มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

"นักประพันธ์" มอง "เรตติ้ง" จัดการ "มายา" ถูกจุดแค่ไหน?


"นักประพันธ์" มอง "เรตติ้ง" จัดการ "มายา" ถูกจุดแค่ไหน?
10 กรกฎาคม 2550 22:55 น.

มีละครไทยหลายต่อหลายเรื่องทีเดียว ที่ได้รับการเสกสรรจากนวนิยายให้โลดแล่นสร้างสาระบันเทิงเริงใจในช่วงเวลาหลังข่าว และหลายต่อหลายครั้งเช่นกัน ที่เรามักจะได้ยินว่า ผู้สร้างละครเรื่องนี้เรื่องนั้น "สอบไม่ผ่าน" ในการเคาะบทประพันธ์ให้กลายมาเป็นละครโทรทัศน์...แต่ไม่ว่าปัญหาของคนทำละครจะเกิดจากอะไรก็ตาม ต่อไปนี้ จะมีกำแพงอีกหนึ่งด่านที่พวกเขาต้องผ่านไปให้ได้ นั่นคือ "การจัดเรตติ้ง" ที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาในขณะนี้

 และนี่ คือบางส่วนเสี้ยวกับทัศนะจากเจ้าของ "บทประพันธ์" ว่าเขาคิดอย่างไรกัน

 สุกัญญา ชลศึกษ์ หรือ กฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ที่มีผลงานหลายเรื่องถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ เช่น "สวรรค์เบี่ยง" "เรือมนุษย์" "เมียหลวง" ฯลฯ เธอเชื่อว่าการจัดความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ น่าจะมาจากความปรารถนาดี ไม่คิดว่าใครจะมีอคติกับใคร หรือจะเป็นการทำลายผลประโยชน์ ส่วนตัวแล้วไม่อยากออกความเห็นกับเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า ละครทุกวันนี้ "ฉากตบตี" ที่สื่อถึงความรุนแรงนั้นมีไม่ใช่น้อย

 "ทุกวันนี้ เราเปิดโทรทัศน์ไปเจอละคร ก็ตบตี กำลังทะเลาะกัน มันเหมือนเป็นความเสื่อม รู้สึกหงุดหงิดใจ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่จำเป็น เมื่อก่อนละครทีวีดีกว่านี้ ดิฉันเป็นนักเขียน อาจจะเขียนเรื่องดราม่า แต่ไม่นิยมความรุนแรง มันต้องมีเหตุผลพอสมควร ถ้าจะให้ตัวละครตบตีกัน ควรมีแค่หนเดียวในเรื่อง ไม่ใช่ผัวะทุกฉาก ในความเป็นมนุษย์ มันควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มีเรื่องกระทบใจอย่างรุนแรง ถ่ายทอดออกมาสักฉากเดียวก็ไม่ว่ากัน"

 นักประพันธ์ชื่อดัง บอกต่อว่า ละครโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดจากบทประพันธ์ของเธอ จะใช้วิธีถ่ายทอดความรุนแรงด้วยการพูดจากัน ไม่พอใจก็แสดงออกทางสีหน้า และด้วยกิริยาอาการของมนุษย์ที่เป็นมนุษย์จริงๆ

 "บางคนมาบอกกับดิฉันว่า ทุกวันนี้ไม่ดูละครแล้ว เพราะด้วยความเป็นอยู่ของตัวละคร หรือแม้แต่สิ่งที่ตัวละครปฏิบัติต่อกัน มันไม่ใช่ชีวิตจริงของยุคสมัย เขาไม่มีอารมณ์ร่วม" สุกัญญา เล่าสิ่งที่เห็น

 เจ้าของนวนิยายเรื่องดัง ยังบอกด้วยว่า ไม่ได้ปฏิเสธความฉูดฉาดโลดโผนของละคร ซึ่งนั่นก็ดูสนุกดี เพียงแต่ไม่อยากให้มีความรุนแรงที่ไร้เหตุผล ซึ่งถ้าทุกช่องคิดถึงแต่เรื่องเรตติ้งสูงๆ ก็จะเลือกทำแต่ละครที่ตบตีกันอุตลุด ไม่ต่างกัน ซึ่งเธอหวังที่จะเห็นสิ่งที่เป็นชีวิตจริงในละคร

 "ทางช่องเขาก็สนุกในแบบของเขา แต่ไม่สนุกสำหรับเรานักประพันธ์ เท่านั้นเอง" นักเขียนชื่อดัง กล่าวทิ้งท้าย

 ด้าน เพ็ญศิริ ซ้ายจันทึก เจ้าของบทประพันธ์ที่สร้างเป็นละครดังอย่าง "สะใภ้ไร้ศักดินา" "เทพธิดาขนนก" ฯลฯ ให้อีกมุมมองว่า เห็นด้วยกับที่ผู้ใหญ่ในวงการโทรทัศน์หลายท่านออกมาพูดว่าการจัดเรตติ้งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยเพราะเด็กสมัยนี้มีหลายสื่อให้เลือกเสพ บางรายไม่ดูโทรทัศน์ด้วยซ้ำ ซึ่งว่าไปแล้วควรมีการพิจารณาระดับความรุนแรง ตลอดจนความหวือหวาของละครเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ควรจะโยกย้ายเวลาออกอากาศ เพราะจะส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วน

 "ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าเสียผลประโยชน์ แต่มันกระทบกระเทือนไปหมด ทั้งวงการโฆษณาหรืออะไรก็ตาม มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง การแก้ปัญหา ควรติเพื่อก่อ ไม่ใช่ตัด มาว่ากันเป็นเรื่องๆ ไปจะดีกว่า ว่าเรื่องไหนโป๊ เรื่องไหนรุนแรง ดิฉันว่า รัฐบาลกำลังหลงทางอย่างแรง เอะอะอะไรก็โยนบาปให้โทรทัศน์อย่างเดียว ถ้าจะเอาละครไปไว้ตอน 4 ทุ่ม จะมีใครดู แล้วคนที่ตายตามละครมีกี่อาชีพ" เจ้าของนวนิยายดัง กล่าวอย่างมีอารมณ์ ก่อนบอกต่อว่า ถ้าโทรทัศน์มีละครที่ดี จะเป็นการดึงเยาวชนให้อยู่บ้านกับครอบครัว ไม่ออกไปตะลอนที่ไหนตอนกลางคืน

 "ดิฉันเขียนนิยายมาก็มาก ทั้งน้ำดี น้ำเน่า คละเคล้ากันไป แต่จะเน้นคุณธรรมตลอดว่า คนชั่วจะเลวอย่างไรก็ต้องโดนสนอง คนดี จะตกระกำลำบากสุดท้ายก็ได้ดี สิ่งที่จะหลีกเลี่ยงในบทประพันธ์คือ การแก่งแย่งวัตถุ ถึงขนาดต้องฆ่าแกงกัน จะไม่ใส่ลงไปเลย เด็กอายุ 12 ปี คลอดลูกหน้าเสาธง พ่อข่มขืนลูก ถามหน่อยว่าเคยมีละครเรื่องไหนใส่ลงไปบ้าง ที่สำคัญถ้าย้ายละครไปไว้ช่วงดึก ความรุนแรงในละครอาจมีหนักกว่าเก่า และน่าจะทำประชาพิจารณ์ถามประชาชนหลายๆ อาชีพด้วย" เพ็ญศิริ ให้ความเห็น

 ด้าน น.พ.พงศกร จินดาวัฒนะ คุณหมอนักเขียนเจ้าของนวนิยายสู่ละครอย่าง "แก่นกระโดน" "ดอกฟ้ายาใจ" และ "สร้อยแสงจันทร์" ให้ความเห็นว่า โดยส่วนตัวนั้น เขามองว่า การจัดเรตติ้งสามารถเป็นคู่มือให้ผู้ชมเลือกชมได้ และเป็นสิ่งที่ดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีความยืดหยุ่น ต้องพิจารณาแก่นองค์ประกอบของละครทั้งเรื่อง มากกว่าจะมาตัดสินจากฉากแค่ฉากเดียว อีกทั้งละครทุกวันนี้ถือได้ว่านำเสนอความจริงของสังคมแค่เล็กน้อยเท่านั้น ในโลกเป็นจริงมีความรุนแรงมากกว่านี้หลายเท่า

 "บทประพันธ์ที่ผมเขียน คิดว่าน่าจะดูได้ทั่วไป อาจมีฉากรุนแรง เลิฟซีนบ้าง แต่นั่นก็เป็นไปด้วยเหตุด้วยผล ผมไม่รู้ว่าคณะจัดเรตมองอย่างไร อย่างถ้าภาพตัวละครมีปืน อาจดูรุนแรง หากมันเป็นข่าวที่เราได้ยินว่าคนยิงกันทุกวัน ละครมีตบตีกันตามแบบเมโลดราม่า (น้ำเน่า) แต่ถ้าบ้านทรายทองไม่มีฉากด่าพจมานก็คงไม่ใช่ เหล่านี้ก็อาจต้องพบกันครึ่งทาง อาจลดความรุนแรงลงบ้าง ผู้จัดต้องดูความเหมาะสม และทั้งนี้ทั้งนั้นโลกเรามีหลายมิติ โลกความจริงมันเป็นโลกโหดร้ายกว่านี้มาก จะให้นำเสนอแต่ด้านสวยงามอย่างเดียวคงไม่ได้ ละครน่าจะเป็นช่องทางให้เด็กสามารถเรียนรู้โลกได้ด้วย"

 คุณหมอยัง แนะด้วยว่า แทนที่จะจัดเรตโทรทัศน์อย่างเดียว น่าจะมีการจัดเรตหนังสือด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ปกหนังสือที่ดูหวานแหววแต่มากไปด้วยบทอีโรติกก็มีไม่น้อย ซึ่งเด็กและเยาวชนสามารถเอาไปแอบอ่านโดยที่ผู้ใหญ่ไม่เห็นได้สบายๆ

 ไม่ว่าบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร แต่นานาความเห็นจากมุมมองจากคนไม่ใกล้ไม่ไกลวงการละครเหล่านี้ น่าจะชี้ให้เห็นอีกมุมมายาบนจอสี่เหลี่ยมได้บ้าง

ที่มา : http://www.komchadluek.net/2007/07/13/s001_126520.php?news_id=126520


 

หมายเลขบันทึก: 111095เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2007 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท