ความดี..


ความดี

อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว

          เรื่องความดีความชั่วจัดเป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่ง ที่จะรู้และเข้าใจ เมื่อรู้และเข้าใจแล้วก็ยังยากที่จะปฏิบัติการเว้นความชั่ว ทำความดีให้สมบูรณ์ได้ ทั้งนี้เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ สมความต้องการและปฏิบัติไม่ได้เสมอไป

          ตามหลักพุทธศาสนา ถือว่า การกระทำ คำพูดหรือความคิดที่เป็นไปเพื่อไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนและมีประโยชน์ ถือว่าเป็นความดีที่ตรงกันข้ามเป็นความชั่ว ที่กล่าวมานี้เป็นหลักกว้าง ๆ อาจมีข้อปลีกย่อยอื่น ๆ อีกที่จะต้องทำความเข้าใจพิเศษอีกมากมาย

          ในองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นนั้นถือเอาประโยชน์เป็นจุดยืนที่สำคัญ คือเมื่อพิจารณาเล็งถึงประโยชน์แล้ว แม้ตนเองจะต้องเดือดร้อนบ้าง ผู้อื่นเดือดร้อนบ้างก็ถือว่าเป็นความดี เช่น พ่อแม่ต้องเดือดร้อนเหนื่อยยากในการทำมาหาทรัพย์เพื่อให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน 


          ตัวลูกเองก็ต้องเดือดร้อน ทุกข์กายทุกข์ใจในการศึกษาเล่าเรียน ต้องอดทนอดออม ต้องหักใจไม่ให้หลงใหลเพลิดเพลินในการเที่ยวเล่น เอาเวลาเหล่านั้นมาศึกษาเล่าเรียน แต่การกระทำดังกล่าวนี้มีคุณประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นความดี

          ในทางกลับกัน สิ่งที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นมีความสุข ความเพลิดเพลิน แต่ไม่มีประโยชน์ กลับจะเป็นโทษทั้งแก่ตนและผู้อื่น เช่น การแสวงหาความสุขจากอบายมุขต่าง ๆ ถือว่าเป็นความชั่ว

          พิจารณาตามหลักที่สูงขึ้นไปสักหน่อย มาตรฐานแห่งความดี ความชั่ว ท่านถือเอา ความโลภ โกรธ หลง และไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นหลักพิจารณา คือกรรมใดที่ทำเพราะโลภ โกรธ หลง เป็นมูล จัดเป็นกรรมชั่ว ถ้าทำด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นมูล คือทำด้วยเหตุผลบริสุทธิ์จัดเป็นกรรมดี

          โลภ โกรธ หลง เป็นอกุศลมูล รากเหง้าของอกุศล ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นกุศลมูล รากเหง้าของกุศล ท่านว่าเมื่อกุศลมูลเกิดขึ้นแล้ว กุศลอย่างอื่นที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น ฝ่ายอกุศลมูลก็เช่นเดียวกัน

ปัญหาเรื่องการทำดีไม่ได้ดี

          เรื่องนี้เป็นปัญหาค้างใจของคนส่วนมากอยู่ หรืออย่างน้อยก็ลังเลสงสัยว่าทำดีได้ดีจริงหรือไม่ ? จนถึงกับบางคนพูดว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" ดังนี้เป็นต้น ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ อาจเป็นด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

          ๑. ทำความดีเพียงเล็กน้อย แต่ต้องการผลมาก คือ ต้องการผลเกินเหตุที่ทำ จึงทำให้รู้สึกทำดีไม่ได้ดี หรือได้ดีน้อยไป ตามธรรมดา คนที่มีความต้องการมาก สิ่งใดที่ได้มาแม้มากก็รู้สึกว่าน้อย ส่วนคนที่ต้องการน้อย แม้ได้ของน้อยก็รู้สึกว่าได้มาก ความมากความน้อยจึงขึ้นอยู่กับความต้องการและความจำเป็นของคนซึ่งมีอยู่ไม่เท่ากัน

          ๒. ไม่รู้จักรอคอยผลแห่งความดีที่ตัวทำ อยากได้ผลเร็ว ๆ เมื่อความดีที่ทำให้ผลช้า ก็ไม่ทันใจจึงทึกทักเอาว่าทำดีไม่ได้ดี ตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า การให้ผลของกรรมมีลักษณะซับซ้อนมาก และกรรมจะให้ผลเมื่อสุกงอมเต็มที่แล้วเท่านั้น

          กรรมที่ทำพร้อมกัน อาจให้ผลก่อนบ้างหลังบ้างเหมือนต้นไม้ต่างชนิดกัน เราปลูกวันเดียวกัน เป็นต้นว่ามะม่วงกับมะละกอ มะละกอย่อมให้ผลก่อนแต่ไม่ยั่งยืน ส่วนมะม่วงให้ผลช้าแต่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น ผู้ทำความดีจึงควรหัดเป็นคนใจเย็น รู้จักรอคอย

          ส่วนความชั่วก็เหมือนกันย่อมรอเวลาฟักตัว ไม่ใช่ทำชั่วเดี๋ยวนั้น ผลชั่วก็พรั่งพรูเดี๋ยวนั้นเลย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วใครเล่าจะกล้าทำชั่ว

          ๓. ทำความดีไม่พอดี หมายถึง ทำขาดไปบ้าง ทำเกินไปบ้าง คือ ขาดความพอดีในการทำดี เมื่อขาด ความดีก็ไม่สมบูรณ์ เมื่อเกินก็ล้นไป เสียประโยชน์ ไม่ว่าการทำดีหรือทำอะไรทั้งสิ้นจะต้องพอดีจึงจะดีแท้

          ตัวอย่างเช่นเสื้อผ้าต้องพอดีกับผู้สวมใส่ อาหารก็ต้องพอดีของแต่ละมื้อ และได้สารอาหารต่าง ๆ ตามที่ร่างกายต้องการแต่พอดี ไม่มีสารใดเกินสารใดขาด จึงจะทำให้ร่างกายแข็งแรงเจริญเติบโตและต้านทานโรคได้ดี

          การก่อสร้างที่เราต้องพึ่งสถาปนิกและวิศวกร ก็เพื่อให้เกิดความพอดีนั่นเอง ตัวอย่างเช่นเสาก็พอดีกับน้ำหนักบ้าน ถ้าบ้านใหญ่เสาเล็กก็ทานน้ำหนักไม่ไหว บ้านอาจพังลงมา ที่คิดว่าจะประหยัด ก็กลายเป็นสูญเสียทรัพย์สินเป็นอันมาก

          แต่ถ้าทำเสาใหญ่เกินไปไม่สมดุลกับการที่จะต้องรับน้ำหนัก ก็เป็นการสูญเปล่าโดยไม่จำเป็น เหมือนคนตัวนิดเดียวขาใหญ่โตมโหฬารจะกลายเป็นน่าเกลียด เป็นที่เยาะเย้ยของคนทั้งปวง

          เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความดีแต่พอดีกับบุคคลนั้น ๆ กรณีนั้น ๆ ไม่ให้มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ไม่น้อยจนไม่พอ และไม่มากจนล้นเหมือนน้ำล้นตุ่ม ส่วนล้นนั้นเป็นส่วนเกิน

๔. ความฝังใจหรืออุปาทานอยู่ในใจว่าทำคุณกับใครไม่ขึ้น

          ข้อนี้คนทั่วไปเป็นกันมาก ถ้าไปหาหมอดูและหมอดูทายว่า ชะตาของคุณทำคุณกับใครไม่ขึ้นละก็ชอบใจนักเชียว นั่นเป็นเพราะไปตรงกับความฝังใจที่มีอยู่แล้ว

          การทำความดีกับคนนั้นค่อนข้างยากสักหน่อย ไม่เหมือนทำความดีกับพวกสัตว์ เป็นต้นว่าสุนัข ทั้งนี้เพราะคนต้องการความภูมิใจ แม้เราจะทำความดีให้เขาก็อย่าไปลดความสำคัญ และความภูมิใจของเขา

          ถ้าเราไปลดความสำคัญและความภูมิใจของเขาแล้ว แทนการรู้สึกสำนึกบุญคุณของเรา เขาจะรู้สึกเคียดแค้นชิงชังเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นการทำความดีกับคนจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นการทำคุณจะกลายเป็นโทษไป

          ให้เลิกฝังใจว่าทำคุณกับใครไม่ขึ้นเสีย แล้วทำความดีด้วยความเสียสละ ด้วยน้ำใจอันดีงาม ท่านจะต้องได้รับผลดี และอาจได้มากว่าที่ท่านหวังเสียอีก

๕. ขาดกุศลโลบายในการทำดี คำว่ากุศโลบายไม่ใข่เลห์กระเท่ห์ หรือเล่ห์เหลี่ยมกลโกงอะไร แต่หมายถึงความฉลาดรอบคอบ หยั่งรู้ถึงเหตุการณ์ บุคคล กาลเวลา (หรือโอกาส) ในการที่จะทำความดี กุศโลบายในการทำความดี ก็คือทำดีให้ถูกกาล ให้ถูกบุคคล ถูกเรื่องราว


 

หมายเลขบันทึก: 114741เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2007 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท