มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

การออกแบบเว็บเพื่อให้คนตาบอดใช้งานได้


Web Design For Blind Man การออกแบบเว็บเพื่อให้คนตาบอดใช้งานได้
โดย อภิศิลป์ ตรุงกานนท์      วันอังคารที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2007

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีโปรแกรม JAWS ที่ใช้อ่านข้อความที่ปรากฎบนหน้าจอคอมพิวเตอร์และสังเคราะห์ออกมาเป็นเสียงภาษาอังกฤษ และมีโปรแกรม PPA Tatip ที่สามารถสังเคราะห์เสียงภาษาไทยได้ ซึ่งช่วยให้คนตาบอดมีโอกาสที่จะใช้งานคอมพิวเตอร์ได้เหมือนคนตาดี แต่เราก็ยังต้องตระหนักถึงการออกแบบโปรแกรมซอฟท์แวร์ต่างๆ ที่จะต้องเป็นมิตรกับคนตาบอดด้วย และยิ่งไปกว่านั้นก็คือการออกแบบเว็บไซต์และเนื้อหาภายในเว็บไซต์ที่จะช่วยให้คนตาบอดใช้งานเว็บนั้นๆ ได้สะดวก

W3C ได้กำหนดมาตรฐานการสร้างเนื้อหาภายในเว็บไซต์ที่ช่วยให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงเว็บได้ง่าย เข้าใจสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในเว็บ โดยล่าสุดได้มีการปรับปรุง  Web Content Accessibility Guidelines 2.0 ไปเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2007 มีเนื้อหาใจความโดยสรุปดังนี้

กฎข้อที่ 1: รับรู้ได้ - เนื้อหาและองค์ประกอบ user interface จะต้องทำให้ผู้ใช้รับรู้ได้ทั้งหมด

หมายถึงเนื้อหาต่างๆ ภายในเว็บที่ไม่ใช่ตัวอักษร เช่น รูปภาพ กราฟ แผนผังต่างๆ จะต้องมี text alternative ที่ให้ข้อมูลว่าเนื้อหานั้นๆ คืออะไร เพื่อที่ text alternative เหล่านี้จะถูกแปลงเป็นเสียงอ่านที่คนตาบอดรับรู้ได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ข้อความกำกับรูปภาพทุกรูป พวกรูปที่ใช้เพื่อการจัดรูปแบบหรือตกแต่งเว็บก็ไม่ต้องใส่

กฎข้อที่ 2: จัดการได้ - องค์ประกอบ user interface จะต้องทำให้ผู้ใช้จัดการได้

หมายถึงผู้ใช้จะต้องใช้คีย์บอร์ดในการเข้าถึงส่วนต่างๆ ของเว็บได้ทั้งหมด ถ้าเป็นพวก Rich Application ก็ควรจะมี shortcut key ให้กดได้ นอกจากนี้ยังต้องให้เวลาผู้ใช้ให้เพียงพอที่จะอ่านและใช้องค์ประกอบต่างๆ ได้

กฎข้อที่ 3: เข้าใจได้ - ข้อมูลและการจัดการ user interface จะต้องทำให้ผู้ใช้เข้าใจได้

หมายถึงต้องมีการระบุว่าเว็บแต่ละหน้าเป็นภาษาอะไร พวกตัวย่อต่างๆ ที่ใช้ในเว็บก็ต้องมีคำอธิบายว่ามันคืออะไร (อาจจะลิงค์ไปที่หน้ารวมความหมายของตัวย่อ) หรือพวกการเปิดหน้าต่างใหม่หรือ popup ก็ควรเกิดจากการที่ผู้ใช้คลิก spacebar แล้วถึงจะเปิด ไม่ใช่ว่าเปิดขึ้นมาเฉยๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งง

กฎข้อที่ 4: ถูกต้องแน่นอน - เนื้อหาจะต้องมีรูปแบบที่ถูกต้อง บราวเซอร์ทุกประเภทจะต้องอ่านได้

หมายถึงแท็กต่างๆ จะต้องเขียนให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ถ้ามีแท็กเปิดก็ต้องมีแท็กปิด เนื่องจากคนตาบอดอาจจะใช้บราวเซอร์พิเศษที่แตกต่างจากคนตาดี ซึ่งบราวเซอร์นั้นอาจจะมีปัญหาถ้าไปเจอแท็กที่เขียนผิด

รายละเอียดของการเขียนเว็บให้เป็นมิตรกับคนตาบอดมีค่อนข้างเยอะครับ ให้ลองศึกษาจากเว็บของ W3C ดู หรือถ้าขี้เกียจอ่าน เวลาที่ออกแบบเว็บเสร็จแล้ว ก็ลองหลับตาเล่นเว็บตัวเองดู โดยใช้โปรแกรม JAWS ประกอบไปด้วย ดูว่าจะสามารถเข้าถึงทุกฟีเจอร์ของเว็บได้เหมือนเวลาลืมตาไหม

เขียนโดย MacroArt เวลา 22:18 น.

ป้ายกำกับ: Blind Man, Web Development

2 ความคิดเห็น:

MacroArt กล่าวว่า…

    http://www.nectec.or.th/atc/publish/ASTEC_Guideline.pdf

    14 หัวข้อแนวทางในการพัฒนาเว็บไซต์ให้ทุกคนเข้าถึงได้
    29 มิถุนายน 2007, 22:51 น.  
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า…

    ดีจังเลยค่ะ อยากให้ผู้พัฒนาเว็บไทยทั้งหลายได้ aware ถึงเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลบนหน้าเว็บ (web accessibility) กันเยอะๆ ค่ะ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวของดิฉันเองเคยประสบปัญหาในการอ่านเว็บพอสมควรค่ะ

    ส่วน browser ที่คนตาบอดใช้นั้น ส่วนใหญ่ก็เป็น IE น่ะแหล่ะค่ะ ไม่ได้ใช้ browser แปลกไปจากคนปกติอะไร แต่ตัวที่พวกเราใช้ต่างกันก็คือตัวโปรแกรมอ่านจอภาพอย่างที่คุณได้เขียนไว้ค่ะ
    เคยเห็นมีหลายเว็บในต่างประเทศพยายามแก้ปัญหาด้วยการมีตัวเลือก text only ไว้ให้เลือกได้ แต่แบบนี้จะยิ่งทำให้งานสร้างเว็บของเจ้าของเว็บยิ่งเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้าเกิดคนทำเว็บออกแบบ version เดียวให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ก็จะสามารถลดภาระไปได้พอสมควร แต่การมี style sheet ให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปเปลี่ยนหน้าตาได้ตามความต้องการก็เป็นวิธีที่ใช้กันมากค่ะ
    หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นเว็บไทยของเราสามารถเข้าถึงได้โดยคนทุกกลุ่ม (รวมถึงคนตาบอดด้วยค่ะ)
    30 มิถุนายน 2007, 22:49 น.

คัดลอกมาจาก : http://blog.macroart.net/2007/06/web-design-for-blind-man.html<hr width="100%" size="2" />

คำสำคัญ (Tags): #web development#blind man
หมายเลขบันทึก: 113976เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2007 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบพระคุณค่ะ
  • ปลื้มจังเลยเช้านี้ เข้า G2K เจอเรื่องดีดี มีผู้สนใจเรื่องเวบไซด์ที่เข้าถึงทั่วกัน ( universal access )
  • ทางDSS@MSU คิดเรื่องนี้มาตลอดค่ะ  แต่พวกเราไม่เก่งด้านนี้และ อ่านภาษาอังกฤษในนี้ http://www.w3.org/WAI/ ไม่ค่อยเข้าใจอ่ะค่ะ  แต่ก็ติดตามถามผู้รู้อยู่เสมอ
  • ตอนนี้กำลังจะไปอบรมโครงการพัฒนาสังคมแห่งความเท่าเทียมด้วย ICT ค่ะ  เร็วๆนี้จะเห็นเวบไซด์ที่น้องๆเข้าถึงเพิ่มขึ้นอีกนะคะ  อิอิ  (หวังมาก)
  • ตอนนี้ขอกำลังใจให้น้องๆและคนทำงานด้วยนะคะ เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นกับ gotoknow และเจ๊ดัน
  • blog ของเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นค่ะ

  • ขอบพระคุณค่ะ

หนุนเว็บเพื่อคนพิการ สร้างความเท่า เทียมการเข้าถึงข้อมูล [15 ส.ค. 50 - 05:33]

ทางด่วนข้อมูลอินเทอร์เน็ตได้เข้าไปมีบทบาทขยายแผ่กว้างในวงการต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานการศึกษาเอกชน รวมถึงธุรกิจเชิงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ ฯลฯ ที่ต่างก็ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งแวดวงภาครัฐที่เป็นอีกภาคหนึ่งที่ตื่นตัวในเรื่องนี้ และพยายามที่จะรับเอาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์ประจำหน่วยงานขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะพัฒนาเว็บไซต์ขึ้นมาให้บริการเฉพาะคนปกติที่มีอวัยวะครบ 32 คงไม่ได้ เพราะจะเป็นเรื่องยาก หรือ เกือบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับคนพิการจะเข้าถึงผู้พิการหรือผู้มีปัญหาทางร่างกายในการเข้าถึง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะ ต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานหลายๆ แห่ง ช่วยผลักดันให้ประสบความสำเร็จ

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค โดยโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ หรือ แอสเทค เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เล็งเห็นถึงความในการพัฒนาเว็บไซต์ภาครัฐเพื่อคนพิการ จึงได้จัดการสัมมนาในหัวข้อ “การพัฒนาเว็บไซต์ภาครัฐให้สอดคล้องกับการเข้าถึงสารสนเทศที่เท่าเทียมและทั่วถึง” ขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวถึงแผนและนโยบายในการลดช่องว่างการเข้าถึงสารสนเทศของคนพิการว่า ในระดับนานาชาติให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เช่น องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ที่ต้องการช่วยให้ผู้พิการเข้าถึงข้อมูล ขณะที่ UNESCAP ได้มีการลงปฏิญาร่วมกันใน "Biwako Millennium Framwork" เกี่ยวกับสิทธิของผู้พิการ ที่หนึ่งในขั้นตอนหลัก คือ เรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เท่าเทียมกัน

“นอกจากองค์กรระดับชาติแล้ว ในต่างประเทศก็ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคและเท่าเทียมในการเข้าถึงสารสนเทศเช่นกัน โดยในสหรัฐฯ มีกฎหมายและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มาก เช่นเดียวกับในอีกหลายประเทศ เช่น แคนาดาที่พัฒนาเว็บไซต์เพื่อคนพิการโดยเฉพาะ และสเปนที่มีกฎหมายว่าด้วยเรื่องของการเข้าถึงสารสนเทศของคนพิการบังคับใช้มาแล้ว 2-3 ปี ขณะที่ในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญพอสมควร แต่ยังไม่เห็นผล” รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าว

ดร.ชฎามาศ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ในประเทศไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำแผนและนโยบายการลดช่องว่างการเข้าถึงสารสนเทศ การติดต่อสื่อสารและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการจนเกิดเป็นแผนแม่บทแห่งชาติปี พ.ศ. 2545-2549 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า คนพิการ 70% ต้องสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและสามารถซื้อเทคโนโลยีที่ช่วยในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยได้รับการยกเว้นภาษี แต่เมื่อจบแผนพบว่า บางเรื่องก็สำเร็จ แต่บางเรื่องก็ไม่สำเร็จ

“สัดส่วน 70% ที่คนพิการต้องเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศไม่เป็นไปตามเป้า ขณะที่การยกเว้นภาษีอุกปรณ์เทคโนโลยีทำได้บางรายการ เพราะไม่ชัดเจนว่า หน่วยงานไหนจะเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถือว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ พอสมควร โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้ให้ความสำคัญกับของการเข้าถึงสารสนเทศของคนพิการไว้ ส่วนในร่างฉบับปี พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ในมาตรา 30, 54 และ 56” รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวเพิ่มเติม

คราวนี้ เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ภาครัฐตามแนวการบริการข้อมูลข่าวสารที่คนพิการเข้าถึงได้ หรือ Web Accessibility ดร.ชฎามาศ ให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันมีเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐเกือบ 200 เว็บไซต์ แต่มีเว็บไซต์ที่ได้มาตรฐานตามแนวทางการเปิดให้คนพิการเข้าถึงเพียง 2-3 เว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์ของศูนย์พัฒนาและฝึก อบรมคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิก แต่คาดว่า หลังจากมีแนวทางที่เป็นมาตรฐานกลางในการออกแบบและพัฒนาแล้วน่าจะมีมากขึ้น

สำหรับภาพรวมปัญหาที่เว็บไซต์ภาครัฐไม่สามารถสร้าง Web Accessibility ได้ นางสาววันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เนคเทค กล่าวว่า เป็นเพราะไม่มีเจ้าภาพ หรือ หน่วยงานกลางเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ นอกจากนั้น ความสามารถด้านเทคโนโลยีของแต่ละหน่วยงานยังมีไม่เท่า กัน จึงทำให้ปัจจุบันมีเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐที่เปิดให้คนพิการเข้าถึงไม่มากนัก

ด้านนายน้ำหนึ่ง มิตรสมาน ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เนคเทค ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐทั้ง 240 กรม จากทุกกระทรวงพบว่า ปัจจุบันยังไม่มีเว็บไซต์ของหน่วยงานใดที่พัฒนาและออกแบบให้คนพิการเข้าถึงได้ 100% แต่คาดว่า ภายใน 4-5 ปีนี้ เว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐระดับกรมทุกแห่งจะพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ให้คนพิการเข้าถึงได้

“ที่ผ่านมา กลุ่ม Web Accessibility Initiative หรือ WAI ภายใต้องค์กร World Wide Web Consortium หรือ W3C ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงเพื่อใช้เป็นมาตรฐานกลางในการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์สำหรับคนพิการ โดยใช้แนวทาง Web Content Accessibility Guideline หรือ WCAG ซึ่งในประเทศไทยก็ต้องใช้แนวทางนี้ เช่นเดียวกัน แต่ยังไม่มีผลมากนักในการนำไปปฏิบัติ” ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นายน้ำหนึ่ง ให้ข้อมูลต่อว่า หากมองผิวเผินแล้วเว็บไซต์ตามแนวทาง Web Accessibility กับเว็บไซต์ปกติจะไม่แตกต่างกัน แต่เว็บไซต์ตามแนวทาง Web Accessibility จะมีคุณสมบัติและเครื่องมือพิเศษในการอ่านเว็บไซต์เติมเพิ่มเข้ามา เช่น โปรแกรมอ่านเว็บ หรือ โปรแกรมอ่านจอภาพสำหรับคนตาบอด ส่วนคนหูหนวกก็จะต้องมีข้อมูลที่มีเสียงประกอบ หรือ มีวีดีทัศน์แสดงข้อมูลประกอบ ฯลฯ ส่วนในขั้นตอนการออกแบบและพัฒนานั้น แทบไม่แตกต่างจากเว็บไซต์ปกติ

“ทางเนคเทคได้ติดตามเรื่องนี้ มาตลอด พร้อมกับได้ศึกษาแนวทางการออกแบบและพัฒนา Web Accessibility เพื่อนำมาปรับใช้เป็นแนวทางการออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงสำหรับประเทศไทย รวมทั้งจะทำออกมาเป็นคู่มือแนว ทางการออกแบบเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงและแจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยเชื่อว่า หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งจะพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ให้คนพิการเข้าถึงได้ แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่มีกฎหมายบังคับ” ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการฯ ให้ข้อมูลทิ้งท้าย

ขณะที่นายมณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สะท้อนความคิดเห็นว่า คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าคนพิการเป็นผู้บริโภคข้อมูลระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ หรือ บางครั้งก็ไม่ต้องรับข้อมูลเลย ดังนั้น การสร้างเว็บไซต์ตามแนวทาง Web Accessibility จึงถือเป็นเครื่องชี้วัดความเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง ชั้นสองได้ ขณะเดียวกันยังทำให้เว็บไซต์ง่ายต่อการเข้าใจ รวมทั้งสามารถรับรู้ข้อมูลได้ไม่น้อยกว่าคนทั่วไปและสามารถใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาค้นคว้า

ทั้งหมดนี้ เป็นรายละเอียดส่วนหนึ่งของการสัมมนาเกี่ยวกับการพัฒนาเว็บไซต์ภาครัฐให้คนพิการเข้าถึงได้ ที่จะเห็นได้ว่า คงจะไม่ยากเกินไปนักที่จะทำให้คนพิการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเท่าเทียมกับคนปกติ พร้อมก้าวไปทันกับเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น โดยหน่วยงานภาครัฐทุกแห่งจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันและดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้คนพิการไทยได้รับความเท่าเทียมทางสังคม รวมทั้งมีโลกทัศน์ที่กว้างไกลไม่แพ้คนพิการชาติอื่นๆ.

ณัฐพล ทองใบใหญ่
[email protected]

http://www.thairath.com/news.php?section=technology03a&content=57540 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท