AAR การบันทึก Blog ในปี 2548 ครึ่งหลัง


เพื่อการพัฒนาระบบใน GotoKnow จึงจะขอสรุปเอาเฉพาะในส่วนที่เป็น Gotoknow เท่านั้น โดยมีกรอบคิดว่า Gotoknow เป็นเครื่องมือหนึ่งใน KM และด้วยเพราะผมรัก GotoKnow.org จึงขอขอบคุณทีมงาน และ สคส. ไว้ตรงนี้ แทนการบันทึกไว้ที่ท้ายบันทึก

     ต่อจาก ครึ่งแรก แรกเริ่มเดิมที ก็อย่างที่เคยบอกไว้ในหลาย ๆ บันทึกก่อนหน้าว่าไม่ค่อยเข้าใจ KM มากนัก แตเมื่อได้เข้ามาพบ เข้ามารู้จัก ก็ชักเห็นประโยชน์ ก็ได้เริ่มตั้งความคาดหวัง และมีส่วนที่ได้เกินคาดเพราะยิ่งใช้ไป เรียนรู้ไปก็ได้พบว่ามีอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ตามที่คาดไว้ หรือได้แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่ 100% ก็เพื่อการพัฒนาระบบใน GotoKnow จึงจะขอสรุปเอาเฉพาะในส่วนที่เป็น Gotoknow เท่านั้น โดยมีกรอบคิดว่า Gotoknow เป็นเครื่องมือหนึ่งใน KM และจะได้กล่าวถึงสิ่งที่ยังไม่ได้เกินคาด และสิ่งที่น่าจะจัดให้มีขึ้นใน GotoKnow ครับ อนึ่งการเขียนบันทึกนี้ นึกได้ก็เขียน ไม่ได้ปรับแต่งอะไร หากมีผลไปลดแรงใจทีมงานผู้พัฒนาก็กราบขออภัยไว้ด้วย ผมมีเจตนาบริสุทธ์ที่อยากเห็นการพัฒนาที่เยี่ยมยอดโดยคนไทย ใช้กันเอง ติชมกันเอง และพัฒนาต่อ และด้วยเพราะผมรัก GotoKnow.org จึงขอขอบคุณทีมงาน และ สคส. ไว้ตรงนี้ แทนการบันทึกไว้ที่ท้ายบันทึกนะครับ

     ยังไม่ได้ตามคาดเมื่อได้ใช้ Blog ใน GotoKnow.org

          1. การบันทึกให้ครอบคลุมประเด็นที่สนใจ เหมือนที่ได้บันทึกไว้ในสมุดบันทึกเช่นก่อน ๆ ที่ได้เคยทำ ผมยังทำได้ไม่หมด ไม่ครอบคลุม และไม่เต็มที่ ยังคงใช้สมุดร่วมด้วยเช่นเดิม เนื่องจากต้องเปลี่ยนการเขียนมาเป็นการพิมพ์ ซึ่งทำได้ช้า ไม่สามารถทำทันที่ได้เหมือนการเขียนลงในสมุด อีกทั้งการเขียนลงในสมุดเราสามารถจะสร้างเป็นรูป เส้นโยง หรืออย่างอื่นที่เป็นอิสระในรูปแบบ ในขณะที่ GotoKnow เน้นการใช้ข้อความ หรืออาจจะใช้รูปร่วมด้วยก็ได้ แต่กระบวนการยังต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น เมื่อผ่านไปหลาย ๆ วัน ก็ไม่ได้บันทึกและผ่านไปเลย ในมุมมองผมว่าเรื่องที่ผ่านไปเหล่านั้น ล้วนมีสาระที่น่าบันทึก ประเด็นนี้ผมใช้เครื่องบันทึกเสียง MP3 ช่วย แต่ก็ต้องใช้เวลาในการถอด และมีหลาย ๆ เรื่องที่ผ่านไปหลายวันแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ทำ

          2. คุณภาพของบันทึก โดยมองไปในหลาย ๆ มิติ เอาบันทึกที่ตัวเองบันทึกก็ยังไม่เป็นที่พอใจนัก เช่นยังตรวจพบคำผิดในภายหลังอีกมาก การใช้ภาษาทำให้ไขว้เขวเป็นที่เข้าใจผิดกว่าจะได้รู้ก็เมื่อมีคนที่ยอมเสียสละ ลปรร. ให้ข้อคิดเห็นกลับมา หรือการตกแต่งบันทึกให้ดูสวยงามน่าอ่าน ก็ต้องใช้เวลา บางบันทึกก็ไม่ได้ตกแต่งอะไรมากนัก จึงมีแต่ข้อความ อีกอย่างเรื่องการตกแต่งบันทึกด้วยภาพ ก็จะได้รับ feedback จากเครือข่าย/ทีมงาน อยู่เสมอ ๆ ว่าเปิดได้ช้า เลยไม่ได้อ่านเพราะต้องปิดเสียก่อนที่จะโหลดขึ้นมาทั้งหมด ส่วนประเด็นที่ว่าเป็นคุณภาพบันทึกที่ได้จาก KM หรือเป็น KM ที่เน้นว่าได้จากการปฏิบัติ หรือการบูรณาการนั้น โดยส่วนตัวยังไม่ได้คำนึงถึงตรงนี้มากนัก ยังเน้นที่อยากบันทึก อยากถ่ายทอด ยังเน้นที่เป็นบันทึกเตือนความจำ เก็บเกี่ยวเรื่องราว และเปิดประเด็นเพื่อขอ ลปรร. เสียมากกว่า หรือพูดง่าย ๆ คือ “บันทึกตามใจฉัน” เสียมากกว่า จึงรู้สึกอาย ๆ ต่อรางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับ และอาย ๆ ต่อความเป็น KM ของ GotoKnow ครับ หากจะเลยไปถึงได้มีการนำไปปรับใช้ ยังไม่อยากพิจารณาไปถึง เพราะมั่นใจเหลือเกินว่า “วัฒนธรรมของการให้ข้อคิดเห็น” ยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ทั้งก่อนการนำไปปรับใช้ ผลที่เกิดขึ้นระหว่างการนำไปปรับใช้ และผลได้หลังการนำไปปรับใช้แล้ว

          3. การสืบค้นเรื่องราวทั้งของตัวเอง และของคนอื่น ที่ได้บันทึกไว้ ยังทำได้ไม่ง่ายนัก ในระบบ GotoKnow แม้จะมีคำหลักของชุมชน แต่เมื่อเลือกจากคำหลักนั้น ก็จะพบแต่เฉพาะ Blog ใด ๆ ที่เข้าใช้ขณะนั้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นบันทึกทั้งหมดจากทุก Blog ทั้งชุมชนที่มีเห็น ส่วนการค้นด้วยการใช้เมนูค้นหา ก็ยังไม่สามารถกรองและค้นต่อจากที่กรองได้ในแต่ละครั้งของการค้นหา แต่เป็นการค้นหาจากทั้งหมดที่มีใน GotoKnow ทำให้เลือกยาก หรือไม่การค้นหาก็จะหลุดไปมาก เพราะคำในบันทึกจะใช้คำใดก็ได้ในการค้นหา ทุกคำถือเป็น "คำค้น" ได้หมด อีกกรณีหนึ่งอันนี้เป็นด้านผู้ใช้ คือ การกำหนดคำหลักเป็นคำที่สามารถกำหนดขึ้นได้เองโดยเจ้าของ Blog และผู้ดูแลชุมชน ฉะนั้นความเข้าใจหรือเหตุผลในการกำหนดจึงเป็นของเจ้าของ Blog และผู้ดูแลชุมชน เมื่อเราจะไปขอใช้ตรงส่วนนั้น ก็คิดว่าน่าจะยังไม่ตรงกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้ตรงกัน เพียงแต่จะกล่าวถึงว่าผู้อื่นยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้เต็มที่นัก

          4. ประเด็นกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน (ตามประเภทของ Blog ทั้ง 9 Blogs) เพื่อช่วยเติมเต็ม และเพิ่มมุมมองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หากพิจารณาจาก Blog ทั้งหมดที่บันทึกอยู่ ทุก Blog จะถูกชักชวนให้เข้าร่วมกับชุมชนอื่น มากน้อยต่างกันบ้าง แต่ก็ถือว่ามีคน “คอเดียวกัน” บ้างแล้ว แต่ก็ยังมี Blog อิสระ ที่ไม่เข้าร่วมชุมชนใด ๆ ที่เมื่ออ่านบันทึกแล้วจะเห็นว่าน่าจะเป็นคนคอเดียวกันได้ ซึ่งความเข้าใจในเรื่องการเข้าร่วมชุมชนนั้นจริง ๆ แล้ว ไม่กระทบอะไรกับ Blog เลย แต่จะเป็นการเอื้อต่อการ ลปรร.ให้กับชุมชนนั้น ๆ ที่เป็นแหล่งรวมคนคอเดียวกันมากกว่า และข้อจำกัดในการสร้างชุมชนก็แทบไม่มีเลย

          5. สืบเนื่องจากข้อ 4 เมื่อได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเป็นกลุ่มผู้สนใจในประเด็นนั้น ๆ แล้ว ทั้วนี้เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยน ขอ-ให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน ยังพบว่ามีน้อย ผมได้ลองสอบถามหลาย ๆ ท่านดูที่เป็นนักอ่าน Blog จะได้คำตอบที่คล้าย ๆ กันเช่น (เรียงจากความถี่มากไปน้อย) ไม่กล้า, กลัวว่ายัง “ไม่ถึงขั้น”, ของเขาเขียนดีอยู่แล้ว, ส่งข้อคิดเห็นไม่ผ่าน และ ถ้าได้เขียนบันทึกบ้างแล้วถึงจะกล้าแสดงความคิดเห็นของคนอื่น ในประเด็นนี้ที่ผมเห็นประโยชน์เมื่อได้แลกเปลี่ยน ขอ-ให้คำแนะนำซึ่งกันและกันในท้ายบันทึก นอกเหนือจากการได้เติมเต็ม ลปรร.กันแล้ว คือ ผู้เขียนบันทึกได้แรงใจ จึงเห็นว่าสำคัญ และยังขาดอยู่ ส่วนการที่จะตอบว่าแล้วจะทำอย่างไรล๊ะ ขอเอาไว้ในตอนข้อเสนอครับ

          6. การใช้บันทึก Blog ของคนอื่น เป็นแหล่งข้อมูลในการนำมาปรับใช้ในการทำงาน และในการวิจัยที่กำลังดำเนินการ และที่กำลังจะดำเนินการ มองว่าในหลาย ๆ ส่วนได้ใช้กันอย่างเต็มที่ ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากคือ ชุมชนเบาหวาน ในชุมชนที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย รองลงไปก็เป็นการพัฒนาคุณภาพ การเงินและสวัสดิการชุมชน แต่ในส่วนของการพัฒนาสุขภาพชุมชน หมออนามัย การสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน การพัฒนาชุมชนพึงตนเอง หรือ Healthy Thailand เป็นต้น ยังมีอยู่น้อย ยังไม่เกิดเป็นชุมชนแนวปฏิบัติอย่างชัดเจน

     อยากเห็นอะไรใน GotoKnow.org ในปี 2549 และปีต่อ ๆ ไป

          ในปี 2549 นี้ ผมขอถอดสิ่งที่อยู่ในใจออกมา บางเรื่องเข้าใจว่าทางทีมงาน GotoKnow.org น่าจะกำลังดำเนินการอยู่ ก็จะขอกล่าวถึงซ้ำ ๆ ไป ด้วยเกรงว่าหากจะตัดออกเสียก็เกรงจะไม่ปะติดปะต่อกัน ผมขอสรุปว่าอยากเห็นอะไรบ้างใน GotoKnow.org ดังนี้ครับ อนึ่งต้องขอบอกว่าที่เห็นอยู่แล้วว่ามีใน GotoKnow.org นั้น อยากเห็นต่อทั้งหมดนะครับ

          1. การบันทึก การใส่ภาพ หรือใส่ Link (หรือเสียง ถ้ามีได้) ทำได้ง่ายกว่าเดิม หมายถึงการนำ Objective มาวางบนได้เลย ในขณะที่พิมพ์ร่างบันทึก รวมถึงเครื่อง Server สามารถรองรับการเข้าใช้พร้อม ๆ กัน ได้มากกว่าเดิม เพราะในเดือนธันวาคม 2548 บางช่วงเวลา ไม่สามารถเข้าใช้ได้ หรือเข้าได้แต่โหลดช้ามาก โดยเฉพาะช่วง 15.30 – 17.30 น. โดยประมาณ

          2. มีการแนะนำตัวอย่างบันทึกที่มีคุณภาพในแต่ละเดือนเพื่อเป็นตัวอย่างในการเข้าถึงว่า “คุณภาพของบันทึก เป็นอย่างไร” และเปิดโอกาสให้เจ้าของบันทึกได้เล่าถึงเทคนิควิธีการที่เป็น Best Practice ของเขา รวมถึงการเปิดรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากมุมมองของคนอื่นเพิ่มเติม ผมอาจจะฝันไปบ้าง แต่คิดว่าเราน่าจะได้ตัวแบบบันทึกที่มีคุณภาพ และบันทึกอื่น ๆ ก็จะมีคุณภาพเร็วขึ้น

          3. เรื่องเมนูช่วยเหลือในการสืบค้น ที่เป็นของระบบ GotoKnow เอง แต่ผมบอกได้เพียงความต้องการว่าอยากสืบค้นได้โดยการกรองเป็นลำดับ ๆ ไป และมีการใช้ตัวเชื่อมระหว่าง “คำค้น” ได้ด้วย เป็นประเด็นที่ 1 ในประเด็นที่ 2 ก็คือคำหลักของชุมชนที่สามารถดึงบันทึกจากทุก Blog ออกมาในชุมชนนั้น แทนการดึงออกมาที่ละ Blog และประเด็นที่ 3 คือคำหลักของ GotoKnow เอง ที่เกี่ยวกับ KM ครับ (ถ้ามีได้)

          4. หากจะมีการสร้างแรงจูงใจในการแสดงข้อคิดเห็น ที่เกิดจากการ ลปรร. การแชร์ประสบการณ์ การนำไปลองใช้ การรายงานผลการใช้ เป็นต้น ด้วยการแนะนำข้อคิดเห็นตัวอย่าง และดีเยี่ยมในแต่ละสัปดาห์ (จะมีรางวัลติดปลายนวม หรือจะเป็นคะแนนสะสมไว้ก็ได้) ก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่พอจะมองเห็นได้ตอนนี้ เมื่อถึงสิ้นเดือน สิ้นงวด และสิ้นปี ก็นับคะแนนรวมแล้วประกาศผลกันไปทีนึง ผมคิดเห็นอย่างนี้ ด้วยมองว่าจะ “คึกคัก” ทั้งคนเขียนและคนอ่านครับ คนเขียนส่วนใหญ่จะอ่าน ส่วนคนอ่านมีมากกว่าคนเขียน เมื่อคนอ่านมาเขียนเล่าออกมาบ้าง น่าจะ “คึกคัก” เป็นอย่างยิ่ง ส่วนการเคลื่อนไหวเพื่อรวมตัวกันเป็นชุมชนแนวปฏิบัตินั้น เมื่อได้ข้อที่ 4 และข้อที่ 5 ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ก็ขอให้เป็นเรื่องของแกนนำในแต่ละชุมชนเอง

          5. ประเด็นนี้ขอกล่าวในเชิงนโยบายสักเล็กน้อย คือ สคส. หรือภาคีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง น่าจะได้มีการสร้างและพัฒนาแกนนำชุมชนที่ได้ปฏิบัติกันอยู่แล้วอย่างกว้างขวาง (เฉพาะตามการรับรู้ของผม) เช่น การพัฒนาสุขภาพชุมชน หมออนามัย การสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน การพัฒนาชุมชนพึงตนเอง หรือ Healthy Thailand เป็นต้น ให้นำ KM มาใช้ โดยอาจจะเริ่มจากเวทีเสมือนใน GotoKnow แห่งนี้ เพราะสะดวก ประหยัด และมีประสิทธิภาพที่สุด อันนี้ผมเห็นตัวอย่างและแอบศึกษาความสำเร็จจากเครือข่ายเบาหวาน เป็นตัวอย่างครับ และต้องไม่ปฏิเสธว่า สคส.และภาคี ก็มีส่วนช่วยผลักดันในระยะต้น ๆ ครับ ซึ่งผมก็มองว่าจำเป็นที่จะต้องจุดระเบิดก่อน โดยใช้พลังงานจากเบตเตอรี่ ซึ่งถือเป็นแหล่งจ่ายพลังภายนอก จากนั้นเมื่อเครื่งยนต์ติดแล้วอย่างเครือข่ายเบาหวาน พลังงานจากภายในเหลือเฟือจริง ๆ

หมายเลขบันทึก: 11124เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2006 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากคะคุณชายขอบ เป็นคำแนะนำที่มีคุณค่าอย่างยิ่งคะ ตอนนี้ทีมงานกำลังพัฒนาเวอร์ชันที่สองของระบบ MemeExpress ที่ใช้ run เว็บ GotoKnow.org อยู่คะ สามารถอ่านได้ที่บันทึกนี้คะ "การพัฒนา Knowledge Management System แทนระบบบล็อก"

ส่วนคำอธิบายเกี่ยวกับการใส่รูปในบล็อก ดิฉันได้เขียนไว้ที่บันทึกนี้คะ "ทำไมการใส่รูปหรือไฟล์ในบล็อกจึงยากกว่าใส่ในเว็บบอร์ด"
     ได้อ่านอย่างละเอียด และทำให้เห็นว่าเป็นการพัฒนาไม่หยุดยั้ง โดยทีมงานคนไทยจริง ๆ ขอบคุณนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท