ร่ายยาว PCU. : Primary Care Unit


Integrated Health Service

สถานีอนามัย ( Health Center ) , ศูนย์สุขภาพชุมชน ( Primary  Care Unit ) : PCU.

                 เป็นสถานบริการสาธารณสุขและสุขภาพที่ตั้งอยู่ในชุมชนทั้งเขตเมืองและชนบท โดยมีการให้บริการโดยบุคลากรที่จบการศึกษาทางด้าน พยาบาล สาธารณสุข การแพทย์แผนไทย หรืออาจมีแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ ให้บริการในบางเวลา ระบบสถานีอนามัยแตกต่างจากระบบสถานบริการสาธารณสุขอื่น ๆ โดยจุดต่างสำคัญคือ การเป็นหน่วยบริการขนาดเล็กและเป็นการบริการแบบผสมผสาน ( Integrated Health Service ) ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาลเบื้องต้นและฟื้นฟูสุขภาพ รวมความแล้วเป็นการให้บริการโดยคำนึงถึงร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ ตามนิยามของการมีสุขภาพดีขององค์การอนามัยโลก ( World Health Organization : WHO ) ผู้ปฏิบัติงานในสถานีอนามัยจึงต้องมีความรู้ที่หลากหลายทั้งทางการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพกายและจิต การพัฒนาสังคมและมีความรู้พื้นฐานทางจิตวิญญาณคือการเข้าถึงหลักความจริงของชีวิตที่อ้างอิงได้ตามหลักศาสนาต่าง ๆ หรืออย่างน้อยต้องมีความเข้าใจเพื่อนมนุษย์และเงื่อนไขทางสังคมเพียงพอที่จะพูดคุยทำความเข้าใจที่ดีต่อผู้คนโดยทั่วไปได้ในบริบทของสังคมนั้น ๆ

                  การเป็นหน่วยบริการแบบจุดเดียว ( One Stop Service : OSS. ) และใกล้บ้านใกล้ใจ ทำให้ประชาชนได้รับความOne Stop Service สะดวกและเข้าถึงการบริการได้ง่าย รวดเร็วและสนิทสนม ดังนั้นจึงเกิดผลกระทบทางด้านบวก ( Positive Impact ) คือการให้ความร่วมมือของประชาชน ความเชื่อถือศรัทธาในบุคลากร การไว้วางใจคล้ายเป็นพี่น้อง เพื่อน พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ และขณะเดียวกันอาจเกิดผลกระทบด้านลบ ( Negative Impact ) คือระบบที่ไม่เป็นทางการ ( Informal ) จะเข้ามาแทนที่ระบบทางการหรือราชการ ทำให้การจัดการ หรือการดำรงระบบระเบียบต่าง ๆ เกิดผลกระทบตามมา เช่น การเข้ารับบริการของผู้ป่วยที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน การต่อรองหรือเรียกร้องการบริการเกินขอบเขตหรือมาตรฐาน การติฉินนินทาว่าร้าย การเลือกปฏิบัติ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุคลากรที่จะจัดการตนเองหรือวางระบบไว้รองรับกับสถานการณ์และบริบทในสังคมนั้นอย่างไร หากมีการวางระบบที่ตอบสนองได้ทั้งผู้ให้และผู้รับบริการและราชการส่วนรวมได้อย่างลงตัวและสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ เช่น การวางระเบียบเวลาให้บริการผู้ป่วยที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน การวางตัวของเจ้าหน้าที่ การแยกเรื่องส่วนตัวจากงานที่ปฏิบัติ การวางกฎระเบียบและปฏิบัติตามกฎ การทำงานโดยยึดหลักการความเสมอภาคเท่าเทียม และมีมาตรฐาน จะช่วยให้แก้ไขผลกระทบทางลบได้

              การมีส่วนร่วมของชุมชน ( People Participation ) เป็นภาระกิจสำคัญประการหนึ่งของสถานีอนามัยและเป็นกลไกที่ต่างเกื้อหนุนกันระหว่างสถานีอนามัยและชุมชน เมื่อมีพลังและทรัพยากรภาคประชาชนเข้ามาร่วมพัฒนาหรือเข้ามามีส่วนร่วมด้านอื่น ๆ จะทำให้สถานีอนามัยได้รับการยอมรับและสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันระหว่างชุมชนและสถานีอนามัย สามารถปฏิบัติงานได้รวดเร็วและคล่องตัว

เกียรติและศักดิ์ศรีของหมออนามัย

                 บุคลากรสาธารณสุขทุกประเภทหากอยู่ที่สถานีอนามัยรวมเรียกว่าหมออนามัย ซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชนทางสุขภาพ ในความรู้สึกและความเข้าใจในปัจจุบันของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับหมออนามัยนั้นมีรูปแบบการผสมผสานระหว่างยุคของการพัฒนา จากสมัยก่อนที่สถานีอนามัยคือสถานบริการที่ประชาชนพื้นที่ห่างไกลใช้เป็นที่พึ่งยามเจ็บป่วยและสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางสุขภาพในเวลานั้นได้อย่างดี ทำให้หมออนามัยคือหมอใหญ่ของชาวบ้านเป็นที่เคารพนับถืออย่างมาก

                 ในช่วงเวลาต่อมาความเจริญด้านต่าง ๆ มีมากขึ้น การคมนาคม การศึกษาทั่วถึง โอกาสการเข้าถึงสถานบริการด้านสาธารณสุขประเภทอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน คลินิก จึงมากขึ้นตามมา ทำให้ความรู้สึกและความเข้าใจเบื้องต้นต่อหมออนามัยมีตัวอย่างของการเปรียบเทียบระบบบริการสุขภาพมากขึ้น ความสำคัญที่อยู่ในตำแหน่งเดิมถูกเปลี่ยนแปลงตามระบบการบริหารจัดการภาครัฐและความเจริญทั้งทางเศษฐกิจและสังคม ปัจจุบันชาวบ้านเข้าใจว่าหมออนามัยมีข้อจำกัดที่มากจนไม่อาจสนองตอบความต้างการทางสุขภาพของประชาชนในบางครั้งหรือหลาย ๆ กรณี พื้นที่ยืนในสังคมของหมออนามัยจึงเปลี่ยนไปในความเข้าใจของประชาชนและเปลี่ยนไปในระบบสังคมท้องถิ่น

                   อีกประการสำคัญคือการยอมรับให้เกียรติกันในระหว่างบุคลากรสุขภาพหรือทีมสุขภาพในระดับต่าง ๆ ทั้ง อำเภอ จังหวัด หน่วยงานวิชาการต่าง ๆ แม้ปัจจุบันหมออนามัยส่วนใหญ่กว่า ร้อยละ 80 จะจบปริญญาตรีด้านสาธารณสุขหรือพยาบาล อีกจำนวนหนึ่งจบปริญญาโทและเอก แต่ในระหว่างภาพลักษณ์ที่คุ้นเคยแบบเก่าสำหรับบางคนและการเปลี่ยนผ่านสู่ภาพลักษณ์ใหม่ ของหมออนามัยก็ยังมีจุดขัดแย้งในความคิดของหลาย ๆ คนในวงการเดียวกัน กำแพงความคิดและการยอมรับนับถือกันในวงการวิชาชีพในสังคมสาธารณสุขยังคงมีคำถามมากมายที่ทำให้หมออนามัยต้องคิดพิจารณาและปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ จาก “ ตำรวจเล่นไพ่ อนามัยกินก้อย” “หมออนามัยไม่จบปริญญา” “หมออนามัยไร้วิชาชีพ” ให้ไปสู่ “หมออนามัยหัวใจหลักของการพัฒนาสุขภาพประชาชน” ให้ได้

                 หมออนามัยจึงต้องพัฒนาศักยภาพตนเองและสร้างการยอมรับในมาตรฐานวิชาชีพ และไม่ว่าองค์กรวิชาชีพของหมออนามัยจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับการภูมิใจในตนเองของหมออนามัยและพยายามปรับปรุงพัฒนาตนเองค้นหาและเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตนเองและผู้รับบริการ โดยเฉพาะบุคลิกลัษณะที่บ่งบอกถึงการมีคุณสมบัติของผู้นำทางสุขภาพในพื้นที่สังคมชนบทที่ไม่แตกต่างจากผู้นำทางสุขภาพที่ปฏิบัติงานในที่อื่น ๆ โดยเป็นผู้ทรงความรู้และแสดงออกถึงความรู้อย่างมีมาตรฐานประกอบกับการแสดงออกในด้านรูปแบบของข้าราชการที่มีเกียรติเป็นสากล

อนาคตการเป็นทีมสุขภาพชุมชน ( Community Health Team )

                   ทีมสุขภาพชุมชนในสถานีอนามัยในช่วงเวลาปัจจุบันบางพื้นที่และอนาคตจะประกอบไปด้วยบุคลากรสหวิชาชีพ คือมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลาย ๆ ด้านร่วมมือกันปฏิบัติงาน เช่น พยาบาล นักวิชาการ นักทันตสุขภาพ เจ้าพนักงานสาธารณสุข นักกายภาพบำบัด นักอายุรเวช ควบคู่ไปกับการพัฒนางานสุขภาพภาคประชาชนที่จะเข้ามามีบทบาทในเรื่องการตรวจสอบการทำงานของภาคราชการ การส่งเสริมคุณภาพชีวิต การคุ้มครองสิทธิทางการรับบริการและการบริโภค การแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรกำลังได้รับการแก้ไขให้มีความเหมาะสมกับปริมาณงานในพื้นที่ปัญหาด้านการให้และรับบริการจึงมีโอกาสจะหมดไปในที่สุด รูปแบบการให้บริการที่ต้องมีมาตรฐานสูงขึ้นตามความคาดหวังและความต้องการของประชาชนผู้รับบริการ ดังนั้นมาตรฐานและคุณภาพทางการศึกษาของบุคลากรจึงต้องมีเพิ่มขึ้น การวางระบบให้บริการและรูปแบบอาคารสถานที่กำลังได้รับการพัฒนาให้มีความพร้อม สะอาดปลอดภัยและสามารถแสดงออกให้เห็นความเป็นมาตรฐานและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้รับบริการ

                  หมออนามัยคือหนึ่งในทีมสุขภาพชุมชน ซึ่งอาจอยู่ในบทบาทของเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน หรืออาจพัฒนาบทบาทไปสู่ตำแหน่งงานอื่น ๆ จึงควรเตรียมตัวเองให้พร้อมรับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ในทุกขณะ โดยมีจุดยืนสำคัญคือการปฏิบัติภาระกิจหน้าที่ในกรอบหน้าที่ของตนเองให้เต็มความสามารถและสามารถประสานเชื่อมโยงข้อมูลหรือการปฏิบัติงานพัฒนาสุขภาพร่วมกับบุคลากรอื่น ๆ ด้วยความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของทั้งตนเองและเพื่อนร่วมงาน

                 การทำงานร่วมกันกับภาคประชาชนและอาสาสมัครทางสุขภาพ ( Health Volunteer )หรืออาสาสมัครกลุ่มอื่น ๆ รวมถึงแกนนำชุมชนฝ่ายต่าง ๆ ในชุมชน เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ยังคงความต่อเนื่องและยั่งยืนของการพัฒนาเนื่องจากหมออนามัยจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนไปสู่ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ ดังนั้นการยอมรับในความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้านหรือองค์ความรู้ดั้งเดิมและนำมาประยุกต์ใช้ในภาวะปัจจุบันจึงเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งที่หมออนามัยจะต้องเรียนรู้และพยายามนำทิศทางการพัฒนาสุขภาพให้ถูกต้องเหมาะสมเคียงคู่ไปกับทีมสุขภาพชุมชนและทีมสุขภาพภาคประชาชน

                  การพัฒนาสุขภาพและการบริการบริหารข้อมูลสุขภาพโดยใช้เครือข่าย ( Net work ) เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ผู้นำชุมชน กลุ่มชมรมทางสุขภาพอื่น ๆ กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากนี้เครือข่ายที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันคือ วิทยุชุมชน โทรศัพท์เคลื่อนที่ จนกระทั้งถึงอินเตอร์เน็ต ในอนาคตการทำงานร่วมกับเครือข่ายการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับเครือข่ายเหล่านี้จะทำให้การทำงานพัฒนาสุขภาพเคลื่อนไหวได้คล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น

 

     

         

         

    ลืมหายใจไหนจะมีชีวิตรอด

    ลืมถ่ายทอดความรู้เป็นครูหรือ

    ลืมการสอนแผนใหม่ไร้ฝีมือ

    ลืมใช้สื่อซื้อมาน่าเจ็บใจ”

    : ร.ร.วัดท่าประดิษฐ์ อ.ปากพลี นครนายก

    “ลืมหายใจไหนจะมีชีวิตอยู่

    ลืมรักษาให้ความรู้ไม่ใช่หมอ

    ลืมสิทธิผู้ป่วยยังดีไม่พอ

    ลืมจรรยาบรรณแสนท้อ..สุขภาพชน”

    : สุมิตรชัย  คำเขาแดง

    หมายเลขบันทึก: 114388เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (2)
    • สวัสดีคะ
    • แอบแวะเข้ามาทักทาย
    • และให้กำลังใจ หมออนามัยด้วยคน

    ขอบคุณมาก ๆ ครับ

              ยินดีมากครับ  เป็นกำลังใจเช่นกันครับ ขอให้ชาวเรานักสุขภาพ  มีกำลังใจที่เยี่ยม สุขภาพที่เจ๋ง และไม่เป็นหนี้ครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท