ดอกหน้าวัวในน้ำทันทีหลังตัดดอกหน้าวัวจะได้ไม่เหี่ยว

      การตลาด

      - การตลาดของหน้าวัวตัดดอก สิ่งที่ควรพิจารณาในการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดเพื่อลดปัญหาในเรื่องการจำหน่ายมีดังนี้

        1. ประเภทของตลาด หากผู้ผลิตต้องการจำหน่ายผลผลิตในตลาดท้องถิ่น ส่งที่ควรนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรกคือ ต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ แต่หากต้องการผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับบริษัทผู้รับซื้อ ร้านดอกไม้ โรงแรม สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกเป็นเรื่องคุณภาพของผลผลิต

       2. สายพันธุ์ ผู้ผลิตต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง

       3. การขนส่ง หากใช้เวลานานหรือไม่สะดวกก็จะทำให้สูญเสียคุณภาพและมีผลกระทบโดยตรงต่อราคา แต่สำหรับอำเภอเกาะสมุยพบว่ามีพ่อค้ามารับซื้อผลผลิตถึงสถานที่ปลูก มีการแลกเปลี่ยนความรู้การ packing ดอกหน้าวัวที่ถูกต้อง ราคาดอกละ 6-12 บาทขึ้นอยู่กับขนาดของดอก

          การจัดเวทีเรียนรู้ให้กับเกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางของโรงเรียนเกษตรกรนั้น นอกจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอเกาะสมุย เกษตรกรแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมให้ข้อมูลด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ เช่น การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทะลายของดิน แนะนำการผลิตและการใช้เชื้อ พด. 1-9 เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตส่วนหนึ่งและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น

ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับสารพด. ต่างๆ

        จากผลการดำเนินงานโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนปี 2550 สำนักงานเกษตรอำเภอเกาะสมุยสามารถบรรลุวัตุประสงค์และเป้าหมายของโครงการเพื่อเป็นจุดเรียนรู้ด้านการเกษตร ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมได้รับความรู้และสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้ โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ไม้ดอก พืชสมุนไพร ผึ้ง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มีความสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและดำเนินงานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และการจากนำเอาเทคนิคการจัดการความรู้ (Knowledge Management) มาใช้ร่วมเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานโครงการ ทำให้เกิดความรู้ใหม่ๆ และพัฒนาการเรียนรู้ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

     

          

คำสำคัญ (Tags): #สมุย
หมายเลขบันทึก: 114767เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2007 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • หวัดดีครับคุณสุดใจ 
  • ยินดีต้อนรับสู่ G2K และชุมชนนักส่งเสริมการเกษตร จ.สุราษฎร์ธานี และ สสข.5 ภาคใต้ 
  • ขยันเขียนบันทึกประสบการณ์การทำงานมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ นะ
  • และให้คำปรึกษา พี่ๆ เพื่อนๆ ข้างๆ ด้วย
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท