เอกซเรย์ทรวงอก เสี่ยงแค่ไหน


คนไข้ผู้หญิงที่ได้รับรังสีเอกซ์บริเวณทรวงอกมีความเสี่ยงมะเร็งจากรังสีมากกว่าคนไข้ผู้ชาย เนื่องจากเนื้อเยื่อเต้านมค่อนข้างไวต่อรังสี ทำให้เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม

พวกเราคงทราบกันดีว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่มีทั้งด้านดีและด้านเสีย ข่าวร้ายคือ เวลาโฆษณามักจะกล่าวแต่ด้านดี ไม่เปิดเผยข้อดีข้อเสียให้ครบทุกด้าน วันนี้มีตัวอย่างอันตรายจากเอกซเรย์มาฝากครับ...

อาจารย์ดอกเตอร์นายแพทย์แอนดรูว์ ไอน์สไตน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ แห่งศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐฯ กล่าวว่า

การนำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ขนิดมาใช้ตรวจเส้นเลือดหัวใจ (CT coronary angiography / CRCA 64 slices) มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งในระดับหนึ่ง

ความเสี่ยงมะเร็งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญๆ 2 อย่างได้แก่ เพศ และอายุ

คนไข้ผู้หญิงที่ได้รับรังสีเอกซ์บริเวณทรวงอกมีความเสี่ยงมะเร็งจากรังสีมากกว่าคนไข้ผู้ชาย เนื่องจากเนื้อเยื่อเต้านมค่อนข้างไวต่อรังสี ทำให้เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม

คนไข้อายุน้อยที่ได้รับรังสีเอกซ์บริเวณทรวงอกมีความเสี่ยงมะเร็งจากรังสีมากกว่าคนไข้อายุมาก เนื่องจากกระบวนการเกิดมะเร็งส่วนใหญ่กินเวลานานนับสิบๆ ปี

ตัวอย่างความเสี่ยงมะเร็งจากรังสีหลังตรวจเอกซเรย์เส้นเลือดหัวใจ 1 ครั้งปรากฏดังตาราง (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1: แสดงความเสี่ยงมะเร็งตลอดชีวิต (lifetime) จากการตรวจเอกซเรย์เส้นเลือดหัวใจ 1 ครั้ง (ปริมาณรังสีที่ได้รับมีค่าเทียบเท่าการเอกซเรย์เต้านม 20 ครั้ง)

เพศ

อายุ

ความเสี่ยง

หญิง

20

1 ใน 143

ชาย

80

1 ใน 3,261

หญิง

60

1 ใน 715

ชาย

60

1 ใน 1,911

จากตารางดังกล่าวจะเห็นว่า ผู้หญิงที่อายุน้อยมีความเสี่ยงสูงสุด เช่น 1 ใน 143 ฯลฯ

ความเสี่ยงนี้หมายถึงถ้ามีผู้หญิงอายุ 20 ปีตรวจเอกซเรย์เส้นเลือดหัวใจ 143 คน และเราติดตามไปตลอดชีวิตจะพบว่า ผู้หญิงที่ผ่านการตรวจ 1 คนจะเป็นมะเร็งจากรังสี

นอกจากนั้นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เส้นเลือดหัวใจยังต้องฉีดสีเอกซเรย์ (สารทึบรังสี / contrast media)

การฉีดสีเอกซเรย์ 1 ครั้งมีความเสี่ยงต่อการแพ้ยาถึงตายประมาณ 1 ใน 40,000 ครั้ง หรือถ้าทำการตรวจ 40,000 ครั้งจะมีคนตายจากยา 1 ครั้ง

การฉีดสีเอกซเรย์มีอัตราการแพ้ยาอย่างแรง เช่น หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น ช็อค ฯลฯ ประมาณ 1-3 ใน 40,000 ครั้ง หรือถ้าทำการตรวจ 40,000 ครั้งจะมีการแพ้ยารุนแรง 1-3 ครั้ง เช่น หยุดหายใจ ฯลฯ

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพ้สีเอกซเรย์เพิ่มมากเป็นพิเศษได้แก่ คนที่มีโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด ฯลฯ คนที่มีโรคไตเสื่อม ไตวาย หรือมีโรคหัวใจเสื่อมสภาพมาก่อน

การตรวจเอกซเรย์ โดยเฉพาะการตรวจที่มีการฉีดสีเอกซเรย์หรือสารทึบรังสี จึงควรทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

เพราะความเสี่ยงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เปรียบคล้ายการใช้รถใช้ถนนที่ความเสี่ยงย่อมเกิดขึ้นได้เสมอแม้จะเตรียมการมาอย่างดี

ตัวอย่างเช่น การเอกซเรย์ทรวงอกก็มีอัตราเสี่ยงมะเร็งประมาณ 1 ในล้าน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม... ถ้ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น สงสัยโรคปอดบวม วัณโรค ฯลฯ การตรวจนั้นย่อมเป็นการตรวจที่คุ้มค่า เพราะอัตราตายจากโรคย่อมสูงกว่าอัตราตายจากการตรวจวินิจฉัย

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ และมีส่วนแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมครับ

                                                                    

ข่าวประกาศ...                                                  

  • ผู้เขียนขอปิดส่วนความคิดเห็น และงดตอบปัญหา เพื่อปรับปรุงคำหลัก (key words) บันทึกย้อนหลังไปพลางก่อน

ขอแนะนำ...                                                    

    แหล่งที่มา:                                       

  • Many thanks to Reuters > Maggie Fox > Heart x-ray raises cancer risk for young women > [ Click ] > July 17, 2007 // source: JAMA
  • Many thanks to Ivanhoe > Heart test raises cancer risk for some > [ Click ] > July 18, 2007. // source: Journal of the American Medical Association, 2007;298:317-323.
  • Many thanks to intelihealth > New technology is bringing new risks > [ Click ] > July 18, 2007.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก บ้านสุขภาพ มีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT ศูนย์มะเร็งลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ จัดทำ > 18 กรกฎาคม 2550.
หมายเลขบันทึก: 112425เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2007 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท