ไม่ใช่การเมือง แต่เล่าเรื่อง นายบรรหาร ศิลปอาชา


ผมต้องรีบเล่าเรื่องนี้...เดี๋ยวใกล้เลือกตั้ง...จะมีปัญหา

 

  

ไม่ใช่การเมือง แต่เล่าเรื่อง

นายบรรหาร ศิลปอาชา

 

      ผมขึ้นหัวข้อเรื่องวันนี้ คงมีคนวิจารณ์กันไปหลายแง่  นักการเมืองคงว่าครูพิสูจน์คง เป็นหัวคะแนนพรรคชาติไทย นักเศรษฐศาสตร์คงว่าครูพิสูจน์หวังผลความก้าวหน้าจากการเขียน  ในครั้งนี้ ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม แต่ขอให้ติดตามอ่านเรื่องนี้ให้จบ แล้วท่านจะว่าอะไรก็ว่ามา


      ก่อนอื่นผมขออ้างอิงแหล่งข้อมูลว่า ข้อมูลต่อไปนี้ผมได้จากวารสารสมาคมสุพรรณ พระนคร ฉบับทอดกฐิน ปี 2513 เป็นหนังสือที่ระลึก งานทอดกฐินสามัคคีสมาคมสุพรรณพระนคร ณ วัดดงตาล ตำบลบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2513 เรื่อง “ บาตรสังคโลกกลับคืนสู่สุพรรณ “  เมื่อปี พ.ศ. 2512 แล้วเกี่ยวข้องอย่างไรกับหัวข้อเรื่องที่ผมขึ้นไว้เชิญติดตามเลยนะครับ


      เริ่มเรื่องกล่าวถึงพระราชสุพรรณาภรณ์ หรือ เจ้าคุณเปลื้อง แห่งวัดสุวรรณภูมิ(ขณะนั้น) ท่านเป็นผู้ที่ชอบสะสมโบราณวัตถุมาเป็นเวลานานหลายสิบปี เมื่อนานเข้าของโบราณล้ำค่าจึงมีมากมาย จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งจังหวัดสุพรรณบุรี” ในครั้งนั้น มูลค่าของบรรดาสิ่งของที่ท่านเจ้าคุณสะสมไว้ถ้าคิดเป็นมูลค่าก็นับล้านบาท(สมัยนั้น) แต่ท่านเจ้าคุณมอบให้เป็นสมบัติของวัดสุวรรณภูมิทั้งหมด ทั้งๆที่ท่านได้มาด้วยปัจจัยส่วนตัว ในบรรดาโบราณวัตถุเหล่านี้ มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่ล้ำค่ายิ่งนักคือ “บาตรสังคโลก “ ซึ่งท่านเจ้าคุณซื้อจากชาวธนบุรีที่อพยพมาอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยราคา 20 บาท ยี่สิบบาทสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้าเทียบราคากับปัจจุบันก็นับว่ามีค่ามากพอดูทีเดียว บาตรสังคโลกนี้ ท่านเจ้าคุณโปรดปรานมาก เพราะเป็นของที่หายากจริงๆ กล่าวว่ายังไม่เคยได้ยินว่า มีอยู่ที่แห่งใดในประเทศไทยหรือในโลก


      แต่แล้ววันหนึ่งชาวสุพรรณก็ต้องได้รับความสะเทือนใจในการจากไปของ “บาตรสังคโลก “ มูลเหตุจากทางราชการได้ขอยืม “บาตรสังคโลก” ไปใช้เป็น “ขันน้ำมนต์” ที่ปะรำพิธี ในพิธีเปิดศาลสถิตยุติธรรมแห่งจังหวัดสุพรรณบุรีที่สร้างใหม่ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2505 ท่านประธานในพิธีวันนั้นเกิดถูกใจจึงทำให้” บาตรสังคโลกอันเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวสุพรรณต้องจากไป “รายละเอียดการจากไปของบาตรสังคโลก ท่านผู้เขียนท่านไม่ขอกล่าว ท่านขอเน้นถึงการกลับคืนสู่สุพรรณของบาตรสังคโลก


      ในราวปี พ.ศ. 2509 กองรักษาที่หลวง กรมธนารักษ์ ได้มีหนังสือถึงนายพัฒน์ บุณยรัตนพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนั้น ให้ท่านผู้ว่าฯกับท่านเจ้าคุณเปลื้องไปดู บาตรสังคโลก ที่คณะกรรมการยึดทรัพย์ได้ยึดไว้เพื่อทำการประมูลขายทอดตลาด ทั้งนี้เพราะทางราชการทราบว่าเป็นสมบัติของวัดสุวรรณภูมิ เมื่อท่านเจ้าคุณไปดูแล้วก็ยืนยันว่าเป็นของวัดสุวรรณภูมิจริง แต่เรื่องก็เงียบหายไป
   

     ครั้นเมื่อถึง ปลายเดือน ตุลาคม 2512 กองรักษาที่หลวง กรมธนารักษ์ ได้มีหนังสือถึง นายพัฒน์บุณยรัตพันธุ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ขณะนั้นท่านย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ความในหนังสือแจ้งว่า หากสนใจที่จะได้บาตรสังคโลกใบนั้น ขอให้ไปประมูลแข่งโดยทั่วไปกับผู้ประมูลคนอื่น ในวันที่ 9 – 12 พฤศจิกายน 2512


      นายพัฒน์ บุณยรัตพันธุ์ รีบมีจดหมาย ถึง หนังสือพิมพ์ “ คนสุพรรณ “ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2512 มีใจความสั้นๆ ว่า “ ขอให้ไปประมูลเอามา ผู้แทนราษฎรสี่คนอยู่ที่ไหน ให้มาช่วยกัน “ ท่านผู้เขียนเรื่องนี้(ขออภัยผมยังไม่ทราบนามแน่นอน แต่ท่านต้องเป็นนักเขียนอาวุโสที่ชาวสุพรรณให้ความเคารพเชื่อถืออย่างมากแน่นอน) ขณะนั้นท่านเป็นกรรมการพุทธสมาคมจังหวัดสุพรรณบุรี ได้รีบนำเรื่องนี้เข้าเสนอคณะกรรมการพุทธสมาคม ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 3 พฤศจิกายน 2512 เพื่อให้เรื่องดำเนินการได้รวดเร็ว เพราะนายกพุทธสมาคม คือ นายสวัสดิ์  มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง

       และก็เป็นดังที่ท่านผู้เขียนคาดไว้ ที่ประชุมกรรมการพุทธสมาคมจังหวัดสุพรรณบุรี ลงมติเห็นชอบให้ท่านนายกสมาคม ซึ่งก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินเรื่องติดต่อขอความร่วมมือจากคุณ บรรหาร ศิลปอาชา ให้เป็นผู้ประมูลเอามาให้ได้ก่อน แล้วให้ชาวสุพรรณที่ศรัทธาช่วยกันสละทรัพย์เพื่อให้ได้บาตรสังคโลกมามอบให้เป็นสมบัติของวัดสุวรรณภูมิสืบไป (อ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจคิดว่า ไหนว่าคุณบรรหาร สู้เพื่อศักดิ์ศรีชาวสุพรรณ เพียงแค่เป็นคนที่รับหน้าที่ประมูลเท่านั้น ต้องอ่านต่อให้จบนะครับ ท่านผู้เขียนเขียนไว้สนุก และเห็นภาพคุณบรรหารต่อสู้อย่างยิ่งใหญ่จริงๆ)


     

     ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนั้น คือนายสวัสดิ์ มีเพียร มิได้นิ่งนอนใจ ประชุมเสร็จก็รีบโทรศัพท์ติดต่อกับคุณบรรหาร ศิลปอาชา โดยด่วนไปยังบ้านที่กรุงเทพฯในวันนั้น โชคร้ายคุณบรรหาร ไม่อยู่บ้าน ไปทำธุรกิจที่จังหวัดขอนแก่น ไม่ทราบว่าจะกลับเมื่อใด ท่านผู้ว่าฯจึงสั่งทางบ้านไว้ พร้อมมีจดหมายตามไปด้วยอีกว่า หากคุณบรรหารกลับมาขอให้โทรศัพท์ทางไกลมาถึงท่าน หรือจะไปพบที่สุพรรณด้วยตนเองก็ได้ วันเวลาใกล้เข้ามา ๆ คุณบรรหารก็ยังไม่มา ท่านผู้ว่าฯกระวนกระวายใจเป็นอย่างมาก จนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2512 คุณบรรหาร ศิลปอาชา มาจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อพบท่านผู้ว่าสวัสดิ์ มีเพียร แต่คราวนี้ก็บังเอิญอีก ท่านผู้ว่าไม่อยู่ คุณบรรหาร จึงกลับกรุงเทพฯ พอท่านผู้ว่ากลับจากธุระทราบว่าคุณบรรหารมาพบ และกลับกรุงเทพฯแล้ว จึงโทรศัพท์ทางไกลไปกรุงเทพฯ คราวนี้โชคดี คุณบรรหารอยู่บ้านพอดี ท่านผู้เขียนใช้สำนวนว่า “ อ๋อ ! เป็นเรื่องแน่นอนเหลือเกินที่ คุณบรรหาร จะไม่ปฏิเสธ ยินดีให้ความช่วยเหลือเต็มที่ คุณบรรหาร จึงให้คนไปเฝ้าคอยดูว่าจะมีการประมูลบาตรสังคโลกใบนั้นเมื่อไร”


      เริ่มเห็นน้ำใจของคุณบรรหาร ศิลปอาชา หรือยังครับ ตอนนั้นท่านเป็น เพียงคุณบรรหาร ไม่ใช่ฯพณฯบรรหาร เป็นเพียงนักธุรกิจที่ชาวสุพรรณเชื่อถือให้เป็นเหรัญญิกของสมาคมสุพรรณพระนคร ยังไม่ได้ก้าวมาเป็นนักการเมืองระดับชาติแต่อย่างใด แต่ท่านก็ทุ่มเทเพื่อชาวสุพรรณมานานแล้ว
 

     เล่ามาถึง คุณบรรหาร ได้รับโทรศัพท์จากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี (ในขณะนั้น) คือนายสวัสดิ์ มีเพียร ให้ไปช่วยประมูลบาตรสังคโลกกลับคืนสุพรรณให้ได้ คุณบรรหารยินดีให้ความช่วยเหลือเต็มที่ ต่อไปนี้ ผมจะพาท่านผู้อ่านเข้าสู่บรรยากาศ การต่อสู้ของคุณบรรหาร ศิลปอาชา เพื่อศักดิ์ศรีของชาวสุพรรณ ติดตามได้เลยครับ


     วันที่ 14 พฤศจิกายน 2512 เจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ ได้ประกาศประมูลบาตรสังคโลกของพวกเราชาวสุพรรณ

     คุณบรรหาร ทำทีเป็นคนอื่นเข้าไปชมในการประมูลครั้งนี้ด้วย แต่ได้สั่งลูกน้องออกไปประมูลโดยจำกัดราคาไว้เพียง 10,000 บาท  ราคาเริ่มต้น 100 บาท แล้วค่อยๆ เขยิบสูงขึ้นทีละ 100-200 บาท 300-400-500 บาท จนกระทั่งถึง 1,000 บาท คนโน้นให้อีก 100-200 เป็นพันเศษ จาก1,000 ขึ้นถึง 2,000 บาท( ผู้เขียนท่านใช้คำว่า สูง ดิ้บๆๆ) สูงขึ้นเรื่อยๆ 3,000–4,000-5,000 จนกระทั่งถึง 10,000 บาท ขณะนี้เป็นที่สนใจของบรรดาพ่อค้าที่มาประมูล ต่างก็เฮโลมาดูการแข่งประมูลบาตรสังคโลกใบนี้ ด้วยความตื่นเต้นและระทึกใจ ฝ่ายคู่ต่อสู้อีกคนหนึ่งขึ้นถึง 12,000 บาท ลูกน้องคุณบรรหาร ศิลปอาชา หันหน้าไปมองเจ้านายเป็นเชิงปรึกษาว่าจะทำอย่างไรเดี๋ยวนี้เขาขึ้นถึง 12,000 บาทแล้ว คุณบรรหาร ซึ่งติดตามการประมูลอย่างใกล้ชิดอีกด้านหนึ่งโดยมีกระจกคั่น ก็พยักหน้าให้สู้ต่อไป “ 13,000 บาท ลูกน้องคุณบรรหารขึ้นต่อไปอีก ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ยอมถอย ขึ้นไปอีก จนกระทั่งถึง 20,000 บาท
 

     บรรยากาศในห้องประชุมเงียบกริบ ใครๆต่างก็สนใจมามุงดูว่า คนสองคนนั้นจะสู้ราคาบาตรใบนี้ไปถึงไหน บาตรสังคโลกใบนี้ คุณบรรหารกับคุณแจ่มใส ได้เคยยืมมาทำเป็นขันใส่น้ำมนต์ในงานมงคลสมรสของเขาทั้งสอง(สำนวนของผู้เขียนเดิม) ต้องสู้จนสุดใจขาดดิ้น คุณบรรหาร บอกว่า “ เพื่อศักดิ์ศรีของชาวสุพรรณด้วย ผมเป็นคนสุพรรณ เกิดสุพรรณ ผมจะต้องสู้ สู้ อย่างไม่ถอย “ แล้วคุณบรรหารก็ก้าวออกนอกห้องนั้น มาสู่ห้องประมูล


         “22,000 บาท” คุณบรรหาร ออกโรงด้วยตนเอง คู่ต่อสู้ก็เดินเข้ามาประชิดตัวคุณบรรหาร พร้อมกับพูดว่าจะสู้ถึงที่สุด อย่างน้อย 100,000 บาท คุณบรรหาร เลือดขึ้นหน้า เพราะความรักบ้านเกิดเมืองนอน และศักดิ์ศรีของชาวสุพรรณยังก้องอยู่ในโสตประสาท เท่าไหร่เท่ากัน คู่ต่อสู้ก็ทายาท ขึ้นไป 24,000 บาท คุณบรรหาร ขึ้นต่อไป 25,000 บาท ฝ่ายตรงข้าม เดินรี่เข้ามาหาคุณบรรหาร พร้อมพูดด้วยความโมโหจัดว่า “คุณจะเอาไปทำไม คุณเป็นใคร มาจากที่ไหน” หนอยแน่ “คุณเป็นใคร มาจากที่ไหน อั๊ว เป็นคนสุพรรณโว้ย บาตรนี้เป็นของชาวสุพรรณอั๊วจะเอาไปไว้ที่สุพรรณ” คนนั้นก็บอกว่า “ อั๊วจะเอาไปให้ใครคนหนึ่ง ให้อั๊วเถอะ “ “ให้ไม่ได้อั๊วจะเอาไปให้คนสุพรรณ” “ เอายังงี้ ถ้าใครสู้ถึง 45,000 บาท แล้วจะไม่สู้ต่อไปอีก “เอาก็เอา” คุณบรรหาร ตอบ
     

      แล้วฝ่ายตรงข้ามก็ขึ้นสูงเป็น 27,000 บาท ราคาประมูลก็ทวีสูงขึ้นๆ 30,000-35,000-40,000 จนกระทั่งคุณบรรหาร ให้ถึง 45,000 บาท คู่ต่อสู้หยุดชะงัก เดินมาหาคุณบรรหารอีกตกลงว่าจะไม่ขึ้นต่อไป แต่แล้วก็ผิดคำพูด ขึ้นต่อไปอีกเป็น 47,000 บาท
 

      คุณบรรหาร หน้าแดงกร่ำ ขึ้นเป็น 50,000 บาท คู่ต่อสู้ ขึ้นอีกเป็น 55,000 บาท คุณบรรหาร ขึ้นไปถึง 60,000 บาท พอถึง 60,000 บาท คู่ต่อสู้หยุดชะงักชั่วครู่ เพื่อคิดว่าจะสู้ต่อไปหรืออย่างไรดี ในช่วงเวลาที่กำลังคิดอยู่นานหน่อยหนึ่งนั้น กรรมการก็เคาะค้อนโป๊กลงไป เป็นอันว่า คุณบรรหาร เป็นฝ่ายชนะการประมูล
 

     หลังจากค้อนเคาะเสียงดังโป๊ก ฝ่ายตรงข้ามก็เอะอะโวยวายเอากับคณะกรรมการว่า “ทำไมถึงเคาะค้อนเร็วนัก ที่หยุดชะงักล่าช้าไปหน่อยนั้นเพราะกำลังปรึกษาหารือกันว่าจะสู้ราคาบาตรสังคโลกใบนี้ถึง 100,000 บาท ทางฝ่ายคุณบรรหาร เห็นว่าบาตรสังคโลกนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตนแน่แล้ว ก็พูดว่า อย่าว่าแต่ 100,000 บาทเลย 1,000,000 บาท ก็ต้องสู้ เพราะเป็นสมบัติของคนสุพรรณทั้งเมือง


     เป็นอันว่าบาตรสังคโลกของวัดสุวรรณภูมิใบนั้น ก็จะได้กลับสู่เหย้าอีกครั้งหนึ่งจากการประมูลชนะฝ่ายตรงข้าม ซึ่งคาดไม่ถึงว่าจะมีการต่อสู้ประมูลกันถึง 60,000 บาทท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี(ขณะนั้น) ได้รับทราบข่าวดีนี้ตอนเช้าของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2512 จึงนัดประชุมคณะกรรมการพุทธสมาคมสุพรรณบุรีด่วน ที่วัดสุวรรณภูมิ
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ประชุมตกลงให้มีการรับขวัญด้วยการจัดขบวนแห่ไปรับที่บ้านคุณบรรหาร และในคืนวันนั้นจะได้มีมหรสพฉลองรับขวัญ ในการกลับมาสู่เหย้าของบาตรสังคโลก
 

     แต่ด้วยเจตนาดีและศรัทธาอันแรงกล้าของคุณบรรหาร คุณบรรหารรีบมาสุพรรณ เมื่อรู้ข่าวว่าทางจังหวัดจะจัดขบวนต้อนรับและฉลองกันอย่างครึกโครม จึงเข้าพบกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งว่า ไม่มีความประสงค์เช่นนั้น เขาทำงานชิ้นนี้ก็เพื่อศักดิ์ศรีของชาวสุพรรณ ไม่ใช่เพื่อตัวของเขาเอง ขออย่าได้จัดงานแห่แหนและฉลองเลย


      ครั้นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2512 นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้ทำบุญถวายภัตตาหารเพล แด่พระภิกษุสามเณร ที่วัดสุวรรณภูมิ ทุกรูป อย่างเงียบๆ และได้ ถวายบาตรสังคโลกให้หลวงพ่อเปลื้อง ไว้เป็นสมบัติของวัดสุวรรณภูมิ…และของชาวสุพรรณต่อไป


      แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ชาวสุพรรณรักคนที่ชื่อ บรรหาร ศิลปอาชาได้อย่างไร


อ.พิสูจน์  ใจเที่ยงกุล
โรงเรียนบางลี่วิทยา

หมายเลขบันทึก: 111081เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2007 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท