ผมได้รับการร้องขอจากลูกศิษย์คนหนึ่งให้ช่วยเขียนบันทึกเรื่อง "ปาท่องโก๋" ให้หน่อย เพื่อนำไปใช้ประกอบการสอนเรื่อง "โครโมโซมและ DNA" คงจะชอบใจตอนที่ผมเคยเล่าให้ฟังในชั้นเรียน เรื่องนี้ต้องเป็นบูรณาการความรู้ ระหว่างพงศาวดารจีนเรื่อง "ซวยงัก" และ เรื่องเล่าเกี่ยวกับ "อิ่วจาก้วย" ซึ่งเป็นที่มาของ "ปาท่องโก๋" ในบ้านเราครับ
ผมได้เล่าเกริ่นนำ/ปูพื้นเกี่ยวกับเรื่อง "ปาท่องโก๋" ไว้ ๔ ตอนมาแล้ว ขอได้โปรดติดตามดังนี้
เล่าเรื่องต่อนะครับจากตอนที่ 4 เมื่อบูเชียงก๋งตายแล้ว ประชาชนก็โกรธแค้นชีนไคว่ แต่ยังทำอะไรไม่ได้เนื่องจากขณะนั้นชีนไคว่เป็นใหญ่อยู่ในตำแหน่ง อัครมหาเสนาบดี
ภายหลัง บุตรของบูเชียงก๋งคนหนึ่ง ชื่องักหลุย ได้เป็นแม่ทัพไปปราบปรามเมืองไตกิมก๊กได้ราบคาบยอมเป็นข้าในแผ่นดิน น่ำซ้อง (ซ้องตอนใต้) แล้ว เมื่อกลับมาเฝ้าพระเจ้าซ้องเฮาจง (เป็นเชื้อสายของเตียคังเอี๋ยนปฐมกษัตริย์ราชวงค์ซ้อง ครองราชย์ต่อจากพระเจ้าซ้องเกาจง) จึงได้ชำระความเรื่องชีนไคว่เป็นไส้ศึก ได้ความจริงแล้ว ชีนไคว่,นางเฮงสี (ซึ่งทั้งสองตายไปก่อนหน้านั้นแล้ว) พร้อมทั้งพวกพ้อง จึงถูกประณามว่าเป็น "คนขายชาติ" และถูกพระราชอาญาประหารชีวิตทั้งหมด
และเพื่อเป็นการจารึกความดีให้กับบูเชียงก๋งผู้ล่วงลับ จึงได้มีการสร้างศาลรูปเคารพของบูเชียงก๋งขึ้น และยกย่องให้เป็นเทพเจ้า ภายนอกศาลให้สร้างเป็นรูปศิลา (หิน) คุกเข่าก้มหน้า เป็นรูปของชีนไคว่และนางเฮงสีกับพวกอีก 2 คน เวลาคนจะเข้าไปบูชาบูเชียงก๋ง ต้องเขกศีรษะคนเหล่านี้ พอเขกจำนวนครั้งมากเข้า ศีรษะรูปศิลาก็แหว่งไป ภายหลังจึงทำเป็นรูปโลหะ
![]() |
||
ภาพ รูปเคารพของเทพเจ้าขุนพลงักฮุยหรือบุเชียงก๋ง | ||
นอกจากนั้นความที่ประชาชนยังมีความแค้น
จึงทำขนมชนิดหนึ่งเพื่อนำไปบูชาบูเชียงก๋ง เป็นแป้งติดกันเป็นคู่
แล้วเอาไปทอดในกระทะ เวลาจะรับประทานต้องฉีกออกจากกัน
เพื่อให้สมกับความแค้น สมมุติแป้งให้เป็นชีนไคว่กับนางเฮงสี
และเรียกขนมนี้ว่า "โหยวจ้าข้วย"
(จีนกลาง) แต่สำเนียงจีนในเมืองไทยจะออกเสียง "อิ่วจาก้วย" หมายถึงน้ำมันทอดชีนไคว่ (ฉินข้วย)
ประชาชนที่มากราบไหว้บูชาเทพเจ้าบูเชียงก๋งเสร็จแล้ว
มักจะถ่มน้ำลายหรือเอาของโสโครกสาดใส่รูปโลหะของพวกกังฉินเหล่านั้นเพื่อแสดงความเกลียดชังพวกกังฉินที่ร่วมกันขายชาติให้ชาวต่างชาติ.......
สมัยรัชกาลที่ 6 ขนม "อิ่วจาก้วย" ได้มีการนำมาทอดขายในเมืองไทยคู่กับขนมชนิดหนึ่งเรียกว่า "ปาท่องโก๋" ซึ่งในหนังสือประวัติวัฒนธรรมจีนของ ล.เสถียรสุต เขียนว่า “ปาท่งโก๋” เป็นขนมน้ำตาลทรายขาว แผ่นกลมใหญ่เท่าฝ่ามือ มีน้ำตาลโรยอยู่บนหน้า ขายคู่กับขนมเหย่าจาโก๋ หรือขนมทอดน้ำมัน ซึ่งเป็นแท่งประกบติดกัน ดังนั้นปาท่องโก๋ของเราก็น่าจะเป็นขนมอิ่วจาก้วย ที่เรียกชื่อสลับกันผิดมาตั้งแต่สมัยนั้น....
|
![]() |
||
ภาพ ขนม"อิ่วจาก้วย" ซึ่งคนไทยเรียกผิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ว่า "ปาท่องโก๋" | ภาพด้านล่างคือ ขนม "ปาท่องโก๋" เดิม | ||
หมายเหตุ : เรื่องของปาท่องโก๋นี้ เป็นเรื่องของคนที่ทำความไม่ดี คือขายชาติ ทำให้มหาชนโกรธแค้น ดังนั้นจึงทำขนมชนิดหนึ่ง ซึ่งเวลาจะรับประทานต้องฉีกออกจากกัน (ด้วยความแค้น) ดังนั้น ความหมายที่คนไทยนำมาใช้ในเรื่อง "การทำงานแบบปาท่องโก๋" (ทำนองว่าร่วมมือร่วมใจกันทำงาน) จึงไม่ถูกต้องในความหมายเดิมครับ...